x close

วิธีสังเกต 4 จุด เช็คช่วยชาติ - หายอายัดไม่ได้



เช็คช่วยชาติ
เช็คช่วยชาติของจริง

 

สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์

         ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดรูปแบบ "เช็คช่วยชาติ" ที่ได้รับมอบหมายให้จัดพิมพ์ตามรายชื่อที่ได้รับจากทางการ เพื่อส่งมอบให้กับกรมบัญชีกลาง และสำนักงานประกันสังคม นำไปแจกจ่ายให้แก่บุคลากรภาครัฐและประชาชนผู้มีสิทธิโดยตรง โดยธนาคารได้ออกแบบ "เช็คช่วยชาติ" ขึ้นเป็นการเฉพาะ ภายใต้ข้อกำหนดที่ให้ไว้ และจัดพิมพ์ด้วยระบบพิเศษ ที่เน้นการให้ความสำคัญด้านความปลอดภัย เพื่อป้องกันการปลอมแปลงที่อาจเกิดขึ้น ทั้งนี้เช็คช่วยชาติสามารถเปลี่ยนมือได้และมีค่าเสมือนเงินสด จึงไม่สามารถอายัดได้ ดังนั้นผู้ได้รับเช็คจึงต้องเก็บรักษาเป็นอย่างดี

โดยผู้ได้รับเช็คช่วยชาติสามารถตรวจสอบด้วยวิธีสังเกตใน 4 จุดหลัก ได้แก่ 

          จุดที่หนึ่ง ตัวอักษร "เช็คช่วยชาติ ฝ่าวิกฤตเศรษฐกิจโลก" พิมพ์เป็นลายเส้นนูน สีน้ำเงิน ดำ และแดง เหลือบกัน เมื่อสัมผัสด้วยปลายนิ้วมือจะรู้สึกสะดุดกับหมึกพิมพ์ที่อยู่บนผิวกระดาษ 

          จุดที่สอง สัญลักษณ์ "฿" ช่องจำนวนเงิน พิมพ์เป็นตัวนูน สีทองและแดงเหลือบกัน 

          จุดที่สาม เมื่อนำเช็คไปส่องกับแบล็คไลท์ จะปรากฏตราสัญลักษณ์รูปดอกบัวของธนาคารกรุงเทพตรงกลางเช็ค 

          จุดที่สี่ ขอบเช็คต้องมีรอยปรุ 2 ด้าน ได้แก่ ด้านบนและด้านล่าง 

         สำหรับรายละเอียดเพิ่มเติมสอบถามได้ที่ศูนย์ธนาคารทางโทรศัพท์ "โครงการเช็คช่วยชาติ" โทรศัพท์ 0 2645 5888 ทุกวัน ระหว่างเวลา 8.00 น. – 20.00 น. หรือ www.bangkokbank.com   

           ทางด้าน นายธีระ อภัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ผู้ดำเนินการออกเช็คช่วยชาติจำนวน 10.5 ล้านฉบับ กล่าวว่า ธนาคารได้ทยอยส่งเช็คช่วยชาติไปตามสาขาธนาคารทั่วประเทศแล้ว โดย สปส.จะรับมอบเช็คที่สาขาธนาคารเพื่อนำไปแจกจ่ายต่อไป รอบแรกวันที่ 26 มีนาคม รอบต่อไป 31 มีนาคม และรอบสุดท้ายคือวันที่ 3 เมษายน เพื่อให้ทันเทศกาลสงกรานต์ตามวัตถุประสงค์ของรัฐบาล 

           "ธนาคารได้จัดระบบรักษาความปลอดภัยในการเคลื่อนย้ายเช็คมากที่สุด มีการติดตั้งเครื่องจีพีอาร์เอสไว้กับรถขนส่งเพื่อระบุตำแหน่งของรถได้" นายธีระกล่าว และว่า ผู้ที่ได้รับเช็คสามารถนำมาขึ้นเงินได้ที่สาขาของธนาคาร นอกจากนี้ จะมีการตั้งโต๊ะรับแลกเช็คในสถานที่สำคัญ เช่น ลานคนเมือง หรือลานหน้าห้างเซ็นทรัลเวิลด์ เป็นต้น 

           นายธีระ กล่าวว่า ขอย้ำว่าผู้ประสงค์จะนำเช็คมาขึ้นเงินจะต้องนำบัตรประชาชนหรือบัตรข้าราชการมาด้วย เนื่องจากเช็คดังกล่าวจะมีเลขที่บัตรกำกับอยู่ หากไม่นำบัตรมาแสดงตนก็จะไม่สามารถขึ้นเงินสดได้ นอกจากนี้ หากทำเช็คช่วยชาติหาย จะไม่สามารถอายัดหรือขอฉบับใหม่ได้อีก 

           "ได้รับเช็คแล้ว รีบเอาไปขึ้นเงินสดหรือเอาไปซื้อของให้เร็วที่สุด เพราะนโยบายของรัฐบาลต้องการให้ท่านรีบใช้ เอาไปซื้อของ โรงงานจะได้ไม่ต้องลดคนงาน ขอร้องให้รีบใช้" นายธีระ กล่าว 

           ขณะที่ นายไพฑูรย์ แก้วทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวว่า สปส.ได้เตรียมการแจกจ่ายเช็คช่วยชาติ ระหว่างวันที่ 26 มีนาคม - 8 เมษายนนี้ โดยจะนำไปจ่ายยังสถานประกอบการ 7,500 แห่ง มีผู้ประกันตน 2,361,300 คน จ่ายที่ว่าการอำเภอ 800 แห่ง ผู้ประกันตน 1,071,600 คน และจ่ายที่ สปส.พื้นที่ และ สปส.จังหวัด ศูนย์การค้า 2,700,000 คน นอกจากนี้ ได้จัดชุดเคลื่อนที่เร็ว 60 ชุด เพื่อจัดส่งเช็คให้ถึงมือผู้ประกันตนตามที่ร้องขอ เบื้องต้นต้องเป็นสถานประกอบการที่มีผู้มีสิทธิรับเช็ค 200 คนขึ้นไป สามารถแจ้งความจำนงได้ที่โทร.0-2526-1959

           "ได้สั่งการให้ สปส. เปิดบริการจ่ายเช็คให้กับผู้ประกันตนนอกเวลาราชการในวันเสาร์และวันอาทิตย์ด้วย ส่วนวันจันทร์-ศุกร์ ได้ขยายเวลารับเช็คถึงเวลา 20.00 น. เนื่องจากไม่ต้องการให้ลูกจ้างหยุดงาน" นายไพฑูรย์กล่าว



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีสังเกต 4 จุด เช็คช่วยชาติ - หายอายัดไม่ได้ อัปเดตล่าสุด 30 มีนาคม 2552 เวลา 12:17:36 100,075 อ่าน
TOP