x close

ป้องกันลูกหาย ช่วงปิดเทอมใหญ่




ป้องกันลูกหาย ช่วงปิดเทอมใหญ่ (ข่าวสด)

          เข้าสู่ช่วงปิดเทอมใหญ่ พ่อแม่อาจกังวลเรื่องการดูแลลูกในช่วงปิดเทอม เพราะต้องทำงานกันทั้งคู่ จึงไม่มีคนดูแลลูก บ้างก็อาจจะจ้างเลี้ยง หรือฝากกับปู่ ย่า ตา ยาย หรือญาติ ซึ่งการเอาใจใส่ดูแลก็อาจจะน้อยกว่าพ่อแม่เลี้ยงเอง และที่น่ากลัวกว่านั้น คือการที่พ่อแม่ปล่อยให้ลูกอยู่ลำพังเองที่บ้าน จึงเสี่ยงต่อการที่เด็กจะถูกล่อลวง หรือลักพาตัว จากคนแปลกหน้าได้ง่าย

          จากสถิติจากศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงาที่ว่าปีที่ผ่านมา ได้รับแจ้งคนหายจำนวน 1,004 ราย และเด็กกลุ่มเสี่ยงที่อาจถูกคนร้ายลักพาตัวคือเด็ก ตั้งแต่แรกเกิด-11 ปี เป็นกลุ่มที่ยังปกป้องตนเองไม่ได้

          นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์ ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก วิเคราะห์ถึงปัญหาดังกล่าว และให้คำแนะนำแก่ผู้ปกครองในการดูแลบุตรหลานมิให้ตกเป็นเหยื่อของกระบวนการลักพาเด็ก

          "การที่เด็กถูกลักพาตัว มักจะเกิดจากปัจจัยหลักประการเดียวคือจากการปล่อยปละละเลยทอดทิ้งไม่ดูแลเอาใจใส่ตามที่ควรจะเป็น และไม่ได้จัดพื้นที่ที่ปลอดภัยให้เด็ก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้การลักพาตัวเด็กกระทำได้สะดวกง่ายดาย แต่ถ้าหากผู้ปกครองปฏิบัติหน้าที่อย่างที่ควรจะทำ เช่นการจัดพื้นที่ที่ปลอดภัยให้เด็กสำหรับเด็กอายุไม่เกิน 9 ขวบ ก็มีอยู่ 3 ช่วงวัย

          1. แรกเกิด-3 ปี ต้องอยู่ในระยะที่ผู้ดูแลเอื้อมมือถึงตลอดเวลา

          2. อายุ 3 ปี -ไม่เกิน 6 ปี ต้องอยู่ในสายตาผู้ดูแลตลอดเวลา

          3.อายุ 6 ปี -ไม่เกิน 9 ปี ต้องอยู่ในที่ที่ผู้ปกครองกำหนดให้อยู่และต้องติดตามดูแลสภาพแวดล้อมให้ปลอดภัยเป็นระยะๆ

ทำอย่างไรเมื่อเด็กถูกลักพาตัว

          จุดแรกที่สำคัญและต้องทำทันทีคือ ทันทีที่ทราบว่าเด็กหลุดจากการดูแลของตัวเอง ต้องรีบตรวจสอบให้เกิดความกระจ่างว่าจริงๆแล้วเด็กหายตัวไปหรือไม่ บางทีผู้ปกครองก็คิดว่าเด็กกำลังไปเล่นอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่ง แทน ที่จะไปรีบติดตามดูว่าเด็กหายไปไหน บางคนปล่อยให้เด็กอยู่นอกเขตความดูแลเป็นวัน จนกระทั่งถึงเวลากินข้าวไม่เห็นเด็กกลับมาจึงค่อยเริ่มติดตามตัวเด็ก ตรงนี้จะทำให้ได้ตัวเด็กคืนยากมาก 

          คำแนะนำในขั้นต้นถ้าเด็กหลุดจากความดูแลของตัวเองไป ให้ไปรีบตรวจสอบทันที วิธีการนี้ไม่ได้เพียงแต่ช่วยแก้ปัญหาเด็กถูกลักพาอย่างเดียว แต่ยังช่วยแก้ปัญหาอื่นๆ อีกเช่น เด็กไปติดขังอยู่ในรถเก๋งที่จอดตากแดดอยู่ โดยปลดล็อกประตูออกมาด้วยตนเองไม่ได้ หรือตกน้ำตกท่าไปต้องตรวจสอบทันที อย่าคิดนิ่งนอนใจเอาเองว่าเด็กคงกำลังเล่นเพลินอยู่ที่ใดสักแห่ง เพราะหากเกิดอันตรายต่างๆ ต่อเด็ก อาจช่วยไม่ทัน

