x close

รู้จัก... แก๊สน้ำตา

แก๊สน้ำตา



ควันขาว..คลุ้งคาวเลือด โฟกัส แก๊สน้ำตาถล่มม็อบ ล้มรัฐบาล

          แม้ "แก๊สน้ำตา" จะเคยถูกมองว่ามิใช่อาวุธร้ายแรง เป็นเพียงอุปกรณ์เบาชนิดหนึ่งของเจ้าหน้าที่เท่านั้น แต่แก๊สน้ำตาที่ปรากฏ ขึ้นท่ามกลางการชุมนุมเคลื่อนไหวของกลุ่มม็อบพันธมิตรฯ ที่กดดันขับไล่รัฐบาลภายใต้การนำของพรรคพลังประชาชน หรือเป็นที่รู้ๆ กันว่าคือพรรคไทยรักไทยเดิม ตั้งแต่ที่หน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล เมื่อคืนวันที่ 29 ส.ค. 2551 คืนที่ม็อบพันธมิตรฯ ไปบุกล้อม ก็กลายเป็น "ชนวนสำคัญ"

          และยิ่งกับการใช้สลายม็อบเมื่อ 7 ตุลาคม ยิ่งไปกันใหญ่

          ใช้ครั้งนี้ "แก๊สน้ำตา" คล้ายเป็น "ระเบิดลูกโซ่" ?!?

          ทั้งนี้ จากเว็บไซต์ฐานความรู้เรื่องความปลอดภัยด้านสารเคมี http://www.chemtrack.org/ มีบทความเรื่องแก๊สน้ำตา ซึ่งเขียนโดย วลัยพร มุขสุวรรณ หน่วยข้อสนเทศวัตถุอันตรายและความปลอดภัย ศูนย์ความเป็นเลิศแห่งชาติด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมและของเสียอันตราย ซึ่งเนื้อหาโดยสรุปคือ.....

          "แก๊สน้ำตา" เป็นคำเรียกกลุ่ม "สารเคมีที่ใช้ควบคุมจลาจล" ซึ่งมีสารมากกว่า 12 ชนิด แต่ที่สำคัญมีอยู่ 3 ชนิด (เป็นยุทธภัณฑ์ชนิด 1 ภายใต้การควบคุมตาม พ.ร.บ.ควบคุมยุทธภัณฑ์ พ.ศ. 2530) ได้แก่...

          1. Chloroacetophenone หรือ CN gas ถูกคิดค้นขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 และ 2 ถูกใช้มากในสงครามเวียดนามโดยกองทัพสหรัฐ ช่วงปี ค.ศ. 1960-1979 มีการใช้ในการปราบจลาจลและในกิจการของเจ้าหน้าที่ดูแลด้านความมั่นคงและความ ปลอดภัย การใช้งานอยู่ในรูปละอองลอยที่บรรจุในภาชนะอัดความดัน ปัจจุบันถูกใช้น้อยเนื่องจากระยะเวลาออกฤทธิ์นานและใช้ไม่ค่อยได้ผลกับคนติด ยาและติดเหล้า

          2. Chlorobenzylidenemalonitrile หรือ CS gas เป็นผงผลึกสีขาว เมื่อไหม้ไฟจะเกิดก๊าซไม่มีสี ค้นพบครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1928 ในสงครามเวียดนามมีการใช้เป็นอาวุธสงครามอย่างกว้างขวางและต่อเนื่องมาจนถึง ปัจจุบัน

          3. Dibenzoxazepine หรือ CR gas กระทรวงกลาโหมของอังกฤษพัฒนาขึ้นในช่วงต้นทศวรรษ 1960 มีลักษณะเป็นผลึกสีเหลืองซีด มีกลิ่นคล้ายพริกไทย อย่างไรก็ตาม ในสหรัฐไม่ใช้สารตัวนี้เป็นสารควบคุมจลาจล เนื่องจากมีคุณสมบัติก่อมะเร็ง

          สารเคมีเหล่านี้อาจอยู่ในรูปของแข็ง (ผง) หรือของเหลวก็ได้ เมื่อมีการใช้แก๊สน้ำตาเป้าหมายอาจได้รับแก๊สได้ทั้งทางการหายใจ การสัมผัสดวงตาและผิวหนัง ซึ่งจะไหม้และระคายเคืองทันทีตามบริเวณที่สัมผัส

