x close

นักวิชาการชี้ ทักษิณ ปักหลักสู้คดี

สถาบันอิศรา



          วานนี้ (17 สิงหาคม) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยร่วมกับสถาบันอิศรา จัดเสวนาเรื่อง "สถานการณ์ การเมืองหลังทักษิณลี้ภัย...คลี่คลายหรือรบแตกหัก" โดยนายณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวตอนหนึ่งว่า เมื่อมองภาพรวมปัจจัยทั้งหมดมีภาพที่เป็นบวกต่อตัว พ.ต.ท.ทักษิณมากกว่าภาพลบ ถ้าตนเป็น พ.ต.ท.ทักษิณ ยังไม่กลับประเทศไทยแน่ แต่ไม่ได้หมายความว่าจะไม่สู้ เพราะถ้าสู้ยังมีโอกาสชนะ แม้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากปัจจัยต่างๆ ยังหนุ่นอยู่ พ.ต.ท.ทักษิณ คงไม่งอมืองอเท้านั่งอยู่เฉยๆ ทำให้เสียเงินไป 7-8 หมื่นล้านบาท และยังมีเงินอยู่ต่างประเทศเป็นแสนล้านบาท ไม่รู้จะไปทำอะไรนอกจากนำมาใช้ต่อสู้ อีกทั้งเป็นคนที่ไม่ยอมอะไรง่ายๆ ถ้าคิดลงทุนแล้วต้องมีกำไร

          ดังนั้น ถ้าลุกขึ้นสู้และมีการเลือกตั้งเร็วๆ นี้จะใช้เงินลงทุน 30 ล้านบาทต่อ ส.ส. 1 คน ส.ส. 200 คน ใช้เงินแค่ 6 พันล้านบาททำให้มีโอกาสชนะเลือกตั้ง ส่วนกรณีที่ พ.ต.ท.ทักษิณ จะกลับประเทศไทยหรือไม่ ส่วนโอกาสจะรบแตกหักจะมีหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้ง ถ้าเลือกตั้งภายใน 3 เดือนนี้พรรคเขาเขากลับมาแน่ เพราะแขนขาเก่ายังมีอยู่ เมื่อเป็นเช่นนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องเร่งให้เลือกตั้ง แก้รัฐธรรมนูญให้ได้ ขณะนี้ทุกคนอ่านเกมกันอยู่และชิงกันว่าใครจะเร็วกว่ากัน ถ้าเป็นแบบนี้การเมืองจะแตกหักภายใน 6 เดือนนี้แน่นอน

 หวั่นคดีลี้ภัยชนวนร้าวความสัมพันธ์ 

          นายพนัส ทัศนียานนท์ อดีต ส.ว.จ. ตาก และอดีตอัยการ กล่าวว่า คดีความต่างๆ ของ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องใช้เวลาพอสมควร และขณะนี้เข้าใจว่าคณะอัยการสูงสุดฝ่ายต่างประเทศติดต่อกับประเทศอังกฤษแล้ว อัยการก็เป็นผู้เชี่ยวชาญน่าจะใช้เวลาในการประสานขอตัวจำเลยมาดำเนินคดีไม่นาน แต่เป็นไปได้ว่า พ.ต.ท. ทักษิณ อาจขอให้ทนายชุดเดียวกับ นายปิ่น จักกะพาก และนำประเด็นขอลี้ภัยทางการเมืองมาต่อสู้ เห็นได้จากแถลงการณ์ที่ร่อนมาเข้าข่ายขอลี้ภัย แต่เป็นวิธีการที่ไม่ฉลาดและเวอร์ มั่นใจในพลังเงินของตัวเองมากเกินไป นำไปสู่ความพ่ายแพ้ย่อยยับ ส่วนกรณีที่กลุ่มพันธมิตรฯจะเดินทางไปยังสถานทูตอังกฤษ เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษอย่านิ่งเฉยในเรื่องนี้ อาจส่งผลต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ เช่นกัน เนื่องจากอังกฤษเป็นประเทศที่มีความอ่อนไหวในเรื่องนี้สูง อาจยกเลิกไม่ให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ลี้ภัยในประเทศ อีกทั้งรัฐบาลอังกฤษต้องฟังรัฐบาลไทยว่าจะเอาอย่างไร ไม่เช่นนั้นอาจส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ ดังนั้น ถ้าอังกฤษไม่คุ้มครองเป็นผู้ร้ายข้ามแดน อาจทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องหนีสุดฤทธิ์สุดขอบฟ้า อาจไปที่แอฟริกาก็ได้ และให้พวกที่เมืองไทยต่อสู้คดีเอาเงินที่ถูกอายัดคืน แต่ถึงอย่างไร พ.ต.ท.ทักษิณ ก็ไม่กลับประเทศไทยแน่

