x close

รถถัง-หุ้มเกราะ พล่านทั่วกรุง ใช้แผนอาร์มทอง เป็นกองหนุน

รถถัง



รถถัง-หุ้มเกราะ"พล่านทั่วกรุง ใช้แผน"อาร์มทอง"เป็นกองหนุนตร. โฆษก กห.ชี้จะ ต้องมีคนเสียสละเก้าอี้ (มติชนออนไลน์)

          รถถัง-หุ้มเกราะ-ฮัมวี่ พร้อมทหารอาวุธครบมือวางกำลังทั่วกรุง โฆษก กห.ชี้ "พ.ร.ก." ไม่สามารถทำอะไรได้ เผย"บิ๊กทหาร" อึดอัดแต่ไม่อยากพูด ระบุสุดท้ายต้องมีคนเสียสละเก้าอี้ กองทัพส่ง 56 กองร้อยช่วยตร.ใช้แผนอาร์มทอง "สุเทพ"เชื่อไม่มีปฏิวัติ

ทหารค่ายสุรสีห์เคลื่อนเสริมกำลัง

          หลังจากนายกรัฐมนตรีพ.ร.ก.ฉุกเฉิน เมื่อวันที่ 12 เมษายน ปรากฏว่าก็มีความเคลื่อนไหวของฝ่ายทหารออกมาช่วยดูแลความสงบ ตามพื้นที่ที่มีการประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยเริ่มมีการปล่อยรถหุ้มเกราะ และรถถังวิ่งออกวิ่งควบคุมพื้นที่ตามจัดสำคัญต่างๆ โดยเมื่อเวลา 16.15 น. กำลังทหารหน่วยเคลื่อนที่เร็วของกองพลทหารราบที่ 9 ค่ายสุรสีห์ จังหวัดกาญจนบุรี ได้เคลื่อนกำลังพลจากค่ายสุรสีห์ โดยใช้รถจีเอ็มซี จำนวน 6 คัน ฮัมวี่ จำนวน 3 คัน รถบัส จำนวน 2 คัน รถกระบะ จำนวน 1 คัน จิ๊บเชโรกี จำนวน 1 คัน และรถตู้อีก 1 คัน บรรทุกกำลังพลและนายทหาร รวมประมาณ 500 นาย พร้อมอาวุธครบมือ และปืนกล เดินทางเข้าสู่กรุงเทพ ภายหลังจากรัฐบาลได้ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตกรุงเทพมหา นครและปริมณฑล

          เวลาประมาณ 17.00 น. รถจีเอ็มซีขนกำลังทหารประมาณ 20 นาย เข้ารักษาการณ์บริเวณแยกวิศสุกรรมนฤมาล และแยกประชาเกษม ข้างคุรุสภา ขณะเดียวกันบริเวณแยกจปร.กลุ่มผู้ชุมนุมยึดรถเมล์กว่า 10 คันปิดถนน รวมถึงปิดแยกผ่านฟ้าด้วย

          บริเวณเชิงสะพานพระปิ่นเกล้าฯ  มีกำลังทหารเรือประมาณ 30 นาย อาวุธครบมือ ตั้งด่านเตรียมพร้อม ส่วนบริเวณทางลงสะพานพระราม 7 ขาเข้าประชานุกูล มีกำลังทหารประมาณ 30 นาย กระจายกันอยู่ตามริมถนนทั้งด้านขาเข้าและออก โดยมีอาวุธครบมือ พร้อมรถจี๊ปสิงห์ทะเลทรายติดปืนกลอีก 1 คัน

"สุเทพ"เชื่อมั่นไม่มีการปฎิวัติ

          ขณะที่เมื่อเวลา 19.20 น. นายสุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง กล่าวถึงการควบคุมสถานการณ์ว่า ขณะนี้ควบคุมสถานการณ์ได้มากขึ้น โดยกลุ่มผู้ชุมนุมได้วางแผนล่วงหน้าในการก่อเหตุแต่รัฐบาลได้ประกาศ สถานการณ์ฉุกเฉินได้ทันเวลา แต่กว่าจะรวบรวมเจ้าหน้าที่ได้นั้น ต้องใช้เวลาบ้าง ซึ่งขณะนี้กำลังเข้ารูปเข้ารอย หมายถึงรัฐบาลจะทำให้บ้านเมืองสงบเรียบร้อย และขอให้ประชาชนกลับบ้าน โดยได้รายงานสถานการณ์ความคืบหน้าให้นายกรัฐมนตรีรับทราบเป็นระยะ และนายกรัฐมนตรีจะชี้แจงกับประชาชนทางทีวีเอง

