x close

ทักษิณ ปราศรัยสด 1 พ.ย. ผ่านความจริงวันนี้

ทักษิณ ชินวัตร


          วานนี้ (22 ตุลาคม) นายศิริศักดิ์ ติยะพรรณ อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ กล่าวถึงขั้นตอนการนำตัว พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมาดำเนินคดีตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ว่า ต้องนำคำพิพากษาของศาล หมายจับ และเอกสารประกอบอื่นๆ มารวบรวมจัดทำเป็นคำร้องขอ แล้วแปลเป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นส่งให้กระทรวงการต่างประเทศ เพื่อส่งไปยังประเทศอังกฤษ ตามสนธิสัญญาไทย-อังกฤษ ซึ่งเป็นช่องทางทางการทูต เข้าใจว่า กระทรวงมหาดไทยอังกฤษจะเป็นผู้รับผิดชอบตรวจสอบว่าเข้าหลักเกณฑ์ที่จะส่งให้ศาลอังกฤษพิจารณาหรือไม่ และเมื่อเข้าหลักเกณฑ์แล้ว อังกฤษจะดำเนินการตั้งพนักงานอัยการ เพื่อเป็นตัวแทนฝ่ายประเทศไทย จากนั้น พ.ต.ท.ทักษิณ จะมีสิทธิที่จะต่อสู้คดี โดยหักล้างเหตุผลต่างๆ ที่ไม่สมควรส่งตัวกลับ หากไม่สามารถหักล้างเหตุผลได้ ฝ่ายบริหารจะพิจารณาดำเนินการส่งตัวกลับต่อไป 

          นายศิริศักดิ์ กล่าวต่อว่า พ.ร.บ.ส่งผู้ร้ายข้ามแดน พ.ศ. 2551 มีบทบัญญัติเพิ่มเติมจากกฎหมายเดิมในปี พ.ศ. 2472 ในประเด็นการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาประเทศไทย ซึ่งการดำเนินการส่งตัวกลับมาจะอาศัยหลักเกณฑ์ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว ร่วมกับสนธิสัญญาที่ไทยได้ทำไว้กับประเทศอังกฤษนานแล้ว โดยมีหลักคือ... 

          1. การกระทำที่จะกล่าวหาให้ส่งตัวกลับมาได้ ต้องเป็นการกระทำที่กฎหมายของไทยและอังกฤษระบุตรงกันว่าเป็นความผิดของทั้ง 2 ประเทศ มีโทษจำคุกไม่ต่ำกว่า 1 ปีขึ้นไป 

          2. การส่งตัวกลับตามปกติ จำเลยมีสิทธิจะสู้ว่า ความผิดที่ถูกพิพากษาเป็นความผิดทางการเมือง หรือมีวัตถุประสงค์แอบแฝงทางการเมือง หากมีการพิสูจน์ว่าจริงตามที่จำเลยอ้าง สามารถไม่ส่งตัวกลับมาได้ ซึ่งผู้ที่มีหน้าที่พิจารณา คือ ศาลอังกฤษ


          "อัยการต้องพยายามจับการกระทำผิดที่ศาลชี้ออกมาว่า ผิดกฎหมายไทยลักษณะนี้ จะเข้าหลักเกณฑ์ตามกฎหมายอังกฤษอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก เพราะสนธิสัญญาไทย-อังกฤษ มีมานานเกือบ 100 ปีแล้ว แนวความคิดเรื่องกฎหมายบางอย่างอาจมีปัญหาทางเทคนิคพอสมควร ดังนั้น การทำงานต้องใช้เวลาพอสมควร ทั้งนี้ คำพิพากษาของศาลฎีกาฯ เมื่อวานนี้ (21 ตุลาคม) หากบังเอิญมีการอุทธรณ์ตามมาตรา 278 และศาลรับไว้พิจารณา ก็ต้องรอคำพิพากษาที่ถือเป็นที่สุดอีกครั้ง" อธิบดีอัยการฝ่ายต่างประเทศ กล่าว

