x close

แผ่นดินทรุด-น้ำท่วมไทย กับภัยโลกร้อน

โลกร้อน



แผ่นดินทรุด-น้ำท่วม ป่าชายเลนหดหาย เรื่องเดียวกับ "โลกร้อน"

          ปัญหา "โลกร้อน" กับผลกระทบวงกว้างเป็นที่โจษขาน เป็นหัวข้อพูดกันมาต่อเนื่อง รวมถึงสำนักวิทยาศาสตร์ราชบัณฑิตไทย ยังต้องจัดให้มีการประชุมราชบัณฑิตพร้อมการบรรยายเรื่อง "ผลกระทบจากโลกร้อน ที่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ชายฝั่งทะเลไทย" โดย ดร.สนใจ หะวานนท์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านจัดการทรัพยากรทางชายฝั่งและป่าชายเลน เมื่อเร็วๆ นี้ ที่โรงเรียนสมฤดี จังหวัดสมุทรสาคร

          ดร.สนใจสร้างความเข้าใจในเรื่องโลกร้อนว่า มีผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนกว่า 20 ล้านคนที่อาศัยอยู่ตลอดแนวชายฝั่งทะเลไทย ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา อุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้นกว่า 1 องศาเซลเซียส ซึ่งในอดีตโลกปรับตัวมาได้ แต่ปัจจุบันมีการเติบโตของอุตสาหกรรมมากขึ้น ปริมาณก๊าซเสียเพิ่งขึ้น คาดว่าภายในศตวรรษที่ 21 จะมีอุณหภูมิสูงอีกร่วม 6 องศาเซลเซียส นำไปสู่การเกิดพายุหมุนและความปั่นป่วนทางธรรมชาติมากขึ้น น้ำแข็งขั้วโลกละลายจนหมด ส่งผลกระทบต่อน้ำทะเลสูงมากขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลต่อการผลิตอาหารจากธรรมชาติ แหล่งน้ำในหน้าร้อนจะหมดไป โรคระบาดจะรุนแรงยุงจะเพิ่มมากขึ้น แผ่นดินไหว รอยเลื่อนจะได้รับการกระทบกระเทือนมากขึ้น แผ่นดินไหว สึนามิจะมากขึ้น ภูเขาไฟจะระเบิดบ่อยขึ้น และอาจมีเมกกะสึนามิ จนส่งผลกระทบไปถึงที่สูง นั่นคือ ฝนตกมากขึ้น และมีน้ำท่วมในแถบที่สูงด้วย

          จากการสำรวจและรวบรวมได้พบว่า พื้นที่ชายฝั่งทะเลไทยมีดินทรุดตามปากแม่น้ำ โดยพื้นที่ปากน้ำเจ้าพระยา (ทรุดลง 20 มิลลิเมตร/ปี) แม่กลอง (ทรุดลง 15 มิลลิเมตร/ปี) ท่าจีน (ทรุดลง 42 มิลลิเมตร/ปี) และยังพบว่าในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ มีการทรุดตัวลงปีละ 30 มิลลิเมตรด้วยเช่นกัน

          "แม้ว่าภาวะโลกร้อนอาจยังไม่ส่งผลโดยตรงถึงเมืองไทยในเวลานี้ แต่ที่มีผลคือ ลม คลื่นที่แรงขึ้นมีการกัดเซาะชายฝั่งที่ยาว 2,815 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 23 จังหวัด พบว่า ในบริเวณทางอ่าวไทยมีพื้นที่วิกฤตที่มีการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตร/ปี มีอยู่ใน 12 จังหวัด รวมความยาว 180.9 กิโลเมตร พื้นที่เสี่ยงที่มีอัตรากัดเซาะ 1-5 เมตร/ปี ใน 14 จังหวัด อีก 305.1 กิโลเมตร ส่วนทางอันดามันมีพื้นที่วิกฤตที่มีการกัดเซาะเฉลี่ยมากกว่า 5 เมตร/ปี มีอยู่ใน 5 จังหวัดรวมความยาว 23 กิโลเมตร พื้นที่เสี่ยงที่มีอัตรากัดเซาะ 1-5 เมตร/ปี ในทุกจังหวัดอีก 90.5 กิโลเมตร ปัญหามาจากการใช้ประโยชน์ไม่เหมาะสม ปริมาณตะกอนสะสมน้อยลง การพัฒนาใช้ที่ดินขาดระบบข้อมูลพื้นฐานมีกระบวนการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติสูง" ดร.สนใจระบุ
 
