x close

เล่าขานตำนาน เชิดสิงโต สัญลักษณ์โชคลาภ...รุ่งเรือง

เชิดสิงโต

เชิดสิงโต

เชิดสิงโต

เชิดสิงโต

เชิดสิงโต

เชิดสิงโต

          ในเทศกาลตรุษจีน ของทุกปี สิ่งหนึ่ง ที่เรามักเห็นเคียงคู่ กับประเพณีไหว้เทพเจ้า การเผากระดาษเงิน กระดาษทอง การจุดประทัดเสียงดังสนั่น ก็ดูเหมือนจะเป็นการแสดง "เชิดสิงโต" ที่สื่อถึงโชคลาภ และความเป็นสิริมงคล

          นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การเชิดสิงโตมงคลได้กลายเป็นส่วนสำคัญที่ขาดไม่ได้ในช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลรื่นเริงต่างๆ ของจีน ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปัดเป่าวิญญาณร้าย และพลังงานที่ไม่ดีออกไป พร้อมทั้งดึงดูดโชคลาภและความเจริญรุ่งเรืองเข้ามา มีตำนานมากมายเล่าถึงที่มาของ การเชิดสิงโตจีน และตลอดเวลาหลายร้อยปี ลักษณะของสิงโต ที่ใช้เชิด รวมทั้งท่วงท่าในการกระโดด และโผนทะยานของสิงโตก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทุกวันนี้การเชิดสิงโตก็ยังคงเป็นที่ติดตาตรึงใจผู้คนมากมาย และคณะสิงโตก็มักจะถูกเชิญหรือว่าจ้างให้ไปร่วมเฉลิมฉลองในโอกาสแห่งความสุขต่างๆ พร้อมกับลูกหลานชาวจีนที่มีสำนึกในวัฒน ธรรมซึ่งกระจายอยู่ทั่วโลก
 
          สำนักเชิดสิงโตนั้นมี 2 สำนัก คือ สำนักเชิดสิงโตเหนือ และสำนักเชิดสิงโตใต้ การเชิดสิงโตแบบเหนือ โดยทั่วไปจะเชิดเพื่อความบันเทิงในราชสำนัก สิงโตเหนือจะมีสีแดง ส้ม และเหลือง และบางครั้งก็มีขนสีเขียว สำหรับสิงโตตัวเมีย ลำตัวมีขนยาวรุงรัง และมีหัวสีทอง การเชิดสิงโตแบบเหนือจะมีลักษณะเป็นกายกรรม และใช้แสดงเพื่อความสนุกสนานเป็นหลัก
 
          การเชิดสิงโตแบบใต้ จะออกมาในเชิงสัญลักษณ์มากกว่า โดยทั่วไปจะแสดงในพิธีกรรมเพื่อขับไล่วิญญาณร้าย และเรียกโชคลาภมาให้ สิงโตใต้จะมีสีที่หลากหลายออกไป รวมทั้งส่วนหัวมีลักษณะเฉพาะและมีดวงตาใหญ่ มีกระจกบนหน้าผาก และที่กลางศีรษะมีเขา 1 เขา ถิ่นกำเนิดของสิงโตใต้อยู่ที่มณฑลกวางตุ้ง เชื่อกันว่าสิงโตมีเขาของทางใต้ก็คือ "ปิศาจเหนียน"
 
          โฝซาน คือ ชื่อเรียกหรือรูปแบบที่สำนักกังฟูหลายแห่งนำมาใช้ ซึ่งเป็นแบบที่ต้องใช้การเคลื่อนไหวอันทรงพลัง และท่วงท่าที่แข็งแกร่ง สิงโตจึงกลายเป็นตัวแทนของสำนักกังฟู และจะมีแต่ศิษย์ที่มีฝีมือในระดับสูง เท่านั้นที่จะได้รับอนุญาตให้เชิดสิงโตได้ 
 
          จังหวะการก้าวเท้าในการเชิดสิงโตนั้น คือ ลีลากังฟูใต้ ศิลปะการต่อสู้ที่ปรากฏอยู่ใน การเชิดสิงโต จะผสมผสานการกระโดด กระโจน ปีน การรักษาสมดุล และการเตะเอาไว้ด้วยกัน ซึ่งล้วนเป็นทักษะที่จำเป็นของศิลปะการต่อสู้กังฟูทั้งสิ้น นอกจากนี้ หัวและเครื่องแต่งกายก็มีน้ำหนักมาก ในการเชิดสิงโตจึงมีการฝึกเรื่องน้ำหนัก ซึ่งเหมือนกับที่พบในการฝึกการใช้อาวุธในวิชากังฟู
 
