เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก thealami.com, ไทยโพสต์ , rugby34 ,momiji1987 , NINA R.Hirunya
หลังจากเกิดเหตุกำแพงเมืองสงขลาสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งตั้งอยู่บริเวณถนนจะนะ หน้าพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติสงขลา เขตเทศบาลนครสงขลา อ.เมือง จ.สงขลาได้พังลงมาได้รับความเสียหาย ล่าสุด นางโสมสุดา ลียะวณิช อธิบดีกรมศิลปากร ได้เดินทางตรวจดู โดยมี นายจารึก วิไลแก้ว ผู้อำนวยการสำนักศิลปากรที่ 13 สงขลา รายงานสถานการณ์
โดยพบว่า จุดที่พังเสียหายนั้น อยู่บริเวณกึ่งกลางของกำแพง ความยาวประมาณ 4 เมตร และสูงจากพื้นจนถึงใบเสมา ประมาณ 7 เมตร เศษหินกระจายลงมากระจัดกระจายอยู่บนถนน คาดว่า มีสาเหตุมาจากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก และต่อเนื่องในช่วง 2 วันที่ผ่านมา ทำให้ตัวกำแพงซึ่งมีอายุเก่าแก่กว่า 174 ปี และสร้างด้วยหินสอปูน ถูกน้ำกัดเซาะ จนทำให้ตัวกำแพงบางส่วน ที่กำลังเริ่มเสื่อมสภาพพังลงมา
และจากการตรวจสอบ ยังพบว่า บริเวณตัวกำแพงความยาว กว่า 148 เมตร ยังมีรอยปริอีกหลายจุดเสี่ยงต่อการพังเสียหาย หากฝนยังตกหนักต่อเนื่องต่อไปอีก โดยหลังจากนี้ ทางสำนักงานพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ จังหวัดสงขลา จะได้ทำเรื่องเสนอกรมศิลปากร เพื่อดำเนินการบูรณะซ่อมแซมกำแพงเมืองสงขลา ซึ่งเป็นโบราณสถานของกรมศิลปากรให้กลับอยู่ในสภาพเดิมต่อไป
น้ำท่วมสงขลา น้ำท่วมหาดใหญ่ 15 พฤศจิกายน
สภาพอากาศในพื้นที่จังหวัดสงขลา ตั้งแต่ช่วงเช้าของวันนี้เริ่มมีฝนตกลงมาอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่ได้มีการแจ้งเตือนว่า ได้มีฝนตกหนักอีกครั้ง ในช่วง 2-3 วันนี้ ขณะที่ทางสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จังหวัดสงขลา รายงานว่า จนถึงขณะนี้ในพื้นที่ทั้ง 16 อำเภอ ของจังหวัดสงขลา ยังไม่มีรายงานน้ำท่วมระลอก 2 และมีเหตุดินถล่มเกิดขึ้นแต่อย่างใด และได้มีการแจ้งเตือนให้อำเภอเสี่ยงภัย ที่มีพื้นที่ที่อยู่ใกล้เนินเขา เช่น อำเภอสะบ้าย้อย รัตภูมิ นาทวี ให้ระวังเป็นกรณีพิเศษ โดยเฉพาะพื้นที่ซึ่งเป็นพื้นที่อุ้มน้ำ จากเหตุน้ำท่วมเมื่อช่วงต้นเดือนที่ผ่านมา
ส่วนสถานการณ์ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ ขณะนี้ยังไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากระดับน้ำในคลองอู่ตะเภา และคลองระบายน้ำรอบนอกทั้ง 5 สาย ระดับน้ำยังคงปกติและอยู่ในภาวะธงเขียว แต่ประชาชนในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ ต่างเฝ้าติดตามสถานการณ์ และการประกาศของอุตุนิยมวิทยา อย่างใกล้ชิด เนื่องจากส่วนใหญ่เพิ่งเสร็จจากการเก็บกวาดบ้านเรือนและร้านค้าที่ถูกน้ำท่วม
น้ำท่วมหาดใหญ่
น้ำท่วมหาดใหญ่
น้ำท่วมหาดใหญ่
น้ำท่วมสงขลา น้ำท่วมหาดใหญ่ 13 พฤศจิกายน
ความคืบหน้า กรณีถังแก๊สคลอรีนของการประปา ส่วนภูมิภาคสาขาหาดใหญ่ ถูกน้ำพัดพาหายไปจำนวนหนึ่ง ขณะที่ เกิดน้ำท่วมหาดใหญ่ ล่าสุด นายปรีโช วัฒนศิลป์ ผู้ช่วยผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค หาดใหญ่ ได้เข้าแจ้งความกับตำรวจ สภ.หาดใหญ่ เพื่อลงบันทึกประจำวันไว้เป็นหลักฐาน และแจ้งเตือนประชาชนที่ครอบครองไว้หรือ พบว่าอยู่ที่ใดให้รับนำมาคืน เนื่องจาก เสี่ยงต่อการเป็นอันตราย และผิดกฎหมาย
ขณะที่นายธีรพล คงปัญญา ผู้จัดการการประปาส่วนภูมิภาค สาขาหาดใหญ่ ระบุว่า การสำรวจล่าสุด พบว่า มีถังแก๊สคลอรีน ถูกน้ำพัดพาไปจำนวน กว่า 60 ถัง และได้คืนมาแล้วกว่า 24 ถัง โดยถังแก๊สคลอลีนทั้งหมดเป็นถังเปล่าที่ใช้แล้ว แต่ยังมีแก๊สหลงเหลืออยู่ภายใน และห้ามเปิดวาล์ว หรือ ผ่าอย่างเด็ดขาด เพราะหากมีการเปิดและสูดดมเข้าไป จะทำให้ระคายเคืองผิวหนัง และเป็นอันตรายกับปอดและตับได้ โดยเฉพาะหากมีการผ่าถัง จะทำให้แก๊สระเบิด และถังแก๊สคลอลีน ถือเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องมีใบอนุญาตครอบครองและเคลื่อนย้าย ซึ่งหากใครนำไปครอบครอง ก็จะผิดกฎหมายด้วย
น้ำท่วมหาดใหญ่
น้ำท่วมสงขลา น้ำท่วมหาดใหญ่ 12 พฤศจิกายน
สถานการณ์น้ำท่วมสงขลา วันที่ 12 พ.ย. สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา รายงานสถานการณ์อุทกภัยและการให้ความช่วยเหลือประชาชน ในพื้นที่จังหวัดสงขลา ระหว่างวันที่ 1-11 พฤศจิกายน 2553 มีพื้นที่ประสบภัย รวม 16 อำเภอ 12 เขตเทศบาล 119 ตำบล 1,049 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับความเดือดร้อน 269,233 ครัวเรือน 802,247 คน อพยพไปอยู่ที่ปลอดภัย 39,900 คน มีผู้เสียชีวิต 35 คน ผู้บาดเจ็บ 1,494 คน ความเสียหายทางด้านทรัพย์สิน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 623 หลัง เสียหายบางส่วน 43,331 หลัง พื้นที่การเกษตรเสียหาย 202,499 ไร่ มูลค่าความเสียหายเบื้องต้น รวมกว่า 1,500 ล้านบาท
สำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชน ได้มีหน่วยงานต่าง ๆ นำเครื่องอุปโภคบริโภค เสื้อผ้า ยารักษาโรค เรือท้องแบน เข้าให้การช่วยเหลือ รวมเป็นเงินกว่า 18 ล้านบาท ส่วนสถานการณ์โดยทั่วไป กำลังเข้าสู่สภาวะปกติ เส้นทางคมนาคมสามารถใช้งานได้ทุกเส้นทาง ระบบการสื่อสารสามารถใช้งานได้ตามปกติ ระบบไฟฟ้าใช้การได้เกือบทั้งหมดแล้ว
ในส่วนของสถานการณ์น้ำในตัวเมืองหาดใหญ่ และเขตเทศบาลใกล้เคียง ระดับน้ำลดลงหมดแล้ว เว้นแต่บริเวณรอบนอกทะเลสาบสงขลา อาทิ อำเภอสิงหนคร , สทิงพระ , ระโนด , กระแสสินธุ์ และควนเนียง ที่ยังคงมีน้ำท่วมขังในบางพื้นที่
ด้านนายอมรเศรษฐ์ สุวรรณมาศ นายอำเภอหาดใหญ่ จ.สงขลา เปิดเผยเกี่ยวกับสถานการณ์ภายใน อ.หาดใหญ่ หลังจาก เกิดเหตุน้ำท่วม ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับบ้านเรือน และทรัพย์สินของประชาชนเป็นจำนวนมากว่า สถานการณ์ล่าสุด ณ ขณะนี้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว เหลือแต่เพียงซากขยะที่มีจำนวนมาก โดยทางเทศบาลได้ปิดถนนเร่งทำความสะอาดกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้กลับเข้าสู่สภาวะเดิมอย่างเร็วที่สุด เนื่องจากในช่วงนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงเทศกาลสำคัญ ส่วนโรงเรียนในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้เปิดการเรียนการสอนครบทุกที่แล้ว และนักเรียนเริ่มทยอยมาเรียนกันมาขึ้น โดยอุปกรณ์การเรียนที่เสียหายหรือชำรุด ทางเจ้าหน้าที่ได้เร่งซ่อมแซมเพื่อให้กลับมาใช้งานได้เหมือนเดิม
