x close

สธ. แนะวิธีชม สุริยคราส อย่างปลอดภัย

สุริยคราส



          เมื่อวันที่ 24 มกราคม น.พ.ฐาปนวงศ์ ตั้งอุไรวรรณ จักษุแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า จังหวัดนนทบุรี ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับปรากฏการณ์สุริยคราสที่จะเกิดขึ้นวันที่ 26 มกราคม และ 22 กรกฎาคม ว่า แม้ประเทศไทยจะเห็นเพียงบางส่วนแต่เนื่องจากตรงกับวันตรุษจีน จึงคาดว่าจะมีผู้ให้ความสนใจชมกันมากเป็นพิเศษ ซึ่งต้องระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้วย เนื่องจากแสงของดวงอาทิตย์มีความร้อนสูงและมีรังสีอุลตร้าไวโอเลต สามารถทำลายเซลล์ในจอประสาทตาบริเวณจุดรับภาพได้

          น.พ.ฐาปนวงศ์ กล่าวว่า การดูสุริยคราสให้ปลอดภัยต่อดวงตา ควรดูเฉพาะตอนที่เกิดสุริยคราสเต็มดวงเท่านั้น เพราะเป็นช่วงที่แสงจ้าน้อยที่สุดและใช้เวลาไม่เกิน 10 วินาที โดยหยุดมองก่อนสิ้นสุดการเกิดสุริยคราสเต็มดวงเล็กน้อย ไม่ควรดูสุริยคราสในขณะที่กำลังคลายออก เนื่องจากดวงตามีโอกาสได้รับคลื่นความร้อน และรังสีอุลตร้าไวโอเลตจากแสงอาทิตย์ได้มาก ทำให้จอประสาทตาเสื่อมได้ โดยอาการสำคัญคือ ตาพร่ามัว เห็นภาพบิดเบี้ยว หรือมองเห็นจุดดำอยู่ตรงกลางภาพ อาจมีอาการสู้แสงไม่ได้ หรือปวดศีรษะบริเวณหว่างคิ้วหรือหลังลูกตา ซึ่งอาการเหล่านี้จะเกิดหลังจากจ้องดูสุริยคราสไปแล้ว 1 ชั่วโมง และจะดีขึ้นภายใน 1 เดือน หรืออาจนานถึง 6 เดือน

          การที่ดวงตาได้รับรังสีอุลตร้าไวโอเลตโดยตรงจะส่งผลเสียในระยะยาวคือ ทำให้จอประสาทตาเสื่อมไวกว่าคนทั่วไป หรืออาจถึงขั้นตาบอดได้ ทั้งนี้ผู้มีปัญหาเรื่องสายตาอยู่แล้ว เช่นโรคต้อกระจก โรคตาแห้ง เยื่อบุตาอักเสบเรื้อรัง ห้ามดูสุริยคราสเด็ดขาด แม้จะใช้อุปกรณ์ที่ได้มาตรฐานก็ตาม เพราะจะทำให้อาการของโรคที่เป็นอยู่รุนแรงขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากคลื่นความร้อนจากรังสีอุลตร้าไวโอเลตจะทำลายที่จอประสาทสำหรับภาพโดยตรง เรียกว่า เรติน่า เบิร์น (Retina burn) ส่งผลให้อาการของโรครุนแรงมากขึ้น

          สำหรับวิธีการดูสุริยคราสที่ถูกต้องจะต้องมองผ่านแผ่นฟิล์มชนิดพิเศษที่ใช้ในการมองดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ ซึ่งสามารถหาซื้อได้ตามร้านขายกล้องทั่วไป หรือร้านขายอุปกรณ์ดาราศาสตร์โดยต้องตรวจดูด้วยว่าสามารถกรองแสงได้ดีหรือไม่ หากไม่มืดสนิท มีรูหรือมีรอยขีดข่วนจนแสงผ่านได้ ไม่ควรนำมาใช้ สำหรับการดูผ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ ฟิล์มขาวดำหรือกระจกรมควัน ถือว่ายังไม่มีความปลอดภัยเพียงพอ หากจะใช้ควรเพิ่มเป็น 2 ชั้น เพื่อกรองแสงให้มากที่สุด ส่วนอุปกรณ์ที่ไม่ควรนำมาใช้เลยได้แก่ แว่นกันแดด เพราะมีความดำไม่เพียงพอ ขณะที่กล้องส่องทางไกลก็ไม่ควรนำมาใช้เช่นกัน เพราะเป็นการรวมแสงเข้าสู่ตาโดยตรง ซึ่งเป็นอันตรายมาก และหากหลังชมปรากฏการ์สุริยคราสแล้วเริ่มมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับดวงตา ขอให้รีบพบแพทย์โดยด่วน



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สธ. แนะวิธีชม สุริยคราส อย่างปลอดภัย อัปเดตล่าสุด 24 มกราคม 2552 เวลา 17:22:54 24,994 อ่าน
TOP