x close

ขอเชิญชม งานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5

งานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5
งานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5
งานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5



เรียบเรียงโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก artsofthekingdom.com


          งานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5 จัดขึ้นเนื่องในวโรกาส พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2550 ระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2550 – 15 มกราคม พ.ศ. 2551 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชวังดุสิต ซึ่งงานนี้ได้รับความสนใจจากประชาชนทั้งชาวไทยและต่างชาติเป็นอย่างมาก 

         ทว่า ยังมีผู้คนอีกจำนวนมาก ที่ยังไม่มีโอกาสเข้าชมงาน ได้ร้องขอมายังมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพฯ เพื่อให้ขยายเวลาจัดงานต่อไปอีก ความถึงสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ จึงมีพระกระแสรับสั่งให้จัดนิทรรศการ "ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5" ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นมา 

          การจัดงานดังกล่าว มีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติ องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเพื่อน้อมรำลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ที่ทรงมีต่อราษฎรไทยในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ อีกทั้ง เพื่ออนุรักษ์งานหัตถกรรมไทยโบราณ ตลอดจนเผยแพร่ผลงานอันทรงคุณค่าของมูลนิธิฯ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงศิลปะ และวัฒนธรรมไทยได้อย่างงดงาม โดยฝีมือลูกหลานชาวนา ชาวไร่ 

          ภายในงานมีงานศิลป์ ฝีมือประณีตจำนวนมาก ที่โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ได้จัดทำขึ้นหลายรายการ อาทิ บุษบกห้ายอดไม้แกะสลัก พระที่นั่งพุดตานถมทอง พระที่นั่งพุดตานคร่ำทอง วอสีวิกากาญจน์ เรือศรีสุพรรณหงส์  ฉากผ้าปักป่าหิมพานต์ ฉากไม้แกะสลักตำนานนพรัตน์ ภาพเขียนสุเรนทรจรจักรวาฬ โคมระย้าแต่งปีกแมลงทับ แผ่นลิเภาสานลายผ้าโบราณ ฯลฯ

          ทั้งนี้ งานศิลป์ที่วิจิตรงดงามภายในงาน อาจทำให้หลายคนพาลนึกถึงฝีมืออันประณีตของชาววัง แต่ความจริงแล้ว ศิลปะชั้นเลิศทุกชิ้นที่เห็นภายในงาน ถูกบรรจงสร้างด้วยมืออันหยาบกร้านของลูกหลานของชาวนา บุคคลที่เป็นกระดูกสันหลังของชาติ ซึ่งพวกเขาได้รับการฝึกงานศิลปะแขนงต่างๆ มาจากมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์


 ความเป็นมาของนิทรรศการ

          จากการที่สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงโปรดให้ตั้งมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ เมื่อปี พ.ศ. 2519 ขึ้นเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้มีอาชีพ และรายได้เสริมจากงานหัตถกรรม โดยเริ่มต้นด้วยโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ต่อมาได้มีจำนวนสมาชิกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา เป็นแหล่งสร้างช่างฝีมือที่จะอนุรักษ์งานฝีมือ ที่สืบทอดมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ

          ภายหลังจากที่โรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา ดำเนินงานมาได้หนึ่งทศวรรษ การจัดนิทรรศการแสดงผลงานจึงได้เริ่มต้นขึ้น โดยลำดับดังนี้

          ครั้งที่ 1 ภายใต้ชื่องาน "สืบสานสมบัติศิลป์" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 8–15 สิงหาคม พ.ศ.2532 ณ ศูนย์สรรพสินค้า ริเวอร์ซิตี้ ซึ่งภายในงานมีการจัดแสดงภาชนะ และของใช้ย่านลิเภาโบราณ มีการสาธิตการประดิษฐ์ของใช้ที่ทำจากย่านลิเภา พร้อมจำหน่าย

          ครั้งที่ 2 กับงาน "รังสรรค์ปั้นแต่ง" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 30 เมษายน – 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ภายในงานมีการจัดแสดงและจำหน่ายเครื่องปั้นดินเผา

          ครั้งที่ 3 ในคอนเซ็ปต์ "มัดหมี่ไหมไทย สายใยชนบท" จัดขึ้นระหว่างวันที่ 6–12 สิงหาคม พ.ศ. 2533 ณ ศาลาสหทัยสมาคม ในพระบรมมหาราชวัง ภายในงานมีการจัดแสดงผ้าไหมมัดหมี่ ที่มูลนิธิฯ สะสมมานานร่วม 20 ปี มีสีและลายกว่า 200 ลาย ทั้งยังมีการสาธิตการทอผ้าไหมมัดหมี่ และการนำผ้ามัดหมี่มาใช้สอยในชีวิตประจำวัน  