 ฟันธงปลายปีนายกฯประกาศยุบสภา

          น.ส.สิริพรรณ นกสวน อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การออกนอกประเทศของอดีตนายกฯ ทำให้ นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ เป็นคนที่มีความสุขที่สุด เพราะอำนาจตัดสินใจบริหารประเทศ ไม่ต้องมีนายเหนือหัวอีกคนมาคอยออกคำสั่ง แต่ความแตกหักทางการเมืองที่อาจเกิดขึ้นจะมาจากความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ จนเป็นตัวแปรนำไปสู่การปะทะกันทางความคิด และนำไปสู่ความรุนแรง โดยไม่ว่าจะมี พ.ต.ท.ทักษิณ อยู่ในประเทศหรือไม่ก็ตาม ส่วนการเลือกตั้งครั้งต่อไปนั้น คงจะมีขึ้นในช่วงปลายปีนี้แน่ แต่ก่อนจะมีการยุบสภาคงต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นที่มาของ ส.ส.ให้เป็นแบบเขตเดียวเบอร์เดียวก่อน เพื่อจะเอื้อประโยชน์ต่อพรรคบางพรรค การแก้ไขรัฐธรรมนูญในรัฐสภาทำได้ง่ายมากในสภา ใช้เวลาไม่เกิน 2 เดือน แล้วยุบสภาก่อนยุบพรรค และถ้ามีการย้ายพรรค ส.ส.พรรคพลังประชาชนคงไม่ย้ายไปอยู่พรรคเพื่อไทย ทั้งหมด แต่จะไปจับมือกันตั้งพรรคอื่นขึ้นมาใหม่

 "ทักษิณ" ไปแต่การเมืองเหมือนเดิม

          วันเดียวกัน สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ได้เผยแพร่ผลการสำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศถึงความรู้สึกของคนไทย กรณีอดีตนายกฯทักษิณและคุณหญิงพจมานลี้ภัยไปอังกฤษ โดยสอบถามประชาชน 2,312 คน ระหว่างวันที่ 14-17 สิงหาคม พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 34.55 เห็นว่ามีความผิดจริงถึงได้หนีออกนอกประเทศไป ร้อยละ 21.58 ไม่เห็นด้วยกับการลี้ภัย เพราะเป็นการหนีปัญหา ควรอยู่สู้คดีให้ถึงที่สุด ขณะที่ร้อยละ 20.67 เห็นว่าผู้กระทำผิดย่อมได้รับการลงโทษ ส่วนสิ่งที่ประชาชนอยากให้รัฐบาลดำเนินการนั้น ร้อยละ 38.94 ต้องการให้กระบวนการยุติธรรมดำเนินการอย่างอิสระ ไม่มีการควบคุมจากรัฐบาล ร้อยละ 29.44 ให้ทุกอย่างควรดำเนินการตามกฎหมายอย่างถูกต้อง มีหลักฐานชัดเจน ร้อยละ 18.01 ควรเจรจาติดต่อกับรัฐบาลอังกฤษให้ส่งตัวอดีตนายกฯและครอบครัวกลับมาประเทศไทย โดยเสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 51.58 เห็นว่าการเมืองไทยจะเหมือนเดิม หลังอดีตนายกฯลี้ภัยไปอังกฤษ ร้อยละ 26.33 เห็นว่าจะดีขึ้น และร้อยละ 22.09 แย่ลง

