x close

พระร่มเกล้าของชาวไทย

ในหลวง


          ท่ามกลางเสียงโห่ร้องถวายพระพร ระหว่างที่รถพระที่นั่งแล่นผ่าน ฝูงชนส่งเสด็จเดินทางจากสยามประเทศเพื่อไปศึกษาต่อ ณ สวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้มีเสียงหนึ่งตะโกนแทรกมาเข้าพระกรรณว่า "ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน" ในขณะนั้น ทรงนึกตอบในพระทัยว่า "ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้าแล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร" ภาพนี้ยังคงติดอยู่ในพระราชหฤทัยของ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จนมิอาจลืมเลือนได้ตราบถึงปัจจุบัน เพราะทรงตระหนักว่า ทรงมีหน้าที่เพื่อชาติ ถึงโอกาสที่ควรจะทรงทำหน้าที่เพื่อชาติและประชาชน ตามที่ประชาชนพร้อมใจกันทูลเกล้าฯถวายพระราชภาระอันยิ่งใหญ่ 

          และเพื่อเป็นการผ่อนคลายความเศร้า ความเสียขวัญของพสกนิกรชาวไทย ซึ่งเพิ่งผ่านการสูญเสียครั้งใหญ่ในประวัติศาสตร์ ระหว่างนั้น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชนิพนธ์บันทึกประจำวัน "เมื่อข้าพเจ้าจากสยาม สู่สวิตเซอร์แลนด์" พระราชทานแก่หนังสือวงวรรณคดีไทย เพื่อถ่ายทอดความรู้สึกซาบซึ้งพระราชหฤทัยถึงน้ำใจของประชาชน ที่พร้อมใจกันมาส่งเสด็จอย่างมืดฟ้ามัวดิน 

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเริ่มบทพระราชนิพนธ์ว่า... "วงวรรณคดี" ได้ขอร้องให้ข้าพเจ้าเขียนเรื่องเล็กน้อยที่ถนัดมาลงในหนังสือนี้นานมาแล้ว อันที่จริงข้าพเจ้าก็ไม่ใช่นักประพันธ์ เมื่ออยู่โรงเรียน เรียง ความและแต่งเรื่องก็ทำไม่ได้ดีนัก...ฉะนั้น จึงตกลงใจส่งบันทึกประจำวันที่เขียนไว้ก่อนและระหว่างวันเดินทางจากสยามสู่สวิตเซอร์แลนด์มาให้ และในโอกาสนี้จึงขอขอบใจเป็นการส่วนตัวต่อทุกๆ คน ที่มาถวายความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระบรมเชษฐาธิราชของข้าพเจ้า ณ พระมหาปราสาท ตลอดจนความปรารถนาดี ที่มีต่อตัวข้าพเจ้าเอง กับขอขอบใจเหล่าทหารและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติการ ด้วยความจงรักภักดีต่อเราทั้งสองด้วย

          วันที่ 16 สิงหาคม พ.ศ.2489 - อีกสามวันเท่านั้น เราก็จะต้องจากไปแล้ว ฉะนั้น จึงตั้งใจจะไปนมัสการพระพุทธชินสีห์ ที่วัดบวรนิเวศวิหาร รวมทั้งสมเด็จพระสังฆราชด้วย ยืนรออยู่บ้าง แต่ไม่สู้มากนัก เข้าไปในพระอุโบสถ จุดเทียนนมัสการ ฯลฯ...แล้วได้มีโอกาสทูลปฏิสันถารกับสมเด็จ พระสังฆราช ทรงนำพระสงฆ์ที่มีสมณศักดิ์สูงมาให้รู้จัก โดยปกติได้เคยเห็นท่านเหล่านี้มาจนชินแล้ว ทรงนำขึ้นไปนมัสการพระสถูป บนนั้นมีพระพุทธรูปสำคัญองค์หนึ่งประดิษฐานอยู่ ชื่อพระไพรีพินาศ พระองค์นี้เคย ทรงเล่าประวัติมาก่อนหน้านี้แล้วหลายวัน หลังจากนั้นก็นมัสการลา

          ตอนนี้มีราษฎรชุมนุมกันหนาตาขึ้น ต่างก็ยัดเยียดเบียดเสียดกันจนรู้สึกเกรงไปว่ารถที่นั่งมาจะทับเอาใครเข้าบ้าง ช่างเคราะห์ดีแท้ๆ ที่ไม่มี อันตรายอันใดเกิดขึ้นแก่ประชาชนที่มานั้นเลย ในหมู่ประชาชนที่มารอกันอยู่วันนี้ จำได้ว่ามีบางคนเคยเห็นที่พระมหาปราสาทเป็นประจำมิได้ขาด ไม่รู้ว่าหาเวลามาจากไหน จึงไปที่พระมหาปราสาทได้เสมอเกือบทุกวันอังคาร พฤหัสบดี และวันอาทิตย์ พวกนี้ก็มาที่วัดนี้ด้วยเหมือนกัน

          วันที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2489 - เก็บของลงหีบและเตรียมตัว...

          วันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2489 - เราต้องจากไปในวันพรุ่งนี้แล้ว! อะไรๆก็จัดเสร็จหมด หมายกำหนดการก็มีอยู่พร้อม...บ่ายวันนี้เราไปถวายบังคมพระบรมอัฐิของพระบรมราชบุพการีของเรา ทั้งสมเด็จพระมหากษัตริย์ และสมเด็จพระบรมราชินีในรัชกาลก่อนๆ แล้วก็ไปถวายบังคมลาพระบรมศพ เราต้องทูลลาให้เสร็จในวันนี้ และไม่ใช่พรุ่งนี้ตามที่ได้กะไว้แต่เดิม เพื่อจะรีบไม่ให้ชักช้า เพราะพรุ่งนี้จะได้มีเวลาแล่นรถช้าๆให้ราษฎรเห็นหน้ากันโดยทั่วถึง

          เมื่อออกจากพระที่นั่งไพศาลทักษิณมายังพระที่นั่งอมรินทร-วินิจฉัย ผู้คนอะไรช่างมากมายเช่นนั้น! เมื่อวานนี้เจ้าหน้าที่ได้ เข้ามาถามว่า จะอนุญาตให้ประชาชนเข้ามาหรือไม่ ในขณะที่ไปถวายบังคมพระบรมศพ ตอบเขาว่า "ให้เข้ามาซิ" เพราะเหตุว่า วันอาทิตย์เป็นวันสำหรับประชาชน เป็นวันของเขา จะไปห้ามเสียกระไร ได้ และยิ่งกว่านั้น ยังเป็นวันสุดท้ายก่อนที่เราจะจากบ้านเมืองไป ด้วย ข้าพเจ้าอยากจะแลเห็นราษฎร เพราะกว่าจะได้กลับมาเห็นเช่นนี้ก็คงอีกนานมาก...วันนี้พวกทหารรักษาการณ์กันอย่างเต็มที่ เพื่อกันทางไว้ให้รถแล่นได้สะดวก ไม่เหมือนเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม ที่มากันคน

ในหลวง



          วันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2489 - วันนี้ถึงวันที่เราจะต้องจากไปแล้ว! พอถึงเวลาก็ลงจากพระที่นั่งพร้อมกับแม่ ลาเจ้านายฝ่ายใน ณ พระที่นั่งชั้นล่างนั้น แล้วก็ไปยังวัดพระแก้ว เพื่อนมัสการลาพระแก้วมรกต และพระภิกษุสงฆ์ ลาเจ้านายฝ่ายหน้า ลาข้าราชการทั้งไทยและฝรั่ง แล้วก็ไปขึ้นรถยนต์

          พอรถแล่นออกไปได้ไม่ถึง 200 เมตร มีหญิงคนหนึ่งเข้ามาหยุดรถ แล้วส่งกระป๋องให้เราคนละใบ ราชองครักษ์ไม่แน่ใจว่าจะมีอะไรอยู่ในนั้น บางทีจะเกิดเป็นลูกระเบิด! เมื่อมาเปิดดูภายหลัง ปรากฏว่าเป็นทอฟฟี่ที่อร่อยมาก ตามถนนผู้คนช่างมากมายเสียจริงๆ ที่ถนนราชดำเนินกลาง ราษฎรเข้ามาใกล้จนชิดรถที่เรานั่ง กลัวเหลือเกินว่าล้อรถของเราจะไปทับแข้งทับขาใครเข้าบ้าง รถแล่นฝ่าฝูงคนไปได้อย่างช้าที่สุด ถึงวัดเบญจมบพิตร รถแล่นเร็วขึ้นได้บ้าง ตามทางที่ผ่านมา ได้ยินเสียงใครคนหนึ่งร้องขึ้นมาดังๆว่า "อย่าละทิ้งประชาชน" อยากจะร้องบอกเขาลงไปว่า ถ้าประชาชนไม่ "ทิ้ง" ข้าพเจ้าแล้ว ข้าพเจ้าจะ "ละทิ้ง" อย่างไรได้ แต่รถวิ่งเร็วและเลยไปไกลเสียแล้ว

