x close

ฟ้าปิด-เมฆมาก มองไม่เห็นดาวล้อมเดือน


สภาพอากาศฟ้าปิด-เมฆมาก มอง ดาวล้อมเดือน ไม่เห็น (คมชัดลึก)

         รายงานจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า เช้าวันนี้ (23 กุมภาพันธ์) เวลา 05.15 น. จะเกิดปรากฎการณ์ดาวล้อมเดือน ดวงจันทร์เป็นเสี้ยวแรม 14 ค่ำ เริ่มจากทิศตะวันออกเฉียงใต้ มีดาวเคราะห์ 4 ดวง อยู่ล้อมรอบ ได้แก่ ดาวพุธอยู่ด้านบน ดาวพฤหัสบดีและดาวอังคารอยู่ด้านล่าง และดาวเนปจูนห่างจากดาวอังคารลงมา แต่มองไม่เห็น นอกจากนี้ยังเกิดปรากฏการณ์พิเศษที่ไม่เกิดขึ้นบ่อยนักคือดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีจนหมดดวง ตั้งแต่เวลา 05.30 น. แต่โอกาสมองเห็นค่อนข้างยาก

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่าช่วงเช้าวันนี้สภาพอากาศจะมีเมฆมาก จึงไม่สามารถมองเห็นปรากฎการณ์ดาวล้อมเดือนได้เลย ท้องฟ้าปิด จึงเป็นอุปสรรคในการรับชม ซึ่งจุดที่จะเห็นได้ชัดเจนต้องเป็นที่โล่งภูเขาสูง หรือ ชายทะเล

          ทั้งนี้ ดวงจันทร์บังดาวพฤหัสบดีที่เห็นได้ในประเทศไทยครั้งที่ผ่านมา เกิดขึ้นเมื่อเช้ามืดวันที่ 19 กรกฎาคม 2544 แต่เห็นได้เฉพาะภาคใต้ตอนล่างเท่านั้น และหลังจากครั้งนี้ก็จะเกิดอีกในวันที่ 12 สิงหาคม 2555 เห็นได้เฉพาะภาคใต้ตอนล่างอีกเช่นเดียวกัน สำหรับในกรุงเทพฯ เคยเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2541 และหลังจากปีนี้จะเกิดอีกครั้งในวันที่ 25 ตุลาคม 2577 


ดาวล้อมเดือน



          ส่วนวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นวันที่ "ดาวหางลู่หลิน" ที่ส่งแสงสีเขียวจากก๊าซพิษ เริ่มโคจรเข้าใกล้โลก และปลายเดือนมีนาคมคาดว่าดาวหางจะจางลงไป จากการศึกษาพบว่าวงโคจรของดาวหางลู่หลินเกือบเป็นพาราโบลา แสดงว่านี่อาจเป็นครั้งแรกที่มันเคลื่อนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์ ระนาบวงโคจรเอียงทำมุม 178 องศา กับระนาบวงโคจรโลก มันจึงเคลื่อนที่สวนทางกับทิศทางการเคลื่อนที่ของโลกและดาวเคราะห์ในระบบสุริยะ มันเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากที่สุดเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2552 ที่ระยะห่างประมาณ 181 ล้านกิโลเมตร ก่อนจะใกล้โลกมากที่สุดในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ที่ระยะห่างประมาณ 61.5 ล้านกิโลเมตร



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์ และหนังสือพิมพ์ข่าวสด


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฟ้าปิด-เมฆมาก มองไม่เห็นดาวล้อมเดือน อัปเดตล่าสุด 23 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 10:52:38 8,784 อ่าน
TOP