x close

ผู้ถือหุ้นปูนใหญ่ป่วน แห่เช็กใบหุ้นปลอม



ผู้ถือหุ้นปูนใหญ่ป่วนแห่เช็กใบหุ้นปลอม (คมชัดลึก)

          ตำรวจเชื่อคดีปลอมใบหุ้นปูนซิเมนต์ไทยหลอกขายนักลงทุน คนร้ายทำเป็นขบวนการ ขณะที่ผู้ถือหุ้นตื่น แห่ตรวจสอบใบหุ้นหวั่นเจอของปลอม ทีเอสดีแนะเปลี่ยนใช้ระบบไร้ใบหุ้นปลอดภัยและสะดวกกว่า ด้าน "กรณ์" สั่งตลาดหลักทรัพย์เร่งออกมาตรการสกัดใบหุ้นปลอม หวั่นกระทบความเชื่อมั่น "อธิบดีศาลแรงงาน" ผู้เสียหายยังไม่แจ้งความขอดูท่าที บริษัทปูนซิเมนต์ไทยก่อนว่าจะรับผิดชอบอย่างไร

          ความคืบหน้ากรณี นายประพันธ์ ชูเมือง อดีตเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนหุ้นส่วน บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอสซีจี ปลอมใบหุ้น 2 ใบ จำนวน 6.72 แสนหุ้นมูลค่าประมาณ 180 ล้านบาท ไปหลอกขายให้นักลงทุน ล่าสุดวันที่ 23 กุมภาพันธ์ นายวิสิทธิ์ อัครพรวินิจ ผู้จัดการกิจกรรมพิเศษ ฝ่ายบริการกลาง พร้อมเจ้าหน้าที่ฝ่ายทะเบียนหุ้นของบริษัทปูนซีเมนต์ไทย เข้าให้ข้อมูลต่อพนักงานสอบสวน สน.เตาปูน

          พ.ต.ท.สมควร พึ่งทรัพย์ รองผู้กำกับการสืบสวนสอบสวน สน.เตาปูน กล่าวว่า พนักงานสอบสวนเตรียมออกหมายเรียกโบรกเกอร์ของบริษัท เกียรตินาคิน ที่ผู้ต้องหาเปิดเครดิตเพื่อขายหุ้น มาสอบปากคำว่ามีส่วนรู้เห็นด้วยหรือไม่ รวมทั้งจะเรียกเจ้าหน้าที่รับฝากใบหุ้นของบริษัทคินไฟร์เซฟมาให้ข้อมูลว่า ใบหุ้นที่ผู้ต้องหาแจ้งความหาย หายได้อย่างไร พร้อมกับจะประสานไปยังศูนย์ข้อมูลคุ้มครองหลักทรัพย์ เพื่อขอดูเอกสารที่ผู้ต้องหายื่นขอแตกใบหุ้นจาก 2 ใบ เป็น 12 ใบ เพื่อตรวจสอบว่ามีลายมือชื่อใครเซ็นกำกับรับรองไว้บ้าง รวมทั้งจะตรวจสอบทรัพย์สินของผู้ต้องหาและบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งหมดด้วย ทั้งนี้ตำรวจเชื่อว่า นายประพันธ์ไม่น่าจะลงมือทำเพียงลำพัง ต้องมีผู้ร่วมขบวนการด้วยอย่างแน่นอน ซึ่งจะสืบสวนขยายผล เพื่อตามจับกุมตัวทั้งหมดมาดำเนินคดีต่อไป ในส่วนของนายประพันธ์เชื่อว่ายังกบดานอยู่ในประเทศไทย 