          สิงโตที่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักกันดี มีอยู่ 3 ประเภท คือ เล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย ทั้งสามนี้ คือ ตัวละครในประวัติศาสตร์จีนที่บันทึกไว้อยู่ในวรรณกรรมคลาสสิกเรื่อง "สามก๊ก" นั่นเอง เล่าปี่ กวนอู และเตียวหุย เป็นพี่น้องร่วมสาบานที่ได้ให้ปฏิญาณร่วมกันว่าจะกอบกู้ราชวงศ์ฮั่น  
 
          ต่อมาก็มีสิงโตอีก 3 แบบเพิ่มเข้ามา คือ สิงโตหน้าเขียวคือ ตัวแทนของจูล่ง (เจ้าจื่อหลง) สิงโตตัวนี้ถูกเรียกว่า สิงโตวีรบุรุษ เพราะว่ากันว่าเขาเป็นผู้ที่ขี่ม้าฝ่ากองทหารนับพันของโจโฉเข้าไปช่วยเหลือบุตร ของเล่าปี่ และต่อสู้กลับออกมา สิงโตสีเหลืองแทนฮองตง (หรือหวงจง) ซึ่งเป็นที่รู้จักว่าเป็นสิงโตนักสู้ยอดคุณธรรม สิงโตขาวคือ ม้าเฉียว (หรือหม่าเฉา) สิงโตตัวนี้ยังรู้จักในชื่อว่า "สิงโตงานศพ" สิงโตประเภทนี้จะไม่นำมาเชิด ยกเว้นสำหรับพิธีศพของอาจารย์ (ซือฟู) หรือหัวหน้าคนสำคัญของคณะ ซึ่งในกรณีเหล่านี้ ก็จะทำการเผาสิงโตหลังจากเสร็จพิธี ปัจจุบันผู้คนจะชื่นชอบการเชิดสิงโตสีทองหรือสีเงินมากกว่า เพราะสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์และความมั่งคั่ง
 
          เครื่องแต่งกายของ สิงโตประกอบด้วยรูปทรงที่เป็นสัญลักษณ์มากมาย เช่น เขารูปนกนั้นแทนหงส์ หูและหางคือ กิเลน หน้าผากที่โหนกนูน ซึ่งมีกระจกประดับไว้จะเบี่ยงเบนพลังที่ชั่วร้ายออกไป ส่วนเคราที่ยาวนั้นคือ ลักษณะของมังกรเอเชีย นั่นเอง สิงโตจะเดินกลับไปกลับมาในลักษณะเป็นแนวฟันปลา เพื่อหลอกให้ภูต ผี วิญญาณสับสน เพราะชาวจีนเชื่อว่าวิญญาณไม่ดี เหล่านี้จะเคลื่อนที่เป็นเส้นตรง
 
          ปัจจุบันการเชิดสิงโตได้พัฒนากลายเป็นรูปแบบของการกีฬาที่ผู้เชิดจากทั่วโลกมาแข่งขันกันเพื่อตัดสินความเป็นที่ 1 การเชิดสิงโตนำมา ซึ่งการสอดประสานที่สมบูรณ์แบบ ความสง่างาม และความกล้าหาญ โดยทั่วไปแล้วคนเชิดทั้งสองจะต้องทำให้สิงโตมีชีวิต คนหนึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวส่วนหัว ตา และปาก ส่วนอีกคนหนึ่งแสดงท่วงท่าของร่างกาย คนเชิดคนแรกที่ควบคุมส่วนหัวจะเป็นผู้ตัดสินการเคลื่อนไหว ในขณะที่คนที่สองจะต้องเคลื่อนไหวให้ประสานกับคนแรก
 
          การเชิดสิงโตไม่ใช่เรื่องง่ายเพราะหัวสิงโตซึ่งตกแต่งอย่างวิจิตรงดงามด้วยพู่ ขน และสิ่งตกแต่งที่แวววาวนั้น มีน้ำหนักตั้งแต่ 9-15 กิโลกรัม ซึ่งเป็นภาระที่หนักมากที่จะเชิดให้สูงขึ้นไปบนอากาศ พร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวอย่างมีชีวิตชีวา หัวสิงโตโดยทั่วไปแล้วเป็นงานปะกระดาษ (เปเปอร์มาเช่) และไม้ไผ่ เข้ารูปเสร็จสมบูรณ์พร้อมกับดวงตาที่กะพริบได้ และปากที่หุบงับได้
 
          คนเชิดคนแรกจะต้องสามารถควบคุมให้เกิดความสอดประสานที่สมบูรณ์แบบพร้อมๆ กับรับน้ำหนักของหัวสิงโตไว้ด้วยมือของตัวเอง การเคลื่อนไหวทุกท่วงท่าจะมีจังหวะของเสียงดนตรี ที่เล่นไปตามการเคลื่อนไหวของสิงโต กลองจะตามสิงโต ในขณะที่ฉาบและฆ้องจะตามคนตีกลอง กลองสิงโตจะมีขนาดใหญ่มาก และถูกนำมาใช้เฉพาะในการเชิดสิงโตเท่านั้น
 
