x close

เตือน! สตอร์ม เซิร์จ คลื่นพายุหมุน แรงเท่านาร์กีส

Storm Surge 


Storm Surge



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต


         เป็นที่หวาดวิตกกันมากในระยะหลังมานี้ หลังจากที่ ดร.สมิทธ ธรรมสโรช ประธานกรรมการอำนวยการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ ออกมากล่าวเตือนว่า แนวชายฝั่งอ่าวไทย 3 จังหวัด คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม รวมถึงบริเวณชายฝั่งทะเลในเขตกรุงเทพมหานคร ต้องระวังวิบัติภัยจากสตอร์ม เซิร์จ (Storm Surge)  โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นอันตรายอย่างยิ่ง จากความเร็วของแรงลมที่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะส่งผลให้คลื่นสูงเฉลี่ย 2.2-4.5 เมตร ซึ่งหากเกิดขึ้นจริงๆ ความรุนแรงอาจเท่าพายุนาร์กีสเลยทีเดียว

         อย่างไรก็ตามข่าวดังกล่าวได้สร้างความแตกตื่นกันไม่น้อย กับปรากฎการณ์ สตอร์ม เซิร์จ (Storm Surge)  หรือ พายุหมุน หรือ คลื่นซัดเข้าชายฝั่ง

         เชื่อหรือไม่ว่า ปรากฎการณ์ Storm Surge เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาแล้ว! และเคยเกิดบ่อยครั้งด้วย ซึ่งแต่ละครั้งก็นำมาซึ่งความสูญเสียอย่างใหญ่หลวง....

         ย้อนกลับไปเมื่อปี 2532 เกิดพายุไต้ฝุ่น เกย์ (คุ้นๆ ใช่ไหมล่ะ) พัดถล่ม จังหวัดชุมพร มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคน ต่อมาปี 2540 พายุลินดา ก็พัดซ้ำรอยเดิม ใน จังหวัดชุมพร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์  และจังหวัดเพชรบุรี ครั้งนี้มีผู้เสียชีวิตน้อยกว่า ทว่าก็สร้างความเสียหายมากครั้งหนึ่งเช่นกัน และครั้งสำคัญในปี 2505 พายุที่แหลมตะลุมพุก อันเกิดจากพายุโซนร้อนแฮเรียต ได้กลายเป็นประวัติศาสตร์อันน่าโศกเศร้า ยังมาซึ่งความเสียหายต่อชีวิต และภูมิประเทศ โดยในครั้งนั้นมีผู้เสียชีวิตกว่าพันคน!!!

         หันมาดูในฝั่งกรุงเทพฯ กันบ้าง เมื่อปี 2504  Storm Surge ก็เคยมีปรากฏการณ์เกิดพายุใหญ่ซัดเข้ามาในอ่าวไทย จนเกิดน้ำท่วมกรุงเทพฯ เช่นกัน และในปี 2526 ก็เกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่าฝนพันปี มีน้ำท่วมและขังในพื้นที่นาน ที่สำคัญ การเกิดขึ้นของพายุได้สร้างความเสียหายต่อการกัดเซาะชายฝั่งของกรุงเทพฯ จนเป็นพื้นที่ที่เรียกว่าทะเลตรม และไม่สามารถป้องกันน้ำทะเลได้ในหลายจุด 

         อ่านมาถึงตรงนี้แล้วเริ่มรู้สึกว่า Storm Surge เป็นเรื่องใกล้ตัวกันบ้างแล้วใช่ไหมหล่ะคะ . . . แล้ว Storm Surge เกิดขึ้นได้อย่างไรกัน??? …เรื่องนี้ นาวาเอก กตัญญู ศรีตังนันท์ ผู้บังคับหมวดเรืออุทกศาสตร์ กองทัพเรือ ให้คำอธิบายว่า…

         Storm surge คือ ปรากฏการณ์คลื่นที่เกิดขึ้นพร้อมกับพายุหมุนโซนร้อน ที่ยกระดับน้ำทะเลให้สูงขึ้นกว่าปกติ อันเนื่องมาจากความกดอากาศต่ำที่ปกคลุม ณ บริเวณนั้น ซึ่งเวลาที่หย่อมความกดอากาศต่ำเคลื่อนตัวผ่านไปพร้อมกับศูนย์กลางของพายุ ทำให้แรงกดนั้นยกระดับน้ำจนกลายเป็นโดมน้ำขึ้นมา โดยเคลื่อนตัวจากทะเลซัดเข้าหาชายฝั่ง

         ที่สำคัญยิ่งความกดอากาศต่ำเท่าไร ก็จะทำให้เกิดปรากฏการณ์คลื่นพายุหมุนมากเท่านั้น หากจะวัดเป็นตัวเลข ก็มีความหมายว่า ความกดอากาศต่ำที่ลดลง 1 มิลลิบาร์ จะทำให้น้ำทะเลสูงขึ้น 1 เซนติเมตร