          นายศิริศักดิ์ กล่าวอีกว่า หลายฝ่ายเชื่อว่า พ.ต.ท.ทักษิณ จะยกประเด็นปัญหาเรื่องการเมืองมาต่อสู้ ซึ่งความยากเรื่องนี้อยู่ที่ว่า ปัจจุบันยังไม่มีคำจำกัดความระหว่างประเทศที่ยอมรับชัดเจนว่า ความผิดทางการเมืองจะหมายความว่าอย่างไร กินความหมายมากแค่ไหน มีเพียงแต่คำจำกัดความในทางปฏิเสธ เช่น การสังหารหมู่ การฆาตกรรม การฆ่าประมุขของรัฐบาล ซึ่งเรื่องเหล่านี้ไม่ถือเป็นความผิดทางการเมือง จึงเกิดปัญหาว่า ถ้า พ.ต.ท.ทักษิณ ยกเรื่องปัญหาการเมืองมาอ้าง การตีความจะเป็นอย่างไร เพราะขึ้นอยู่กับดุลพินิจอิสระของประเทศผู้รับคำร้องขอ ว่าจะตีความว่าความผิดทางการเมืองครอบคลุมตามที่เราร้องขอหรือไม่

          เมื่อถามว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ใช้ข้ออ้างเรื่องความไม่ปลอดภัยในชีวิตเพื่อขอลี้ภัย ไม่ให้ส่งตัวกลับมาดำเนินคดี จะทำได้หรือไม่ นายศิริศักดิ์ กล่าวว่า หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ดำเนินการขอลี้ภัยแล้วได้รับสถานะการขอลี้ภัยทางการเมือง อาจจะทำให้มีปัญหาขอตัวกลับตามกระบวนการขอส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน แต่การลี้ภัยทางการเมืองกับการขอตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดน ปกติเป็นคนละเรื่องกัน แต่หากการขอลี้ภัยทางการเมืองได้อ้างเหตุผลว่า มีเหตุข่มเหงทางการเมือง หรือถูกตามล่าล้างเผ่าพันธุ์ จะไม่ปลอดภัยต่อชีวิต จะกลายเป็นว่าได้รับสถานะลี้ภัยทางการเมือง ก็เท่ากับว่าเรื่องทางการเมืองเริ่มเข้ามาสู่กระบวนการส่งผู้ร้ายข้ามแดน ทำให้เป็นเหตุผลประกอบในการมีวัตถุประสงค์แอบแฝงทางการเมือง การทำงานของอัยการจะยากขึ้นไปอีก เพราะต้องหาเหตุผลมาหักล้าง

          "ถ้าถามว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ได้รับสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจริง จะมีปัญหาอุปสรรคต่อการดำเนินการอัยการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือไม่ ความเห็นส่วนตัวในชั้นนี้มองว่าไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะเวลาที่อัยการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน ตั้งอยู่บนพื้นฐานความร่วมมือระหว่างประเทศในการป้องกันปราบปรามอาชญากรรม เพื่อไม่ให้ผู้กระทำความผิดในประเทศหนึ่งอาศัยโอกาสหลบไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง เพื่อให้หลุดพ้นจากกระบวนการยุติธรรม เรายังไม่ได้มองถึงมิติทางการเมือง แต่ถ้าฝ่ายจำเลยยกสถานการณ์ประกอบว่า ถ้ากลับมาไม่ปลอดภัยจะถูกกำจัดทางการเมือง แต่ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะมีเหตุอะไรอ้างได้หรือไม่" นายศิริศักดิ์ กล่าว

          ทั้งนี้ นายศิริศักดิ์ ยืนยันว่า การทำงานขณะนี้ไม่มีแรงกดดันจากฝ่ายใดทั้งสิ้น และจะได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่อไปโดยเร็ว แม้จะไม่มีกรอบเวลา แต่เรายึดตามอายุความของคดีอยู่แล้ว

          อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้กำหนดปราศรัยข้ามประเทศในรายการ "ความจริงวันนี้" จัดขึ้นในวันที่ 1 พฤศจิกายนนี้ ที่สนามกีฬาราชมังคลากีฬาสถาน โดยระบุว่า จะไม่ออกแถลงการณ์แล้ว แต่ผมจะ phone in เข้ามาพูดกับประชาชน ประมาณ 20 นาที



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
   
ขอขอบคุณภาพประกอบจากหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ทักษิณ ปราศรัยสด 1 พ.ย. ผ่านความจริงวันนี้ อัปเดตล่าสุด 23 ตุลาคม 2551 เวลา 15:28:53 28,772 อ่าน
TOP