x close

เอเน็ต ลงมติไม่เยียวยานักเรียน แจงไม่ใช่ความผิดของระบบ

สอบเอเน็ต

 
เอเน็ต ลงมติไม่เยียวยานักเรียน แจงไม่ใช่ความผิดของระบบ (คมชัดลึก)

          คณะกรรมการแก้ปัญหาเอเน็ตมีมติไม่เยียวยานักเรียน ชี้ไม่ใช่ความผิดพลาดของระบบ เผยมียอดผู้ร้องเรียนทั้งหมด 572 คน เปิดช่องให้สกอ.พิจารณานักเรียน 12 คน ที่อ้างเหตุบาร์โค้ดผิดพลาดเป็นพิเศษ หากพบข้อบกพร่องให้ชำระเงินภายหลังได้ เลขาธิการกกอ.คาดรู้ผล 16 ก.พ.นี้ ด้าน "จุรินทร์" แจงไม่มีอำนาจสั่งยืดเวลาสมัคร"เอเน็ต" 

          เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ เวลา 20.30 น. ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีการประชุมคณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา เพื่อพิจารณาเกี่ยวกับการสมัครสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ซึ่งมีเด็กจำนวนหนึ่งเสียสิทธิ์เนื่องจากไม่สามารถชำระเงินค่าสมัครสอบได้ทันตามกำหนด โดยมีตัวแทนจากมหาวิทยาลัยทั้ง 21 แห่งเข้าร่วมการประชุม อาทิ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) ดร.สุเมธ แย้มนุ่น เลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา (กกอ.) ในฐานะประธานคณะอำนวยการ ศ.ประสาท สืบค้า อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี รศ.ดร.สุมนต์ สกลไชย อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ทั้งนี้ที่ประชุมใช้เวลาหารือร่วมกันนานกว่า 3 ชั่วโมง 

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เวลาประมาณ 20.00 น. นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้เดินทางมายังสกอ.เพื่อร่วมรับฟังผลการประชุมครั้งนี้ด้วยโดยดร.สุเมธ กล่าวว่า สกอ.ได้เปิดรับเรื่องร้องเรียนสำหรับนักเรียนที่ไม่สามารถชำระเงินตามกำหนดตั้งแต่วันที่ 8-13 กุมภาพันธ์ ซึ่งสกอ.ได้รับแฟกซ์ใบสุดท้ายในเวลา 17.00 น.ปรากฏว่ามียอดผู้มาร้องเรียนทั้งหมด 572 คน แบ่งเป็นจากต่างจังหวัด จำนวน 139 ราย ซึ่งคณะกรรมการได้จำแนกข้อมูลเป็นกลุ่มตามสาเหตุที่ผู้มาร้องเรียนบันทึกไว้ ออกเป็น 7 กลุ่มดังนี้

1.จำเวลากำหนดชำระเงินคลาดเคลื่อนจนไม่ได้ชำระเงิน/หรือชำระเงินไม่ทันตามกำหนด จำนวน 411 ราย

2.กลุ่มที่ต้องการสมัครสอบเพิ่มเติมในบางรายวิชา จำนวน 10 ราย

3.กลุ่มที่อ้างว่ามีปัญหาเรื่องอินเทอร์เน็ต จำนวน 12 ราย

4.กลุ่มที่อ้างว่าในใบสมัครไม่ระบุวันหมดเขตการชำระเงิน จำนวน 58 ราย

5.กลุ่มที่อ้างว่าชำระผ่านเอทีเอ็ม จำนวน 4 ราย

6.กลุ่มที่อ้างว่ามีปัญหาเรื่องบาร์โค้ด

7.กลุ่มที่ไม่ได้สมัครสอบเอเน็ตตามกำหนดเวลา 65 ราย

          อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการอำนวยการได้นำข้อเสนอของส.ว.และจากอธิการบดีที่แนะนำมาร่วมในการพิจารณาครั้งนี้ด้วย จากสถิติการรับสมัครเอเน็ตตั้งแต่ปีการศึกษา 2550 พบว่า มีผู้ไม่ชำระเงิน จำนวน 18,084 ราย ปี 2551 จำนวน 17,037 ราย และปี 2552 จำนวน 22,071 ราย