          ด้าน นายปราโมทย์ เตชะสุพัฒน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี ซิเมนต์ กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างการรอผลการสืบสวนและสอบสวนผู้กระทำผิด และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสรุปคดีให้เรียบร้อยก่อน จากนั้นจะมีการประชุมกับคณะกรรมการบริษัท เพื่อพิจารณาว่าจะดำเนินการหรือช่วยเหลืออย่างไรกับผู้ถูกปลอมแปลงใบหุ้น ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่า บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จะเข้าไปซื้อหุ้นที่ถูกจำหน่ายไปโดยไม่ถูกต้องมา เพื่อนำเงินมาคืนให้แก่ทายาทผู้เสียหายได้หรือไม่ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ยังไม่ได้สรุปคดี อีกทั้งต้องให้คณะกรรมการบริษัทพิจารณาร่วมกันเพื่อดำเนินการต่อไป ในส่วนของผู้ถือหุ้นรายอื่นๆ นั้น เท่าที่ทราบยังไม่มีปฏิกิริยาแตกตื่นกับเหตุการณ์ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม หากผู้ถือหุ้นรายใดไม่มั่นใจเกี่ยวกับใบหุ้นที่ถืออยู่สามารถนำไปตรวจสอบกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ได้ 

          ขณะที่ นายเกียรติพงศ์ อมาตยกุล อธิบดีศาลแรงงานภาค 6 ผู้เสียหายคดีนี้ ชี้แจงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจออกมาให้สัมภาษณ์เรื่องการปลอมใบหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทย มูลค่า 67 ล้านบาท ว่า ที่ระบุว่าหุ้นดังกล่าวซื้อเมื่อปี 2546 นั้น ไม่ใช่ความจริง แต่หุ้นดังกล่าวเป็นหุ้นมรดกตั้งแต่สมัยย่าของตน ที่ซื้อไว้เมื่อ 20-30 ปีที่แล้ว พ.ศ.2517-2518 และไม่เคยมอบหมายให้นายประพันธ์ ชูเมือง ผู้ต้องหาที่เป็นพนักงานบริษัทปูนซิเมนต์ไทย นำหุ้นดังกล่าวไปทำการซื้อขายแต่อย่างใด เพียงแค่มีการติดต่อขอเปลี่ยนชื่อผู้ถือหุ้นจากชื่อย่าเป็นชื่อของบิดา แต่เมื่อเปลี่ยนชื่อเรียบร้อยแล้ว ผู้ต้องหาได้นำใบถือหุ้นปลอมมาให้บิดา ส่วนตัวจริงแอบเอาไปขาย แล้วไม่เคยให้ค่าตอบแทน

          "เรื่องนี้เรารู้มาตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการเรื่องคดีความ โดยจะขอดูความรับผิดชอบของบริษัทปูนซิเมนต์ไทยก่อนว่าจะรับผิดชอบอย่างไร โดยต้องขอเวลาประมาณ 2-3 วัน จะชี้แจงเรื่องนี้อย่างละเอียดอีกครั้ง" นายเกียรติพงศ์ กล่าว

          ด้าน น.ส.โสภาวดี เลิศมนัสชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ ทีเอสดี เปิดเผยว่า หลังจากการเผยแพร่ข่าวการปลอมแปลงใบหุ้นสามัญของบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย ได้มีนักลงทุนโทรศัพท์เข้ามาสอบถามผ่านทางทีเอสดี คอลเซ็นเตอร์ หมายเลขโทรศัพท์ 0-2229-2888 มากกว่า 100 สาย และมีนักลงทุนบางส่วนสอบถามโดยตรงไปยังบริษัทปูนซิเมนต์ไทย โดยประเด็นที่สอบถามคือ วิธีการตรวจสอบและสังเกตใบหุ้น

          บริษัทศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ฯ ให้ข้อมูลว่า นักลงทุนไม่สามารถตรวจสอบใบหุ้นปลอมด้วยสายตาได้ แต่หากมีข้อสงสัยขอให้นำใบหุ้นมาตรวจสอบที่ทีเอสดีได้โดยตรง ซึ่งก็มีนักลงทุนนำใบหุ้นบริษัทปูนซิเมนต์ไทยมาตรวจสอบที่ทีเอสดี โดยหุ้นปูนซิเมนต์ไทยที่ยังไม่เข้าระบบไร้ใบหุ้น หรือสคริปต์เลส มีอยู่ประมาณ 50%