          เมื่อมาถึงดอนเมือง เห็นนิสิตมหาวิทยาลัยผู้จงใจมาเพื่อส่งเราให้ถึงที่ ได้รับของที่ระลึก เป็นรูปเครื่องหมายของมหาวิทยาลัย 11.45 นาฬิกาแล้ว มีเวลาเหลืออีกเล็กน้อยสำหรับเปลี่ยนเครื่องแต่งตัว ที่สโมสรนายทหาร ต่อจากนั้นก็ไปขึ้นเครื่องบิน เดินฝ่าฝูงคน ซึ่งเฝ้าดูเราอยู่จนวาระสุดท้าย

          เมื่อขึ้นมาอยู่บนเครื่องบินแล้วก็ยังมองเห็นราษฎร ได้ยินเสียงไชโยโห่ร้องอวยชัยให้พร แต่เมื่อคนประจำเครื่องบินเริ่มเดินเครื่องทีละเครื่องๆ เสียงเครื่องยนต์ดังสนั่นหวั่นไหว กลบเสียงโห่ร้องก้องกังวานของประชาชนที่ดังอยู่หมด พอถึง 12 นาฬิกา เราก็ออกเดินทาง มาบินวนอยู่เหนือพระนคร สามรอบ ยังมองเห็นประชาชนแหงนดูเครื่องบินทั่ว ถนนทุกสายในพระนครบ่ายหน้าไปทางทิศตะวันตกมุ่งตรงไปยังเกาะลังกา (ซีลอน) เสียงเครื่องบินดังสนั่นหนวกหู หากผู้ใดอยากจะพูดก็จะต้องตะโกนออกมาให้สุดเสียง ดังนั้น จึงไม่มีใครพูดเลย ทางที่ดีที่สุดที่พึงทำคือ หลับตาเสียแล้วนิ่งคิด

          แปลกดีเหมือนกันที่ใจหวนไปคิดว่า เพียงชั่วโมงเดียวที่ผ่านมา เมื่อตะกี้นี้เอง เรายังห้อมล้อมไปด้วยประชาชนชาวไทย แต่เดี๋ยวนี้เล่า เรากำลังเหาะอยู่เหนือท้องทะเลอันกว้างใหญ่ไพศาล แม้จะมีเสียงเครื่องยนต์ ก็ดูเป็นเหมือนเงียบและนิ่งอยู่กับที่! เพราะเสียงทุกๆเสียง จากสิ่งมีชีวิตได้จางหายไปหมดแล้ว และกำลังชินกับเสียงครางกระหึ่ม ของเครื่องยนต์นั้น หวนกลับไปนึกดูเมื่อ 9 เดือนที่แล้ว เรากำลังบินไปทิศตรงกันข้าม เพื่อจะเยี่ยมเยือนประเทศหนึ่ง เยี่ยมอาณาประชาชนที่เราต้องพลัดพรากจากมาถึง 7 ปีเต็มๆ โดยที่เราเกือบ ไม่รู้เรื่องข่าวคราวของบ้านเมืองและประชาชนของเราเลยแม้แต่น้อย

          เดี๋ยวนี้เรากำลังบินจากประเทศนั้น จากประชาชนพลเมืองเหล่านั้นไปแล้ว การจากครั้งนี้มิได้เพียงแต่จากมาอย่างเดียวเท่านั้น ข้าพเจ้าได้จากเรื่องที่แล้วมาด้วย...

          เรามาถึงเมืองเนแกมโบ ใกล้ๆกับโคลัมโบ เมืองหลวงของเกาะลังกา ภายหลังจากที่ได้บินมาเป็นเวลานานถึง 8 ชั่วโมง กับ 15 นาที เดี๋ยวนี้ 18.45 นาฬิกาตามเวลาของเกาะลังกาแล้ว เมื่อเทียบกับเวลาที่กรุงเทพฯ ที่นี่ช้ากว่า 1 ชั่วโมง กับ 30 นาที...รู้สึกว่าเกาะลังกานี้ช่างละม้ายคล้ายคลึงกับเมืองไทยเราเสียจริงๆ เป็นเมืองที่อุดมดี แลดูก็งามตา ประชาชนก็สุภาพและมีนิสัยดี เหตุที่ทำให้เหมือนมากนี้ ข้อสำคัญอยู่ที่นับถือ ศาสนาร่วมกันกับไทยเรา

          วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ.2489 - เวลา 8.30 นาฬิกา ก่อนที่จะออกเดินทางต่อไปเมืองการาจี เราไปที่วัดพระพุทธศาสนาแห่งหนึ่งที่อยู่ในเมือง เข้าไปในโบสถ์แล้วจุดเทียน เอาดอกไม้ที่ข้าหลวงจัดมาให้ บูชาพระสมภาร เจ้าวัดนี้เป็นคนๆเดียวกันกับที่เคยต้อนรับเรา เมื่อคราวมาเที่ยวที่แล้ว ที่วัดนี้ เอง เมื่อ 8 ปีมาแล้ว พี่ชายของข้าพเจ้าได้มาปลูกต้นจันทร์บนแท่นที่บูชา ยังมีรูปถ่ายเป็นรูปพี่ที่เคยมาด้วยกัน กำลังตั้งท่าปลูกอยู่ทีเดียว สมภารได้นำเราไปยังจันทร์ต้นนั้น คาดว่าจะใหญ่โต แต่ดูไม่เจริญงอกงามเสียเลย สูงยังไม่เกินสองฟุต

          เมื่อออกมาจากวัด มีประชาชนกลุ่มหนึ่งมาคอยเฝ้า บางคนยกมือขึ้นไหว้อย่างไทยๆเรา บางคนตบมือ บางคนตะโกนออกมาด้วยความพออก พอใจ มาถึงสนามบินเวลาประมาณ 9.00 นาฬิกา เราลาข้าหลวง และภริยา ผู้มีอัธยาศัยสุภาพอ่อนโยน และให้ความเอื้อเฟื้อต่อเราเป็นอย่างดี แล้วขึ้น เครื่องบินจากมา

          ...ในตอนจวนจะถึง อากาศไม่สู้ดีเหมือนที่แล้วมา เพราะมรสุมกำลังตั้งเค้า แต่เรากำลังจะถึงการาจีอยู่แล้ว เพราะเครื่องบินบินเร็วทำเวลาได้ดีมาก เมื่อบินอยู่เหนือเมือง มองดูรอบๆลักษณะเป็นทะเลทรายเราดีๆ นี่เอง ช่างไม่มีชีวิตจิตใจเสียเลย ที่ตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองขึ้นได้ ก็เพราะเป็นท่าเรือใหญ่ อยู่ในทะเลที่เหมาะ เครื่องบินถึงพื้นดินเมื่อเวลา 17 นาฬิกา บินมาได้ 8 ชั่วโมง มีพวกข้าราชการมาคอยรับอยู่ ขึ้นรถตรงไปศาลาว่าการของรัฐบาลเป็นแขกของข้าหลวง เช่นเดียวกับที่เกาะลังกาพรุ่งนี้เราจะต้องบินเป็นระยะไกล ฉะนั้น จึงอยากจะนอนแต่หัวค่ำสักหน่อย แต่ว่าต้องกินข้าวกับข้าหลวงและคณะ จำต้องสนทนาปราศรัยถึงเรื่องที่ไม่มีเรื่อง เหมือนที่พวกฝรั่งนิยมกัน กว่าจะได้พักผ่อนหลับนอนก็เกือบสองยาม เราเพลียมาก รู้สึกว่าหลับได้อย่างง่ายดาย

          วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ.2489 - จากศาลาว่าการรัฐบาลไปสนามบิน รถวิ่ง 20 นาที ผ่านเข้าไปในย่านการค้าในเมือง มีข้อที่น่าสนใจและพึงสังเกตอยู่บ้างคือ พบคนนอนหลับอย่างสบายอยู่ข้างทางและตามประตูพวกที่ตื่นลุกขึ้นล้างหน้าที่ท่อน้ำใกล้ๆกับที่นอน และเขาทำกันอย่างนี้ ในบริเวณที่มีตึกรามตามแบบสมัยใหม่ ในย่านการค้าเช่นนั้น?

