x close

พลาดแล้วอย่าผิดซ้ำ ยาทำแท้ง บาปมหันต์-อันตราย!

การทำแท้ง


พลาดแล้วก็อย่าผิดซ้ำ ยาทำแท้ง บาปมหันต์-อันตราย! (เดลินิวส์)

          ระยะนี้ในไทยมีข่าวว่ามีคน "อ้างว่าเป็นแพทย์" หลายรายประกาศ "ขายยาทำแท้ง" ทางอินเทอร์เน็ตอย่างโจ๋งครึ่ม !! มีทั้งแบบ "ยาสอด" "ยากิน" ซึ่งแต่ละรายต่างก็อวดอ้างสรรพคุณ เกทับบลั๊ฟกันดุเดือด !! ราวกับว่าเป็นการแข่งกันขายสินค้าทั่วๆ ไป ทั้งๆ ที่เป็นสิ่ง "ผิดกฎหมาย+ผิดศีลธรรม"

          ที่สำคัญระยะนี้มีข่าวผู้หญิงกินยาทำแท้งจนตายอยู่บ่อยๆ บ่งชี้ว่ายาทำแท้งหรือบางคนเรียก "ยาขับ" มันอันตราย !! 

          กับเรื่อง "ยาทำแท้ง" นี้ จากการตรวจสอบของ "สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์" ก่อนหน้านี้ พบว่า... การประกาศขายในอินเทอร์เน็ตนั้น ทางผู้ขายมีความพยายามนำเสนอข้อมูลให้เป็นเชิงการแพทย์ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือ มีการกำหนดช่วงอายุครรภ์กับการใช้สูตรยา ตั้งแต่อายุครรภ์ไม่ถึง 1 เดือน, 1-2 เดือน, 2-3 เดือน, 3-4 เดือน, 4-5 เดือน, 5-6 เดือน และอายุครรภ์ 6-7 เดือน ซึ่งในแต่ละช่วงอายุครรภ์ก็จะมีการใช้สูตรยาที่แตกต่างกัน

          ยาที่อ้างว่าเป็นยาทำแท้ง กรณีเป็นยาแบบสอดมีการตั้งราคาที่ เม็ดละ 400-500 บาท ส่วนยาแบบกินจะมีหลายราคา เช่นกรณีเป็นยาจากจีนเม็ดละประมาณ 300 บาท ถ้าเป็นยาจากยุโรปเม็ดละ 2,000-3,000 บาท และบางรายที่ประกาศขายจะตั้งราคาที่เม็ดละ 1,200 บาท ซึ่งในการใช้ยาตามที่มีการกล่าวอ้างจะมิใช่ใช้แค่เม็ดสองเม็ด แต่จะมากกว่าโดยขึ้นอยู่กับอายุครรภ์ และบางกรณีก็มีการกำหนดให้ใช้ร่วมทั้งแบบสอดและแบบกิน

          ในรายละเอียดที่มากกว่านี้ รวมถึงวิธีการสั่งซื้อ ทาง "สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์" ขอไม่แจกแจง เพราะอาจจะยิ่งเป็นการเปิดช่อง-ชี้ช่องให้ผู้กระทำผิด หรือหญิงตั้งครรภ์ที่หลงผิด อย่างไรก็ตาม กับเรื่องนี้ทาง ภญ.วีรวรรณ แตงแก้ว รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยพร้อมให้ความรู้ความเข้าใจต่อประชาชาชน ผ่าน "สกู๊ปหน้า 1 เดลินิวส์" โดยบอกว่า...ขอเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อ!

          อย่าหลงเชื่อการโฆษณาอวดอ้างเรื่องยาทำแท้งทางเว็บไซต์ ซึ่งยาดังกล่าวไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำรับยา ไม่มีผู้รับรองความปลอดภัยและประสิทธิภาพของยา อาจเป็นยาที่ลักลอบนำเข้ามาจากต่างประเทศ อาจเป็นยาปลอม ยาเสื่อมคุณภาพ ซึ่งเสี่ยงต่ออันตรายและอาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิต!

          การขายยานั้น โดยทั่วไปจะต้องขายในร้านขายยาที่ได้รับอนุญาตจาก อย. เท่านั้น ยกเว้นยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งการขายยาทางช่องทางอื่น ไม่ว่าจะเป็นทางอินเทอร์เน็ต การขายตรงถือว่าผิดกฎหมายทั้งสิ้น เพราะเป็นการขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ผู้ขายจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 10,000 บาท
แต่เอาเข้าจริงในอินเทอร์เน็ตก็ขายยาต่างๆ กันเกลื่อน

          ที่ร้ายกว่าผิดกฎหมายคืออันตรายต่อผู้ที่ซื้อมากิน-มาใช้ 

          ภญ.วีรวรรณ บอกต่อไปว่า ยาที่มีการกล่าวอ้างหรือเชื่อถือกันว่าเป็นยาทำแท้งนั้น ที่เป็นยาแผนโบราณซึ่งผลิตและจำหน่ายได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายก็มี อย่างเช่นยาแผนโบราณบำรุงเลือด บำรุงร่างกายบางยี่ห้อ ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ได้มีฤทธิ์ในการทำให้แท้งแต่อย่างใด แต่ถ้ากินมากๆ ก็เสี่ยงที่จะมีอันตรายต่อเด็กในครรภ์ รวมถึงตัวผู้ตั้งครรภ์

