x close

เปิดประวัติ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม.

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร

ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร


ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร


เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก sukumpanb.hi5.com และ ทางอินเทอร์เน็ต

          หลังรู้ผลการเลือกตั้งอย่างไม่เป็นทางการ โดย หมายเลข 2 คือ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร คว้าคะแนนนำผู้สมัครรายอื่นๆ และคาดว่าจะได้เป็นผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไป โดยอยู่ระหว่างการรับรองของ กกต. นั้น วันนี้เราจึงไม่พลาดขอพาไปเปิดประวัติว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. คนต่อไปกันก่อนค่ะ

          "ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร" หรือ "คุณชายหมู" เป็นอีกหนึ่งขุนพลในพรรคประชาธิปัตย์ที่เคยเป็นรองเลขาธิการพรรค และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เกิดเมื่อวันที่ 22 เมษายน พ.ศ.2495 เป็นบุตรของพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ และหม่อมดุษฎี บริพัตร ณ อยุธยา (นามสกุลเดิม ณ ถลาง) เป็นหลานปู่ของสมเด็จฯ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ พระราชโอรสองค์ที่ 33 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯ กับสมเด็จพระนางเจ้าสุขุมมาลมารศรี พระอัครราชเทวี ปัจจุบันสมรสกับคุณหญิงสาวิตรี บริพัตร ณ อยุธยา (ภมรบุตร) 

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มีบุตร 2 คน คือ ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร (จากการสมรสกับคุณนุชวดี บำรุงตระกูล) และ ม.ล.วราภินันท์ บริพัตร (จากการสมรสกับคุณหญิงสาวิตรี)

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ จบการศึกษาสูงสุดระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 2 และปริญญาโท ณ Pembroke College มหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ เกียรตินิยม ทางด้านปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (พ.ศ.2514 - พ.ศ.2520) ระดับปริญญาโทจากมหาวิทยาลัย Georgetownประเทศสหรัฐอเมริกา ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (พ.ศ.2521) และกลับมาเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นาน 16 ปี ตำแหน่งสุดท้าย คือ รองศาสตราจารย์ ระดับ 9

          ปัจจุบัน ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ พำนักอยู่ที่วังสวนผักกาด และเป็นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ มาตั้งแต่ปี 2530

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เริ่มเข้ามาทำงานแวดวงการเมืองครั้งแรกขณะเป็นอาจารย์จุฬาฯ โดยเป็นตัวตั้งตัวตีล่ารายชื่อนักวิชาการ 99 คน ยื่นถวายฎีกาในหลวง เนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการที่ผู้นำกองทัพตบเท้าให้กำลังใจ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

          ครั้งที่สองเข้าร่วมทีมที่ปรึกษาด้านนโยบายนายกรัฐมนตรี หรือ "ทีมบ้านพิษณุโลก" ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลที่มีอิทธิพลมากในยุค พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ท้ายสุดต้องลาออกจากตำแหน่ง เมื่อคณะนายทหารชุมนุมกดดันเนื่องจากไม่พอใจคำให้สัมภาษณ์กระทบโรงเรียนนายร้อย จปร. หลังจากนั้นจึงกลับไปเป็นอาจารย์จุฬาฯ เหมือนเดิม

          ปี 2538 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ โดดเล่นการเมืองเต็มตัว โดยลงเลือกตั้ง ส.ส. กทม. เขต 2 สังกัดพรรคนำไทยของ นายอำนวย วีรวรรณ แต่ไม่ประสบความสำเร็จ จากนั้นย้ายมาสังกัดพรรคประชาธิปัตย์จนได้เป็น ส.ส.กทม. ในปี 2539, 2544 และ ส.ส.ระบบสัดส่วน ในปี 2550 

          ทั้งนี้ในช่วงที่ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการต่างประเทศ ในรัฐบาลชวน หลีกภัย เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2542 ได้เกิดเหตุการณ์กองกำลังติดอาวุธของนักศึกษาพม่า บุกเข้ายึดสถานเอกอัครราชทูตพม่า ประจำประเทศไทย ที่ถนนสาทรเหนือ และจับเจ้าหน้าที่สถานทูตเป็นตัวประกัน

