x close

ผลกระทบจากวิกฤต การเงินสหรัฐต่อไทย


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบทางอินเทอร์เ็น็ต

          ทันทีที่เลห์แมน บราเธอร์ส วานิชธนกิจ หรือธนาคารเพื่อการลงทุนรายใหญ่อันดับ 4 ของประเทศสหรัฐอเมริกา ต้องเข้าสู่ภาวะล้มลาย ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจทั่วโลกแบบฉับพลัน นักลงทุนต่างหวาดผวา ว่าจะเกรงจะโดนพิษเศรษฐกิจ สร้างความเสียหายแบบโดมิโนให้กับระบบเศรษฐกิจโลก ซึ่งต่อมาในเวลาไม่นานก็เป็นดังที่หลายๆ คนคาดคิด เพราะมีธนาคารและวานิชธนกิจรายหลาย กำลังเผชิญกับวิกฤตแบบเดียวกัน 

          จนรัฐบาลสหรัฐอเมริกาต้องงัดแผนฉุกเฉินออกมากู้เศรษฐกิจ ไม่ให้แย่ไปกว่านี้ โดยเสนอแผนกู้วิกฤติการเงินมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อให้กระทรวงการคลังเข้าไปซื้อหนี้เสียของสถาบันการเงิน ในประเทศที่เกิดปัญหาขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรงและล้มละลาย แต่หลังจากนั้นไม่นานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกาหรือสภาคองเกรส ได้ลงมติด้วยคะแนนเสียง 228-205 เสียง ไม่รับรองแผนกู้วิกฤตินี้

          เรียกได้ว่าการคว่ำแผนฟื้นฟูสถาบันการเงินครั้งนี้ สร้างความปั่นป่วนเสียหายไปยังตลาดหุ้นทั่วโลก ผู้นำหลายชาติทั้งจากยุโรปและเอเชียแสดงความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก รวมถึงรัฐบาลไทยด้วย โดย โอฬาร ไชยประวัติ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ถึงกับต้องเรียกประชุมด่วน เตรียมรับมือกับวิกฤตนี้เป็นการด่วน 

          ทั้งนี้ นายสุชาติ ธาดาธำรงเวช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ได้มีการประชุมเพื่อหารือถึงแนวทางรับมือ โดยเบื้องต้นยอมรับว่ามีปัญหาด้านสภาพคล่องบ้างแต่ยังดีกว่าประเทศอื่น เพราะยังสามารถกู้ยืมเงินในประเทศได้ ดังนั้นขอให้ประชาชนสบายใจได้ว่าปัญหาของสหรัฐอเมริกา ยังห่างไกลประเทศไทยเพราะอยู่กันคนละซีกโลก และประเทศไทยพยายามเปลี่ยนวิกฤติการเงินของโลกเป็นโอกาส ในการค้าขายระหว่างกันเองในเอเชีย และรัฐบาลจะเสนอต่อประเทศเพื่อนบ้าน เริ่มประสานความสัมพันธ์ทางด้านการเงิน เรียกว่าสร้างประชาคมการเงินของทวีปเอเชียเต็มรูปแบบ

แต่แม้หลายฝ่ายออกมายืนยันว่าคลื่นเศรษฐกิจนี้จะไม่ส่งผลกระทบกับประเทศไทยมากนัก แต่สำหรับเศรษฐกิจภาพรวม ดูเหมือนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กลับมองค่อนข้างเคร่งเครียด เพราะมีแนวโน้มว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอตัวต่อเนื่องไปจนถึงปี 2552!! และคาดการณ์ว่าตลาดการเงินใหญ่ของโลกจะมาตั้งในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งอาจเป็นจีน หรือญี่ปุ่น 

          อย่างไรก็ตามสำหรับภาคธุรกิจของไทยที่เริ่มได้รับผลกระทบจากปัญหาดังกล่าว คือ ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ที่เริ่มขาดสภาพคล่องทางการเงิน เมื่อวงจรธุรกิจที่เคยมีการให้เครดิตทางการค้ากัน 30-60 วัน ตอนนี้เรียกเก็บแต่เงินสด ร้านค้าที่เคยซื้อสินค้าจากผู้ผลิต หรือผู้ค้าส่งแบบเงินเชื่อ คือเอาของไปก่อน จ่ายเงินทีหลัง ตอนนี้ก็ทำไม่ได้เหมือนเก่าทุกคนขอเก็บเงินสดไว้กับตัว เผื่อว่าเศรษฐกิจเป็นอะไรไปจะได้ไม่มีปัญหาเรื่องการเบี้ยวหนี้ 