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ สร้างความเสียหายให้กับทางเทศบาลนครหาดใหญ่ เป็นจำนวนมหาศาล โดยในเบื้องต้นมูลค่าความเสียหายมีมากกว่า 1,000 ล้านบาท เนื่องจากใน อ.หาดใหญ่ เป็นสถานที่ที่ชาวต่างชาติเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงทำให้รายได้ในส่วนนี้ขาดหายไป
น้ำท่วมสงขลา น้ำท่วมหาดใหญ่ 11 พฤศจิกายน
สถานการณ์น้ำท่วมสงขลา 11 พ.ย. ปภ.สงขลา เปิดเผยว่า จากเหตุอุทกภัยที่ผ่านมา ส่งผลให้มีประชาชนเดือดร้อน 332,000 คน บ้านเรือนเสียหายทั้งหลัง 634 หลัง บ้านเรือนเสียหายบางส่วน 43,331หลัง อาคารพาณิชย์ 155 ห้อง โรงงาน 20 แห่ง โรงแรม 1 แห่ง ยานยนต์ 29,896 คัน เรือประมง 503 ลำ ปศุสัตว์ 9,044 ตัว พื้นที่การเกษตร202,499 ไร่ บ่อปลา 6482 บ่อ ถนน 1,333 สาย สะพาน 248 แห่ง วัดมัสยิด 181 แห่ โรงเรียน 203 แห่ง สถานที่ราชการ 104 แห่ง มูลค่าความเสียหาย 1,517,795,800 บาท ผู้เสียชีวิต 35 คน บาดเจ็บ 1494 คน
น้ำท่วมสงขลา น้ำท่วมหาดใหญ่ 8 พฤศจิกายน
สถานการณ์น้ำท่วมสงขลา ล่าสุดยังมีน้ำท่วมใน 16 อำเภอ 119 ตำบล 996 หมู่บ้าน แต่ระดับน้ำได้ลดลงมากแล้ว โดยอำเภอที่ถูกน้ำท่วม ได้แก่ อ.สะบ้าย้อย,สะเดา,หาดใหญ่,หาดใหญ่,คลองหอยโข่ง,จะนะ,รัตภูมิ,เมืองสงขลา,ควนเนียง,บางกล่ำ,สทิงพระ,ระโนด,สิงหนคร,นาหม่อม,เทพา, และ อ.กระแสสินธุ์
ทั้งนี้ ธนาคารต่าง ๆ ในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เริ่มเปิดให้บริการแล้ว หลังจากที่ปิดทำการจากเหตุการณ์น้ำท่วม โดยธนาคารกสิกรไทย ได้เปิดให้บริการ 4 สาขา สาขาลพบุรีราเมศร์ สาขาศุภสารรังสรรค์ สาขาหาดใหญ่ใน และสาขาช่องเขา-มอ. ส่วนสาขาอื่น ยังปิดให้บริการ
ส่วนธนาคารธนชาต ได้เปิดให้บริการตามปกติแล้ว 4 สาขา คือ สาขาหาดใหญ่ สาขาหาดใหญ่ใน สาขาคาร์ฟูร์ และ สาขาไดอาน่า ศรีภูวนารถ ยังเหลืออีก 2 สาขา ที่ยังปิดทำการ คือ สาขาถนนจุติอุทิศ และสาขาถนนรัถการ ส่วนธนาคารทิสโก้ ซึ่งมีสาขาอยู่ที่ อ.เมือง จ.สงขลา ก็ได้เปิดให้บริการตามปกติเช่นกัน
ด้านโรงพยาบาลหาดใหญ่ เริ่มเปิดให้บริการเต็มรูปแบบเป็นวันแรกในวันนี้ ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน โดยมีผู้ป่วยจำนวนมากเดินทางมาใช้บริการ โดยเฉพาะที่แผนกอายุรกรรม มีจำนวนผู้ป่วยหนาแน่นเป็นพิเศษ เพราะนอกจากจะมีผู้ป่วยเดินทางมารับการรักษาเป็นปกติแล้ว ยังมีผู้ป่วยที่ตกค้างจากช่วงน้ำท่วม ทั้งผู้ป่วยที่ผิดนัด ก็ไม่สามารถเดินทางมาได้ และผู้ป่วยที่มารับยา เมื่อทราบว่า ทางโรงพยาบาลเปิดให้บริการตามปกติ จึงต่างเดินทางมาพร้อม ๆ กัน
น.พ.สุภาพ ไพศาลศิลป์ รักษาการรองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ โรงพยาบาลหาดใหญ่ เปิดเผยว่า ภาพรวมทั้งหมดของโรงพยาบาลหาดใหญ่ สามารถเปิดให้บริการตามปกติทุกแผนก ทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน รวมถึงห้องผ่าตัดที่เปิดได้แล้วครึ่งหนึ่ง แต่การบริการอาจจะล่าช้า เพราะจำนวนคนไข้ที่มีจำนวนมาก และระบบสาธารณูปโภคต่าง ๆ ภายในโรงพยาบาล ยังพร้อมไม่เต็มที่ ทั้งนี้ จากการประเมินความเสียหายของอุปกรณ์ต่าง ๆ ในเบื้องต้นประมาณ 86,800,000 บาท แต่สิ่งที่จำเป็นเร่งด่วน และขาดแคลนในขณะนี้ คือ เลือด ที่จะนำมารักษาผู้ป่วย ซึ่งทางโรงพยาบาลยังต้องการอีกเป็นจำนวนมาก
น้ำท่วมหาดใหญ่
น้ำท่วมสงขลา น้ำท่วมหาดใหญ่ 7 พฤศจิกายน
ยังไม่มีความชัดเจนจากหน่วยงานภาครัฐ หลัง รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ นักวิชาการด้านภัยพิบัติ ผู้ออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมอำเภอหาดใหญ่ ออกมาเตือนตั้งแต่วันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2553 จะมีฝนตกบริเวณพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และหาดใหญ่ จ.สงขลา ในปริมาณน้ำฝนที่เกิน 200 มิลลิเมตรต่อวัน อาจจะส่งผลให้น้ำท่วมหาดใหญ่อีกครั้ง จำเป็นต้องเตือนภัยประชาชน ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเว็บไซต์กรมอุตุนิยมวิทยา ยังไม่พบแถลงการณ์เตือนภัยใด ๆ นอกจากข้อมูลการพยากรณ์ตามปกติ
ขณะที่บรรยากาศในเขตตัวเมืองหาดใหญ่ หลังน้ำท่วมคลี่คลายยังไม่กลับเข้าสู่ภาวะปกติ จนถึงขณะนี้ธุรกิจห้างร้านและสถานบริการต่าง ๆ เช่น โรงแรม ธนาคาร และห้างสรรพสินค้าเกือบทั้งหมดที่อยู่ในเขตตัวเมือง ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ เนื่องจากการฟื้นฟูยังไม่แล้วเสร็จหลังได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม โดยเฉพาะโรงแรมชั้นใต้ดิน ยังสูบน้ำออกมาไม่หมดและยังมีรถติดค้างอยู่ และปัญหาใหญ่คือระบบน้ำประปาที่เริ่มเปิดได้เพียง 30 เปอร์เซ็น ของพื้นที่เมืองหาดใหญ่เท่านั้น
ส่วนย่านการค้า เช่น ตลาดกิมหยง และย่านการค้าถนนนิพัทธ์อุทิศ 1, 2, 3 ยังคงมีผู้คนจากทั่วทุกสารทิศ ที่เดินทางเข้ามาเลือกซื้อสินค้าราคาถูก ที่พ่อค้าแม่ค้านำมาเลหลังขายริมถนน การจราจรในเขตตัวเมืองติดขัด ขณะที่ปริมาณขยะจำนวนมหาศาลยังคงตกค้างอยู่ตาม ริมถนน แม้จะมีการเร่งทำความสะอาดเมืองตลอดทั้ง 3 วันก็ตาม ส่วนกรุ๊ปทัวร์นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเลเซียและสิงคโปร์ ที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในช่วงสุดสัปดาห์นี้ยกเลิกทั้งหมด
ทางด้าน นายไพร พัฒโน นายกเทศบาลนครหาดใหญ่ ได้ประชุมร่วมกับฝ่ายทหาร ตำรวจและฝ่ายปกครอง เพื่อหามาตรการแก้ปัญหาจราจร ความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์ และการทำความสะอาดถนน เนื่องจากได้รับการร้องเรียนจากประชาชนว่ากำลังเดือดร้อน เรื่องการจราจรหนาแน่นในย่านธุรกิจ กลุ่มมิจฉาชีพและการทำความสะอาดล่าช้า จนไม่สามารถทำความ สะอาดบ้านเรือนและร้านค้าได้สะอาด ทั้งนี้ บนถนนทุกสายในเขตเทศบาลนครหาดใหญ่ มีกองขยะกองอยู่เป็นจำนวนมากที่กำลังเน่า เปื่อยและส่งกลิ่นเหม็น อาจจะกลายเป็นแหล่งเพาะพันธ์ของเชื้อโรค
สำหรับความเสียหายจังหวัดสงขลามีพื้นที่ประสบภัย ทั้งจังหวัด 16 อำเภอ 131 ตำบล 996 หมู่บ้าน มีประชาชนเดือดร้อนทั้งสิ้น 715,110 คน 241,399 ครัวเรือน อพยพคน 26,213 คน มีผู้เสียชีวิตจำนวน 29 คน สาเหตุการเสียชีวิตส่วนใหญ่มาจากการจมน้ำ ดินถล่มทับบ้านเรือน กระแสไฟฟ้าชอร์ต นอกจากนี้ยังมีผู้ได้รับบาดเจ็ดที่ได้รับรายงานอย่างไม่เป็นทางการ 82 คน บ้านพังเสียหายทั้งหลัง 837 หลัง เสียหายบางส่วน 29,975 หลัง เรือประมงจม 354 ลำ ถนนเสียหาย 891 สาย วัด 118 แห่ง โรงเรียน 148 แห่ง
ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมทะเลสาบสงขลา เริ่มได้รับความเดือดร้อนจากภาวะน้ำทะเลหนุน จากปริมาณน้ำที่ไหลมาจาก อ.หาดใหญ่ จ.พัทลุง และนครศรีธรรม เช่น ในพื้นที่ ต.ท่าหิน อ.สทิงพระ บ้านเรือนของประชาชนทั้งที่อยู่ติดริมทะเลสาบและระยะห่างออกมา ประมาณ 1 กิโลเมตร ถูกน้ำทะเลหนุนเข้าท่วม และปริมาณน้ำได้หนุนสูงกว่าทุกปีที่ผ่านมา การเดิน ทางเข้าออกจากบ้านมายังถนนสายหลักจำเป็นต้องใช้เรือหางยาว ทั้งนี้ รศ.ดร.เสรีเตือนไว้ว่า หากน้ำท่วมหาดใหญ่เป็นครั้งที่ 2 จะหนักกว่าเก่า เพราะจะมีน้ำทะเลหนุนสูงทำให้ระบายน้ำได้ช้า
ขณะเดียวกัน บรรยากาศในพิธีฌาปนกิจศพของ นางวรวรรณ ทองรัก อายุ 38 ปี และ ด.ช.กฤษณะพล เขี้ยวแก้ว อายุ 11 เดือน หรือ น้องนัท ซึ่งสองแม่ลูกเสียชีวิตพร้อมกัน จากเหตุการณ์ภูเขาถล่มในพื้นที่ บ้านสวนจันทร์ ต.หัวเขา อ.สิงหนคร จ.สงขลา เมื่อคืนวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตรวม 5 ศพ ซึ่งพิธีจัดขึ้นที่วัดเขาน้อย ต.หัวเขา เป็นไปอย่างเศร้าโศกและสะเทือนใจผู้ที่ไปร่วมพิธี เมื่อเห็นรูปถ่ายหน้าหีบศพ ขณะกำลังให้นมลูก ด้วยใบหน้าที่เปี่ยมไปด้วยความสุข โดยชาวบ้านเผยว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นความสูญเสียของชาวบ้านสวนจันทร์ ทั้งหมดเนื่องจากผู้เสียชีวิตทั้ง 5 ศพ เป็นเครือญาติเดียวกัน
ตลาดกิมหยง
น้ำท่วมสงขลา น้ำท่วมหาดใหญ่ 6 พฤศจิกายน
เตือน! หาดใหญ่ไม่พ้นวิบากกรรม เตรียมรับมือน้ำท่วมชุดใหญ่อีกระลอก ช่วงวันที่ 7-10 พ.ย.นี้ ย้ำคราวนี้รุนแรงกว่าครั้งที่แล้ว อาจถึงขั้นอพยพผู้คน เหตุฝนอาจตกหนักเกิน 200 มิลลิเมตรต่อวัน แถมขยะอุดท่อ น้ำทะเลหนุน แนะเร่งลอกท่อด่วน ขณะที่ระบบเตือนภัยภาครัฐยังหลับอุตุ เฮโลล้างเมืองกันท่าเดียว ขณะที่เมื่อคืนที่ผ่านมา ( 5 พ.ย.) เกิดเหตุเครื่องปั่นไฟระเบิดที่ห้างเซ็นทรัลหาดใหญ่ ซ้ำไฟไหม้ตู่ ATM ที่โรบินสันหาดใหญ่ แต่ไม่มีใครได้รับอันตราย
รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ นักวิชาการด้านภัยพิบัติ ผู้ออกแบบระบบป้องกันน้ำท่วมอำเภอหาดใหญ่ กล่าวในวงเสวนา "ฝ่าวิกฤติความไม่เป็นธรรมสู่สังคมสุขภาวะ : บทเรียนจากการจัดการน้ำท่วมปี 2553" ว่า ขณะนี้ข้อมูลข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมีการคาดการณ์ล่วงหน้า 10 วัน เรานำข้อมูลมาประเมินพบว่า ตั้งแต่วันที่ 7-10 พฤศจิกายน 2553 จะมีฝนตกบริเวณพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และหาดใหญ่ จ.สงขลา ในปริมาณน้ำฝนที่เกิน 200 มิลลิเมตรต่อวัน ซึ่งหากฝนตกเกิน 200 มิลลิเมตรต่อวัน จะส่งผลให้น้ำท่วมหาดใหญ่ จำเป็นต้องเตือนภัยประชาชน เพราะเพิ่งผ่านเหตุการณ์น้ำท่วมไป และกลับมาซ่อมแซมบ้านเรือน แต่จะมีน้ำท่วมเกิดขึ้นอีก ขณะนี้แทนที่จะซ้อมให้เฝ้าระวังก่อน
"ช่วงนั้นเป็นจังหวะที่น้ำทะเลหนุนสูงพอดี ถ้าฝนตกมา 200 มิลลิเมตร น้ำจะลงช้ามาก การแก้ปัญหาเฉพาะหน้า กรมชลประทานจำเป็นจะต้องประเมินและพร่องน้ำให้หมดให้เร็วที่สุดในช่วงที่น้ำลง น้ำตามอ่างเก็บน้ำ คลอง ร.1 คลองต่าง ๆ ให้พร่องออกไปเร็วที่สุด"
เขาเตือนว่า ถ้าน้ำมาครั้งนี้ไม่ได้พร่องน้ำ ฝนตกน้ำจะท่วมเลยทันที แต่ปริมาณน้ำที่พร่องไปช่วยได้ 10-20% เพราะปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมามันมหาศาลมากกว่า อย่างไรก็ต้องท่วมวันที่ 10 พฤศจิกายนจะหนักสุด และหลังจากวันที่ 10 จะมีหย่อมความกดอากาศจ่ออยู่อีกลูกหนึ่ง หลังโดนน้ำท่วมไปแล้ว ฝนจะตกอย่างต่อเนื่อง คาดว่าเหตุการณ์จะแรงกว่าครั้งแรก อยากเตือนให้ประชาชนเฝ้าระวังเหตุการณ์ไว้
นักวิชาการด้านภัยพิบัติกล่าวต่อว่า ข้อมูลความเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศดังกล่าวได้จากการตรวจสอบกับผู้เชี่ยวชาญ ด้านภูมิสภาพอากาศจากญี่ปุ่น ซึ่งตอนแรกยังไม่แน่ใจ จึงตรวจสอบไปที่สหรัฐและยุโรป ซึ่งข้อมูลทั้งหมดตรงกัน และขณะนี้ตนได้ส่งข้อมูลการศึกษาติดตามให้กับกรมชลประทานแล้ว ซึ่งการจะเตรียมการรับมืออย่างไร จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาลและหน่วยงานของรัฐ โดยเฉพาะทางจังหวัดและท้องถิ่นว่าจะดำเนินการรับมืออย่างไร เพื่อให้เกิดการสูญเสียน้อยที่สุด
"ประชาชนจะเชื่อถือข้อมูลการเตือนภัยนี้มากน้อยแค่ไหน ต้องขึ้นกับรัฐบาลว่า จะให้ความสำคัญแค่ไหน เพราะผมเองทำงานในฐานะนักวิชาการอิสระเหมือนกับเอ็นจีโอคนหนึ่ง ไม่ได้ทำในนามของทางการหรือรัฐบาล"
ขณะเดียวกัน รศ.ดร.เสรี ยังแนะนำว่า ขอให้ตรวจสอบสิ่งกีดขวางทางระบายน้ำ จากน้ำท่วมหาดใหญ่ครั้งที่ผ่านมามีขยะเยอะมาก ทางระบายน้ำอุดตัน ต้องเร่งสำรวจเพื่อป้องกันปัญหาเรื่องการระบายน้ำ ที่ผ่านมาโชคดีระบายได้เร็ว แต่ครั้งหน้าจะระบายน้ำได้ยาก เพราะระดับน้ำทะเลหนุนสูงขึ้น การระบายน้ำด้วยการไหลตามธรรมชาติจากที่สูงไปที่ต่ำมันระบายไม่ได้ ต้องใช้เครื่องสูบน้ำอย่างเดียว นี่เป็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ทั้งนี้ รศ.ดร.เสรี เป็นคนแรกที่ออกมาเตือนว่า ระบบป้องกันน้ำท่วมหาดใหญ่ไม่สามารถรองรับปริมาณน้ำได้ และแนะนำให้อพยพคนออกจากเทศบาลเมืองหาดใหญ่ตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 31 ตุลาคม แต่ทางการกลับเตือนชาวหาดใหญ่อย่างจริง ๆ จัง ๆ ในช่วงค่ำวันถัดมา ซึ่งน้ำเริ่มทะลักเข้าตัวเมืองแล้ว
สำหรับบรรยากาศภายในเทศบาลหาดใหญ่ หลังจากระดับน้ำท่วมหาดใหญ่ได้ลดลงสู่ภาวะปกติ พบว่ามีขยะกองอยู่บนถนนไม่น้อยกว่า 100 ตัน หากไม่สามารถดำเนินการกวาดเก็บภายใน 2 วัน จะทำให้เน่าเปื่อยส่งกลิ่นเหม็นสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จึงได้ระดมกำลังคนทุกภาคส่วนเข้ามาทำการกวาดเก็บขยะ เพื่อนำไปทิ้งที่บ่อกำจัดขยะของเทศบาลนครหาดใหญ่ และเกณฑ์กำลังคนส่วนหนึ่งล้างถนนที่เต็มไปด้วยโคลนตม
ขณะที่อุปกรณ์ก่อสร้างประเภทกระเบื้องมุงหลังคาประชาชนใน จ.สงขลา ที่ประสบกับวาตภัยมีความต้องการเร่งด่วน แต่ขณะนี้กระเบื้องขาดตลาดแล้ว ยังมีร้านจำหน่ายอุปกรณ์ก่อสร้างบางแห่งฉวยโอกาสขึ้นสูงจากเดิมเกือบเท่าตัวด้วย ขณะที่กองทัพภาคที่ 4 ส่งทหารช่วยทำความสะอาดถนนในตัวเมือง
ทั้งนี้ ตลอดทั้งวันศุกร์จนถึงค่ำ ยังไม่มีการแจ้งเตือนถึงความเป็นไปได้ว่า เทศบาลเมืองหาดใหญ่อาจจมน้ำอีก ครั้ง กลับมีการพูดถึงแต่เรื่องการฟื้นฟู เตรียมวัสดุอุปรณ์ต่าง ๆ ที่จะเร่งปรับให้หาดใหญ่กลับเหมือนเดิมภายใน 3 วัน โดยเฉพาะนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ อดีตรองนายกฯ บอกกับชาวบ้านว่า 2-3 วันจะกลับสู่ภาวะปกติ
ขณะเดียวกันมีรายงานว่า ได้เกิดเหตุเครื่องปั่นไฟฟ้าขนาดใหญ่ในห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัลหาดใหญ่ระเบิดขึ้น เสียงดังสนั่นทำให้เครื่องเสียหายทั้งหมด ซึ่งจากการสอบถามทราบว่าเป็นเครื่องปั่นไฟฟ้าสำรองของห้าง ซึ่งระหว่างที่เกิดน้ำท่วมใหญ่ เครื่องดังกล่าวได้ใช้งานอย่างหนัก เนื่องจากไม่มีกระแสไฟฟ้าจนรับไม่ไหว และเกิดระเบิดขึ้นดังกล่าว เบื้องต้นยังไม่มีผู้ใดได้รับบาดเจ็บ
