x close

สอบโอเน็ตวันแรกไม่มีทุจริต สทศ.อุ้มเด็กเจออุบัติเหตุ - ป่วย



สอบโอเน็ตวันแรกไม่มีทุจริต สทศ.อุ้มเด็กเจออุบัติเหตุ-ป่วย (คมชัดลึก)

          สทศ.เปิดสอบโอเน็ตรอบพิเศษ อุ้มเด็กที่เจอเหตุสุดวิสัยมาเข้าสอบตามปกติไม่ได้ โดยสามารถเอกสารยืนยันตั้งแต่ 1-10 มีนาคมนี้ ตั้งแต่ 08.30 - 16.30 น. ที่ สทศ. หรืออาจส่งใบสมัครพร้อมหลักฐานมาทางไปรษณีย์ก่อน 10 มีนาคม ด้าน โรงเรียนดังขานรับใช้คะแนนโอเน็ต ป.6 ประกอบการพิจารณาเข้า ม.1 ตั้งแต่ปีนี้ ส่วนการสอบโอเน็ต ม.6 วันแรกยังไม่พบทุจริต ขณะที่นักเรียนเอือมจีเอที-พีเอที หันไปลุ้นสอบตรงแทนแอดมิชชั่นส์

          สถาบันทดสอบทางการศึกษาศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ได้จัดสอบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (Ordinary National Education Testing) หรือโอเน็ต (O-NET) ระดับ ม.6 ระหว่างวันที่ 21-22 กุมภาพันธ์นี้ ทั่วประเทศประมาณ 350 สนามสอบ มีนักเรียนเข้าสอบประมาณ 3 แสนคน การสอบวันแรกยังไม่พบทุจริต และ สทศ.ได้ตัดสินใจประกาศจัดสอบโอเน็ตรอบพิเศษสำหรับเด็กที่เกิดเหตุสุดวิสัยไม่สามารถมาสอบตามกำหนดปกติได้

          ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน ผอ.สทศ.เปิดเผยภายหลังตรวจเยี่ยมสนามสอบ ร.ร.เทพศิรินทร์ กทม. ซึ่งมีนักเรียนเข้าสอบทั้งหมด 1,046 ราย พร้อม นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ว่า สทศ.จะเปิดสอบโอเน็ต ป.6 ม.3 ม.6 สมัครสอบโอเน็ตรอบพิเศษ เฉพาะผู้ที่เกิดเหตุสุดวิสัยในวันสอบ เช่น ประสบอุบัติเหตุ  ป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล ประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือเหตุสุดวิสัยอื่นที่มีเหตุผลสมควร

          ทั้งนี้ นักเรียนที่ต้องการเข้าสอบโอเน็ตรอบพิเศษต้องขอหนังสือรับรองความจริงที่ออกโดยผู้อำนวยการโรงเรียน รวมทั้งหลักฐานอื่นๆ เช่น หนังสือรับรองจากแพทย์ มาแสดงพร้อมกรอกใบสมัครสอบที่ สทศ. แล้วรอผลการพิจารณาจาก สทศ.ว่าจะอนุญาตให้เข้าสอบหรือไม่ โดยสามารถส่งเอกสารประกอบและยื่นสมัครสอบได้ตั้งแต่วันที่ 1-10 มีนาคมนี้ เวลา 08.30-16.30 น. ที่ สทศ. หรืออาจส่งใบสมัครพร้อมหลักฐานมาทางไปรษณีย์ก่อนวันที่ 10 มีนาคม เช่นกัน ประกาศรายชื่อผู้มีสิทธิ์สอบวันที่ 20-24 มีนาคมนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ สทศ. www.niets.or.th กำหนดการสอบโอเน็ต ป.6 สอบวันที่ 23 มีนาคม, ม.3 สอบวันที่ 23 มีนาคม และ ม.6 สอบวันที่ 23-24 มีนาคม 2552 ดูรายละเอียดได้ในเว็บไซต์ สทศ.

          อย่างไรก็ตาม เนื่องจากเป็นการสอบโอเน็ตรอบพิเศษ จึงเก็บค่าสมัครวิชาละ 100 บาท และเปิดสนามสอบแค่ 5 จุดทั่วประเทศ ตามจังหวัดใหญ่ๆ คือ กทม. เชียงใหม่ ขอนแก่น อุบลราชธานี และสงขลา จนถึงขณะนี้มีนักเรียนประมาณ 4 รายแล้ว ที่แจ้งความประสงค์ขอสมัครสอบโอเน็ตรอบพิเศษ รวมทั้งมีพระอีกประมาณ 129 รูป ที่แจ้งความจำนงขอสอบโอเน็ต เพราะวันสอบปกติตรงกับการสอบบาลี

          ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวต่อว่า การสอบโอเน็ตวันแรกยังไม่มีรายงานการทุจริตเข้ามา มีแต่ปัญหานักเรียนไม่มีเลขที่นั่งสอบ ซึ่งสาเหตุเพราะโรงเรียนสมัครสอบให้นักเรียนไม่ทัน แต่ สทศ.จะอนุญาตให้นักเรียนเข้าสอบก่อนแล้วค่อยมาพิจารณาภายหลัง

          ทั้งนี้ มีโรงเรียนมัธยมประมาณ 200 แห่ง ทำจดหมายมาถึง สทศ.ว่า ต้องการนำคะแนนโอเน็ตนักเรียน ป.6 และ ม.3 มาใช้ประกอบการคัดเลือกนักเรียนเข้า ม.1 และ ม.4 ซึ่ง สทศ.กำลังเร่งตรวจคะแนนโอเน็ตนักเรียน ป.6 และ ม.3 ให้อยู่ อย่างไรก็ตาม สทศ.อยากให้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำหนดนโยบายในเรื่องนี้ออกมาให้ชัดเจนด้วย

          นายคงวุฒิ ไพบูลย์ศิลปะ ผู้อำนวยการโรงเรียนเทพศิรินทร์ กล่าวว่า โรงเรียนเตรียมนำคะแนนโอเน็ตมาใช้ประกอบการพิจารณาคัดเลือกนักเรียนเข้าเรียนต่อระดับ ม.1 และ ม.4 โดยใช้คะแนนโอเน็ตควบคู่กับคะแนนจากการจัดสอบของโรงเรียน แต่จะใช้ในสัดส่วนเท่าไหร่จะต้องหารือกันในคณะกรรมการสถานศึกษา อย่างไรก็ตาม หาก สทศ.สามารถตรวจคะแนนโอเน็ตนักเรียน ป.6 เสร็จทันก่อนช่วงรับเด็ก ก็อาจใช้โอเน็ตในการคัดเลือกนักเรียน ม.1 ตั้งแต่ปีนี้ ถ้าไม่ทันต้องรอเริ่มใช้ปีหน้า

          ด้านนายชัยวุฒิกล่าวว่า ได้มอบหมายให้ สทศ.และกระทรวงศึกษาธิการ รณรงค์ให้นักเรียนเข้าสอบโอเน็ตเพิ่มขึ้น เพื่อการสอบโอเน็ตสามารถสะท้อนผลสัมฤทธิ์ของการจัดการศึกษาได้สมบูรณ์ขึ้น รวมทั้งต้องการให้เร่งรณรงค์สร้างความเข้าใจการจัดสอบความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test หรือ GAT) และความถนัดเฉพาะด้าน/วิชาการ (Professional A Aptitude Test หรือ PAT) ด้วย เพราะขณะนี้สังคมยังมีความสับสนและไม่เข้าใจเรื่องนี้อยู่

          นายเชิดศักดิ์ จารุรัตนานนท์ นักเรียน ม.6 และ ประธานนักเรียน ร.ร.เทพศิรินทร์ กล่าวว่า การสอบจีเอทีและพีเอทีนั้น รู้สึกมีความวุ่นวายและสับสนมากกว่าเอเน็ต ตั้งแต่ขั้นตอนการสมัครสอบไปจนถึงข้อสอบที่มีความไม่เหมาะสม อย่างเช่น พีเอที ด้านสถาปัตยกรรมศาสตร์นั้น กลับไม่มีการทดสอบให้นักเรียนวาดรูป ได้ยินข่าวมาว่า หลายมหาวิทยาลัยจะให้น้ำหนักกับการรับตรงเองมากกว่า คาดว่าจะไม่ได้แอดมิชชั่นส์แล้วไปสอบตรงแทน เพราะไม่ต้องการมาวุ่นวายกับจีเอที และพีเอที

          ด้าน ศ.ดร.อุทุมพร กล่าวต่อว่า สำหรับพีเอทีวัดศักยภาพด้านวิทยาศาสตร์นั้น อาจมีการแยกเป็น 2 ประเภท ประเภทแรกเป็นข้อสอบรวมฟิสิกส์ เคมี ชีวะ ใช้เวลาสอบ 3 ชั่วโมงตามปกติ และชุด 2 แยกสอบฟิสิกส์ เคมี ชีวะ วิชาละ 3 ชั่วโมง รวมทั้งหมด 6 ชั่วโมง ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อเรียกร้องของคณะวิทยศาสตร์ที่ต้องการการคัดเลือกผู้เรียนให้เข้มข้นขึ้น แต่ทั้งนี้คณะวิทยาศาสตร์ต้องเป็นผู้ออกข้อสอบมาให้ สทศ. จึงจะดำเนินการจัดสอบพีเอทีประเภทที่สองให้



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สอบโอเน็ตวันแรกไม่มีทุจริต สทศ.อุ้มเด็กเจออุบัติเหตุ - ป่วย อัปเดตล่าสุด 22 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 15:50:46 7,126 อ่าน
TOP