          ผู้เชี่ยวชาญคนดังกล่าวระบุด้วยว่า เมื่อสรุปภาพรวมของรายจังหวัดที่ประสบปัญหามากพบว่าที่ จังหวัดสมุทรปราการชายฝั่งถูกกัดเซาะไปกว่า 8,575 ไร่ ความยาว 32.87 กิโลเมตร ,กรุงเทพฯ 1,612 ไร่ ยาว 4.8 กิโลเมตร, สมุทรสาคร 1,306 ไร่ ยาว 26.37 กิโลเมตร รวมทั้งประเทศมีถึง 11,768 ไร่ โดยพบว่าพื้นที่กัดเซาะรุนแรงอยู่ในพื้นที่แหลมฟ้าผ่า-ปากน้ำท่าจีน คลองด่าน-สมุทรปราการ บางพลัด กาหลง ฯลฯ

          "แถบสมุทรสาครป่าชายเลนอาจหมดไปเร็วๆ นี้ เพราะการทำนากุ้ง มีการขุดดินตะกอนจากนากุ้งที่เข้ามาจากทะเลไปขาย ไปถมที่อื่น ซึ่งจะมีการทำกันเช่นนี้ในนากุ้งทุกแห่ง ทำให้ดินตะกอนชายฝั่งหายไป และเคยพบว่าในพื้นที่จังหวัดสมุทรสงคราม ไม่มีพื้นที่ดินตะกอนเหลืออยู่เลยเมื่อไม่กี่ปีก่อน ยิ่งเมื่อรวมกับการกัดเซาะตามธรรมชาติ ก็ยิ่งทำให้ไม่มีการทำแนวป้องกันชายฝั่ง" นายสนใจกล่าว และว่า การแก้ไขนั้น คงต้องเน้นลงที่ภาคประชาชนให้ตื่นตัว และตระหนักต่อความสำคัญของการอนุรักษ์ชายฝั่ง ปลูกป่าเพื่อรักษาพื้นที่ชายฝั่งไว้ให้ได้มากที่สุด ในขณะเดียวกับที่จะต้องหามาตรฐานทางกฎหมาย และภาครัฐให้มากขึ้น

          "มีการนำเอาไม้ไผ่รวกไปเสียบไว้เป็นระยะเพื่อแก้ปัญหาตลอดแนว แต่พบว่ามีปัญหา เพราะขนาดเล็กเสียหายเร็ว แต่ถ้าแก้โดยการทำสองชั้นจะช่วยแก้ปัญหาได้ ลดการกัดเซาะเพิ่มปริมาณตะกอน ที่น่าสนใจคือ กรณีพระสมุทรเจดีย์ ปากน้ำ มีการนำเสาไฟฟ้ามาปัก ใช้ยางรถยนต์เก่ามาสวม 7 ชั้น จากปี 2548 มาห่างกัน 1.5 เมตร พบว่าลดการกัดเซาะลงไปได้ เพิ่มตะกอนมากขึ้นตุลาคม 2550 ตะกอนเพิ่ม 7 ซม. แต่ยังไม่สามารถปลูกต้นไม้ได้ดี" นายสนใจกล่าว

          ดร.สันทัด โรจนสุนทร ประธานสำนักวิทยาศาสตร์ ราชบัณฑิตสถาน กล่าวว่า ราชบัณฑิตเห็นความสำคัญของปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลถึงการกัดเซาะที่ดินชายฝั่งของไทย จึงได้มาจัดประชุมนอกพื้นที่เป็นครั้งแรกของราชบัณฑิต และไปศึกษาข้อมูลการปลูกป่าชายเลนภาคประชาชน ที่ศูนย์อนุรักษ์ป่าชายเลน ตำบลคลองโคน อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จฯ ทรงปลูกไม้ป่าชายเลนด้วยพระองค์เองหลายครั้ง ทรงเป็นผู้นำในเรื่องนี้ จนชาวบ้าน หน่วยงานราชการ เอกชนตื่นตัว และร่วมมือกัน เกิดความเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าชายเลนของสมุทรสงครามอย่างมาก จนวันนี้ได้มีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นหลายพันไร่ จากเดิมที่แทบไม่มีเหลือเลย


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 



เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แผ่นดินทรุด-น้ำท่วมไทย กับภัยโลกร้อน อัปเดตล่าสุด 16 ตุลาคม 2551 เวลา 12:09:55 35,225 อ่าน
TOP