          น.ส.โสภาวดี กล่าวต่อว่า ปัญหาใบหุ้นปลอมที่เกิดขึ้น จะมีผลทำให้นักลงทุนนำหุ้นมาฝากไว้กับทีเอสดีมากขึ้น หรือใช้ระบบไร้ใบหุ้นมากขึ้น ซึ่งทีเอสดีขอแนะนำให้ใช้ระบบไร้ใบหุ้นจะปลอดภัยกว่า เนื่องจากมีระบบเก็บข้อมูลที่ปลอดภัยที่สุด โดยรัฐวิสาหกิจและกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงินก็ใช้ระบบไร้ใบหุ้นเช่นกัน  ปัจจุบันมีนักลงทุนเพียง 20% ที่ยังคงถือใบหุ้นอยู่ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัทจดทะเบียน และนักลงทุนส่วนใหญ่ราว 80% จะอยู่ในระบบไร้ใบหุ้น

          ขณะที่ในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น มีการออกกฎหมายบังคับให้นักลงทุนใช้ระบบไร้ใบหุ้น ในส่วนของประเทศไทย คาดว่าจะต้องใช้เวลาอีก 3 ปี จะจึงเกิดระบบไร้ใบหุ้นแบบสมบูรณ์ เพราะต้องมีการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับนักลงทุน เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนนิยมถือใบหุ้นมากกว่า

          "ขอให้ผู้ถือหุ้นใช้ความระมัดระวัง กรณีมีการมอบอำนาจให้ผู้อื่นเป็นผู้ทำธุรกรรมแทน และแนะนำให้ผู้ถือหุ้นนำหุ้นมาฝากไว้กับระบบไร้ใบหุ้น ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลการถือครองหุ้น และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ในระบบคอมพิวเตอร์ที่ได้มาตรฐานสากลของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งจะช่วยลดปัญหาใบหุ้นชำรุด สูญหาย และการปลอมแปลงใบหุ้น โดยผู้ที่ฝากหุ้นไว้กับระบบอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับข้อมูลแจ้งสถานะการถือครองหุ้นทุกเดือน กรณีมีการซื้อขายหุ้น แต่หากไม่มีการซื้อขายหุ้นจะได้รับรายงานทุก 6 เดือน นอกจากนี้ยังสามารถตรวจสอบสถานะการถือครองหุ้นได้สะดวก ทำให้ผู้ถือหุ้นไม่เสียโอกาสหากต้องการขายหุ้นในจังหวะเวลาที่ต้องการ" น.ส.โสภาวดีกล่าว

          นอกจากการฝากใบหุ้นผ่านบัญชีบริษัทผู้ออกหลักทรัพย์แล้ว ผู้สนใจใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์ สามารถแจ้งความประสงค์ผ่านบริษัทหลักทรัพย์ที่เปิดบัญชีไว้ หรือสมัครโดยตรงที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส งานรับฝากหลักทรัพย์ ชั้น  1 อาคารตลาดหลักทรัพย์ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ส่วนผู้ที่ถือใบหุ้นไว้และต้องการตรวจสอบใบหุ้นของตนเอง ติดต่อได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิส ชั้น 1 อาคารตลาดหลักทรัพย์ ถ.รัชดาภิเษก ทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 08.00-18.00 น. หรือสอบถามได้ที่ทีเอสดี คอลเซ็นเตอร์ 0-2229-2888

          นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวภายหลังพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์อาเซียนและพิธีลงนามต่ออายุบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และตลาดหลักทรัพย์ไทย ว่า ได้สั่งการให้ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ควบคุมและออกกฎเกณฑ์ เพื่อไม่ให้เกิดการปลอมแปลงใบหุ้นของบริษัทจดทะเบียนให้ได้มาตรฐาน หลังเกิดกรณีการปลอมแปลงใบหุ้นของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย เพราะกระแสข่าวดังกล่าวที่ออกมาส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนในแง่การลงทุน จึงต้องการให้ตลาดควบคุมดูแลให้ได้มาตรฐาน



ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ผู้ถือหุ้นปูนใหญ่ป่วน แห่เช็กใบหุ้นปลอม อัปเดตล่าสุด 24 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 11:12:19 5,696 อ่าน
TOP