นอกจากเหตุเครื่องปั่นไฟฟ้าระเบิดแล้ว ยังเกิดเหตุเพลิงไหม้ตู้ ATM ของธนาคารกสิกรไทย ที่อยู่ชั้น 1 ภายในห้างโรบินสัน สาขาหาดใหญ่ ถนนธรรมนูญวิถี อ.หาดใหญ่ ด้วย โดยเจ้าหน้าที่ดับเพลิงต้องเร่งสกัดเพลิงเป็นการใหญ่ ก่อนจะสามารถควบคุมเพลิงได้ และพบว่าไฟได้ลุกไหม้จากแผงวงจรข้างหลังตู้ ATM แต่พนักงานของห้างเห็นก่อน จึงแจ้งตำรวจได้ทัน โดยเจ้าหน้าที่ตำรวจคาดว่า สาเหตุน่าจะเกิดจากไฟฟ้าลัดวงจร ซึ่งทางธนาคารจะให้เจ้าหน้าที่มาตรวจสอบสาเหตุและค่าความเสียหายอีกครั้งหนึ่ง
สำหรับอุทกภัยที่เกิดขึ้นในพื้นที่ จ.สงขลานั้น นอกเหนือจากพื้นที่ อ .หาดใหญ่แล้ว ยังมีอีกหลายอำเภอที่ได้รับความเสียหายมาก อย่างเช่นพื้นที่ อ.สทิงพระ อ.กระแสสินธุ์ ซึ่งเป็นจุดที่เกิดลมพายุพัดอย่างรุนแรง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนเป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจากเหตุการณ์เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และการสื่อสารในระบบต่าง ๆ ทั้งโทรศัพท์พื้นฐานและโทรศัพท์มือถือไม่สามารถใช้งานได้
โดยในพื้นที่ อ.สทิงพระ จ.สงขลา บ้านเรือนประชาชนที่อยู่ใกล้ทะเลสาบได้รับความเดือดร้อนจากน้ำท่วม และลมพายุที่พัดเข้ามาอย่างรุนแรง ทำให้บ้านเรือนหลาย ๆ หลังได้รับความเสียหายบ้านพัง หลังคาถูกลมพายุพัดจนไม่สามารถอาศัยได้
ส่วนในพื้นที่ อ.กระแสสินธุ์ จ.สงขลา โดยเฉพาะบ้านแหลมยาง ต.เกาะใหญ่ ได้รับความเสียหายหนักที่สุด เนื่องจากเป็นจุดที่เกิดลมพายุหมุน ทำให้สวนยางพาราของชาวบ้านล้มระเนระนาดทับบ้านเรือนเสียหายไปเกือบ 70 เปอร์เซ็นต์ของบ้านเรือนที่มีอยู่ทั้งหมดหลายร้อยหลังคาเรือน
ตลาดกิมหยง
น้ำท่วมสงขลา น้ำท่วมหาดใหญ่ 5 พฤศจิกายน
สถานการณ์น้ำท่วมสงขลาวันที่ 5 พฤศจิกายน แม้ระดับน้ำในหาดใหญ่จะลดลงจนเป็นปกติแล้ว แต่อำเภออื่น ๆ ในจังหวัดสงขลา ยังประสบปัญหาน้ำท่วมหนัก โดยชาวบ้านในพื้นที่อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ที่โดนพายุดีเปรสชั่นพัดถล่ม เมื่อคืนวันที่ 1 ที่ผ่านมา ทั้งอำเภอสทิงพระ สิงหนคร ระโนด กระแสสินธุ์ และบางส่วนของอำเภอเมืองยังคงได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก เนื่องจาก ความช่วยเหลือยังเข้าไปไม่ถึง โดยมีบ้านเรือนของประชาชน อย่างน้อย 8,000 หลัง ที่ถูกพายุพัดได้รับความเสียหาย ระบบไฟฟ้า ประปา และการสื่อสาร ถูกตัดขาด 5 วันแล้ว บางพื้นที่ยังถูกน้ำท่วมและประชาชนบางส่วนยังไร้ที่อยู่อาศัย
ขณะที่ทางจังหวัดกำลังสำรวจความเสียหาย และนำเครื่องยังชีพ เข้าช่วยเหลือประชาชนในเบื้องต้น รวมทั้ง องค์กรภาคประชาชนจากอำเภอใกล้เคียง ที่ได้ร่วมกันบริจาคสิ่งของและนำน้ำดื่ม รวมทั้งทำอาหารกล่อง ไปแจกจ่ายชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า
ด้านนายนิพนธ์ บุญญามณี สส.สงขลา พรรคประชาธิปัตย์ เผยว่า หลังเหตุการณ์น้ำท่วม ชาวบ้านต่างหวาดผวาเรื่องภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว ตนจึงขอเรียกร้องให้กรมอุตุนิยมวิทยาออกคำเตือนผ่านสื่อให้ประชาชนเข้าใจได้ง่ายกว่าที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม สำหรับสถานการณ์น้ำท่วมสงขลาในขณะนี้ จุดที่ยังวิกฤตอยู่ที่ อ.สทิงพระ และ อ.ระโนด ซึ่งเป็นจุดที่พายุดีเปรสชั่นพัดเข้าฝั่ง ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากไร้ที่อยู่อาศัย โดยสิ่งที่ชาวบ้านต้องการมากที่สุดขณะนี้คือ น้ำดื่มสะอาด และอาหารที่บริโภคได้ทันที
น้ำท่วมสงขลา น้ำท่วมหาดใหญ่ 4 พฤศจิกายน
สถานการณ์น้ำท่วมสงขลาวันที่ 4 พฤศจิกายน ระดับน้ำ ลดลงเกือบทุกพื้นที่แล้ว ซึ่งระบบการสื่อสารทางโทรศัพท์ ก็เริ่มใช้งานได้ตามปกติในบางจุด เช่นเดียวกับระบบไฟฟ้า แต่ก็มีบางหมู่บ้านที่ยังไม่สามารถเปิดใช้บริการได้ ส่วนระบบประปานั้น เจ้าหน้าที่จะเร่งดำเนินการ แต่คาดว่าการฟื้นฟูระบบต้องใช้เวลาและยังไม่สามารถผลิตน้ำประปาได้ทันที
โดย นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า ขณะนี้สิ่งที่ต้องการมากที่สุดของชาวสงขลา คือ น้ำดื่ม เนื่องจากประชาชนขาดแคลน และระบบน้ำประปา ก็ไม่สามารถผลิตได้ รวมทั้งชุดช่าง ที่เข้ามาช่วยซ่อมแซมหลังคาบ้านเรือนประชาชน และอาสาสมัครที่เข้ามาช่วยตัดต้นไม้ ที่โค่นล้มทับบ้านเรือนประชาชานและขวางถนน ทั้งนี้ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น มีประชาชนเสียชีวิตทั้งหมด 11 ราย
ทางด้านนายดนัยวิทย์ สายบัณทิตย์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทาน จังหวัดสงขลา กล่าวว่า ขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมในอำเภอหาดใหญ่ เริ่มคลี่คลายน้ำจะแห้งทุกจุดแล้ว ในคลองอู่ตะเภาปริมาณน้ำต่ำกว่าตลิ่งเป็นปกติแล้ว แต่ที่น่าห่วงอยู่ที่อำเภอบางกล่ำยังมีปริมาณน้ำมาก เจ้าหน้าที่กำลังระดมเครื่องสูบน้ำ เพื่อไประบายน้ำในอำเภอบางกล่ำลงทะเล คาดว่าภายในสัปดาห์นี้ สามารถระบายน้ำได้หมด
นายดนัยวิทย์ กล่าวว่า การระบายน้ำใน อำเภอหาดใหญ่ ที่ทำได้รวดเร็ว เนื่องจากก่อนหน้านี้ทางจังหวัดได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว โดยได้มีการขุดลอกคลองทั้งหมด เพื่อเปิดให้ทะลุทะเลสาบสงขลา ซึ่งเดิมพื้นทะเลสาบสงขลา จะสูงกว่าคลอง จึงทำให้มีการขุดลอกคลองไปให้ถึงร่องน้ำลึกของทะเลสาบ ทำให้ระบายน้ำได้รวดเร็ว
ขณะที่ชาวเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทยอยทำความสะอาดร้านค้า และอาคารบ้านเรือน หลังจากน้ำท่วมลดระดับลง จนแห้งสนิทแล้ว โดยเฉพาะบริเวณตลาดกิมหยง ย่านการค้าสำคัญ ใจกลางเมืองหาดใหญ่ มีแม่ค้าทยอยเข้าตรวจสอบสภาพความเสียหายภายในร้านค้าของตนเอง ขณะที่ร้านค้าที่ทรัพย์สินได้รับความเสียหาย จากน้ำท่วมนั้น ก็ทยอยเปิดร้านเพื่อตรวจเช็กสิ่งของ เร่งทำความสะอาด และนำสินค้ามาวางจำหน่าย อย่างเช่น ร้านขายเสื้อผ้า ร้านขายผ้า และร้านรองเท้า ที่ต้องขายกันแบบลดราคา และยอมขาดทุน โดยมีประชาชนบางส่วน เข้าไปเลือกดูสินค้าที่ยังพอใช้ได้ และช่วยกันอุดหนุนสินค้าต่าง ๆ
ขณะที่การสัญจรในเส้นทางถนนหาดใหญ่นั้น มีอาสาสมัครชุดพิทักษ์เมืองหาดใหญ่ ขึ้นตรงกับเทศบาลเมืองหาดใหญ่ มาคอยอำนวยความสะดวก ด้านการจราจร ซึ่งในวันนี้ทางด้าน นายไพร พัฒโน นายกเทศมนตรีนครหาดใหญ่ พร้อมเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง จะเข้าตรวจสอบความเสียหายภายในพื้นที่หลังน้ำลดระดับลงแล้ว