 ความสุขคนไทยคือความจงรักภักดี

          นายนพดล กรรณิกา หัวหน้าศูนย์เครือข่ายนักวิชาการ เพื่อสังเกตการณ์และวิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่องความสุขมวลรวมของประชาชนในประเทศว่า จากการสอบถามความสุขของประชาชน ระหว่างวันที่ 1-16 สิงหาคม ที่ผ่านมา พบว่าสิ่งที่ทำให้ประชาชนมีความสุขหรือความทุกข์ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับปัจจัยทางด้านการเงิน หรือสภาวะทางเศรษฐกิจเรื่องปากท้องเพียงอย่างเดียว แต่ผลวิจัยกลับพบว่าความสุขมวลรวมของคนไทยคือ เรื่องความจงรักภักดี มีค่าคะแนนสูงสุดคือ 9.28 คะแนนจากคะแนนเต็ม 10 คะแนน รองลงมาคือบรรยากาศในครอบครัว หน้าที่การงาน วัฒนธรรมประเพณี การบริการสาธารณสุขหรือการแพทย์ ตามลำดับ ขณะที่บรรยากาศการเมืองและสภาวะเศรษฐกิจ ค่อนข้างน่าเป็นห่วง เพราะทำให้ประชาชนมีความสุขน้อยมาก นอกจากนั้นยังพบว่าคนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความสุขน้อยที่สุด แต่ คนใต้กลับมีค่าคะแนนความสุขมวลรวมสูงสุด ซึ่งถือเป็นครั้งแรกตลอดการทำวิจัยที่เคยทำมา รองลงมาคือภาคเหนือ ภาคกลาง และกรุงเทพมหานคร

 ป.ป.ช.โต้ "สมัคร" ทำงานไม่มีอคติ

          นายวิชา มหาคุณ กรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงกรณีที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกฯ และ รมว.กลาโหม ได้กล่าวในรายการ "สนทนาประสาสมัคร" กรณีที่ ป.ป.ช.ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ และรักษา การผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ที่ปล่อยให้รายการ "ความจริงวันนี้" ออกอากาศโจมตีบุคคลอื่นๆ ได้โดยไม่มีหลักฐานว่า ไม่ขอโต้ตอบ ยืนยันว่า ป.ป.ช.ทำงาน อย่างไม่มีอคติทำงานตามหลักฐาน ไม่ใช่การแก้เผ็ด เพราะกลัวว่ารายการดังกล่าวจะนำเรื่องของ ป.ป.ช.มาพูด ป.ป.ช.ขอเอาเวลาไปเชียร์นักกีฬาไทยในโอลิมปิกที่ทำประโยชน์ให้แก่ประเทศดีกว่ามาโต้ตอบ ใครทำประโยชน์ ให้ประเทศชาติ ป.ป.ช.ก็พร้อมสนับสนุน ส่วนกรณีสถานีโทรทัศน์เอเอสทีวีออกอากาศโจมตีบุคคลอื่นด้วยถ้อยคำหยาบคายนั้น ป.ป.ช.ไม่มีอำนาจตรวจสอบ เพราะเป็นสถานีของเอกชน หากใครถูกพาดพิงให้เสียหายก็ต้องไปฟ้องร้องกันเอาเอง แต่สถานีโทรทัศน์เอ็นบีทีเป็นของรัฐ ซึ่ง ป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบได้ 



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิชาการชี้ ทักษิณ ปักหลักสู้คดี อัปเดตล่าสุด 19 สิงหาคม 2551 เวลา 12:15:59 4,640 อ่าน
TOP