          ดร.สุเมธกล่าวต่อว่า การพิจารณาเด็กที่ร้องกรณีบาร์โค้ด 12 รายนั้น คาดว่าจะสรุปผลได้ว่าจะช่วยเหลือหรือไม่ ในวันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ โดยจะให้นักเรียนที่ร้องส่งหลักฐานมาให้เพื่อนำมาให้คณะกรรมการพิจารณาต่อไป ซึ่งหากพบว่าปัญหาเกิดจากระบบจะพิจารณาเยียวยาให้เด็กได้ชำระค่าสมัครสอบเอเน็ต และยืนยันว่า วันที่ 14 กุมภาพันธ์ จะประกาศเลขที่นั่งสอบสำหรับเด็ก 1.9 แสนราย และจะจัดสอบเอเน็ตในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ ตามกำหนดเวลาที่วางไว้ 

          ศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า คณะกรรมการได้พิจารณา เฉพาะตัวเลขผู้มาร้องเรียนขอยื่นเวลาชำระค่าสมัครเอเน็ต ตั้งแต่วันที่ 8-13 กุมภาพันธ์ ทั้งหมด 572 คน ซึ่งเป็นข้อมูลจริงผู้ที่เดือดร้อนและกระทบสิทธิ์ ดังนั้นปัญหาจริงๆ ขณะนี้ไม่ใช่เด็กจำนวน 22,071 คนที่ไม่ชำระเงิน ทั้งนี้ หากดูจากสถิติผู้ที่ไม่มาชำระเงินจะเห็นได้ว่า ตัวเลข 22,071 รายในปีนี้ ไม่ถือว่าเป็นเรื่องปกติ เพราะมีคนจำนวนหนึ่งเข้าสู่มหาวิทยาลัยได้แล้ว และมาทดลองระบบสอบ ดังนั้น คณะกรรมการขอยืนยันว่าปัญหาจริงๆ ไม่ใช่ปัญหา 22,071 คน แต่เป็นปัญหา 572 คน ดังนั้น หลักการในการพิจารณาของคณะกรรมการนั้นได้พิจารณากรณีที่มีผลกระทบต่อกลุ่มไม่ได้ชำระเงิน 22,071 คนนั้น มีผู้ร้องเรียนเพียง 572 คน 

          "ดังนั้น กรณีดังกล่าวเป็นเพียงข่าวลือ กรณีที่ไม่ทราบวันชำระ ระบบไม่ได้บอกนั้น ขอยืนยันว่า การสมัครเอเน็ตได้นั้น ต้องผ่านระบบ 8 หน้า ซึ่งในหน้าที่ 4 และ7 มีการบอกกำหนดชำระค่าสมัครเอเน็ต โดยเฉพาะในหน้าที่ 7 นั้นเป็นหน้าสุดท้ายก่อนที่เด็กจะปริ๊นท์ใบสมัครเพื่อนำไปชำระเงินได้ มีไว้อย่างชัดเจน เพียงแต่อาจเกิดความผิดพลาดเพียงเล็กน้อยที่ไม่ได้บอกไว้ในใบสมัครอย่างชัดเจน ดังนั้น ที่บอกว่าไม่บอก ไม่ใช่ความจริง" ศ.ดร.สุรพลกล่าว 

