โรคกรดไหลย้อน – โรคกระเพาะ ความเหมือนที่แตกต่าง

กรดไหลย้อน


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

          คนทั่วไปคุ้นเคยกันดีกับโรคกระเพาะอาหาร และเมื่อมีอาการปวดท้อง ปวดแสบร้อนในช่องท้องส่วนบน เรอเปรี้ยว หรือมีรสขมในปาก ก็มักจะคิดเอาเองว่า โรคกระเพาะกำลังมาเยือนเป็นแน่แท้ ทั้งที่ความเป็นจริงอาจกำลังถูก โรคกรดไหลย้อน (GERD) เล่นงานเอาก็เป็นได้

          กรดไหลย้อน  เป็นผลมาจากกรดในกระเพาะอาหารไหลย้อนขึ้นมาที่หลอดอาหาร ซึ่งกรดเหล่านี้มีความเข้มข้นสูงมาก ทำให้เกิดอันตรายต่อหลอดอาหาร และเยื่อบุในหลอดอาหารที่มีความบอบบาง กระทั่งทำให้เกิดการอักเสบตามมา ซึ่งโดยปกติแล้วกรดหรือน้ำย่อยจะไม่สามารถขึ้นไปอยู่ในหลอดอาหารได้ ยกเว้นในช่วงที่กลืนอาหาร หรือช่วงที่กล้ามเนื้อหูรูดส่วนล่างมีการคลายตัวอย่างผิดปกตินั่นเอง

          อย่างไรก็ตามเกี่ยวกับ กรดไหลย้อน นี้ รศ.พ.ญ.วโรชา มหาชัย หัวหน้าหน่วยทางเดินอาหาร โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ เปิดเผยว่า โรคกรดไหลย้อน ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่โรคร้ายแรงถึงชีวิตเหมือนโรคมะเร็งหรือโรคหัวใจ แต่เป็นโรคที่สร้างความทุกข์ทรมานให้กับผู้ป่วย ทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตและประสิทธิภาพการทำงานลดลง

          "เนื่องจาก โรคกรดไหลย้อน จะมีอาการท้องอืดท้องเฟ้อร่วมด้วย คล้ายๆ กับอาการของโรคกระเพาะอาหาร จึงทำให้คนส่วนใหญ่มักจะเหมารวมว่า ตนเองอาจจะเป็นโรคกระเพาะอาหาร และไปซื้อยาเคลือบแผลในกระเพาะอาหารมารับประทานเอง ทำให้การรักษาไม่ตรงจุด โดยเฉพาะคนไทยเรามักจะชอบซื้อยามารับประทานเอง และคิดว่าการไปพบแพทย์เป็นเรื่องใหญ่ ระยะหลังมานี้จึงพบโรคกรดไหลย้อนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ"  รศ.พ.ญ.วโรชา กล่าว

อาการของ กรดไหลย้อน แบ่งเป็น 2 ระบบ ดังนี้

           1. อาการ กรดไหลย้อน ที่เกิดในหลอดอาหาร จะมีอาการเจ็บคอ กลืนลำบาก รู้สึกเหมือนมีก้อนอยู่ในลำคอ แสบลิ้นเรื้อรัง จุกแน่นแถวๆ หน้าอกคล้ายอาหารไม่ย่อย อาการนี้มักจะเป็นมากขึ้นหลังอาหารมื้อหลัก การโน้มตัวไปข้างหน้า การยกของหนัก หรือการนอนหงาย

          ที่สำคัญคือ จะมีอาการแสบหน้าอก เรอเปรี้ยว รู้สึกเหมือนมีกรดซึ่งเป็นน้ำรสเปรี้ยว หรือรสขมไหลย้อนขึ้นมาในปาก ภาวะดังกล่าวนี้อาจทำให้เกิดหลอดอาหารอักเสบ ถ้าเป็นมากจนเกิดแผลรุนแรง อาจทำให้หลอดอาหารตีบหรือเกิดการเปลี่ยนแปลงเซลล์ของเยื่อบุอาหารได้

           2. อาการ กรดไหลย้อน นอกหลอดอาหาร จะมีเสียงแหบเรื้อรัง มักมีเสียงแหบตอนเช้า หรือมีเสียงผิดปกติไปจากเดิม ไอเรื้อรัง รู้สึกสำลักในเวลากลางคืน หรือในบางรายอาจมีอาการทางระบบหายใจ เช่น หอบหืด หรืออาการเจ็บหน้าอกได้ ดังนั้นหากมีอาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าคุณกำลังถูก "โรคกรดไหลย้อน" คุกคาม

