x close

ป๋าเปรม ชี้คนดีเท่านั้น รู้จักคำว่า เสียสละ

พลเอกเปรม



          แนะสังคมยกย่องคนดี ควบคุมคนไม่ดี เชิดชู พญ.วลัยรัตน์-นพ.สุธี 2 หมอชนบทได้รับรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่นปี 51

          ที่โรงแรมเอเชียแอร์พอร์ท เมื่อเวลา 11.00 น.วันที่ 18 กันยายน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ เป็นประธานมอบรางวัลแพทย์ชนบทดีเด่น กองทุนนายแพทย์กนกศักดิ์พูลเกษร ประจำปี 2551 โดยในปีนี้ผู้ได้รับการคัดเลือกให้รับรางวัล คือ พญ.วลัยรัตน์ ไชยฟู ผอ.รพ.ปางมะผ้า จ.แม่ฮ่องสอน และ นพ.สุธี สุดดี แพทย์ประจำ รพ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี  และมอบรางวัลแพทย์ชนบทอาวุโสที่ยึดมั่นใจอุดมการณ์ไม่เปลี่ยนแปลงให้แก่ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข

          พล.อ.เปรมกล่าวว่า กองทุน นพ.กนกศักดิ์ พูลเกษร เป็นรางวัลช่วยให้เกิดแพทย์ดีเด่นของประเทศ ตนคิดว่า หมอกนกศักดิ์เป็นหมอผู้ยิ่งใหญ่ เราต้องแสดงถึงคุณงามความดีของท่านให้ปรากฏ ตนรู้ดีว่า โรงพยาบาลชุมชนตั้งขึ้นเพื่อช่วยคนยากคนจน และแน่นอนว่าคนยากคนจนก็อยู่ในชนบท ในกทม.ก็มีเหมือนกัน ส่วนมากเป็นคนจนในชนบทที่มาหากิน

          ก่อนหน้านี้ไม่เข้าใจ และสนใจเรื่องคนยากจนเท่าใด เพราะอยู่ จ.สระบุรีไม่ค่อยเห็นคนยากจน แต่ได้รู้จักคนจนเมื่อไปรับราชการภาคอีสาน หากไม่เห็นด้วยตาตนเองไม่เชื่อเลยว่าจะมีคนจนแบบนั้นในประเทศเรา เมื่อปี 2517 บางบ้านไม่มีเงินเลย เมื่อพูดถึงสุขภาพของคนเหล่านั้น ทุกคนก็ต่างเข้าใจดีว่าย่อมมีสุขภาพไม่ดี ตนดีใจและตกใจที่เจอคนยากจน ที่ดีใจเพราะได้เห็นด้วยตาว่า คนจนขนาดนั้นในบ้านเรามี และประหลาดใจว่า ทำไมปล่อยให้บ้านเรามีคนจนขนาดนี้ แต่ก็ดีใจที่หมอชนบทเป็นผู้เสียสละ เป็นตัวอย่างที่ดีในบ้านเรา เพราะคนดีเท่านั้นที่รู้จักเสียสละ คนไม่ดีไม่รู้จัก หมอที่ได้รับรางวัลก็ได้เสียสละ และควรได้รับการยกย่องตรงนี้

          พล.อ.เปรมกล่าวต่อ เราต้องรู้จักยกย่องคนดีและควบคุมคนไม่ดี แพทย์ชนบทควรได้รับการยกย่องชมเชย ตนชอบพูดว่า เกิดมาต้องตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน และท่านทั้งหลายกำลังทำสิ่งตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน ที่จริงคนที่เสียสละไม่มีแต่เฉพาะแพทย์ชนบท แต่มีทั่วไปในประเทศเรา หมอดีในประเทศเรามีมากมาย ดังนั้นอยากให้หมอรู้ และภาคภูมิใจในเพื่อนร่วมอาชีพของเราที่ทำความดี

          "บ้านเมืองเราถ้าไม่มีใครรู้จักเสียสละ เราก็ไม่รู้ว่าจะอยู่กันไปทำไม และจะอยู่อย่างไร ผมมั่นใจว่า หมอทุกท่านที่เสียสละจะเป็นผู้ที่มีความสุขมาก ไม่ว่าจะหมอกนกศักดิ์ที่มี่ส่วนช่วยเหลือการกระทำความดีครั้งนี้ ซึ่งจะไม่จารึกเฉพาะวงการแพทย์ แต่จารึกคนไทยโดยรวม" พล.อ.เปรมกล่าว

          พล.อ.เปรมกล่าวต่อว่า รู้จักปางมะผ้าดี เพราะเคยตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ตั้งแต่ยังเป็น ต.ปางมะผ้า กันดารมาก ทำให้รู้ว่า ทำไมหมอถึงได้รับรางวัลนี้ อ.วารินชำราบ ก็ก็รู้จักดี หมอที่ได้รับรางวัลจึงไม่สงสัย ดังนั้นขอขอบคุณที่เชิญมา และในนามคนไทยของยกย่องชมเชยหมอที่อยู่ใน รพ.ชนบทและ รพ.ชุมชน หากจะให้รางวัลกันจริงๆ น่าจะมีผู้ได้รางวัล 200-300 คน

          แต่รางวัลที่เราควรจะได้รับคือ ความมีอนามัยดีของคนไข้ และเพื่อนคนไทยที่ยากจนจะเป็นรางวัลที่ดีสำหรับการทำงานของหมอที่อยู่ในชนบท นั่นคือความภูมิใจของแพทย์ในชนบท ขอแสดงความยินดีที่ต่างใส่ใจดูแลสุขภาพคนไทย และหวังว่าแพทย์ชนบทจะดำรงความเป็นแพทย์ที่ดี เพื่อเป็นที่พึ่งคนยากจนที่ต้องการหมอมาก สุขภาพยังไม่ดีพอ ช่วยตนเองไม่ได้ เป็นหน้าที่เราต้องช่วยกัน เพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน

          ด้านพญ.วลัยรัตน์ กล่าวภายหลังการรับมอบรางวัลว่า รู้สึกดีใจมากที่ได้รับรางวัลนี้ การทำงานเป็นแพทย์ของตนคิดว่าไม่แตกต่างจากแพทย์คนอื่นๆ แต่การเลือกที่จะทำงานที่ อ.ปางมะผ้า เพราะคิดว่า หากได้ทำงานเป็นแพทย์ที่นี่ น่าจะเป็นประโยชน์ช่วยผู้ป่วยได้มากกว่า เพราะที่นี่ชาวบ้านยังมีปัญหาการเข้าถึงการรักษา เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขา ทุรกันดาร เดินทางลำบาก รถเข้าไม่ถึง ทำให้บ่อยครั้งตนต้องเดินเท้าออกตรวจรักษาชาวบ้าน แต่ก็ไม่ได้มองว่าเป็นอุปสรรค เพราะว่าได้ยึดหลักคำสอนที่ว่า แท้จริงความลำบากไม่มี มีแต่ความไม่เคยชินเท่านั้น

          ส่วนการเลือกเรียนแพทย์ไม่ได้มีแรงบันดาลใจอะไร แต่เพราะสมัยก่อนเด็กเก่งก็มักจะเลือกเรียนแพทย์ ซึ่งขณะนี้ไม่ได้คิดว่าแพทย์จะทำอะไรไปมากกว่าการรักษาคนไข้ แต่พอมาเป็นแพทย์ที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว ได้ออกหน่วยไปตรวจชาวบ้าน ส่วนใหญ่เป็นชาวเขาที่มีความหลากหลายทางเชื้อชาติและภาษา ต้องอาศัยล่ามช่วยแปลเพื่อให้ชาวบ้านเข้าใจเกี่ยวกับโรคและการรักษา ทำให้มีปัญหาการสื่อสารบ้าง

          พญ.วลัยรัตน์ อายุ 39 ปี จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต จากคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เริ่มรับราชการเป็นแพทย์ใช้ทุนตั้งแต่ปี 2537 ที่โรงพยาบาลศรีสังวาลย์ จ.แม่ฮ่องสอน ก่อนย้ายไปที่โรงพยาบาลขุนยวม และทำงานในตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลปางมะผ้าในปัจจุบัน ซึ่งนอกจากเป็นพื้นที่ห่างไกลแล้ว ยังมีความแตกต่างของประชากร ประกอบด้วย 7 ชนเผ่าใหญ่ ซึ่งที่ผ่านมา พญ.วลัยรัตน์ ได้พัฒนางานด้านบริการสาธารณสุขในพื้นที่ โดยจัดการบริหารในรูปแบบเครือข่ายบริการสุขภาพ มีคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขและบริหารเครือข่ายสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด เน้นการสร้าง นำ ซ่อม และดูแลสุขภาพ

          ขณะที่นพ.สุธี กล่าวว่า รู้สึกดีใจ และการได้รับรางวัลนี้จะเป็นกำลังใจในการทำงานต่อไป ซึ่งงานที่ทำถือเป็นงานเชิงรุกไม่เพียงแต่ช่วยรักษาคนไข้เท่านั้น แต่มีส่วนร่วมในระบบการดูแลสุขภาพประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาได้มีการจัดตั้งศูนย์แพทย์ชุมชนห้วยขะยุง ที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิที่มีการพัฒนาเพิ่มคุณภาพในรูปแบบใหม่ ไม่เพียงแต่ให้การรักษา คัดกรองผู้ป่วยในโรคที่ไม่ซับซ้อนเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เข้าถึงผู้ป่วย เข้าใจระบบความสัมพันธ์ในชุมชนมากขึ้น ที่เป็นการรักษาผู้ป่วยแบบองค์รวม ใส่ใจทั้งร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ เกิดความเข้าใจระหว่างกัน

          นพ.สุธีกล่าวว่า การตัดสินใจเลือกทำงานในพื้นที่ห่างไกลตอนนั้นไม่ได้คิดอะไร คิดแค่ว่าอยากทำงาน จะอยู่ที่ไหนก็ได้ ไม่เคยรู้สึกว่าลำบาก และการที่ไม่เลือกเรียนต่อแพทย์เฉพาะทางทำงานในโรงพยาบาลใหญ่ เพราะตอนนั้นรู้สึกเริ่มชอบทำงานในชนบทและอยู่กับชาวบ้านแล้ว และไม่อยากเป็นผู้อำนวยการโรงพยาบาล เนื่องจากตำแหน่งผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะต้องทำงานบริหาร และห่างชาวบ้านออกไปเรื่อยๆ ทำให้ไม่ได้ทำงานที่รัก

          ทั้งนี้นพ.สุธี อายุ 42 ปี จบการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิต คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มรับราชการในตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลบุณฑริก จ.อุบลราชธานี เมื่อปี 2533 ก่อนไปรับตำแหน่งรักษาการผู้อำนวยการโรงพยาบาลวารินชำราบ และเป็นแพทย์ประจำโรงพยาบาลวารินชำราบจนถึงปัจจุบัน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ป๋าเปรม ชี้คนดีเท่านั้น รู้จักคำว่า เสียสละ อัปเดตล่าสุด 18 กันยายน 2551 เวลา 18:06:54 7,895 อ่าน
TOP