          ...เรามาถึงสนามบินอัลมาซา ใกล้ๆกับกรุงไคโร หลังจากที่ทำการบินมาแล้วเป็นเวลา 11 ชั่วโมง 45 นาที เราเหน็ดเหนื่อยเพราะถูกรบกวนด้วยเสียงสนั่นหวั่นไหวของเครื่องบิน ด้วยหลุมอากาศ และด้วยความสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์ ทำเอาเรางงไปหมด

          เราไปพักอยู่ ณ โรงแรมที่ดีแห่งหนึ่ง และได้พักผ่อนอย่างสุขสำราญในตอนเย็น สมุหพระราชมณเฑียรของพระเจ้าฟารุค ได้เชิญพระราชปราศรัยของพระองค์มา ข้าพเจ้าก็ได้สนองพระราชอัธยาศัยไปตามสมควร นอกประตูของห้องเรา มีตำรวจอียิปต์ยืนยามอยู่ ทั้งนี้เพราะรัฐบาลอียิปต์ได้จัดไว้เพื่อความปลอดภัยของเรา

          วันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2489 - คืนนี้สบายดีแท้ ถ้าไม่คำนึงถึงเสียงที่มาจากโรงหนังใกล้ๆ ที่พัก กินอาหารเช้าแล้วก็ออกเดินทางไปสนามบิน ด้วยรถยนต์สมุหพระราชมณเฑียรของพระเจ้าฟารุค มาส่งและเชิญพระพรให้เดินทางโดยสวัสดีของพระองค์มาประทาน...ข้าพเจ้าตอบขอบพระราชหฤทัย และขออำนวยพรให้ประชาชนพลเมืองของพระองค์มีความสุขสำราญด้วย

          ...ไม่น่าจะเป็นไปได้เลย เมื่อสามวันที่แล้วมาเรายังอยู่เมืองไทย และวันนี้เราจะต้องถึงสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ระยะทางตั้ง 10,000 กิโลเมตรกว่า... เวลา 15 นาฬิกา เราต้องบินฝ่ากระแสลมอันแรงทำให้เครื่องบินต้องช้าลง และช้าไปกว่ากำหนด 15 นาที เมื่อ 16 นาฬิกา ช้ามากขึ้นอีกเป็น 45 นาที เรากำลังบินอยู่เหนือทะเลเมดิเตอเรเนียน บางเวลาก็แลเห็นเกาะต่างๆ เกาะใหญ่ที่สุดคือ เกาะซารดิเนียและคอร์ซิกา กว่าจะแลเห็นฝั่งก็ 16.40 นาฬิกา เป็นชายฝั่งของฝรั่งเศส อีกชั่วโมงเดียวเท่านั้น เราจะถึงสวิตเซอร์แลนด์แล้ว ...อธิบดีกรมพิธีการและอัครราชทูตไทยมารอต้อนรับ และนั่งรถไปกับข้าพเจ้าด้วย พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า รัฐบาลสวิสมีความยินดีนักที่ข้าพเจ้าเลือกมาอยู่ และมาศึกษาที่สวิตเซอร์แลนด์นี้ บอกเขาว่าชอบประเทศนี้มาก เขาได้ชี้ชวนให้ชมสถานที่ต่างๆที่ผ่านมา โดยคิดว่าข้าพเจ้าไม่รู้จัก และรู้สึกประหลาดใจ มาก เมื่อได้ทราบว่าข้าพเจ้ารู้จักสถานที่เหล่านี้แล้วเป็นอย่างดี เพราะอยู่ที่นี่มาถึง 14 ปีเศษ เขารับสารภาพว่าเขาเพิ่งเข้ามารับหน้าที่ใหม่ และเพิ่งมาจากอเมริกาใต้ แล้วเราก็คุยกันถึงเรื่องอื่นๆต่อไป ได้ทราบต่อมาว่า เขาเป็นคนชอบศึกษาเรื่องราวของเราชาวตะวันออกและพระพุทธศาสนาด้วย

          พอถึง "วิลลาวัฒนา" เขาก็ลากลับ อำนวยพรให้เรามีความสุขความเจริญ ข้าพเจ้าจึงขอให้เขานำคำขอบใจของข้าพเจ้าไปแจ้งต่อประธานาธิบดี พร้อมทั้งคำอวยพรเพื่อความเจริญรุ่งเรืองของประเทศนั้นด้วย

          เรากลับถึงโลซานแล้ว...ไม่ช้าข้าพเจ้าจะต้องเรียนต่อไป! 

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงทิ้งท้ายไว้เช่นนั้น กับพระย่างก้าวแรกของการเสด็จฯต่างแดน ในฐานะพระมหากษัตริย์ไทย และตราบจนถึงวันนี้ แม้จะทรงเจริญพระชนมพรรษาครบ 81 พรรษา ก็ยังทรงอุทิศพระองค์อย่างมิรู้จักเหน็ดเหนื่อย เพื่อประชาชนของพระองค์ สมแล้วที่ทรงเป็นมิ่งขวัญของปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พระร่มเกล้าของชาวไทย อัปเดตล่าสุด 5 ธันวาคม 2551 เวลา 18:43:09 6,914 อ่าน
TOP