          ด้านบทความในเว็บไซต์ www.thaiclinic.com โดย นพ.นพวัชร์ สมานคติวัฒน์ บางช่วงบางตอนระบุไว้ว่า... "แก๊สน้ำตา" หรือ "tear gas" นั้น ฤทธิ์ของมันมีผลระคายเคืองต่ออวัยวะต่างๆ คือตา ทำให้มีน้ำตาไหล แสบตา หนังตาบวม เยื่อบุตาบวม ลืมตาไม่ขึ้น ต้องกะพริบตาตลอด รวมทั้งอาจทำให้ตามองไม่เห็น (ตาบอดชั่วคราว) และอาจทำให้เกิดแผลที่กระจกตาได้หากถูกกระแทกโดยตรง หรืออาจมีเลือดออกในลูกตา หรือติดเชื้อที่ตาในภายหลังได้, จมูก ทำให้แสบจมูก และมีน้ำมูกไหล, ปากและทางเดินอาหาร ทำให้แสบปาก น้ำลายไหล และอาจคลื่นไส้ อาเจียน หรือท้องเสียได้, ทางเดินหายใจ ทำให้ไอ เจ็บคอ จาม มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจลำบาก อาจหลอดลมตีบจนหายใจไม่ออก โดยเฉพาะในคนที่เป็นโรคหอบหืดหรือถุงลมโป่งพองอยู่ก่อน และอาจมีอาการปอดบวมน้ำได้ใน 12-24 ชั่วโมง หากได้รับในปริมาณที่มาก

          ผิวหนัง ทำให้เกิดอาการแสบ บวมแดง หากสัมผัสนานอาจเหมือนถูกไฟไหม้ นอกจากนี้อาจมีผิวหนังอักเสบจากการแพ้ได้ ซึ่งทำให้เกิดผื่นคัน โดยเกิดหลังจากสัมผัสแล้ว 72 ชั่วโมง, อาการอื่น ๆ ที่อาจพบ เช่น ปวดศีรษะ ง่วงซึม เจ็บหน้าอก ความดันเลือดตก เป็นต้น ทั้งนี้ ฤทธิ์ของแก๊สน้ำตานี้จะออกในทันทีทันใดที่สัมผัส (0-30 วินาที) และจะคงอยู่นานประมาณ 10-30 นาทีหลังจากพ้นการสัมผัส แต่ก็อาจจะมีอาการ อยู่นานได้ถึง 24 ชั่วโมงขึ้นไป (บางทีนานถึง 3 วัน) และอาการจะรุนแรงและเป็นอันตรายมากขึ้นหากได้รับในปริมาณที่เข้มข้นมากหรือ อยู่ในบริเวณที่มิดชิด ไม่มีการถ่ายเทของอากาศ

          นอกจากที่ว่ามาแล้ว กับ "แก๊สน้ำตา" ซึ่งในการใช้มีทั้งแบบใช้ปืนยิงยิงและแบบขว้าง ยังมีบทความของ นพ.ชัยยศ คุณานุสนธิ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชกรรมป้องกัน ที่บางช่วงระบุประมาณว่า... นอกจากผลโดยตรงแล้ว การใช้แก๊สน้ำตาก็อาจจะสร้างอันตรายจากชิ้นส่วน...เมื่อระเบิด หรือการตกใจของฝูงชนเมื่อมีการใช้ก็อาจเกิดอันตรายได้จากการหนีแล้วเหยียบ กัน นอกจากนี้ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น หอบ หืด โรคผิวหนัง เด็ก คนชรา หญิงตั้งครรภ์ คนที่ใส่คอนแทคเลนส์ จะได้รับอันตรายจากแก๊สน้ำตามากกว่าคนปกติ และ ถ้าใช้แก๊สน้ำตากับสถานที่แออัดที่มีคนอยู่จำนวนมาก ก็อาจทำให้มีคนเสียชีวิตได้ 

          จากข้อมูลดังที่ว่ามาอาจยังไม่ตอบข้อกังขากรณีมีคนบาดเจ็บรุน แรงหลังตำรวจใช้ "แก๊สน้ำตา" เมื่อ 7 ตุลาคม ถึงขั้นอวัยวะขาด เช่น นิ้วขาด ขาขาด ? หรือปกติการยิงแก๊สน้ำตาต้องเป็นแบบวิถีโค้งมิใช่หรือ? อย่างไรก็ดี นี่ก็เป็นเรื่องของ "แก๊สน้ำตา" ที่การถูกใช้แบบวันเดียวนับไม่ถ้วนในเมืองไทยนั้น ทิ้งช่วงไม่เกิดขึ้นมานานมากแล้วตั้งแต่เหตุการณ์พฤษภาฯ ทมิฬ ปี 2535 แต่แล้วก็มามีการใช้ไม่ยั้งอีกในวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา

          จนกลายเป็น "ระเบิดลูกโซ่" ทำให้ความวุ่นวายขยายวง

          ไม่อาจใช้ยุติม็อบได้...ซ้ำยัง “โหมไฟให้ร้ายแรงขึ้น” อีก

          แล้วสถานการณ์ก็เป็นดังที่เราๆ ท่านๆ ทราบ ?!?!?
 



          //hilight.kapook.com/admin_hilight/spaw2/imghilight4/fashion/ann-181.gif  การป้องกันและรักษาสำหรับผู้ถูกแก๊สน้ำตา




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก 
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รู้จัก... แก๊สน้ำตา อัปเดตล่าสุด 9 ตุลาคม 2551 เวลา 11:11:08 20,327 อ่าน
TOP