ทางด้านโรงงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชินีนาถอำเภอนาทวี จ.สงขลา ที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยนั้น ล่าสุดเจ้าหน้าที่ระดมกำลังทำความสะอาดโรงพยาบาล และระบายน้ำท่วมขังอย่างเร่งด่วน ทำให้ขณะนี้โรงพยาบาลสามารถเปิดให้บริการประชาชนได้แล้วประมาณ 80% ยกเว้นกรณีผู้ป่วยหนักที่ต้องใช้ห้องเอ็กซเรย์ หรือการตรวจเลือดซึ่งไม่สามารถเปิดบริการได้ เนื่องจากอุปกรณืและเครื่องมือทั้งหมดจมน้ำได้รับความเสียหายทั้งหมด ซึ่งมูลค่าความเสียหายประมาณ 10 ล้านบาท
น้ำท่วมสงขลา น้ำท่วมหาดใหญ่ 3 พฤศจิกายน
เทศบาลเมืองหาดใหญ่ ถูกน้ำเข้าท่วมทั้งหมด มีประชาชนติดค้างภายในบ้านหลายหมื่นคน
สภาพน้ำท่วมหาดใหญ่ บริเวณตลาดกิมหยง เครดิต : rugby34
สภาพน้ำท่วมหาดใหญ่ บริเวณใกล้ ๆ ห้างบิ๊กซี เครดิต : NINA R.Hirunya
แผนที่แสดงสถานการณ์น้ำท่วม จ.สงขลา ทั้ง 16 อำเภอ วันที่ 3 พ.ย.2553 โดยพื้นที่สีแดง ซึ่งได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง ได้แก่ อ.หาดใหญ่ (หมายเลข 4) และ อ.นาทวี (หมายเลข 11) (ภาพจาก songkhla.thaiflood.com )
สถานการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ น้ำท่วมสงขลา วันที่ 3 พฤศจิกายน ประชาชนติดค้างอยู่ในบ้านหลายหมื่น ขณะที่ความช่วยเหลือจากภายนอกเข้าไปอย่างยากลำบาก เผยน้ำท่วมรุนแรงสุดในรอบ 70 ปี ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วมทั้งจังหวัด 16 อำเภอแล้ว
ขณะที่นายอภิสิทธิ์ เวชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา โดยยอมรับว่า สำหรับการให้ความช่วยเหลือประชาชนยังไม่ทั่วถึง เนื่องจากในหลายพื้นที่ มีน้ำท่วมขังสูง ประกอบกับมีน้ำไหลเชี่ยว เรือเล็กไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ ต้องใช้เรือที่มีกำลังขับเคลื่อนสูง แต่ก็ได้สั่งให้เจ้าหน้าที่เร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนเป็นการเร่งด่วนแล้ว
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวถึง หลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ หลังน้ำลดว่า ต้องมีการพิจารณาช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เนื่องจากเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ
ทั้งนี้ มีรายงานล่าสุดว่า ที่หาดใหญ่ในหลายพื้นที่ ระดับน้ำลดลงจนเป็นปกติแล้ว โดยเจ้าหน้าที่และประชาชนกำลังเร่งทำความสะอาดเมือง
มท.3 ระดมเจ้าหน้าที่กู้เมืองหาดใหญ่วันนี้
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยสำนักข่าว ไอ.เอ็น.เอ็น. ผ่าน เอ็มบี แชนแนล ถึงสถานการณ์ในจังหวัดสงขลา โดยยืนยันว่า ในช่วงเช้าวันนี้ เจ้าหน้าที่จะดำเนินการกู้เมือง โดยจะพยายามระบายน้ำออกให้มากที่สุด โดยเฉพาะในอำเภอหาดใหญ่ และจะพยายามกู้ระบบน้ำประปา ระบบสาธารณูปโภค และระบบการสื่อสาร ให้สามารถใช้การได้ในวันนี้
ส่วนในช่วงเช้านี้นั้น ตนเองได้เชิญผู้แทนกองทัพภาค 4 และตัวแทนจากสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยมาประชุมร่วมกัน ส่วนในจังหวัดอื่นของพื้นที่ภาคใต้ นอกเหนือจากจังหวัดสงขลานั้น เท่าที่รับรายงานขณะนี้ ก็จะมีจังหวัดพัทลุง จังหวัดนครศรีธรรมราช ที่กำลังประสบปัญหาจากน้ำท่วม ซึ่งได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการไปแล้วด้วยเช่นกัน
ขณะที่ระดับน้ำรอบนอกทางเข้าเมืองหาดใหญ่ จ.สงขลา เริ่มลดลงแล้ว อย่างบริเวณถนนศรีภูวนารถ จากแยกคลองหวะ มุ่งหน้าเข้าตัวเมืองหาดใหญ่ เมื่อวานนี้มีน้ำท่วมขังสูงอยู่บริเวณทางเข้าสถานีขนส่งเทศบาลนครหาดใหญ่ แต่เช้านี้ระดับน้ำลดลงมาอยู่บริเวณปั๊มน้ำมัน ห่างจากจุดเดิมประมาณ 800 เมตร แต่ทางที่มุ่งหน้าเข้าตัวเมืองหาดใหญ่ ยังคงมีระดับน้ำท่วมขังสูง และมีระยะทางเข้าไปถึงตัวเมืองหาดใหญ่ ประมาณ 45 กิโลเมตร
ส่วนชาวเมืองหาดใหญ่ที่อยู่รอบนอก ต่างทยอยกันออกมาดูสภาพความเสียหาย จากเหตุการณ์น้ำท่วม และจับกลุ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงระดับน้ำที่ลดลง บางคนขี่รถจักรยานยนต์ รถยนต์ เข้าไปสำรวจบริเวณที่มีจุดน้ำท่วมขังไม่สูงมากนัก นอกจากนี้ ชาวบ้านที่อยู่บริเวณริมถนนและน้ำเริ่มลดลงแล้ว ได้ออกมาทำความสะอาดบ้านเรือน หลังจากถูกน้ำท่วมขังมา 3-4 วัน
เรือหลวงจักรีนฤเบศร ถึงสงขลาแล้ว
เมื่อเวลาประมาณ 14.00น. ร.ล. (เรือหลวง) จักรีนฤเบศร ที่เดินทางออกจากท่าเรือสัตหีบวานนี้ ได้เข้าเทียบท่าที่จังหวัดสงขลาแล้ว โดยเบื้องต้นทางกองทัพจะประสานข้อมูลกับทางจังหวัดก่อนว่าจะให้เข้าไปช่วยเหลือที่ไหน อย่างไรบ้าง ทั้งนี้ บนเรือมีอุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือครบครัน รวมถึงโรงพยาบาลขนาดเล็กสามารถรับคนไข้ได้อย่างน้อย 15 เตียง และมีโรงครัวประกอบอาหาร เพื่อสามารถประกอบอาหารสดแล้วส่งให้กับผู้เดือดร้อนได้ทันที โดยเรือหลวงจะทอดสมออยู่ที่ จ.สงขลา เป็นเวลา 5 วัน
สลด! เด็ก 3 ขวบ จมน้ำดับในหาดใหญ่-คนต่อแถวใช้โทรศัพท์สาธารณะ
สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ล่าสุด แม้ในหลายพื้นที่ จะมีระดับน้ำลดลงแล้ว แต่ในตัวเมืองหาดใหญ่ ยังคงมีระดับน้ำท่วมขังสูง ถึง 2 เมตร และเมื่อสักครู่ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง ได้รับแจ้งว่าพบศพเด็กวัย 3 ขวบ อยู่บริเวณถนนทุ่งเสาสอง ซอย 2 ใกล้กับร้านเซเว่น อีเลฟเว่น และขอประสานรถเข้าไปรับศพเด็ก แต่เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ได้ เพราะบริเวณดังกล่าวมีปริมาณน้ำท่วมขังสูงกว่า 1 เมตร
ขณะที่การติดต่อสื่อสารในพื้นที่ ตัวเมืองหาดใหญ่ ล่าสุดยังคงประสบปัญหาเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกระบบ ยังไม่สามารถใช้บริการได้เป็นปกติ เนื่องจากระบบโทรศัพท์ล่ม เจ้าหน้าที่อยู่ระหว่างเร่งกู้สัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ ทำให้ประชาชนที่จะติดต่อสื่อสารกับบุคคลภายนอกพื้นที่ ต้องใช้บริการโทรศัพท์สาธารณะ ที่ขณะนี้ยังสามารถใช้การได้ และมีประชาชนมาต่อแถวใช้บริการตู้โทรศัพท์สาธารณะกันจำนวนมาก
สธ.รับน้ำท่วม รพ.หาดใหญ่ หนักกว่าที่ รพ.มหาราช โคราช
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมที่ ร.พ.หาดใหญ่ จ.สงขลา หนักกว่าที่ ร.พ.มหาราช จ.นครราชสีมา ซึ่งจากสภาพปัญหานั้น ทางกระทรวงสาธารณสุข ได้เร่งดำเนินการ ใน 5 ประเด็น คือ เรื่องไฟฟ้า โดยในวันนี้ ได้สั่งการให้วิศวกรของกระทรวงลงพื้นที่แก้ไขเรื่องเครื่องปั่นไฟอย่างเร่งด่วน ส่วนเรื่องของอาหาร และระบบซักล้าง ร.พ.สงขลานครินทร์ เป็นผู้รับผิดชอบในการดำเนินการ ขณะที่ได้มีการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยไปยัง ร.พ.สงขลานครินทร์ แล้ว 19 ราย ซึ่งผู้ป่วยที่เหลือ จะพยายามดูแลอย่างใกล้ชิด