 ความเป็นมาของนิทรรศการภายใต้ชื่องาน "ศิลป์แผ่นดิน"


           สำหรับงานนิทรรศการภายใต้ชื่องาน "ศิลป์แผ่นดิน" นั้นเริ่มครั้งแรกเมื่อปี 2535 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชวัง ระหว่างวันที่ 8 –11 สิงหาคม ทั้งนี้ เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 5 รอบ  

          ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 2 เมื่อปี 2539 เฉลิมฉลองโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชวังดุสิต  

          ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 3 ปี 2541 จัดขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมฉลองโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระชนมพรรษา 6 รอบ ในปี พ.ศ.2542 ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชวังดุสิต  

           ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 4 ปี 2547 เพื่อเฉลิมฉลองโอกาสที่สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ทรงเจริญพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชวังดุสิต  

           ศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5 ระหว่างวันที่ 18 ธันวาคม 2550 - 15 มกราคม 2551 และอีกครั้งในวันที่ 2 พฤษภาคม 2551 เป็นต้นมา ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม ในพระราชวังดุสิต เนื่องในโอกาสพระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติ ครบ 60 ปี พุทธศักราช 2549 และในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พุทธศักราช 2550

          ในนิทรรศการแต่ละครั้ง ผลงานจากโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดาที่นำมาจัดแสดง ยิ่งทวีความปราณีต วิจิตรขึ้นเรื่อยๆ กระทั่งเป็นที่กล่าวขวัญถึงอย่างกว้างขวาง ทั้งในหมู่คนไทย และชาวต่างชาติ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงพระอัจฉริยภาพในสมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนาถ ผู้ทรงเป็นดั่งดวงประทีปแห่งศิลปหัตถกรรม ราชสำนักรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 9 ที่ สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ทรงอุทิศพระองค์ ทรงงานอย่างต่อเนื่อง ด้วยพระราชปณิธานที่จะทำให้พสกนิกรของพระองค์พ้นจากความยากจน และสามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน พร้อมทั้งสืบสานมรดกทางศิลปวัฒนธรรมฝีมือของช่างไทย ให้ยั่งยืนคู่แผ่นดินต่อไป


 ชิ้นงานสำคัญที่จัดแสดง 

          หากคุณก้าวเท้าเข้าไปภายในงานนิทรรศการ จะพบงานช่างฝีมือระดับสุดยอดมากมาย ซึ่งในที่นี้จะขอยกตัวอย่างบางส่วนมาให้รู้จักกัน เพราะมีมากมายหลายอย่าง และมีความน่าสนใจทุกชิ้น ที่สำคัญคือ ถ้าคุณเห็นส่วนไหน ชิ้นไหนมีสีทอง รับรู้ไว้ได้เลยค่ะว่า มันคือทองจริง ส่วนไหนชิ้นไหน เป็นเพชรพลอย ก็คือเพชรพลอยจริงที่นำมาตกแต่งจนดูสวยงามในรูปแบบของศิลปะไทย โดยชิ้นงานที่สำคัญที่จัดแสดง เช่น  

สีวิกากาญจน์


           สีวิกากาญจน์ เป็นงานศิลป์ชิ้นแรกที่จะเจอ เมื่อเดินเข้ามาภายใน สีวิกากาญจน์ คือ ชื่อพระราชยานสำหรับ เจ้านายฝ่ายในที่สูงศักดิ์ รายละเอียดของสีวิกากาญจน์นั้นสุดแสนละเมียดทุกกระเบียดนิ้ว เห็นเป็นพระราชยานที่ไม่ใหญ่มาก แต่เชื่อหรือไม่ว่างานชิ้นนี้ใช้เวลาทำถึง 1 ปี 6 เดือน โดยฝีมือช่างถึง 160 คน!