          เมื่อถามว่ากลุ่มผู้ชุมนุมได้ยึดรถเมล์แล้ว นายสุเทพ กล่าวว่า เป็นความตั้งใจก่อความวุ่นวาย  จะจับกุมทุกคนที่ทำผิดกฎหมาย ผู้สื่อข่าวถามอีกว่ามีการขีดเว้นตายไว้หรือไม่ว่าเหตุการณ์จะสงบเมื่อใด รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลจะทำจนเรียบร้อย เมื่อถามว่าจะมีการปฏิวัติหรือไม่นายสุเทพ กล่าวยืนยันว่า "ไม่มีการปฏิวัติ ซึ่งการที่มีการออกหมายจับกลุ่มเสื้อแดงที่ทุบรถนายกรัฐมนตรี 12 คนนั้น ก็เป็นการจับทุกคนที่ทำความผิด

โฆษกกลาโหมชี้บิ๊กทหารอึดอัด

          พ.อ.จิตตสักก์ เจริญสมบัติ โฆษกกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการประกาศพ.ร.ก.บริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินว่า  การประกาศครั้งนี้ คล้ายกับการประกาศในพื้นที่ จ.ชลบุรีเมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา เพียงแต่เปลี่ยนแปลงพื้นที่เท่านั้น  ส่วนแนวทางของกองทัพ จะรองรับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และจะสามารถยุติสถานการณ์ได้หรือไม่นั้น พ.อ.จิตตสักก์ กล่าวว่า ในความคิดเห็นส่วนตัว เห็นว่าไม่น่าจะยุติใดๆ ได้ เพราะเท่าที่ดูในระดับการปฏิบัติงาน ของเจ้าหน้าที่อาจค่อนข้างสับสน เนื่องจากไม่แน่ใจในการบังคับใช้ พ.ร.ก. ตั้งแต่ประกาศที่ จ.ชลบุรีแล้ว โดยเจ้าหน้าที่สับสน ไม่มีความมั่นใจว่า อำนาจหน้าที่มีมากน้อยเพียงใด และอย่างไรบ้าง

          ส่วนจะเกี่ยวกับกฎหมาย ที่รองรับการปฏิบัติด้วยหรือไม่ เพราะตำรวจเคยมีบทเรียนจากการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคมมาแล้วหรือไม่นั้น  พ.อ.จิตตสักก์ กล่าวว่า "ทำนองนั้น ถ้าบอกว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้องพิจารณาระดับในการปฏิบัติ เพราะเมื่อรัฐบาลบอกว่า จะปฏิบัติอย่างนุ่มนวล ก็ไม่สามารถทำอะไรได้ และยุทธวิธีการในการผลักดันกลุ่มผู้ชุมนุมนั้นเหมือนเดิม ไม่สามารถทำอะไรได้ รัฐบาลต้องมีมาตรการเป็นขั้นเป็นตอนว่า จากเบาไปหาหนักในระดับของความรุนแรงเท่าที่ทำได้ขณะนี้ก็แค่นี้ มันไม่สอดคล้องกับแผนการปฏิบัติ ซึ่งผมมองว่าการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินเป็นเพียงภาพกว้างๆไม่มีรายละเอียดในการปฏิบัติ ซึ่งจำเป็นต้องกำหนดมาตรการออกมา ทั้งนี้ สังเกตได้จากนายทหารระดับผู้ใหญ่เกิดความอึดอัดเพียงแต่ไม่พูดเท่านั้นเอง" พ.อ.จิตตสักก์ กล่าว

เชื่อที่สุดต้องมีคนเสียสละเก้าอี้

          พ.อ.จิตตสักก์ กล่าวว่า ดูจากการที่มีการนำรถสายพานลำเลียงพลออกมาจากหน่วยของกองพันทหารม้าที่ 1 กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ วิ่งไปที่ย่านศูนย์การค้าพารากอน แสดงถึงความสับสน ในคำสั่งของผู้บังคับบัญชา ทั้งที่ไม่จำเป็นต้องนำรถเกราะออกมาในลักษณะนี้ เพราะไม่เกิดประโยชน์ใดๆ ถ้าไม่มีทหารคุ้มกัน อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วต้องมีคนที่เสียสละตำแหน่ง เพื่อเห็นแก่ชาติบ้านเมือง เพราะการปฏิบัติอื่นๆ ดูแล้วไม่มีผลอะไร

          นายวิทยา บุรณศิริ ประธานวิปฝ่ายค้าน และ ส.ส.พระนครศรีอยุธยา พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า การประกาศ พรก.ฉุกเฉิน ได้ทำลายประเทศชาติทั้งด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และเป็นการทำลายประเพณีวัฒนธรรมของชาติ  หากรัฐบาลทำแบบนี้เหตุการณ์จะรุนแรงกว่านี้ เศรษฐกิจจะแย่ไปกว่านี้