          เมื่อตรวจสอบพบแล้วว่าเด็กหายไป ต้องไปติด ตามข้อเท็จจริงว่าใครเป็นผู้พบตัวเด็กเป็นคนสุดท้ายและรวบรวมรายละเอียดเกี่ยวกับจุดที่พบเด็กครั้งสุดท้าย รายละเอียดเกี่ยวกับเด็กและบุคคลที่คาดว่าน่าจะพาตัวเด็กไปมากที่สุด ยื่นให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ข้อสำคัญคือภาพถ่าย เสื้อผ้า ลักษณะของใช้ รวมทั้งลักษณะเฉพาะของเด็ก ไม่ใช่แค่รูปร่างหน้าตา แต่อาจจะมีจุดบางจุด เช่นเป็นเด็กที่สวมเครื่องแต่งตัวแบบไหน สวมรองเท้าแบบไหน ทรงผมเป็นอย่างไร ถ้ามีภาพถ่ายด้วยจะดีมาก

          ถ้าได้ภาพเด็ก จุดสำคัญที่สุดคือต้องเผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนทันที โดยเฉพาะโทรทัศน์ ซึ่งบางช่องยินดีให้ความช่วยเหลือโดยไม่คิดเงิน สถานีวิทยุจะมีส่วนช่วยเหลือได้มากโดยเฉพาะคลื่นจราจร เช่น ส.ว.พ. (91 MHz) คลื่นร่วมด้วยช่วยกัน 96 MHz จ.ส.ร้อย (100 MHz) หรือชมรมวิทยุอาสาสมัครต่างๆ ของมูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง ร่วมกตัญญู โดยเฉพาะชมรมวิทยุแท็กซี่ จะมีโอกาสรับส่งผู้โดยสารที่เป็นคนร้าย ต้องเผยแพร่โดยเร็วที่สุด หรืออาจขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานเฉพาะซึ่งมีอยู่หลายหน่วยงาน เช่นกระทรวงการพัฒนาสังคมฯ มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก เป็นต้น

ระวังภัยคนใกล้ตัวลักพาเด็ก

          1.ผู้ที่มีความผิดปกติทางจิตใจ บางคนไม่สามารถมีลูกได้ ก็ใช้วิธีลักพาเอาลูกของคนอื่นไป

          2.พวกที่ต้องการใช้เด็กต่อรองกับผู้ปกครอง อาจจะไม่ถึงกับเรียกค่าไถ่ แต่ไม่พอใจผู้ปกครองเด็ก แล้วก็ลักพาเด็กไปเพื่อกลั่นแกล้งข่มขู่ผู้ปกครอง บางรายถึงขั้นลักพาเด็กไปฆาตกรรมเลยก็มี

          3.พวกที่ต้องการแสวงหาประโยชน์จากเด็ก อาจจะนำเด็กไปขายต่อ หรือใช้เด็กให้เด็กช่วยทำงานหรือไปกระทำเรื่องผิดกฎหมาย เช่น เดินยาเสพติด ใช้ไปเป็นลูกมือในการกระทำความผิดทางอาญา ใช้ให้เด็กไปขอทาน บางครั้งก็กระ ทำการล่วงเกินทางเพศต่อเด็กอย่างต่อเนื่องยาวนานด้วย

          ในการสืบสวนสอบสวนเพื่อติดตามตัวเด็กคืน ถ้าเราเผยแพร่หรือกระจายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับรายละเอียดของเด็กและผู้ต้องสงสัยไปให้กว้างขวางที่สุด จะช่วยให้ติดตามตัวเด็กได้ง่ายและสะดวก

          มีอีกประเด็นหนึ่งว่า เราจะได้ข้อเท็จจริงอะไรที่จะยืนยันได้ว่าบุคคลใดเป็นผู้ต้องสงสัย พ่อแม่ผู้ปกครองน่าจะรู้จักและเข้าใจคนที่มาเกี่ยวข้องกับตนเองและบุตรหลานว่ามีลักษณะใดใน 3 กลุ่มนั้นบ้าง คนบางคนแสดงท่าว่ารักเด็กเหลือเกิน มีข้าวของมาให้เด็กเสมอ ต้องพิจารณาดูว่าทำไมเขาถึงพิศวาสลูกเรา มากเป็นพิเศษ