เรือพระที่นั่งจำลองศรีสุพรรณหงส์


           เรือพระที่นั่งจำลองศรีสุพรรณหงส์ สร้างจำลองจากเรือพระที่นั่งศรีสุพรรณหงส์ ในรัชกาล ที่ 1 ลำเรือสร้างด้วยเงินถมทอง ศีรษะหงส์จำหลักทองลงยาราชาวดี ตาและเขี้ยวประดับเพชร ปากห้อยพู่พุ่มทองระย้าประดับเพชร ทองจำหลักลงยาฉลุซับพื้นปีกแมลงทับ หางจำหลักทองลงยา ประดับเพชรหลังและหน้าเรือ กงในจำหลักไม้โมกอย่างประณีตฉลุปิดทอง ฯลฯ ซึ่งเรือพระที่นั่งจำลองลำนี้ ใช้เวลาทำ 2 ปี 9 เดือน โดยช่างฝีมือ กว่า 180 ชีวิต


ฉากปักสระโบกขรณี


           ฉากปักสระโบกขรณี ฉากปักรูปนกไม้น้ำ มีพระยาราชหงส์มาเล่นลอยวาริน ฉากนี้ใช้เวลาปัก 2 ปี 2 เดือน โดยช่างฝีมือ 34 คน ปักด้วยเส้นไหมละเอียดอ่อนนุ่ม ใช้ไหมคัดอย่างดี บรรจงปักได้งดงาม ประหนึ่งภาพเขียนสี 


ม้านิลมังกร


           ม้านิลมังกร เขี้ยวเป็นเพชร เกล็ดเป็นเงิน ลิ้นเป็นปาน ม้านิลมังกรตัวนี้จำหลักขึ้นตามที่ปรากฎในเรื่องพระอภัยมณี เป็นม้าวิเศษ พาหนะของสุดสาครโอรสพระอภัยมณี ในวรรณคดีของสุนทรภู่ เหลือเชื่อว่างานศิลป์ชิ้นนี้ใช้เวลาทำเพียง 2 เดือน ด้วยช่างฝีมือ 11 คน


บุษบกมาลา


           บุษบกมาลา เป็นเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศ จำหลักด้วยทองประดับเพชร ที่ฐานท้องไม้รายรูปเทพยดาทองประดับเพชร บุษบกมาลานี้เป็นการจำลองจากพระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน ณ พระที่นั่งอมรินทรวินิจฉัย ในพระมหามณเฑียร พระบรมหาราชวัง ใช้เวลาทำ 1 ปี และผู้จัดทำกว่า 285 คน


ตำนานเพชรรัตน์


           ตำนานเพชรรัตน์ สุดยอดของการแกะสลักไม้ เป็นฉากจำหลักไม้ ตั้งประกบด้วยเสาเม็ดทรงมัณฑ์บนม้าไม้ขาคู้ จำหลักลายใบเทศ พื้นฉากจำหลักไม้ ว่าด้วยเรื่อง ตำนานเพรชรัตน์ ซึ่งเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเทวดา ฤาษี และคนธรรพ์ (เทพที่รับใช้เทวดา) พากันไปเข้าเฝ้าพระอิศวร เพื่อทูลถามถึงบ่อเกิดของแก้วเพชรรัตน์ทั้ง 9 ประการ แล้วเรื่องราวก็เป็นไปตามไม้จำหลักสุดยอดงานสร้างชิ้นนี้

          นอกจากนี้ ยังมีงานศิลป์อีกหลายชิ้นงานที่น่าดูน่าชม เช่น รอยพระพุทธบาทถมทอง, พระธรรมจักรคร่ำเงินคร่ำทอง, เรือสำเภาพระมหาชนก, สัปคับถมทอง, สัปคับพระคชาธาร, สัปคับคร่ำ, ผ้าปักไหมน้อย "ป่าหิมพานต์", พระที่นั่งพุดตานคร่ำทอง และสุรินทรสุรอัปสร เป็นต้น ซึ่งเวลาดูก็ไม่ต้องกลัวงงว่าอะไรคืออะไร เพราะงานช่างทุกชิ้นนั้นจะมีป้ายชื่อ พร้อมอธิบายรายละเอียดไว้อย่างชัดเจน

          ขณะที่ ชั้นล่างของพระที่นั่งอนันตสมาคม จะมีการจัดแสดงผ้าปัก ผลงานของนักเรียนโรงฝึกศิลปาชีพ สวนจิตรลดา และผ้าปักผลงานของสมาชิกศิลปาชีพจากจังหวัดต่างๆ ซึ่งชนะการประกวด หลายภาพสวยไม่แพ้ภาพวาดเลย นอกจากนี้ ยังมีผ้าประเภทต่างๆ ที่อนุรักษ์ไว้ และสร้างสรรค์ขึ้นใหม่จากทั่วทุกทิศแดนไทย ซึ่งมีเอกลักษณ์แตกต่างกันไป แล้วเราจะเข้าใจว่า ผ้ามัดหมี่ ผ้าแพรวา ผ้าชาวเขา ผ้าทอ หรือผ้าชนิดต่างๆ เขาทำกันอย่างไร  

