x close

แฉ ลานรถไฟฟ้าใต้ดิน หัวลำโพง ทำเลค้ากามแห่งใหม่

หัวลำโพง



          สำรวจเด็กไทยด้อยโอกาส 7 กลุ่ม พบโรงเรียนรีดเลือดปู เรียกเก็บเงินบริจาค-บังคับซื้ออุปกรณ์เรียนแพงเกินจริง แฉ "ลานรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพง" ถูกแม่ค้าส้มตำริมคลองหลอดยึดเป็นทำเลค้ากามแห่งใหม่ หวังอัพราคากับลูกค้า

         
เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) ร่วมกับคณะกรรมการสิทธิฯ จัดสัมมนาการคุ้มครองสิทธิทางการศึกษาของเด็กด้อยโอกาส โดยนายชูพินิจ เกษมณี อาจารย์ประจำภาควิชาพื้นฐานของการศึกษา คณะศึกษาศาสตร์ มศว กล่าวสรุปรายงานสถานการณ์การศึกษาสำหรับเด็กด้อยโอกาสในสังคมไทย จากมุมมองภาคประชาสังคมว่า จากการสุ่มสำรวจเด็กด้อยโอกาส 7 กลุ่ม ประกอบด้วย

          1.ชนเผ่าพื้นเมือง เช่น ชาวไทยภูเขา มอแกน ชาวเล 2.ชุมชนแออัด 3.แรงงานข้ามชาติ จ.สมุทรสาคร 4.ชุมชนไกลคมนาคมในภาคเหนือและอีสาน 5.ชาวไทยพลัดถิ่นแนวชายแดนไทย-พม่า 6.เด็กไร้บ้าน เด็กเร่ร่อนสนามหลวง และ7.เด็กในสถานการณ์ความขัดแย้งจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เดือนก.ย.50-ต.ค.51 พบว่าจาก 56 ชุมชน มี 4 ชุมชนที่ไม่มีโรงเรียน

          "
เมื่อรัฐมีงบประมาณไม่เพียงพอในการบริหารโรงเรียนก็ต้องหารายได้ที่ไม่สง่างาม เช่น การบีบให้ผู้ปกครองกรอกแบบฟอร์มบริจาคเงินแก่โรงเรียน บังคับซื้อเครื่องแบบอุปกรณ์เรียนราคาแพงเกินความเหมาะสม และจากการสำรวจพบพ่อแม่ผู้ปกครองเด็กด้อยโอกาสร้อยละ 82 เป็นผู้ใช้แรงงาน เช่น ทำไร่ทำนา รับจ้าง ประมง ซึ่งมีรายได้ไม่ถึง 50,000 บาทต่อปี จึงได้รับความเดือดร้อนจากการเรียกเก็บเงินจากโรงเรียน รัฐจึงต้องจัดการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายให้เด็กอย่างแท้จริง" นายชูพินิจกล่าว

          น.งสาวดวงใจ สายชมพู เจ้าหน้าที่มูลนิธิเพื่อการพัฒนาเด็ก กล่าวถึงเด็กในชุมชนแออัดวัดดวงแขหลังสถานีรถไฟหัวลำโพงว่า ส่วนใหญ่เป็นห้องเช่ารายวัน 70-100 บาท โดยคนขายผลไม้ หาบเร่แผงลอยบริเวณหัวลำโพง หรือเช่าเป็นกะ เช่น ครอบครัวทำงานกลางวันจะเช่านอนตอนกลางคืน และครอบครัวทำงานกลางคืนจะเช่าตอนกลางวัน โดยชุมชนมีทั้งปัญหาอบายมุข การพนัน ลักขโมย ยาเสพติด สื่อกระตุ้นทางเพศ และคนอาชีพแอบแฝง

          "แม่ค้าส้มตำบางรายแอบแฝงขายบริการทางเพศริมฝั่งคลองหลอดตรงข้ามหัวลำโพง ตอนนี้มีทำเลใหม่บริเวณลานรถไฟฟ้าใต้ดินหัวลำโพงมีราคาแพงขึ้นกว่าริมคลองหลอดแต่ตกลงราคากันได้ ส่วนหนึ่งเป็นผู้ปกครองเด็กในชุมชน โดยปัญหาชุมชนแออัดทำให้เกิดปัญหาครอบครัว เด็กไม่ได้เรียนหนังสือและมีครอบครัวตอนอายุน้อยเป็นวงจรซ้ำซาก ซึ่งรัฐควรเข้าไปช่วยแก้ปัญหา" นางสาวดวงใจกล่าว

          นางสาวรอมือละห์ แซเย๊ะ เจ้าหน้าที่มูลนิธิทรัพยากรเอเชีย กล่าวถึงเด็กไทยมุสลิมในภาคใต้ว่า เด็กในพื้นที่ไม่ได้รับการศึกษา เนื่องจากเหตุไม่สงบในภาคใต้ ทำให้ผู้ปกครองยากจนยิ่งประสบปัญหาหนัก ส่วนคนที่มีที่ดินก็ออกมาทำมาหากินไม่ได้ ทำให้ขาดรายได้ในการส่งเสียบุตรหลาน เด็กเรียนจบแค่ป.6 ก็ต้องเลิกเรียน ประกอบกับบ้านอยู่ไกลโรงเรียน ครูไม่ให้ความสำคัญกับเด็กและโรงเรียนขาดแคลนอุปกรณ์ทำให้เกิดปัญหาทางการศึกษากับเด็กอย่างมาก

          นางสาวมนัญชยา อินคล้าย เจ้าหน้าที่มูลนิธิรักษ์ไทย กล่าวถึงเด็กแรงงานข้ามชาติจังหวัดสมุทรสาครว่า แรงงานทั้งหมดที่ขึ้นทะเบียนในพื้นที่ 76,059 คน เป็นพม่า ลาว และกัมพูชา แต่ประเมินจากจำนวนที่แท้จริงมีมากกว่า 3 แสนคน โดยเป็นเด็กแรกเกิด-14 ปี ประมาณ 3,000 คน แรงงานเด็กจะตามพ่อแม่ผู้ปกครองอาศัยตามห้องเช่าเล็กๆที่ต้องอยู่ร่วมกัน 6-10 คน เด็กต้องไปช่วยพ่อแม่ทำงาน ประกอบกับพูดภาษาไทยไม่ได้และอายุเกินจึงไม่ได้รับการศึกษา ทั้งยังถูกละเมิดทางเพศระหว่างเด็กกับเด็กและคนไทยที่ไปละเมิดเด็กแต่กลับไม่ถูกลงโทษ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แฉ ลานรถไฟฟ้าใต้ดิน หัวลำโพง ทำเลค้ากามแห่งใหม่ อัปเดตล่าสุด 31 ตุลาคม 2551 เวลา 11:44:42 26,464 อ่าน
TOP