          หลังการเจรจาต่อรองเป็นเวลาหลายชั่วโมง ผู้ก่อการร้ายยินยอมปล่อยตัวประกัน แลกกับให้ทางการไทยจัดเฮลิคอปเตอร์ไปส่งที่ อำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นชายแดนไทย-พม่า โดย ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ในขณะนั้น เสนอตัวเป็นตัวประกันนั่งโดยสารไปด้วยเพื่อรับรองความปลอดภัยจนกระทั่งถึงที่หมาย ทำให้เหตุการณ์ครั้งนั้นยุติลงได้โดยไม่มีการสูญเสียชีวิต

          และในปี พ.ศ.2543 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศขณะนั้น ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วมไทย - กัมพูชา (ฝ่ายไทย) ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลกัมพูชา ว่าด้วยการสำรวจและจัดทำหลักเขตแดนทางบก ในระหว่างการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการของ นายชวน หลีกภัย นายกรัฐมนตรี ระหว่างวันที่ 14 - 16 มิถุนายน พ.ศ.2543

          บันทึกความเข้าใจดังกล่าว มีสาระสำคัญส่วนหนึ่ง คือ การสำรวจและปักหลักเขตแดนทางบกจะดำเนินการโดยใช้เอกสารหลักฐานที่ผูกพันไทยและกัมพูชาตามกฎหมายระหว่างประเทศ คืออนุสัญญาฉบับลงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ ค.ศ.1904 สนธิสัญญาฉบับลงวันที่ 23 มีนาคม ค.ศ.1907 กับพิธีสารแนบท้าย และ แผนที่แสดงเส้นเขตแดนระหว่างไทยกับกัมพูชามาตราส่วน 1:200,000 ซึ่งจัดทำขึ้นตามผลงานของ คณะกรรมการปักปันเขตแดนระหว่างสยามกับอินโดจีน

          ต่อมาในปี พ.ศ.2551 หลังเกิดกรณี นายนพดล ปัทมะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ลงนามในเอกสารแถลงการณ์ร่วมไทย-กัมพูชา ซึ่งอาจมีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศไทยโดยมิชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เกิดการโจมตี มรว.สุขุมพันธุ์ และ พรรคประชาธิปัตย์ เกี่ยวกับการลงนามในบันทึกความเข้าใจ ไทย-กัมพูชา พ.ศ.2543 ที่ระบุให้การจัดทำหลักเขตแดนยึดตามแผนที่ฝรั่งเศส-สยาม (ค.ศ.1904) เป็นแนวทาง โดยไม่ระบุ แผนที่แอล 7017 ของสหรัฐอเมริกา ที่ไทยใช้อ้างอิง ซึ่งอาจตีความได้ว่ามีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศ มาตั้งแต่ พ.ศ.2543 ก่อนการลงนามของนายนพดล ปัทมะ เรื่องดังกล่าว ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ชี้แจงว่าการระบุถึงแผนที่ ค.ศ.1904 เป็นการระบุประกอบเอกสารหลักคือ อนุสัญญา ค.ศ.1904 และ สนธิสัญญา ค.ศ.1907 ซึ่งแผนที่จะขัดหรือแย้งไม่ได้ การลงนามในปี พ.ศ.2543 จึงไม่มีผลเปลี่ยนแปลงเขตแดนประเทศแต่อย่างใด

          อย่างไรก็ตาม หลังการเลือกตั้ง 23 ธันวาคม พ.ศ.2550 รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล พรรคประชาธิปัตย์ที่เป็นฝ่ายค้านพรรคเดียวได้ประกาศจัดตั้งรัฐบาลเงา หรือ ครม.เงา ขึ้น ในเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2551 ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ได้รับเลือกจากที่ประชุมพรรค ให้ทำหน้าที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเงา

          และเมื่อการเมืองเกิดการพลิกผัน หลังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติ 9 ต่อ 0 ชี้มูลความผิด นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในคดีทุจริตโครงการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง และอุปกรณ์บรรเทาสาธารณภัยของกรุงเทพมหานคร มูลค่า 6,800 ล้านบาท และนายอภิรักษ์ได้ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบนั้น คณะกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์จึงมีมติส่งชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ลงสนามเลือกตั้ง กทม. ในนามพรรค โดยให้เหตุผลว่า เป็นบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ และสามารถสานต่อนโยบาย รวมถึงประสานงานระหว่าง ส.ก.-ส.ข.ได้อย่างดี