           หากใครมีเวลาว่าง ขอบอกไว้เลยว่างานนี้ไม่ควรพลาด อาจชวนครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อนๆ ไปชมงานศิลป์ดีๆ ฝีมือคนไทย ที่รับรองว่าจะทำให้คุณอิ่มตาอิ่มใจจากการเที่ยวชมงานนี้อย่างแน่นอน


 กำหนดเวลาทำการ

          ทุกท่านสามารถเข้าชมพิพิธภัณฑ์ งานศิลป์แผ่นดิน ได้ในเวลา 10.00-20.00 น. (เวลาจำหน่ายบัตร 10.00-19.00 น.) ทุกวันอังคาร – วันอาทิตย์ ทั้งนี้ พิพิธภัณฑ์จะปิดทุกวันจันทร์ เทศกาลสงกรานต์ และเทศกาลวันหยุดปีใหม่


 ราคาบัตรเข้าชม 

           นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างประเทศ คนละ 150 บาท 

           นักเรียน นักศึกษาในเครื่องแบบ หรือแสดงบัตรประจำตัว คนละ 75 บาท 

           นักท่องเที่ยวที่ซื้อบัตรเข้าชมพระราชวัง สามารถใช้บัตรเดียวกันเข้าชมงานได้ ตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป (บัตรมีอายุ 7 วัน นับจากวันซื้อบัตร) 

           ค่าเช่าชุดหูฟังบรรยายชิ้นงาน "ศิลป์แผ่นดิน" ราคาชุดละ 50 บาท 

           วันพ่อแห่งชาติ วันแม่แห่งชาติ และวันเด็ก ชาวไทย เข้าชมฟรี!


 การเดินทาง 

           รถประจำทางที่ผ่านพระที่นั่งอนันตสมาคม มี 8 สาย คือ 503, 23, 72, 509, 16, 18, 70, 505 

           สำหรับใครที่ไปด้วยรถส่วนตัว ดูเส้นทางได้ตามแผนที่ด้านล่างนี้ 


แผนที่พระที่นั่งอนันตสมาคม


 กฏระเบียบ และข้อควรทราบ
          
          ระเบียบการแต่งกายของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ ควรแต่งกายสุภาพ  

           สุภาพสตรี สวมกระโปรง หรือผ้าซิ่น งดสวมเสื้อไม่มีแขน 

           สุภาพบุรุษสวมกางเกงขายาว งดสวมเสื้อไม่มีแขน


 หลักการปฏิบัติของผู้เข้าชมพิพิธภัณฑ์ 

          1. ห้ามนำอาหารและเครื่องดื่มเข้าภายในพระที่นั่ง 

          2. ห้ามถ่ายรูปหรือบันทึกภาพทุกชนิด 

          3. ห้ามนำอาวุธ วัตถุระเบิด วัตถุเชื้อเพลิง หรือสารเคมีอันจะก่อให้เกิดอันตราย เข้าไปในพระที่นั่ง 

          4. ห้ามนำสัตว์เลี้ยงทุกชนิดเข้าในพระที่นั่ง 

          5. ห้ามนำกระเป๋า ถุงย่าม หรือสิ่งใดๆ ที่อาจบรรจุ ปกคลุม ปิดบังหรือซ่อนเร้นสิ่งของได้ เข้าไปภายในพิพิธภัณฑ์ 

          6. ห้ามหยิบต้อง หยิบฉวย ขีดเขียน หรือกระทำการใดๆ อันอาจเป็นต้นเหตุให้เกิดความชำรุด หรือเสียหายแก่สิ่งของที่จัดแสดง 

          7. ห้ามสูบบุหรี่ภายในพิพิธภัณฑ์ 

          8. ห้ามส่งเสียงหรือก่อความรำคาญแก่ผู้เข้าชมอื่นๆ ภายในพระที่นั่ง 

          9. ห้ามกระทำการใดๆ อันเป็นที่น่ารังเกียจ หรือเป็นที่เสื่อมเสียต่อศีลธรรมอันดี 

          10. ห้ามกระทำการใดๆ เกี่ยวกับการค้า หรือโฆษณาชวนเชื่อภายในพิพิธภัณฑ์ 

          11. กรุณารักษาความสะอาดในเขตพระที่นั่ง 

          12. กรุณาดูแลเด็กในปกครอง มิให้วิ่งเล่นปีนป่ายในเขตพระที่นั่ง และพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- artsofthekingdom.com
- wiseknow.com โดย คุณณัฐกร เวียงอินทร์

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขอเชิญชม งานศิลป์แผ่นดิน ครั้งที่ 5 อัปเดตล่าสุด 19 สิงหาคม 2551 เวลา 14:18:22 19,901 อ่าน
TOP