ขณะเดียวกัน เรื่องการปรับรูปแบบการให้บริการ ได้ตั้งหน่วยบริการนอกโรงพยาบาลรวม 12 จุด ทั้งนี้ ยังยอมรับอีกว่าปัญหาที่สำคัญ คือ การกู้ชีพผู้ป่วยฉุกเฉิน ที่ยังติดค้างอยู่ตามบ้านเรือน ซึ่งได้เตรียมเรือของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินไว้ เพื่อช่วยเหลือแล้ว
ด่วน! รพ.สงขลานครินทร์ ต้องการเลือดกรุ๊ปโอ
น.พ.บุญประสิทธิ์ กฤตย์ประชา รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ กล่าวยืนยันว่า ทางโรงพยาบาลยังสามารถรองรับผู้ป่วย ที่ถูกส่งต่อมารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ได้ ซึ่งได้มีการแจ้งเตือนไปยัง ร.พ. ใกล้เคียง ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม หากไม่สามารถทำการรักษาผู้ป่วย ก็สามารถส่งต่อมารักษายัง ร.พ.สงขลานครินทร์ได้ เนื่องจากขณะนี้ทางโรงพยาบาลมีบุคลากร ทั้งทีมแพทย์และเครื่องมือ พร้อมที่จะทำการรักษาผู้ป่วย ซึ่งตัวเลขล่าสุดมีผู้ป่วยที่ถูกส่งมาจากโรงพยาบาลต่าง ๆ แล้วกว่า 50 ราย
ส่วนสิ่งที่ ร.พ.สงขลานครินทร์ ต้องการในขณะนี้ คือ เลือด โดยเฉพาะเลือดกรุ๊ปโอ เนื่องจากโรงพยาบาลยังไม่สามารถติดต่อกับสภากาชาดไทยได้ ส่วนออกซิเจนเหลว สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ขณะนี้ทางโรงพยาบาลมีสต๊อกไว้ได้ถึง 10 วัน ซึ่งทางผู้บริหารของโรงพยาบาลและทีมแพทย์ จะมีการประชุมประเมินสถานการณ์กันทุกวัน วันละ 2 ครั้ง
อย่างไรก็ตาม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ ได้จัดชุดแพทย์เคลื่อนที่ จำนวน 2 ชุด ให้บริการประชาชนในพื้นที่ที่ประสบภัยน้ำท่วม อยู่ที่ถนนธรรมนูญวิถี และด้านหน้าธนาคารกสิกรไทย ถนนศุภสารรังสรรค์ อยู่ในเขต อ.เมืองหาดใหญ่
สนามบินหาดใหญ่ ยังเปิดให้บริการปกติ
นายสมชัย สวัสดีผล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (สายงานวิศวกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศ) (ระดับ 11) บริษัท ท่าอากาศยานไทย (ทอท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สนามบินหาดใหญ่ ยังคงเปิดให้บริการตามปกติ แม้จะมีปัญหาน้ำท่วมในบริเวณใกล้เคียงก็ตาม เนื่องจากพื้นที่สนามบินเป็นที่ดอนจึงไม่ท่วม แต่ปัญหาที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ก็คือ ผู้โดยสารไม่สามารถออกจากสนามบินไปยังจุดหมายปลายทางได้ จึงได้ประสานงานไปยังกองบิน 56 เพื่อนำรถจีเอ็มซีมาขนผู้โดยสารไปส่ง ในส่วนของปริมาณผู้โดยสารสนามบินหาดใหญ่ปกติจะมีประมาณวันละ 3,000 คน ขณะนี้ลดลงบ้างเล็กน้อย แต่ก็ยังเดินทางทางเครื่องบินตามปกติ
เผยเจอเสื้อปลัดจะนะที่เรือล่มวานนี้ แต่ยังไม่เจอตัว
นายถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยความคืบหน้าการติดตามหาตัวนายวัชรัตน์ บุญฤทธิ์ปลัดอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ที่ประสบเหตุเรือล่ม ขณะออกพื้นที่ช่วยเหลือประชาชน โดยระบุว่า เมื่อคืนที่ผ่านมาตนเองได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ ระหว่างการประชุมตั้งกองอำนวยการร่วมฯ โดยเท่าที่ทราบเบื้องต้นนั้น เจ้าหน้าที่รายงานว่า พบตัวชาวบ้านที่ร่วมประสบเหตุเรือล่มแล้ว ส่วนตัวปลัดนั้น พบเพียงเสื้อที่ใส่ติดตัวไปในวันเกิดเหตุ โดยได้ส่งนักประดาน้ำ เข้าช่วยในการค้นหาแล้ว
ขณะที่ทางด้าน นายบรรจง ช่วยชู นายอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ยืนยันเช่นกันว่า ยังไม่พบตัวปลัด วัชรัตน์ ซึ่งระดับน้ำยังคงมีความลึกอยู่มาก ทำให้ยากในการค้นหาตัว ส่วนชาวบ้านที่ร่วมลงเรือไปด้วยนั้น สามารถช่วยเหลือได้แล้ว โดยพบตัวห่างจากจุดที่เรือล่มประมาณ 1 กิโลเมตรเศษ นอกจากนี้ได้พบศพนายพนม ปานซ้าย ซึ่งเป็นชาวบ้านที่ประสบอุบัติเหตุพร้อมกับปลัดจะนะ เสียชีวิตในสภาพจมน้ำที่บริเวณบ้านทุ่งพระ ตำบลป่าชิง อ.จะนะ แล้ว 1 ราย
ม.สงขลานครินทร์ ประกาศหยุดเรียน เปิด 8 พ.ย.
ม.สงขลานครินทร์ หยุดการเรียนการสอนทั้ง 2 วิทยาเขต คือ อ.หาดใหญ่ และ จ.ปัตตานี ตั้งแต่วันที่ 2 -5 พ.ย. 2553 เนื่องจากประสบเหตุอุทกภัย โดยจะเปิดเรียนในวันจันทร์ที่ 8 พ.ย.นี้ อย่างไรก็ตาม ที่ความเสียหายที่วิทยาเขตหาดใหญ่มีเล็กน้อย แต่ในส่วนของวิทยาเขตปัตตานี มีต้นไม้ใหญ่ล้มลงกว่า 50 ต้น มีเสาไฟฟ้าล้มลง ทำให้ระบบไฟฟ้ามีปัญหา น้ำท่วมที่พักอาศัยของคณาจารย์ บุคลากร ซึ่งทางมหาวิทยาลัยกำลังหารือเพือเข้าช่วยเหลือคณาจารย์ บุคลากร และนิสิตที่ได้รับความเดือนร้อน
ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยได้เปิดสายรับเรื่องความช่วยเหลือจากประชาชนในพื้นที่ที่เดือนร้อน ผ่านสถานีวิทยุม.อ. FM 88 โทร.074-212948
หาดใหญ่ น้ำเริ่มลด
ช่วงเย็นวันที่ 3 พ.ย.2553 สถานการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ สงขลา เริ่มคลี่คลาย หลังจากทุกภาคส่วนเข้าช่วยเหลือ โดยเฉพาะการนำเครื่องสูบน้ำและเรือท้องแบนเข้าไปให้ความช่วยเหลือ ระดับน้ำล่าสุดเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 1.5 เมตร
โดยที่ตลาดกิมหยงและตลาดสันติสุข ระดับน้ำลดเหลือเพียง 50 เซนติเมตร ทำให้ประชาชนสามารถช่วยเหลือตัวเองได้ระดับหนึ่ง ส่วนระดับน้ำที่ต้องเร่งระบายนั้น คือ บริเวณริมทางรถไฟฝั่งตะวันออกและตะวันตก ซึ่งจะต้องสูบให้เสร็จภายในวันที่ 4 พ.ย.เพื่อรองรับน้ำที่อาจเอ่อเพิ่มเข้ามาอีกหากฝนตก
น้ำท่วมหาดใหญ่ แยกหน้าไดอาน่า ถ.ศรีภูวนารถ เครดิต : momiji1987
น้ำท่วมหาดใหญ่ ช่องเขา ถนนศุภสารรังสรรค์ ถ่ายจากสี่แยก เครดิต : momiji1987
บริเวณ ถ.เพชรเกษม วงเวียนน้ำพุ ภาพบริเวณร้านมอเตอไซด์ตรงข้ามร้านวิชชุสิน เครดิต : momiji1987
ถ.ประธานอุทิศ หน้าร้านสยามนครินทร์ ตรงไปจะเป็นตลาดสด เครดิต : momiji1987
ถ.นิพัทธ์สงเคราะห์ 1 แยกหน้าไปรษณีย์ เครดิต : momiji1987
แยกไปตลาดกิมหยง ลงจากสะพานดำ เครดิต : momiji1987
เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ น้ำท่วมสงขลา 2 พฤศจิกายน
บริเวณถนนศุภสารรังสรรค์ สี่แยกใกล้กับ Seven-Eleven : เครดิตคุณเรวัต โทรศัพท์ 081-2750533
บริเวณถนนศุภสารรังสรรค์ สี่แยก หน้าร้านเจ๊เอียด : เครดิตคุณเรวัต โทรศัพท์ 081-2750533
น้ำท่วมสงขลา
ภาพหน้าโรงแรมโนโวเทลระดับน้ำสูงเกือบ 3 เมตร
สงขลาประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติน้ำท่วมทั้งจังหวัด 16 อำเภอแล้ว หลังน้ำท่วมหนัก เจ้าหน้าที่เร่งนำเรือท้องแบน เข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ติดอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม แต่ประสบปัญหาจำนวนเรือไม่เพียงพอ ทำให้การช่วยเหลือยากลำบาก และไม่ทั่วถึง