          ขณะที่บริษัทขนาดใหญ่ก็จะมีปัญหาใหญ่ตามไปด้วย โดยเฉพาะการระดมทุนเพื่อขยายกิจการต้องมีต้นทุนที่สูงขึ้น จากเดิมที่เคยออกหุ้นกู้ในอัตราดอกเบี้ย 5% อาจต้องเพิ่มเป็น 7% เพื่อเพิ่มความน่าสนใจให้นักลงทุนมาซื้อ เพราะสภาพคล่องในตลาดโลกเหือดแห้ง เมื่อเงินลงทุนจากสหรัฐและยุโรป ถูกดึงกลับไปเพิ่มทุนพยุงฐานะสถาบันการเงินที่ร่อแร่ ขณะที่ตลาดหุ้นไทย มีต่างชาติขายสุทธิไปแล้วกว่าแสนล้านบาทเลยทีเดียว!!!

          ด้าน แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังมีการประเมินสถานการณ์ครั้งนี้ว่า อาจจะรุนแรงกว่าที่คาดคิด เนื่องจากประเทศสำคัญที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพามากๆ อย่างญี่ปุ่นก็ได้รับผลกระทบไปด้วย รัฐบาลจึงไม่ควรประมาท 

          สำหรับมาตรการรับมือประชาชนอย่างเราๆ ควรเตรียมรับมือกับปัญหาเศรษฐกิจนี้ โดยหลักการสำคัญ คือ ต้องรักษาเงินในกระเป๋าไว้ให้ดี และจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด รอจนกว่าปัญหาวิกฤตสหรัฐจะนิ่ง เมื่อนั้นทุกฝ่ายจะเห็นช่องทางในการลงทุนและการดำเนินชีวิต และสำคัญคือเราคงจะพึ่งพาแต่ภาครัฐอย่างเดียวไม่ได้ ทุกฝ่ายต้องพึ่งพาตัวเองเช่นเดียวกัน

สำหรับผลกระทบจากวิกฤตการเงินในสหรัฐต่อประเทศไทยมีดังนี้

• ตลาดหลักทรัพย์ตกต่ำ ฝรั่งเทขายหุ้นอย่างหนัก และยังไม่รู้จุดต่ำสุดอยู่ที่ไหน

• การส่งออกของไทยไปสหรัฐ,ยุโรป และญี่ปุ่น มีแนวโน้มขยายตัวลดลง

• นักท่องเที่ยวจากยุโรปและสหรัฐในช่วงปลายปีนี้ลดลงทำให้รายได้เข้าประเทศหดหาย

• แบงก์พาณิชย์ไม่กล้าปล่อยสินเชื่อ เพราะกลัวปัญหาหนี้เอ็นพีแอล

• ธุรกิจเอสเอ็มอีที่สายป่านสั้นปิดกิจการ เนื่องจากำลังซื้อในระบบลดลง

• ความเชื่อมั่นในวงจรธุรกิจการค้าปลีก-ค้าส่งหดหาย นำไปสู่ยกเลิกระบบเครดิตการค้า

• ธุรกิจขนาดกลางและใหญ่ ต้องใช้เงินทุนสะสมมายึดอายุกิจการ

• ปริมาณเช็คเด้งเพิ่มสูงขึ้น

• ลูกหนี้การค้ามีการเบี้ยวหนี้หรือขอเลื่อนเวลาชำระ

• การระดมทุนของรัฐ-เอกชนไทยในต่างประเทศ จะมีต้นทุนดอกเบี้ยสูงขึ้น

• การลงทุนตรงของต่างชาติผ่านบีโอไอลดลงกว่าแสนล้านบาท

• ราคาสินทรัพย์โดยเฉพาะภาคอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำ จนถึงขึ้นฟองสบู่แตก

• บริษัทประกันภัยและประกันชีวิตที่ถือหุ้นโดยสถาบันการเงินต่างชาติได้รับผลกระทบ 2 แห่ง

• มีโอกาสที่ประชาชนตกงานเพิ่มขึ้น แต่ภาคเกษตรยังเป็นหลังอิงให้กับคนตกงานเหล่านี้

• เศรษฐกิจไทยอาจเข้าสู่ยุคเงินฝึดในปีหน้า (2552)

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
    

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผลกระทบจากวิกฤต การเงินสหรัฐต่อไทย อัปเดตล่าสุด 12 ธันวาคม 2551 เวลา 09:04:14 29,483 อ่าน
TOP