          ดังนั้นผู้ปกครองต้องประเมินอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะคนที่มีความขัดแย้งกับตน ว่าเขาพุ่งเป้าไปที่ตัวเด็กบ้างหรือเปล่า หลายกรณีเป็นคู่รักคนใหม่ของพ่อหรือแม่ ต่อมาขัดแย้งกัน ก็เลยเล่นงานด้วยการลักพาตัวเด็กไป เพราะฉะนั้นผู้ปกครองต้องประเมินและไม่ควรให้คนนอกครอบครัวมาคลุกคลีกับเด็กอย่างใกล้ชิดเกินไป

กฎ 5 ข้อ ป้องกันเด็กพลัดหลง

          1. จัดพื้นที่ที่ปลอดภัยสำหรับลูกแต่ละวัย ถ้าเด็กออกนอกโซนที่กำหนดไว้ ต้องติดตามกลับมา เพราะถ้าหากตรวจสอบได้เร็วส่วนใหญ่จะได้เด็กคืนหรือช่วยให้พ้นอันตรายได้ทันท่วงที

          2. ถ้าไม่จำเป็น อย่าพาเด็กไปในที่ชุมชนหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า โรงภาพยนตร์ ที่มีคนเดินพลุกพล่านหนาแน่น เพราะว่าถ้าเด็กพลัดหลงแล้วจะติดตามลำบาก หรือถ้าเกิดจำเป็นต้องไป ก็ต้องเตรียมตัวด้วยการเขียนชื่อที่อยู่หมายเลขโทรศัพท์ของเราไว้กับตัวเด็กเพื่อให้ผู้พบตัวพาเด็กมาส่งคืน

          3. ต้องทำความเข้าใจกับเด็กว่า ถ้าหลงทางอย่าเคลื่อนที่ไปที่ไหน ถ้ามีคนมาช่วยก็ให้คนๆนั้นพาไปที่พนักงานประชาสัมพันธ์ และไม่ควรไปกับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย แต่ถ้าเป็นพนักงานขาย สามารถไปได้เพราะพนักงานขายมีหน้าที่ขาย จะไม่สามารถพาตัวเด็กไปไว้ในที่ลับตาคน หรือออกจากจุดที่เขาทำงานอยู่เป็นระยะเวลานาน เพราะฉะนั้นจะเป็นหลักประกันว่าเด็กจะไม่ถูกคนๆนี้ทำอะไร

          4.ถ้าเด็กอายุไม่เกิน 6 ขวบ ต้องจูงมือไว้เพื่อไม่ให้หลุดหลงกัน เพราะกรณีเด็กหายตามศูนย์การค้า สาเหตุส่วนใหญ่มาจากพ่อแม่ไม่จูง ทำให้เด็กหลุดหลงไป

          5. อย่าปล่อยเด็กอยู่ตามลำพังเป็นอันขาด เคยมีกรณีแม่พาเด็กอายุ 4 ขวบไปตลาดสดที่อยู่คนละฝั่งของถนน พอซื้อเสร็จข้ามสะพานลอยกลับมา นึกได้ว่าลืมของไว้ที่ตลาด ก็บอกให้ลูกรออยู่ตรงนี้ ลูกจะได้ไม่ต้องลำบากเดินข้ามสะพานลอยไปมา ปรากฏว่าพอกลับมาลูกหายไปแล้ว ทุกวันนี้ก็ยังหาไม่พบ

          ปัญหาการลักพาตัวเด็กเป็นปัญหาที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพราะคนส่วนใหญ่มักจะรู้สึกว่า เด็กไม่ใช่ข้าวของเงินทอง ไม่ใช่ของมีค่า แต่อยากแนะนำว่าเด็กมีค่ายิ่งกว่าเงินทอง สำหรับเงินทองเรายังไม่เคยปล่อยให้อยู่ห่างตัวเลย เงินเราก็ใส่ไว้ในกระเป๋า สร้อยคอเราก็สวมติดตัวตลอดเวลา แต่ทำไมกับเด็ก เราจึงปล่อยปละละเลย

          สนใจข้อมูลการเลี้ยงดูเด็กโดยไม่ใช้ความรุนแรงและปรึกษาปัญหาพฤติกรรมเด็ก ติดต่อได้ที่ โครงการรณรงค์ Start to Stop หยุดความรุนแรงต่อเด็กในทุกรูปแบบ มูลนิธิศูนย์พิทักษ์สิทธิเด็ก โทร.0-2412-0738, 0-2412-9834 www.thaichildrights.org




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ป้องกันลูกหาย ช่วงปิดเทอมใหญ่ อัปเดตล่าสุด 23 มีนาคม 2552 เวลา 11:56:37 13,431 อ่าน
TOP