          ซึ่งก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้เปิดใจให้สัมภาษณ์ว่า แม้ว่าจะแพ้หลุดลุ่ยหรือชนะแบบท่วมท้น แต่สิ่งหนึ่งที่อยู่ในใจของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ คือ ในฐานะคนกรุงเทพฯ อยากเห็นความเจริญก้าวหน้าทางด้านจิตใจและวัตถุไปพร้อมๆ กัน อยากให้คนกรุงเทพฯ มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ทั้งด้านความเป็นอยู่ การศึกษา และสิ่งแวดล้อม

          ส่วนกรุงเทพฯ ในฝันของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ นั้น คือ อยากให้กรุงเทพมหานครเป็นมหานครอันยิ่งใหญ่ เป็นมหานครระดับโลก เป็นศูนย์กลางของหลายสิ่งหลายอย่าง ศูนย์กลางของระบบคมนาคมนานาชาติ เป็นศูนย์กลางของการค้าการลงทุน เป็นศูนย์กลางของศิลปวัฒนธรรม อยากให้เป็นศูนย์กลางของการให้บริการทางการแพทย์ อยากให้เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้ทั้งในห้องเรียนและจากประสบการณ์จากสิ่งต่างๆ นอกห้องเรียนด้วย ที่สำคัญที่สุดอยากให้เป็นมหานครที่มีทุนมนุษย์ที่เป็นเลิศ ซึ่งหมายความว่าเราต้องมีประชากรที่มีการศึกษาที่ดี ทำมาหากินได้อย่างดี แล้วก็มีความสุข ซึ่งทุกสิ่งที่กล่าวมาต้องเริ่มต้นด้วยทุนมนุษย์

ประวัติการศึกษา 

          ระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษา ณ โรงเรียน Cheam (ดำรงตำแหน่งหัวหน้าโรงเรียน) และโรงเรียน Rugby ประเทศอังกฤษ (ดำรงตำแหน่ง หัวหน้า House หรือสี และได้รับทุนการศึกษาเรียนดีเด่น) (พ.ศ. 2506 - พ.ศ. 2513)

          ระดับปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับ 2 และปริญญาโท ณ PembrokeCollegeมหาวิทยาลัย Oxford ประเทศอังกฤษ เกียรตินิยม สาขา ปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ (PPE) (พ.ศ.2514 - พ.ศ.2520)

          ระดับปริญญาโท ณ มหาวิทยาลัย Georgetown ประเทศสหรัฐอเมริกา ทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ (พ.ศ.2521)

ประวัติการทำงาน 

           รับราชการในตำแหน่งอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตั้งแต่ปี พ.ศ.2523 - พ.ศ.2539

           เคยดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบันศึกษาความมั่นคงและนานาชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (พ.ศ. 2530 - พ.ศ. 2536) 

           เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ สภาผู้แทนราษฎร (พ.ศ.2530 - พ.ศ.2531 และ พ.ศ.2532 - พ.ศ.2534) และตำแหน่งที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการกิจการรัฐสภา (พ.ศ. 2532 - พ.ศ.2534) 

           เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาทางด้านนโยบายของนายกรัฐมนตรี (พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ) (พ.ศ.2531 - พ.ศ.2532) 

           เคยดำรงตำแหน่งนายกสมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย (พ.ศ.2534 - พ.ศ.2536) 

           เคยดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาการพาณิชย์ ฝ่ายต่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ (พฤศจิกายน พ.ศ.2535 - กุมภาพันธ์ พ.ศ.2537) 

           ประธานคณะทำงานร่วมอาเซียน-เวียดนาม เพื่อศึกษาและเสนอแนะแนวทางส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียน-เวียดนาม (พ.ศ.2535 - พ.ศ.2536) 

           ประธานคณะทำงานร่วมอาเซียน-กัมพูชา-ลาว เพื่อศึกษาและเสนอแนะ แนวทาง ในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างอาเซียน-กัมพูชา-ลาว

           เคยดำรงตำแหน่งที่ปรึกษาของ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ดร.พิจิตต รัตตกุล) ในคณะกรรมการต่างๆ คือ 

          • ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน 

          • ประธานคณะกรรมการบริหารกิจการสำนักงานตลาด 

          • ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการตรวจสอบ

ประวัติทางการเมือง 

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เป็นผู้ร่วมก่อตั้งพรรคนำไทย ร่วมกับนายอำนวย วีรวรรณ เมื่อ พ.ศ.2537 และเคยดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรคนำไทย

          ต่อมา ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร เข้าเป็นกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร เขตเลือกตั้งที่ 6 (บางรัก สัมพันธวงศ์ สาทร แขวงยานนาวาและแขวงทุ่งมหาเมฆ) เมื่อปี พ.ศ.2539 และ พ.ศ.2544

          ดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2540 ถึง กุมภาพันธ์ พ.ศ.2544

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ในระบบบัญชีรายชื่อ ลำดับที่ 24 ของพรรคประชาธิปัตย์ จากการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2548 นอกจากนี้ยังดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการพรรค และดูแลงานทางด้านต่างประเทศและความมั่นคง ในการเลือกตั้งในปี พ.ศ. 2550 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งในระบบสัดส่วนโซน 6 กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ และนนทบุรี ลำดับที่ 3 และชนะการเลือกตั้ง

          ต่อมาเมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2551 คณะกรรมการบริหารพรรค มีมติส่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เป็นผู้สมัครผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 11 มกราคม พ.ศ.2552 ซึ่ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์จับสลากได้เบอร์ 2

ผลงานวิชาการ 

          ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ มีผลงานวิจัยและบทความเกี่ยวกับความมั่นคงและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมากมาย ซึ่งได้ตีพิมพ์และเผยแพร่ทั้งในและนอกประเทศ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา ประเทศญี่ปุ่น ประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นต้น อีกทั้งได้มีผลงานทางวิชาการร่วมกับนักวิชาการระดับนานาชาติหลาย คน อาทิ Professor Robert Scalapino

          งานเขียนอื่น ๆ เคยเขียนคอลัมน์ประจำให้แก่ หนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายสัปดาห์ และ หนังสือพิมพ์แนวหน้า เคยเขียนคอลัมน์รับเชิญให้แก่นิตยสารต่างประเทศหลายฉบับ รวมถึง Far Eastern Economic Review, The International Herald Tribune, The Asian Wall Street Journal

การดำรงตำแหน่งอื่นๆ 

           ประธานมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์ (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ถึงปัจจุบัน) 

            เป็นกรรมการหรือสมาชิกของสถาบันระดับนานาชาติหลายแห่ง รวมถึง THE ASIA SOCIETY แห่งนครนิวยอร์ก และ สถาบันยุทธศาสตร์และนานาชาติศึกษาแห่งกรุงลอนดอน - กรรมการบริหารของสถาบันพระปกเกล้า (ปี 2544 ถึง ปัจจุบัน) 

           อาจารย์พิเศษในสถาบันการศึกษาหรือหลักสูตรของหน่วยงานราชการ ต่าง ๆ เช่น กองทัพ กระทรวงมหาดไทย กรมตำรวจ กรุงเทพมหานคร 

           อาจารย์พิเศษ มหาวิทยาลัยต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยโคลัมเบียแห่งนครนิวยอร์ก และ มหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์แห่งกรุงวอชิงตัน ดีซี 

           วิทยากรบรรยายพิเศษให้กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยนเรศวร 

           สมาชิก Commission For A New Asia (พ.ศ.2537)

เกียรติประวัติ 

           ได้รับการยกย่องเป็นหนึ่งในร้อยผู้นำระดับโลกในศตวรรษที่ 21 โดยนิตยสาร TIME ในปี พ.ศ.2538

เครื่องราชอิสริยาภรณ์

           พ.ศ.2524 ตติยจุลจอมเกล้า ต.จ.ฝ่ายหน้าสืบสายสกุลจากพระบิดา พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสุขุมาภินันท์ 
           พ.ศ.2529 ตริตาภรณ์มงกุฏไทย 
           พ.ศ.2531 ทวีติยาภรณ์มงกุฏไทย 
           พ.ศ.2535 ทวีติยาภรณ์ช้างเผือก 
           พ.ศ.2539 ทุติยจุลจอมเกล้า (ท.จ.) 
           พ.ศ.2540 ประถมาภรณ์มงกุฏไทย 
           พ.ศ.2541 มหาวชิรมงกุฏ ม.ว.ม. 
           พ.ศ.2542 มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก ม.ป.ช.

          ที่อยู่ : พรรคประชาธิปัตย์ 67 ถ.เศรษฐศิริ แขวงสามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร 10400 
          โทรศัพท์ : 02-270-0036 
          โทรสาร.  : 02-279-6086 
          อีเมล์  : sukumpan@democrat.or.th

 

 

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
        

 

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดประวัติ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ว่าที่ผู้ว่าฯ กทม. อัปเดตล่าสุด 12 มกราคม 2552 เวลา 16:15:23 95,581 อ่าน
TOP