          กรณียาทำแท้งที่มีการประกาศขายในอินเทอร์เน็ต ภญ.วีรวรรณระบุว่า ที่มีการอ้างถึงยา "ไซโคเทค" นั้น ในข้อเท็จจริงยานี้ทางสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ได้ขึ้นทะเบียนให้ใช้ในการรักษาโรคแผลในกระเพาะและลำไส้ ในรูปของยาเม็ดใช้รับประทาน มีฤทธิ์ในการรักษาแผล ยับยั้งการหลั่งของกรดในน้ำย่อย ฤทธิ์ของตัวยาเป็นยากลุ่มพรอสตาแกรนดิน มีฤทธิ์ในการบีบรัดมดลูก ทำให้ปากมดลูกเปิดและขับเนื่อเยื่อในโพรงมดลูกออกมา จึงห้ามใช้ในสตรีมีครรภ์ เพราะอันตราย 

          "จัดเป็นยาควบคุมพิเศษ และให้ใช้ได้ในโรงพยาบาลเท่านั้น ใครจะใช้ยาตัวนี้ต้องให้แพทย์เป็นผู้สั่งจ่ายตามข้อบ่งชี้ การใช้ยานี้จะต้องมีคนคอยดูแล ซึ่งถ้าใช้ผิดประเภทอาจทำให้มีการติดเชื้อในกระแสเลือดและอาจทำให้เสียชีวิตได้ อาจทำให้มดลูกบีบตัวเร็วขึ้นจนทำให้ตกเลือดเสียชีวิตได้" 

          รองเลขาฯ อย. ให้ความรู้ความเข้าใจต่อไปอีกว่า ยาทำแท้งนั้น ในประเทศไทยไม่มีการขึ้นทะเบียน เพราะการทำแท้งเป็นเรื่องผิดกฎหมายและผิดศีลธรรม ทั้งนี้ แพทยสภาได้กำหนดเงื่อนไขในการทำแท้งซึ่งไม่ผิดจรรยาบรรณแพทย์ ไม่ผิดกฎหมาย เฉพาะกรณีถูกข่มขืนจนตั้งครรภ์ และตั้งครรภ์แล้วอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตมารดา

          การทำแท้งตามหลักวิชาการจะมี 2 แบบคือ แบบหนึ่งเป็นการทำแท้งโดยใช้เครื่องมือ และอีกแบบเป็นการทำแท้งโดยใช้ยา โดยแบบใช้ยานั้น ยาที่ใช้ก็มีหลายตัว ซึ่งที่นิยมใช้ก็จะมี 2 สูตรคือ ใช้ตัวยาที่ใช้รักษามะเร็งชนิดหนึ่ง ซึ่งมีการศึกษาแล้วพบว่าสามารถยุติการตั้งครรภ์ได้ ทางการแพทย์จึงมีการนำมาใช้รักษาการตั้งครรภ์นอกมดลูก ต่อมาก็มีคนนำมาใช้ในการทำแท้ง โดยใช้ร่วมกับยาอีกตัวหนึ่ง ใช้กับการตั้งครรภ์ไม่เกิน 9 สัปดาห์ และยาอีกสูตรคือยาที่ใช้รักษาโรคแผลในกระเพาะและลำไส้ ซึ่งไม่ว่าจะแบบไหนสูตรใด แม้จะทำตามหลักวิชาการ ก็จะต้องมีแพทย์ดูแลใกล้ชิด 

          ทั้งนี้ รองเลขาฯ อย. ฝากถึงผู้ที่ยังไม่พร้อมจะมีบุตรว่า ในการมีเพศสัมพันธ์ก็ควรจะคุมกำเนิด หรือพลั้งเผลอมีเพศสัมพันธ์แล้วก็มียาที่ใช้คุมกำเนิดหลังมีเพศสัมพันธ์ แต่ยาประเภทนี้ก็ใช่ว่าจะไม่มีอันตราย หากใช้บ่อยจะมีโทษเกี่ยวกับฮอร์โมน ทำให้ระบบร่างกายผิดปกติ ดังนั้น การยับยั้ง หักห้ามใจจึงเป็นวิธีที่ดีที่สุดและปลอดภัยที่สุด

          "ยาทำแท้ง" เป็น "ยาผิดกฎหมาย คนขายมีโทษถึงคุก กับหญิงตั้งครรภ์ที่ซื้อมาใช้ทั้ง "บาปมหันต์+อันตราย"

           พลาดแล้วก็อย่าผิดซ้ำ...อาจต้องไปใช้กรรมทันตาเห็น !!


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
พลาดแล้วอย่าผิดซ้ำ ยาทำแท้ง บาปมหันต์-อันตราย! อัปเดตล่าสุด 6 มีนาคม 2552 เวลา 16:01:55 38,227 อ่าน
TOP