วันที่ (2 พฤศจิกายน) สถานการณ์น้ำท่วมสงขลาวิกฤตหนัก โดยน้ำจากคลองอู่ตะเภา เทือกเขาคอหงส์ และจากอำเภอสะเดา ยังคงไหลหลากเข้าท่วมใจกลางเมืองหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับมีกระแสน้ำแรง ทำให้ถนนทุกสายถูกตัดขาด ไฟฟ้า น้ำประปา และโทรศัพท์สาธารณะใช้การไม่ได้
ทั้งนี้ นายไพร พัฒโน นายกเทศบาลนครหาดใหญ่ กล่าวว่า ได้ประกาศให้อพยพประชาชนออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมแล้ว เพื่อความไม่ประมาท และให้ขนย้ายรถสิ่งของขึ้นที่สูง และให้จัดหาข้าวสาร อาหารแห้ง ไว้ให้พร้อม เพราะระดับน้ำนอกเขตเทศบาลสูงกว่าเขตเทศบาล ซึ่งปีนี้ระดับน้ำหนักกว่าปี 2543 ทั้งอ่างเก็บน้ำสะเดา และทุกอ่างก็เต็มแล้ว เพราะปีนี้น้ำมากกว่าในรอบร้อยปี
นายไพร กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ไม่สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้ เนื่องจากตอนนี้ในเขตเทศบาลน้ำท่วมเข้าขั้นวิกฤต รถเคลื่อนไม่ได้ เรือก็ออกยาก เมื่ออกไปแล้ว ไม่สามารถกลับมาได้ เพราะกระแสน้ำแรง ทั้งนี้ยังมีประชาชนที่ติดอยู่ตามหลังคาบ้าน บ้านพักรถไฟ ที่ยังคงรอการช่วยเหลือต่อไป ซึ่งเจ้าหน้าที่จะเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป
ขณะที่ นายปรีชา อาจารย์โรงเรียนหาดใหญ่วิทยาลัย กล่าวว่า สถานการณ์ล่าสุดที่อาคารเรียนมีนักเรียนติดค้างอยู่ในโรงเรียนจำนวน 400 คน และมีน้ำท่วมสูงขึ้นเรื่อย ๆ ไม่สามารถเดินทางออกมาไดั ขณะนี้ยังไม่มีการเข้าไปช่วยหลือแต่อย่างใด เนื่องจากติดขัดในเรื่องของการสัญจร เพราะโรงเรียนตั้งอยู่บริเวณนอกเมือง ทั้งนี้ การช่วยเหลือนักเรียนภายในโรงเรียน ในเรื่องของสุขานั้นยังไม่เกิดปัญหา เนื่องจากโรงเรียนมีสุขาอยู่ทุกชั้นเรียน จึงสามารถรองรับนักเรียนได้
โดย กพฐ. เผยในพื้นที่ จ.สงขลา มีสถานศึกษาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมรวม 127 แห่ง แบ่งเป็นโรงเรียนในสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) จำนวน 107 แห่ง และสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา(สพม.) จำนวน 20 แห่ง
น้ำท่วมสงขลา
อย่างไรก็ตาม มีรายงานล่าสุดว่า มีผู้เสียชีวิต 1 ราย บริเวณหน้าตลาดกิมหยง เนื่องจาก ถูกไฟฟ้าชอร์ต
ขณะที่นายแพทย์สุรชัย ล้ำเลิศกิตติกุล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ่ เปิดเผย สถานการณ์น้ำท่วมใน โรงพยาบาลหาดใหญ่ ว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำในโรงพยาบาลนั้น ท่วมสูงเหนือหัวเข่าแล้ว ขณะที่รอบนอกโรงพยาบาล น้ำได้ท่วมสูงถึงหน้าอกแล้ว ซึ่งระดับน้ำนั้น ยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไหลช้าลง เนื่องจากฝนได้หยุดตกไปแล้ว ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้น มีจำนวน 559 คน โดยเจ้าหน้าที่ได้ขนย้ายจากชั้นล่างไปยังชั้น 5 ของโรงพยาบาลเป็นที่เรียบร้อนยแล้ว
ทั้งนี้สิ่งที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในขณะนี้ คือ ปริมาณน้ำที่เพิ่มสูงขึ้น โดยเกรงว่าปริมาณน้ำจะท่วมเครื่องปั่นไฟของโรงพยาบาลที่มีอยู่ จำนวน 3 ตัว ซึ่งในจำนวนผู้ป่วยนั้น มีผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องหายใจ อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งหากเกิดเหตุฉุกเฉิน อาจได้รับอันตรายได้ ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เองได้ตั้งเครื่องสูบน้ำไว้ บริเวณเครื่องปั่นไฟ เพื่อระบายน้ำแล้ว
ปลัดจะนะสงขลา และอาสาสมัครเรือล่ม ขณะช่วยน้ำท่วม สูญหาย 2
นายบรรจง ช่วยชู นายอำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา เปิดเผยว่า เมื่อกลางดึกเมื่อวานนี้ นายวัชรัตน์ บุญฤทธิ์ ปลัดอำเภอจะนะ ได้เดินทางโดยเรือพร้อมกับ อาสาสมัคร และทหาร และชาวบ้านนำทาง รวม 4 คน ไปช่วยชาวบ้านที่ถูกน้ำท่วม จากพายุเปรสชั่น ที่ ตำบลป่าชิง อำเภอจะนะ ได้ถูกระแสน้ำที่แรงมาก พัดจนเรือที่โดยสารเกิดล่ม และปลัดอำเภอ กับชาวบ้านที่นำทางไปสูญหายไป 2 คน ส่วนทหารและอาสาสมัคร รอดชีวิตมาได้ ซึ่งทั้งคืนได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปค้นหาตามต้นไม้ ก็ไม่ยังไม่เจอ ซึ่งเช้านี้ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปค้นหาอีกรอบแล้ว
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อำเภอจะนะ นั้น น้ำยังคงท่วมสูง โดยเฉพาะที่ว่าการอำเภอ มีน้ำท่วมสูงประมาณ 1 ฟุต และมีรถโดยสารที่จะส่งผ่านตัวอำเภอ ไม่สามารถที่จะเดินทางต่อไปได้ จึงจอดรอดูสถานการณ์ที่ อำเภอจะนะ จำนวนหลายคันด้วยกัน และยังเร่งอพยพประชาชน ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงออกจากพื้นที่จำนวนกว่า 400 คนแล้ว
หาดใหญ่ ยังวิกฤต
แม้ฝนในพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา จะหยุดตกแล้ว แต่สถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่ยังคงน่าเป็นห่วง หลายจุดยังมีระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะในตัวเมืองหาดใหญ่ โดยชุมชนหลัง สภ.หาดใหญ่ มีน้ำท่วมสูงมาก ประชาชนยังรอความช่วยเหลือเช่นเดียวกับอีกหลายจุดที่ประสบภัย เนื่องจากบางพื้นที่ถูกตัดกระแสไฟฟ้า การเข้าให้ความช่วยเหลือประชาชนก็เป็นไปอย่างยากลำบาก
ขณะที่ ต.บ้านพรุ อ.หาดใหญ่ ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องสูงกว่า 1 เมตรแล้ว ซึ่งกระแสน้ำมาอย่างรวดเร็วชนิดที่ไม่มีใครคาดคิดมาก่อน การช่วยเหลือจึงค่อนข้างลำบาก และยังขาดเรือด้วย
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม ที่อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา ยังคงมีน้ำท่วมขังสูง รถยนต์เล็กไม่สามารถผ่านได้ โดยเฉพาะทางหลวงหมายเลข 43 จังหวัดปัตตานี มุ่งหน้าอำเภอหาดใหญ่ ช่วงองค์การบริหารส่วนตำบลปากบาง อำเภอเทพา จังหวัดสงขลา มีปริมาณ น้ำท่วมขังถนนประมาณ 60 เซนติเมตร เป็นระยะทางร่วม 2 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ต้องเปิดเส้นทางพิเศษ จากฝั่งหาดใหญ่ มุ่งหน้าอำเภอเทพา ให้รถยนต์วิ่งสวนเลน เนื่องจากจุดดังกล่าว เป็นแอ่งกระทะ และอยู่ติดแม่น้ำเทพา โดยรถยนต์ ที่สามารถสัญจรได้ ก็เป็นรถยนต์ขับเคลื่อน 4 ล้อ ที่มีความสูงและรถบรรทุกเท่านั้น
ขณะที่ถนนสายหลักช่วงองค์การบริการส่วนตำบลสะกอม อำเภอจะนะ จังหวัดสงขลา ก็เป็นอีก 1 จุดที่มีน้ำท่วมขังสูง รถยนต์ที่สัญจรผ่านบริเวณดังกล่าว ต้องใช้เส้นทางเลี่ยงเข้าหมู่บ้าน เลียบชายฝั่งทะเลสงขลา มุ่งหน้าเข้าพื้นที่ตำบลตลิ่งชั่น อำเภอจะนะ เพื่อเดินทางเข้าสู่อำเภอหาดใหญ่