 Storm Surge ร้ายแรงกว่าสึนามิ พอกันกับนาร์กีส

Storm Surge


         รูปแบบการเคลื่อนตัวที่เป็นเหมือนคลื่นขนาดใหญ่ แล้วพัดเข้าชายฝั่งของ Storm Surge เป็นลักษณะเดียวกันกับคลื่นยักษ์สึนามิ แต่แตกต่างกันตรงที่ ลักษณะของการเกิด คือ สึนามิ เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ของแผ่นดินไหวใต้ทะเล ทำให้เกิดแรงสั่นสะเทือนส่งผลให้เกิดคลื่นขนาดยักษ์ซัดเข้าชายฝั่ง แต่กับ Storm surge จะเกิดขึ้นโดยมีตัวแปรจากพายุ

         สำหรับ ความเสียหายนั้น ว่ากันว่า Storm surge เลวร้ายมากกว่า กล่าวคือ การเกิดสึนามิจะเกิดขึ้นวันไหนก็ได้ โดยท้องฟ้าอาจจะแจ่มใส อากาศเป็นปกติ เหมือนอย่างที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วทางฝั่งอันดามันของไทย แต่หากเป็น Storm surge จะเกิดขึ้นพร้อมกับพายุ ซึ่งแน่นอนว่าต้องเป็นวันที่ท้องฟ้าปั่นป่วน ไม่แจ่มใส สภาพอากาศเลวร้าย มีการก่อตัวของเมฆฝน ฝนตกอย่างหนัก ลมพัดแรง บริเวณชายฝั่งเกิดคลื่นโถมกระแทกอย่างหนัก คลื่นในทะเลสูง แต่เมื่อศูนย์กลางของพายุเคลื่อนเข้ามา ก็จะหอบเอาโดมน้ำขนาดใหญ่ซัดเข้ามาอีกครั้ง ดังนั้น ความเสียหายจึงเพิ่มเป็นทวีคูณ

         อย่างไรก็ตาม แม้จะเลวร้ายมากกว่า แต่ก็สามารถรับมือได้ดีกว่า เพราะเมื่อ Storm surge เกิด มักจะมาพร้อมกับพายุโซนร้อน ดังนั้น เราจะเห็นสัญญาณเตือนหลายอย่าง เช่น การเตือนจากกรมอุตุนิยมวิทยา และจากการสังเกตลักษณะอากาศที่จะค่อยๆ เลวร้ายลง ทำให้เรารู้ตัวล่วงหน้าหลายวัน และสามารถหาทางอพยพได้ทัน แต่กับสึนามิอาจจะไม่รู้ได้เลย เพราะบางครั้งก็เกิดขึ้นในวันที่ท้องฟ้าแจ่มใส ไม่มีสัญญาณบอกเหตุร้ายแต่อย่างใด แต่ปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ในช่วงหลายปีมานี้ก็เป็นอะไรที่คาดเดา พยากรณ์ได้ยากเช่นกัน ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการเกิดภาวะโลกร้อน ที่ทำให้สภาพอากาศในทุกมุมโลกเกิดความแปรปรวน และยิ่งทวีความรุนแรงของเหตุการณ์ขึ้น สิ่งนี้จึงเรื่องที่ต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด

พื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจาก Storm surge

          1.ทะเลฝั่งอ่าวไทยตั้งแต่ชุมพรลงไป และแหล่งน้ำขนาดใหญ่ อย่างทะเลสาบสงขลา จ.สงขลา ทะเลสาบหนองหาน จ.สกลนคร ตลอดจนกว๊านพะเยา จ.พะเยา

           2.แนวชายฝั่งของ 3 จังหวัดอ่าวไทย คือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มีภูมิประเทศเป็นรูปตัว ก.ไก่ คือเป็นพื้นที่ค่อนข้างสูง แต่บริเวณพื้นที่ชั้นในค่อนข้างต่ำเป็นแอ่ง ฉะนั้น หากเกิดปรากฏการณ์คลื่นพายุหมุน น้ำทะเลน่าจะทะลักเข้าทางถนนสุขุมวิท ย่านบางนา รวมทั้งเข้าทางฝั่งธนบุรี โดย

          - ฝั่งพระนคร ในพื้นที่เขตบางนาบางส่วน ช่วงติด จ.สมุทรปราการ ถึง ถ.บางนา-ตราด อาจเกิดคลื่นสูง 0.20 – 1.00 เมตร

          - ฝั่งธนบุรี แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ

          1.จากชายทะเลบางขุนเทียน ถึง คลองสนามชัย ในพื้นที่เขตบางขุนเทียน บางส่วนของเขตทุ่งครุ อาจเกิดคลื่นสูง 1.00 – 3.00 เมตร

          2.ช่วงเหนือคลองสนามชัย ถึง ถ.พระราม 2 ในพื้นที่บางส่วนของเขตบางขุนเทียน ราษฎร์บูรณะ และจอมทอง อาจเกิดคลื่นสูง 0.20 – 1  เมตร

 เราจะรู้ได้อย่างไรว่าจะเกิดคลื่นพายุหมุน หรือ Storm surge?

         รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์ เมฆวิชัย รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่า สิ่งที่น่าจับตามากที่สุดคือ ปรากฏการณ์โลกร้อน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการเกิดขึ้นของคลื่นพายุหมุน และน่าจะมีลักษณะเดียวกับการเกิดของพายุนาร์กิสที่ประเทศพม่า ซึ่งเกิดขึ้นโดยฉับพลัน ไม่มีสัญญาณบ่งชี้เรื่องของภูมิอากาศที่แปรปรวน ก่อนที่จะเกิดสึนามิหรือนาร์กีส ท้องฟ้ายังแจ่มใส ไม่มีการตั้งเค้าของพายุ

         "แนวชายฝั่งของ 3 จังหวัดอ่าวไทยคือ สมุทรปราการ สมุทรสาคร และสมุทรสงคราม มีภูมิประเทศเป็นรูปตัว ก.ไก่ คือเป็นพื้นที่ค่อนข้างสูง แต่บริเวณพื้นที่ชั้นในค่อนข้างต่ำเป็นแอ่ง ฉะนั้น หากเกิดปรากฏการณ์คลื่นพายุหมุน น้ำทะเลน่าจะทะลักเข้าทางถนนสุขุมวิท ย่านบางนา รวมทั้งเข้าทางฝั่งธนบุรี ก่อนที่จะถึงเขตกรุงเทพฯ ชั้นใน ก็น่าคิดหามาตรการเตรียมรับมือ" รศ.ดร.บรรณโศภิษฐ์กล่าว

 รับมืออย่างไร กับ Storm Surge 

Storm Surge


         สำหรับการเตรียมความพร้อม เพื่อรับมือกับ Storm surge นั้น สิ่งสำคัญที่สุดคือ การรับข่าวสาร และทำความเข้าใจ โดยเฉพาะประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัย ควรศึกษาลักษณะของการเกิด และความรุนแรงเพื่อที่จะได้หาทางหนีทีไล่ได้ทัน โดยการหนีนั้นจะมีหน่วยงานที่ร่วมทำแผนที่เสี่ยงภัย ซึ่งหากบริเวณไหนมีประชากรหนาแน่น บริเวณนั้นจะมีความเปราะบางมาก จึงต้องทำแผนที่ให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับเมืองท่องเที่ยว

         ทั้งนี้ วิธีการป้องกันการเกิดพายุหมุน หรือคลื่นซัดเข้าชายฝั่ง (Storm Surge) นั้นมีอยู่หลายแนวทาง ซึ่ง รศ.อัปสรสุดา ศิริพงษ์ อาจารย์ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ข้อมูลว่า ทางออกที่ดีที่สุด คือ การช่วยกันรักษาป่าชายเลนตามแนวชายฝั่ง หรือปลูกป่าชายเลนเพิ่มในพื้นที่ชายฝั่ง เพื่อช่วยลดความรุนแรงของ Storm surge อีกทั้งควรกำหนดเป็นหลักสูตรในเรื่องของภัยพิบัติลงในแบบเรียน เพราะเป็นสิ่งที่ต้องปลูกฝังให้เด็กเกิดความตื่นตัว จึงต้องสร้างความตระหนักให้เกิดขึ้น และต้องมีการซ้อมแผนเตือนภัยอยู่ตลอดเวลา เมื่อถึงคราวเกิดขึ้นจริง จะได้ช่วยลดความเสียหายจากชีวิตและทรัพย์สินได้  

การฝึกซ้อมรับมือภัยพิบัติ Storm Surge

          ขณะนี้หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนในจังหวัดพื้นที่เสี่ยงภัยเริ่มตื่นตัวกับการรับมือ Storm Surge กันมากขึ้นแล้ว อย่างเช่นศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 17 จันทบุรี ร่วมกับสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ได้แก่ จันทบุรี ตราด ระยอง ชลบุรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ร่วมฝึกซ้อมแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหาคลื่นพายุซัดฝั่ง ระดับกลุ่มจังหวัด ประจำปี พ.ศ. 2553 ในวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา

          โดยมีการจำลองเหตุการณ์เกิดพายุโซนร้อน เคลื่อนตัวเข้าสู่ชายฝั่งทะเลบริเวณตำบลคลองขุด อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ทำให้เกิดฝนตกหนัก และคลื่นพายุซัดฝั่งอย่างรุนแรง จนบ้านเรือน สิ่งสาธารณูปโภค เส้นทางคมนาคม ระบบการสื่อสารได้รับความเสียหาย จึงต้องมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาช่วยเหลือ และอพยพประชาชนไปยังที่ปลอดภัยตามแผน รวมทั้งยังซ้อมการใช้สัญญาณเตือนภัย เพื่อรับมือกับเหตุการณ์ที่อาจจะเกิด ขึ้นในอนาคตอีกด้วย


         ... เห็นทีคงต้องฝากเตือนทุกคน ให้การติดตามข่าวสารการพยากรณ์อากาศกันมาก ๆ นะคะ โดยเฉพาะใครที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง เพื่อจะได้รับมือกับ Storm Surge กันได้อย่างทันท่วงทีค่ะ



 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เตือน! สตอร์ม เซิร์จ คลื่นพายุหมุน แรงเท่านาร์กีส อัปเดตล่าสุด 23 สิงหาคม 2553 เวลา 13:45:58 243,882 อ่าน
TOP