x close

สธ.ประกาศอาหาร ที่ตรวจพบสารเมลามีน


สธ.ออกประกาศกำหนดอาหารที่ตรวจพบสารเมลามีน

          ร.ต.อ.เฉลิม  อยู่บำรุง  รมว.สาธารณสุข ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับความคืบหน้าเรื่องเมลามีนว่า ได้ลงนามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 31 พ.ศ. 2551  ห้ามอาหารที่ผลิต นำเข้า หรือจำหน่าย อาหารที่ปนเปื้อนสารเมลามีน (Melamine) และสารในกลุ่มเมลามีน ได้แก่ กรดซัยยานูริก (Cyanuric acid) แอมมีไลด์ (Ammelide) และแอมมีลีน (Ammeline) ประกาศนี้ จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา คาดว่าประมาณ 1-2 วันนี้ หากฝ่าฝืนจะมีโทษ ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 26(1) อาหารที่มีสิ่งที่น่าจะเป็นอันตรายต่อสุขภาพเจือปนอยู่ด้วย ถือว่าไม่บริสุทธิ์ ฝ่าฝืนตามมาตรา 25(1) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตามมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 

          ร.ต.อ.เฉลิม  กล่าวต่อไปว่า  ตามประกาศฉบับนี้ อาหารที่เข้าข่ายจะต้องปฏิบัติตามกฎหมายให้ได้ตามมาตรฐานมี 2 กลุ่ม  ได้แก่ กลุ่มนมและอาหารที่มีนมเป็นองค์ประกอบ โดยนมดัดแปลงสำหรับทารก นมดัดแปลงสูตรต่อเนื่องสำหรับทารกและเด็กเล็ก นมผงชนิดต่างๆ กำหนดให้มีสารเมลามีน (Melamine) และสารในกลุ่มเมลามีน ได้แก่ กรดซัยยานูริก (Cyanuric acid) แอมมีไลด์ (Ammelide) และแอมมีลีน (Ammeline) ได้ไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) และอาหารที่มีนมหรือองค์ประกอบของนมเป็นส่วนผสม ได้แก่ นมพร้อมดื่ม นมเปรี้ยว ไอศกรีม โยเกิร์ต และกาแฟปรุงสำเร็จพร้อมดื่ม กำหนดต้องไม่เกิน 2.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (ppm) ทั้งนี้ ให้ผู้นำเข้าอาหารดังกล่าวทุกรุ่น ที่ผลิตจากประเทศจีน ต้องแสดงผลการวิเคราะห์จากหน่วยงานของรัฐหรือองค์กรหรือหน่วยงานเอกชน ที่มีระบบประกันคุณภาพตามมาตรฐานสากล ที่ด่านอาหารและยาทุกครั้ง 

          ร.ต.อ.เฉลิม กล่าวต่ออีกว่า ได้ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ทำหนังสือแจ้งเวียนไปยังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ด่านอาหารและยา และผู้ประกอบการทั่วประเทศ เพื่อให้ยึดเป็นหลักปฏิบัติตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับดังกล่าวอย่างเคร่งครัด และให้ อย.ติดตามข้อมูลความคืบหน้าของสารเมลามีนและสารในกลุ่มเมลามีน และข้อมูลการประเมินความเสี่ยงต่อสุขภาพ เพื่อพิจารณากลั่นกรองเกณฑ์ที่กำหนดให้มีความเหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์ และอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลทางวิทยาศาสตร์อย่างต่อเนื่อง 

          นพ.นรังสันต์ พีรกิจ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า  กรณีมีข่าวทางหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับกรณีพบร่องรอยการปนเปื้อนสารเมลามีนในคอฟฟี่เมตที่ประเทศฮังการี ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่นำเข้าจากประเทศไทย โดยข้อมูลไม่ชัดเจนว่า มีการปนเปื้อนสารเมลามีนในผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจริงหรือไม่ อย่างไรก็ตาม อย. ไม่ได้นิ่งนอนใจ แม้ว่าจะมีมาตรการคุมเข้มผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศและนำเข้าจากต่างประเทศอยู่แล้ว และเพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค อย. จะตรวจสอบข้อมูลอีกครั้งและดำเนินการเก็บตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์ดังกล่าวเพื่อส่งตรวจวิเคราะห์หาสารเมลามีน คาดว่าจะทราบผลเร็ว ๆ นี้ หากทราบผลจะแจ้งให้ผู้บริโภคทราบทันที และขอให้มั่นใจการดำเนินงานของ อย. และขอยืนยันว่า ขณะนี้ผลิตภัณฑ์อาหาร ที่จำหน่ายในประเทศปลอดภัยทุกรายการ

          รองเลขาธิการฯ กล่าวในตอนท้ายว่า  ผลการตรวจวิเคราะห์เพื่อหา  สารเมลามีนอีก 41 รายการ จำนวน 9 บริษัท ซึ่งมีทั้งผลิตภัณฑ์และวัตถุดิบที่มีแหล่งผลิตในประเทศ และที่มาจากประเทศต่าง ๆ เช่น อเมริกา เนเธอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ จีน อินเดีย เป็นต้น ผลปรากฏไม่พบการปนเปื้อนสารเมลามีน นอกจากนี้ ยังได้รับผลการตรวจวิเคราะห์จากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เกี่ยวกับวัตถุดิบนมซึ่งนำเข้าจากจีนจำนวน 22 ตัน ที่อายัดไว้ที่ผู้ผลิตจำนวน 2 รายการ จาก 1 บริษัท ซึ่งผลการตรวจวิเคราะห์ปรากฏว่า พบการปนเปื้อน   สารเมลามีนในปริมาณ 0.43 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm.) ซึ่งเป็นปริมาณที่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ และ 1.20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม (ppm.) ซึ่งเกินเกณฑ์มาตรฐานความปลอดภัยที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ อย. จะแจ้งบริษัท ให้ดำเนินการทำลายหรือส่งคืนประเทศ ต้นทางต่อไป  อย่างไรก็ตาม แม้ว่ามีการตรวจพบสารเมลามีนดังกล่าว แต่ยังไม่มีการนำไปผลิตผลิตภัณฑ์ เนื่องจาก อย.ใช้มาตรการป้องกันไว้ได้ทัน ผู้บริโภคจึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์อาหารที่จำหน่ายในท้องตลาดปลอดภัย หากมีความคืบหน้าในการดำเนินการเพิ่มเติม อย. จะแจ้งให้ทราบทุกวันต่อไป

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลิตภัณฑ์ที่มีการตรวจพบล่าสุด 22 ตัน เป็นของบริษัท แดลี่พลัส จำกัด ของบริษัทดัชมิลล์ ที่มีการสั่งเก็บไปแล้ว 100 ตัน 



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก tlcthai.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ.ประกาศอาหาร ที่ตรวจพบสารเมลามีน อัปเดตล่าสุด 9 ตุลาคม 2551 เวลา 11:23:41 34,440 อ่าน
TOP