          ถามว่าโรคนี้อันตรายไหม คำตอบคือ ถ้าเป็นแล้วรีบรักษา หรือทำให้อาการหายไปก็จะไม่มีอาการอย่างไร แต่หากปล่อยไว้เนิ่นนาน อาจทำให้หลอดอาหารเกิดการอักเสบ เป็นแผลรุนแรงจนตีบ หรือเป็นมะเร็งที่หลอดอาหารได้ แต่... ความรุนแรงนี้จะมีได้เพียง 1% เท่านั้น

กลุ่มเสี่ยง กรดไหลย้อน 

         โรคกรดไหลย้อน เป็นโรคยอดฮิตของหนุ่มสาววัยทำงาน ดารานักแสดง โดยเฉพาะสาวออฟฟิศ ที่ชอบกินจุบกินจิบ กินอาหารไม่เป็นเวลาและเร่งรีบ รวมถึงผู้ชอบอาหารรสจัด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ มีโอกาสเสี่ยงสูงหากมีอาการท้องอืด ท้องเฟ้อ เรอเปรี้ยว ปวดแสบร้อนบริเวณหน้าอกและลิ้นปี่แล้วลามขึ้นมาที่หน้าอกหรือคอ ควรปรึกษาแพทย์

          นอกจากนี้ ยังสามารถพบได้ในเด็กทารกจนถึงเด็กโต ในเด็กเล็กอาการที่ควรนึกถึงโรคนี้ ได้แก่ อาเจียนบ่อยหลังดูดนม โลหิตจาง น้ำหนักและการเจริญเติบโตไม่สมวัย ไอเรื้อรัง หอบหืด ปอดอักเสบเรื้อรัง ในเด็กบางรายอาจมีปัญหาการหยุดหายใจขณะหลับได้

 วิธีการรักษา กรดไหลย้อน 

          โรคกรดไหลย้อน สามารถรักษาให้หายได้ โดยการรับประทานยากลุ่มยาลดกรด แต่ถ้าเป็นมาก และเรื้อรังควรได้รับการตรวจรักษาโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง เพื่อการวินิจฉัยที่ถูกต้อง และรับยาที่ตรงกับโรค ในบางรายที่อาการหนักอาจต้องเข้ารับการผ่าตัด ดังนั้นหากมีอาการควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอาการ

ขณะเดียวกัน การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิต จะให้ผลดีมากเช่นกัน ซึ่งผู้ป่วย กรดไหลย้อน ควรปฏิบัติดังนี้

           ลดน้ำหนักสำหรับผู้ที่มีน้ำหนักเกิน เพราะคนอ้วนจะมีความดันในช่องท้องสูงทำให้กรดไหลย้อนได้มาก

           งดบุหรี่ เพราะการสูบบุหรี่จะทำให้เกิดกรดมาก ทำให้หูรูดอ่อนแอ

           ใส่เสื้อหลวมๆ เพื่อลดแรงกดที่กระเพาะ

           ไม่ควรจะนอน ออกกำลังกาย หรือยกของหนักหลังออกกำลังกาย

           งดอาหารก่อนนอน 3 ชั่วโมง

           งดอาหารมันๆ อาหารทอด อาหารที่ปรุงด้วยหัวหอม กระเทียม มะเขือเทศ ช็อกโกแลต ถั่ว ลูกอม เนย ไข่ รวมทั้งอาหารที่มีรสเผ็ด เปรี้ยว และเค็มจัด

           รับประทานอาหารแค่พออิ่ม หรืออาจแบ่งอาหารเป็นมื้อเล็กๆ ทานน้อย แต่บ่อย

           หลีกเลี่ยง ชา กาแฟ น้ำอัดลม เบียร์ สุรา

           เลี่ยงการนอนตะแคงขวา เพราะท่านี้จะทำให้กระเพาะอยู่เหนือหลอดอาหารอาจทำให้อาการกำเริบได้

           นอนหัวให้สูงประมาณ 6-10 นิ้ว โดยหนุนที่ขาเตียง ไม่ควรใช้หมอนหนุนที่ศีรษะ เพราะทำให้ความดันในช่องท้องสูง

          แม้จะมีวิธีรักษา กรดไหลย้อน หรือรู้วิธีช่วยบรรเทา กรดไหลย้อน แล้วก็ตาม หากยังคงปฏิบัติหรือใช้วิถีชีวิตแบบเดิมๆ ไม่ยอมเปลี่ยนแปลง กรดไหลย้อน ก็จะยังคงย้อนวนเวียนกลับมาเหมือนเดิมนั่นเอง!!


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- matichon.co.th
- gerdthailand.com
- khaosod.co.th


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โรคกรดไหลย้อน – โรคกระเพาะ ความเหมือนที่แตกต่าง อัปเดตล่าสุด 22 กันยายน 2552 เวลา 14:52:37 350,064 อ่าน
TOP
x close