มดลูกแตก
ภาวะมดลูกแตกนั้นเป็นกรณีฉุกเฉินอันนำมาซึ่งอันตรายต่อชีวิตของแม่และทารกในครรภ์ เป็นสภาวะที่พบน้อยแต่รุนแรงมาก และเป็นฝันร้ายของคุณแม่และหมอสูตินรีแพทย์ทุกคนในประเทศไทย ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตของแม่และลูกในครรภ์ได้ ขอแนะนำเบื้องต้นดังนี้...
1. มดลูกแตก
เป็นภาวะที่ผนังมดลูกแตกหรือปริออก ทำให้ทารกในครรภ์รวมน้ำคร่ำแตกออกเข้าไปในช่องท้อง ทารกจะขาดเลือดและเสียชีวิต ในบางรายแม่ก็เสียชีวิตด้วย
2. สาเหตุ อาจจะเกิดได้หลายอย่าง
ตั้งแต่ยังไม่เจ็บครรภ์ มดลูกก็แตกได้โดยมีจุดอ่อนบริเวณผนังมดลูก ซึ่งอาจจะเกิดจากเคยได้รับการผ่าตัดผนังมดลูกมาก่อน เคยขูดมดลูกหรือไปทำแท้งมา หรือผนังมดลูกบางผิดปกติ หรือบางรายรกฝังตัวลึกไปในผนังมดลูก แล้วทะลุออกมาด้านนอกมดลูก ที่พบบ่อยอีกอย่างคือการที่เคยได้รับอุบัติเหตุทางรถยนต์ กระทบกระเทือนมดลูก บาดเจ็บจากการกระแทกมาก่อน
ในขณะเจ็บครรภ์ มดลูกก็อาจจะแตกได้โดยเกิดจากการเจ็บครรภ์นานเกินไป มดลูกหดรัดตัวแรง แต่ปากมดลูกไม่ขยายเท่าที่ควร หรือตัวเด็กใหญ่เกินไป หรือมีจุดอ่อนที่ ผนังมดลูก ดังกล่าวข้างต้น
3. อาการ
สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือไม่มีอาการแสดงใดๆ ที่จำเพาะก่อนที่มดลูกใกล้จะแตก อาจมีอาการปวดมดลูกหรือ มีไม่มาก หลังจากนั้นจะตามมาด้วยอาการแสดงของภาวะช็อค ได้แก่ชีพจรเต้นเร็ว ความดันต่ำ เนื่องจากมีการเสียเลือดมีเลือดออกในช่องท้อง
การแตกของมดลูกสามารถเกิดได้ในทุกระยะของการตั้งครรภ์ อย่างไรก็ตามส่วนมากมักเกิดขึ้นในระยะเจ็บครรภ์
4. การป้องกัน ต้องป้องกันที่สาเหตุเป็นหลัก
ถ้าต้องรับการผ่าตัดมดลูก โดยการผ่าตัดเนื้องอกออก (เหลือมดลูกไว้) หรือผ่าตัดคลอดก็ต้องทำโดยแพทย์ที่มีความรู้ ความชำนาญ และต้องถามว่าต่อไปถ้าตั้งครรภ์ จะเกิดอันตรายหรือไม่ หรือต้องผ่าตัดคลอดอย่างเดียว
หลีกเลี่ยงการทำแท้งโดยเฉพาะการทำแท้งเถื่อน
กรณีที่เจ็บครรภ์ ก็ต้องรีบไปโรงพยาบาล หมอหรือพยาบาล จะได้มีโอกาสตรวจติดตามอาการ อย่างไรก็ตามบางกรณีที่มดลูกแตกก็วินิจฉัยได้ยาก บางครั้งเกิดเหตุฉุกเฉิน ในเวลาเพียงไม่กี่นาที ผู้ป่วยก็ช็อคหมดสติ เสียชีวิตได้เฉียบพลัน แม้อยู่ในโรงพยาบาล
5. อัตราตายสูง
ผู้ป่วยมักเสียชีวิตเพราะช๊อกจากการขาดเลือดในช่วงเวลาสั้นๆ จะมีโอกาสรอดได้ ในกรณีความรุนแรงไม่มาก และในช่วงนาทีวิกฤตินั้นให้เลือดและผ่าตัดได้ทัน แต่มักต้องตัดมดลูกออก เพื่อช่วยชีวิตแม่ ส่วนน้อยที่เย็บซ่อมได้ ทารกส่วนใหญ่จะเสียชีวิต
ในรายที่เกิดอาการเฉียบพลันรุนแรงมากตายในช่วงนาที ถึงจะอยู่ในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ หรือโรงเรียนแพทย์ ที่ห้อมล้อมด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ มีเครื่องมือทันสมัยพร้อมมูล ก็อาจไม่สามารถช่วยชีวิตได้ทัน เพราะอาการช็อคจะเกิดจากการเสียเลือดอย่างรวดเร็วนั้น จำต้องได้รับเลือดกลุ่มที่เข้ากันได้ทดแทนจำนวนมาก ให้เร็วเพียงพอและทันท่วงที ซึ่งมีโอกาสทำได้จริงไม่มาก
ข้อแนะนำสำหรับผู้ตั้งครรภ์
ควรเตรียมตัวให้พร้อมที่จะตั้งครรภ์ ถ้าไม่พร้อม ควรคุมกำเนิดไว้ก่อน การปล่อยให้ท้องแล้วไปทำแท้ง จะมีอันตรายมากกว่า
เมื่อตั้งครรภ์ควรจำประจำเดือนที่มาครั้งสุดท้ายให้ได้ เพราะจะเป็นประโยชน์ต่อการคำนวณอายุครรภ์ ว่าตั้งครรภ์กี่เดือนหรือกี่สัปดาห์แล้ว ถ้าเกิดเหตุจำเป็นจะให้คลอดได้หรือยัง ถ้าจำประจำเดือนไม่ได้แน่นอน ทำให้แพทย์วินิจฉัยยาก
ควรไปฝากครรภ์ตั้งแต่เนิ่นๆ หรือทันทีที่รู้ว่าตั้งครรภ์ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์และพยาบาล รวมทั้งไปตรวจติดตามอย่างสม่ำเสมอ
เมื่อมีความผิดปกติให้ไปโรงพยาบาลหรือปรึกษาแพทย์
โรคนี้จึงเป็นปัญหาที่สำคัญอันหนึ่งของวงการแพทย์ที่ทำให้เกิดการเสียชีวิตในมารดาก่อนคลอด ซึ่งไม่เพียงแต่ครอบครัวของแม่เท่านั้นที่เสียใจ แพทย์ พยาบาลและบุคคลากรทางการแพทย์ทุกคนต่างไม่ปรารถนาให้เกิดขึ้น นอกจากเป็นโรคที่แพทย์ไม่มีโอกาสตั้งตัวและรู้ล่วงหน้าแล้ว
หากเกิดยังหลีกเลี่ยงผลเสียหายได้ยาก ผลที่ได้นำไปสู่ความสูญเสีย ผิดหวัง ของคู่สมรสที่เฝ้ารอคอยทารกน้อยนานนับเดือน การฝากท้องที่ดี การปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และการลดความเสี่ยงระหว่างตั้งครรภ์จึงเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด
ขอขอบคุณข้อมูลจาก
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์สุวชัย อินทรประเสริฐ
ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต