x close

อีกแล้ว! เมล์ลูกโซ่ฆ่าหั่นศพ จี้ไอซีทีปราบ

อีเมล์

 

จี้ไอซีทีปราบอีเมล์ลูกโซ่

         แฉสังคมไซเบอร์กลายเป็นที่ปล่อยข่าวลือ-ลวงโลก โดยใช้อีเมล์ปั้นน้ำเป็นตัว เผยแพร่เป็นจดหมายลูกโซ่เพื่อหวังให้สังคมตื่นตระหนกและเข้าใจผิดทั้งเรื่องแผ่นดินไหว น้ำท่วม โรคระบาด และอาชญากรรมแพร่สะพัดอินเทอร์เน็ต ระบุมีความผิดตามกฎหมายคอมพิวเตอร์ แต่จนถึงป่านนี้ยังจับกุมคนมือมืดไม่ได้สักราย

         เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม นายเอกลักษณ์ หลุ่มชมแข ผู้ดูแลโครงการเฝ้าระวังภัยเทคโนโลยี มูลนิธิกระจกเงา เปิดเผยว่า จากการเฝ้าติดตามภัยอันตรายในการเปิดรับข้อมูลข่าวสารทางคอมพิวเตอร์ นอกจากจะมีการเผยแพร่คลิปวิดีโอลามกอนาจาร และข้อความหมิ่นประมาทอยู่เป็นจำนวนมากแล้ว ขณะนี้ยังพบว่ามีอีเมล์ส่งต่อกันในลักษณะจดหมายลูกโซ่ปล่อยข่าวลือ ซึ่งมีข้อมูลอันเป็นเท็จและหลอกลวง ส่งผลให้สังคมเกิดความแตกตื่นหรือเข้าใจผิด เช่น ข่าวภัยพิบัติแผ่นดินไหว น้ำท่วม โรคระบาดรุนแรง และอาชญากรรม เป็นต้น

         "เมื่อเร็วๆ นี้ ผมได้รับอีเมล์เรื่องแก๊งรถตู้หั่นศพอาละวาดที่จังหวัดสุรินทร์ โดยตระเวนจับเด็กและผู้ใหญ่ไปฆ่าและผ่าอวัยวะภายในเป็นชิ้นๆ เมื่อสอบถามข้อเท็จจริงกับเจ้าหน้าที่ตำรวจในท้องที่ ปรากฏว่าไม่ใช่เรื่องจริง แต่ประชาชนในพื้นที่ได้รับผลกระทบทางจิตใจ เกิดความรู้สึกหวาดระแวงและวิตกจริตกับข่าวลือดังกล่าวจนไม่กล้าออกจากบ้านตอนกลางคืน" นายเอกลักษณ์ กล่าว

         ผู้ดูแลโครงการเฝ้าระวังภัยเทคโนโลยีบอกว่า ประเด็นนี้ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.การกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ 2551 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว โดยในมาตรา 14 ระบุว่า ผู้ใดนำเข้าสู่คอมพิวเตอร์ ซึ่งมีข้อมูลอันเป็นเท็จสร้างความเสียหายหรือความตื่นตระหนกจะถูกลงโทษจำคุก 5 ปี และในมาตรา 14 (5) บอกว่า หากผู้ใดเผยแพร่ต่อให้ผู้อื่นก็ถือว่ามีความผิดด้วย ดังนั้น กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) จะต้องเร่งตรวจสอบต้นตอผู้เผยแพร่ข้อมูลหลอกลวง พร้อมกับมีมาตรการป้องปรามหรือสกัดกั้นไม่ให้มีการเผยแพร่อีเมล์ลักษณะนี้

         ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิกระจกเงาแนะนำให้กระทรวงไอซีทีและเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ดูแลด้านเทคโนโลยีออกมาแสดงบทบาทในเชิงรุก ไม่ควรรอให้ผู้เสียหายเข้ามาร้องเรียนหรือแจ้งความ เพราะเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ อีกทั้งยังต้องทำงานในเชิงสื่อสารกับสังคมให้รู้เท่าทันพวกอีเมล์ลวงโลก เพื่อยกระดับวัฒนธรรมการใช้อินเทอร์เน็ตให้เป็นประเด็นสาธารณะ ตลอดจนหน่วยงานที่ได้รับความเสียหายจากการปล่อยข่าวในอินเทอร์เน็ต ควรจะชี้แจงข้อเท็จจริงให้สังคมรับทราบเพื่อสร้างความมั่นใจกับประชาชน โดยไม่ปล่อยให้ประชาชนเข้าใจผิดและใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวง

         นายวินัย อยู่สบาย ผู้อำนวยการสำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ กระทรวงไอซีที กล่าวว่า เรื่องการปล่อยข่าวลวงทางอินเทอร์เน็ตไม่ใช่เรื่องใหญ่โต ยกเว้นอีเมล์ที่ก่อให้เกิดความเสียหายหรือเดือดร้อนแก่ผู้อื่น เช่น การหมิ่นประมาท และล่อลวงหรือยักยอกทรัพย์ ซึ่งจะต้องมีผู้เสียหายเข้ามาแจ้งเรื่องให้เข้าไปตรวจสอบ อย่างไรก็ตาม อีเมล์ที่มีข้อมูลในลักษณะข่าวลือเป็นเรื่องยากลำบากที่จะดำเนินการลงโทษกับผู้เผยแพร่ เพราะต้องพิจารณาว่าข้อมูลนั้นๆ ได้กระทบต่อการดำรงชีวิต หรือก่อให้เกิดความรำคาญ หรือเดือดร้อนมากแค่ไหน

         "การตรวจสอบอีเมล์ที่เป็นข่าวลือนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะผู้ใช้งานอีเมล์มักจะปกปิดแหล่งที่มาทั้งชื่อนามสกุลและที่อยู่จริง ทั้งนี้เป็นเรื่องที่คนในสังคมไซเบอร์จะต้องตรวจสอบกันเอง และผู้ใช้งานต้องมีวิจารณญาณในการเปิดรับหรือกลั่นกรองข้อมูลข่าวสารก่อนส่งต่อให้ผู้อื่น" ผอ.สำนักกำกับการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศระบุ

         ด้าน พ.ต.อ.ศิริพงษ์ ติมุลา ผู้กำกับการศูนย์ตรวจสอบและวิเคราะห์การกระทำความผิดทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) กล่าวว่า ถ้าผู้ใดมีเจตนาส่งอีเมล์เพื่อทำให้สังคมแตกตื่นถือว่ามีความผิด เช่น ลักลอบขโมยข้อมูลกรมอุตุนิยมวิทยามาเตือนภัยธรรมชาติ แล้วปรับเปลี่ยนแก้ไขวันเวลาเพื่อให้ผู้คนตื่นตระหนก  ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.กระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ แต่ที่ผ่านมายังไม่เคยมีผู้ได้รับความเสียหายจากอีเมล์ในลักษณะข่าวลือเข้ามาแจ้งร้องทุกข์ให้สืบสวนแต่อย่างใด

 

ศึกษาและเรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกวิธีได้ที่


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก school.obec.go.th/maega

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อีกแล้ว! เมล์ลูกโซ่ฆ่าหั่นศพ จี้ไอซีทีปราบ อัปเดตล่าสุด 10 ตุลาคม 2551 เวลา 11:10:04 28,372 อ่าน
TOP