คาด 2-3 วัน ระดับน้ำลด
ผู้อำนวยการชลประทาน จ.สงขลา กล่าวว่า ขณะนี้ระดับน้ำในพื้นที่ จ.สงขลา ที่ถูกน้ำท่วม ระดับน้ำเริ่มลดลงชั่วโมงละ 1-2 เซนติเมตร ส่วนตัวเมืองหาดใหญ่ยังทรงตัวอยู่ คาด 2-3 วัน ระดับน้ำจะลดลง อย่างไรก็ตาม ทางชลประทานได้ส่งเครื่องสูบน้ำ 15 เครื่อง เครื่องผลักดัน 11 เครื่อง เครื่องปั๊มน้ำขนาดใหญ่อีกจำนวนหนึ่งไปที่หาดใหญ่ เพื่อเร่งระบายน้ำลงทะเลสาบสงขลาให้เร็วที่สุด ส่วน อ.นาทวี อ.สะเดา น้ำเริ่มลดแล้ว
ชี้น้ำท่วมครั้งนี้ หนักสุดในรอบ 70 ปี
ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ หากไม่มีฝนตกเพิ่มเวลาประมาณ 19.00 น. ของวันนี้ ปริมาณน้ำน่าจะทรงตัวระยะหนึ่ง และจะลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากน้ำทะเลยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้การไหลของน้ำจากคลองอู่ตะเภา และคลอง ร.1 ลงสู่ทะเลสาบสงขลาสะดวกขึ้น โดยทั้ง 2 คลองสามารถระบายน้ำได้เต็มที่ 900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่ปัจจุบัน อัตราการไหลของน้ำอยู่ที่ 1,623 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที จึงคาดว่าไม่เกิน 3 วันหลังจากนี้ น้ำที่ล้นตลิ่งจะเริ่มไหลลงสู่คลองทุกสาย ทำให้สถานการณ์ดีขึ้น
น้ำท่วมสงขลา
คลิปน้ำท่วมหาดใหญ่ บริเวณหน้าห้าง lee gardens เวลาเที่ยงคืน : เครดิตโดย @Igoyz
เบอร์ติดต่อสอบถามสถานการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
- สายตรง นายวิญญู ทองสกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ศาลากลางจังหวัดสงขลา ถ.ราชดำเนิน อ.เมือง จ.สงขลา 90000 โทรศัพท์ 0-7432-3874, 0-7431-3126 โทรสาร(FAX) 0-743-13126
- ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต 12 สงขลา 418 ม.6 ถ.สายสนามบิน ต.ควนลัง อ.หาดใหญ่ 90110 โทรศัพท์ 0-7425-1160-3 โทรสาร(FAX) 0-7425-1166
- สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา อาคารศาลาประชาคม ถ.ราชดำเนิน อ.เมืองสงขลา จ.สงขลา 90000 โทรศัพท์ 0-7431-6380-2 โทรสาร(FAX) 0-7431-6382
- องค์การบริหารส่วนจังหวัดสงขลา 0-7430-3100
- เทศบาลนครหาดใหญ่ สายด่วนกุญชร 1559
- เทศบาลเมืองคอหงส์ 0-7428-0004
- เทศบาลเมืองคลองแห 0-7458-0888 สายด่วน 1132
- ศูนย์อำนวยการป้องกันและบรรเทาอุทกภัยเทศบาลนครหาดใหญ่ โทร. 0-7420-0000, 0-7420-0007 หรือสายด่วน 1559
- นพ.สิทธิโชค อนันตเสรี ผู้ช่วยคณบดี คณะแพทย์ศาสตร์ สงขลานครินทร์ 0-8696-91017
- นพ. เกียรติศักดิ์ ราชบรีรักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการโรงพยาบาลหาดใหญ๋ 0-8189-79164
- คุณสุรชาติ 081-896-8657 ปลัดเทศบาลนครหาดใหญ่
- สวท. สงขลา 089-739-9257 และ 084-119-5454
- วิทยุ มอ. FM88 074-585777 และ 074-585888
- เยาวรัตน์ 087-287-8713 กลุ่มนักศึกษา มอ. อาสาฯ
- มูลนิธิกู้ชีพพะตงเทิดธรรม 074-291185 และ 074-471699
- นายกสมาคมกู้ชีพบ้านพรุ นายชูศักดิ์ ศุกยะเลิศ 089-658-9763
- กู้ภัยมิตรภาพสามัคคี 074-350955
- ศูนย์นเรนทร สงขลา 1669
- ศูนย์ อปพร.ย่อยคอหงส์ 081-8981749
- เทศบาลเมืองคอหงส์ 074-280004
- ความถี่วิทยุข่าย มอ. 144.225 MHz ( HS9ZE ทำหน้าที่แม่ข่าย)
- ชมรมวิทยุสมัครเล่นสงขลา HS9AS ความถี่ 145.675 MHz
อุบัติเหตุ ฉุกเฉิน ขอความช่วยเหลือ
- ศูนย์วิทยุกู้ภัยมิตรภาพสามัคคีท่งเซียเซี่ยงตึ๊ง 074-350955
- ศูนย์นเรนทร สงขลา 1669
สถานีวิทยุที่รายงานสถานการณ์น้ำท่วม
- สถานีวิทยุ มอ. เอฟเอ็ม 88.0 ฟังออนไลน์ http://www.psuradio88.com/
- สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดสงขลา เอฟเอ็ม 90.50 โทรศัพท์ 0-7433-3220-1 โทรสาร 0-7433-3555 ฟังออนไลน์ region6.prd.go.th
เบอร์โทรศัพท์ติดต่อสอบถาม ประสานงานเหตุอุทกภัย
- ศูนย์กลางช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ติดต่อ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โทร 1784
- ประชาชนที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ ต้องการความช่วยเหลือเรื่องน้ำท่วม โทร.1555 และ 0 2248 5115 ตลอด 24 ชั่วโมง
- ศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกัน และแก้ไขปัญหาอุทกภัย จ.นครราชสีมา โทร 044-342-652 ถึง 4 และ 044-342-570 ถึง 7
- ประสานงานด้านการแพทย์ฉุกเฉิน หรืออุบัติเหตุ โทรฟรี 1669 หรือ 02-591-9769 ตลอด 24 ชั่วโมง
- สอบถามเส้นทางรถไฟ และเวลาเดินทาง การรถไฟแห่งประเทศไทย โทร 1690
- สอบถามสภาพอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา โทร 02-398-9830
- กฟภ.ตั้งศูนย์ช่วยผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เขต 3 นครราชสีมา โทร.044214334-5 หรือ
- สอบถามน้ำท่วม ถ.มิตรภาพ ที่แขวงการทางต่าง ๆ ได้ที่โทร 044-242047 ต่อ 21, 044-212200, 037-211098, 036-461422, 036-211105 ต่อ 24
การเตรียมการรับมือกับภัยพิบัติน้ำท่วม
1. หมั่นติดตามข่าวสาร และประกาศเตือนทุกช่องทาง เช่น วิทยุ โทรทัศน์ เสาสัญญาณ เป็นต้น
2. เตรียมข้าวสาร อาหารแห้ง แก๊ชสำหรับหุงต้ม ยารักษาโรค ไฟฉาย เทียน ไม้ขีดไฟ และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่น ๆ เพื่อเอาตัวรอดในยามน้ำท่วม
3. เตรียมกระสอบทรายไว้เพื่อทำผนังกั้นน้ำ (แต่ห้ามวางไว้พิงกำแพง เพราะจะเพิ่มแรงดันให้น้ำทะลักเข้ามาได้ง่าย)
4. หมั่นทำความสะอาดพื้น ไม่ให้มีของอันตรายหากเกิดน้ำท่วมสูง
5. เก็บของมีค่า และสัตว์เลี้ยง รวมถึงอุปกรณ์ไฟฟ้า ไปไว้ชั้นบนของบ้าน
6. เตรียมเบอร์ติดต่อ หน่วยงานของรัฐ เผื่อต้องการความช่วยเหลือ
7. ชาร์จแบตโทรศัพท์มือถือ และอุปกรณ์สื่อสารให้พร้อม
8. หากเกิดน้ำท่วมให้หนีขึ้นที่สูง และปิดวงจรไฟฟ้า เพื่อป้องกันไฟฟ้าลัดวงจร
9. พยายามหาส่วนแห้งเพื่อหลบภัย และป้องกันไฟดูด
10. ห้ามรับประทานน้ำที่ท่วมสูง หากขาดแคลนน้ำดื่ม ให้ต้มก่อนทุกครั้ง เพื่อป้องกันโรคระบาด
11. หากน้ำท่วมไม่สูงมาก ให้ระวังการใช้รถใช้ถนน และดูแลเด็กเล็กไม่ให้ออกจากบ้าน
12. ระวังสัตว์มีพิษที่มากับน้ำ หากถูกกัดให้ล้างแผลด้วยน้ำต้มสุกและเช็ดแอลกอฮอล์รอบแผล จากนั้นหาทางไปโรงพยาบาลทันที
13. เตรียมน้ำสะอาดไว้ดื่ม และชำระร่างกาย
14. เตรียมถุงดำเล็ก - ใหญ่ ไว้ทิ้งขยะและปลดทุกข์
15. เตรียมอุปกรณ์สำหรับขอความช่วยเหลือ เช่น นกหวีด ชูชีพ
16. หากน้ำท่วมเป็นเวลานาน อาจเกิดแผ่นดินทรุดตัวได้ แนะนำให้อยู่ห่างตึกหรืออาคารสูง ๆ
เกาะติดสถานการณ์น้ำท่วมหาดใหญ่ น้ำท่วมสงขลา ที่นี่ค่ะ