          ศ.ดร.สุรพล กล่าวอีกว่า หลักการในการพิจารณา แยกตามกรณีที่มีผู้มาร้องเรียน จำนวน 572คน ทั้ง 7 กรณีนั้น จะพิจารณาบนพื้นฐานระบบการสอบเอเน็ต วัดความรู้ความสามารถทางวิชาการ ซึ่งระบบนี้ถือเป็นระบบเดียวที่ใช้ในการสมัครวิชาเฉพาะ เอเน็ต แทนระบบเอนทรานซ์ และเป็นระบบในปีการศึกษา 2553 หรือความถนัดทางวิชาชีพ หรือจีเอที และความถนัดทางวิชาการหรือพีเอที รวมไปถึงเป็นระบบที่เดียวที่ใช้คัดเลือกคนเข้าสู่มหาวิทยาลัยที่เป็นธรรม และยุติธรรม การพิจารณาครั้งนี้ จึงไม่ได้ดูที่จำนวนว่ามีเข้ามาร้องเรียนมากหรือน้อย แต่พิจารณาว่าเกิดความผิดพลาดจากระบบหรือไม่ ซึ่งกรณีที่ 1, 2, 3,4, 5 และ7 คณะกรรมการพิจารณาเห็นว่า เหตุผลของผู้เรียนไม่เกี่ยวข้องกับระบบ ดังนั้น จะไม่เยียวยา หรือเปิดรับสมัครค่าชำระให้แก่เด็กดังกล่าว ส่วนกรณีที่ 6 เรื่องของกลุ่มที่อ้างว่ามีปัญหาเรื่องบาร์โค้ด ซึ่งมี 12 ราย กลุ่มนี้ คณะกรรมการพิจารณาว่าอาจเกี่ยวข้องกับระบบได้ จึงจะทำการตรวจสอบเป็นรายกรณีไป และหากพบว่า ปัญหาที่เด็กไม่สามารถชำระค่าสมัครได้ทันกำหนดเวลาเกิดจากระบบจริงๆ สกอ.จะเยียวยาช่วยเหลือให้เด็กสามารถสอบเอเน็ต 

          นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ในเชิงหลักการแล้ว รมว.ศึกษาธิการไม่มีอำนาจเข้าไปสั่งการใดๆ ในเรื่องนี้ เพราะเรื่องการรับนักศึกษานั้นเป็นสิทธิขาดของมหาวิทยาลัยเพราะแต่ละมหาวิทยาลัยมีพ.ร.บ.ของตัวเองอยู่ อย่างไรก็ตาม ได้ใช้อำนาจในเชิงบริหารนโยบายให้ สกอ. เปิดศูนย์รับเรื่องร้องเรียนจากนักเรียนที่จ่ายเงินค่าสมัครสอบเอเน็ตไม่ทัน โดยกำชับว่า หากสาเหตุที่นักเรียนจ่ายเงินค่าสมัครไม่ทันมาจากความผิดพลาดของระบบกระทรวงแล้ว ต้องคืนสิทธิให้เด็กได้มีโอกาสสอบเอเน็ต แต่ถ้าสาเหตุมาจากความผิดพลาดของนักเรียนเอง ก็ขอให้คณะกรรมการอำนวยการพิจารณาหาทางช่วยเหลือดูแลนักเรียน ซึ่งก็ต้องอยู่กับความกรุณาของคณะกรรมการอำนวยการ ตนไม่มีสิทธิไปสั่งการใดๆ

          ศ.ดร.ชาญณรงค์ พรรุ่งโรจน์ คณบดีคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะเลขานุการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ. ) กล่าวว่า ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ เวลา 09.00-12.00 น. ห้องประชุม 202 อาคารจามจุรี 4 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จะประชุมสามัญ ทปอ. ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี จะมามอบนโยบายการพัฒนาอุดมศึกษาของประเทศ ส่วนประเด็นที่จะหารือใน ทปอ เช่น ระบบแอดมิชชั่นส์ ปีการศึกษา 2553 และระบบรับตรง การช่วยเหลือบัณฑิตผู้ว่างงานอันเนื่องจากวิกฤติเศรษฐกิจ และแจ้งผลการตัดสินของคณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษากรณีปัญหาสมัครสอบเอเน็ต เพื่อทปอ.จะนำข้อมูลไปประกอบการดำเนินการแอดมิชชั่นส์ปีการศึกษา 2553 ที่ทปอ.จะต้องรับงานจาก สกอ.มาดำเนินการ





ขอขอบคุณข้อมูลจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เอเน็ต ลงมติไม่เยียวยานักเรียน แจงไม่ใช่ความผิดของระบบ อัปเดตล่าสุด 14 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 20:22:57 14,380 อ่าน
TOP