          เล็ก โตมร ผู้ฝึกสอนการเชิดสิงโต คณะลูกเจ้าพระยา บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้น มนต์เสน่ห์การเชิดสิงโตของไทยว่า มีการ นำเข้ามาเล่นในประเทศไทยเป็นเวลาหลายร้อยปีแล้ว และมีเสน่ห์ตรงที่การเชิดที่มีท่วงท่าลีลาไม่เหมือนประเทศอื่น เรียกได้ว่าเป็น สิงโตใจกล้า เวลาเชิดไม่ค่อยกลัวเจ็บ มีการต่อตัวสร้างความตื่นเต้น
 
          การฝึกฝนผู้เชิดส่วนใหญ่จะเริ่มตั้งแต่อายุ 8-9 ขวบ เรียกว่ามีความยืดหยุ่นดีกว่า โดยจะมีการทำพิธีครอบครูให้ ทั้งนี้ผู้เชิดสิงโตส่วนใหญ่มักจะเป็นลูกหลานของคณะเชิดสิงโต นั้นๆ ที่สืบทอดมรดกมาตั้งแต่รุ่นพ่อ รุ่นปู่
 
          การเชิดสิงโต นับเป็นอีกหนึ่งศิลปะการแสดงตามแบบฉบับและขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวจีน ที่นอกจากจะสื่อถึงความหมายอันเป็นมงคลแล้ว ยังเป็นเสมือนการร่วมกันอนุรักษ์ศิลปะล้ำค่าของจีนให้คงอยู่สืบไปชั่วลูกชั่วหลาน

สิงโตแซ่ซ้อง ฉลองตรุษ

          ตั้งแต่วันนี้ ถึง 28 มกราคม 2552 ห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ขอเชิญชมกิจกรรมการละเล่นมงคลฉลองตรุษจีนในชื่อชุด "อลังการงานประลองยุทธ์ สิงโตแซ่ซ้องฉลองตรุษ เสริมสิริมงคลชีวิต รับปีฉลู" พบหลากหลายรูปแบบกิจกรรมมงคล อาทิ การแสดงชุด “เบญจเภรี สะท้านตรุษ" การแสดงการตีกลองเพื่อถือเอาฤกษ์เอาชัยเสริมพลังบารมี และการแสดงเชิดสิงโต ซึ่งในปีนี้ ไฮไลต์ยังอยู่ที่การแสดง "เชิดสิงโตจิ๋ว" ซึ่งจะใช้ผู้เล่นคนเดียวเชิดทั้งหัวและหาง โดยจะใช้ผู้แสดงเป็นคนแคระเป็นผู้แสดงความสามารถในการแสดง
 
          นอกจากเชิดสิงโตจิ๋วแล้ว การแสดงสิงโตในปีนี้ ยังจัดให้มีการแสดงชุดพิเศษ คือ "การแสดงเชิดสิงโตเบิกฟ้าสะท้านปฐพี" เป็นการแสดงจากเยาวชน อายุ 11-14 ปี จำนวน 60 คน 30 ตัว ซึ่งการเชิดสิงโตแบบพิเศษนี้ เหมาะสำหรับการทำธุรกิจขนาดใหญ่ จะนำโชคด้านธุรกิจที่ดีมาให้ในปีนั้นๆ ดังเช่น ที่ ฮ่องกง มาเก๊า สิงคโปร์ จีน ไต้หวัน ปักกิ่ง กวางเจา เซี่ยงไฮ้ กระทำกันทุกปีตามธรรมเนียมจีน และที่ขาดไม่ได้สำหรับเทศกาลตรุษจีน คือ กิจกรรมการแข่งขันสิงโตประเภทเสาดอกเหมย และกลองสิงโต ซึ่งห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรมจัดขึ้น โดยมีคณะสิงโตชื่อดังจากทั่วประเทศเข้าร่วมแข่งขัน เพื่อชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี
 
          ผู้ที่สนใจสามารถชมได้ตั้งแต่ วันที่ 16-25 มกราคมศกนี้ โดยการแข่งขันสิงโตประเภทเสาดอกเหมย และกลองสิงโต รอบชิงชนะเลิศจะมีขึ้นในวันเสาร์ที่ 24 มกราคม ศกนี้ บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ บางแค พร้อมชมการแสดงเชิดสิงโตจิ๋ว หรือการโชว์สิงโตเด็ก การแสดงเบญจเภรีได้ระหว่าง วันที่ 26-28 มกราคมศกนี้ ที่หน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์ รามคำแหง, ท่าพระ, งามวงศ์วาน, บางแค, และบางกะปิ ตลอดจนรับแจกส้มมงคลสำหรับเทศกาลปีใหม่ของจีนในปีฉลูนี้

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เล่าขานตำนาน เชิดสิงโต สัญลักษณ์โชคลาภ...รุ่งเรือง อัปเดตล่าสุด 23 มกราคม 2552 เวลา 09:31:04 14,619 อ่าน
TOP