ทบ.ยืนหลีกเลี่ยงใช้ความรุนแรง

          ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินรายแรงในกทม.และปริมณฑลของนายกรัฐมนตรี  เป็นที่น่าสังเกตว่าไม่มีผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าร่วมแถลงแต่อย่างใด โดยเฉพาะพล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้บัญชาการทหารบก(ผบ.ทบ.) ที่จะต้องมาร่วมแถลงข่าวด้วย อีกทั้งเป็นที่น่าสังเกตว่าการเลือกสถานที่แถลงข่าวเหตุใดจึงเลือกกระทรวงมหาดไทย เนื่องจากเป็นพื้นที่ล่อแหล่ม เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมเสื้อแดงที่ชุมนุมอยู่ที่ทำเนียบรัฐบาล สามารถเดินทางมาถึงได้อย่างรวดเร็วภายในเวลา ไม่ถึง 20 นาที

          นอกจากนี้ในระหว่างที่ นายกฯ กำลังแถลงข่าวอยู่นั้น พล.อ.ประวิตร  ได้โทรศัพท์สั่งการไปยังกระทรวงกลาโหม เพื่อให้ส่งกำลังทหารมาประจำการพื้นที่โดยรอบกระทรวงมหาดไทย แต่ปรากฏว่าไม่มีกำลังมาเพิ่มแต่อย่างใด มีเพียงกำลังทหารที่รักษาการอยู่ในรั้วกระทรวงมหาดไทย 1 กองร้อย ที่เพิ่มมาก่อนที่นายกฯ จะเดินทางมาถึงเท่านั้น

          พ.อ.สรรเสริญ  แก้วกำเนิด โฆษกกองทัพบก ให้สัมภาษณ์สั้นๆ ว่า ขณะนี้กำลังทหารและรถหุ้มเกราะได้ออกปฏิบัติการเฝ้าระวังสถานการณ์ในหลายจุด ในกทม. ซึ่งเป็นการดำเนินการตามที่มีการการประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินเท่านั้น ขอให้ประชาชนอย่าได้วิตกกังวล และยืนยันว่าทหารจะดำเนินการโดยการหลีกเลี่ยงความรุนแรง อย่างไรก็ตามขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งให้มีการปฏิบัติการใดนอกเหนือจากนี้

          รายงานข่าวจากกองทัพบกแจ้งว่า ขณะนี้กองทักบกได้จักกำลังพลรวมทั้งรถถัง รถหุ้มเกราะ เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์ตามจุดต่างๆประมาณ 50 จุดทั่วกทม. เพื่อเตรียมพร้อมรับสถานการณ์

กองทัพส่ง56กองร้อยช่วยตร.

          พล.ท.คณิต สาพิทักษ์ แม่ทัพภาคที่ 1 ประชุมสถานการณ์ภายในที่ 1 กรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์ (ร.1 พัน 1 รอ.) ถนนวิภาวดีฯ เพื่อประเมินสถานการณ์สนับสนุนกำลังตำรวจตามการประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน นอกจากนี้ในส่วนของ ผบ.เหล่าทัพ ทั้ง พล.อ.ทรงกิตติ จักกาบาตร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด พล.ร.อ.กำธร พุ่มหิรัญ ผู้บัญชาการทหารเรือ และ พล.อ.อ.อิทธพร ศุภวงศ์ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ติดตามสถานการณ์ภายในของแต่ละเหล่าทัพ

          รายงานข่าวแจ้งว่า เบื้องต้นกองทัพจะจัดส่งกำลังสนับสนุนตำรวจประมาณ 56 กองร้อย ตามแผน "อาร์มทอง" เพื่อดูแลสถานที่ราชการสำคัญ โดยแบ่งพื้นที่โซนในพื้นที่กรุงเทพมหานครจะใช้กำลังจากกองทัพภาคที่ 1 ให้ พล.ท.คณิตเป็นผู้บัญชาการควบคุมกำลังพล ส่วนโซนในพื้นที่ จ.สมุทรปราการ จะให้ทางกองทัพเรือ เป็นผู้รับผิดชอบ ขณะที่โซนในพื้นที่ จ.นนทบุรี จ.ปทุมธานี จ.พระนครศรีอยุธยา จ.นครปฐม จะให้ทางหน่วยบัญชาการป้องกันภัยทางอากาศ (นปอ.) กองทัพอากาศ และเจ้าหน้าที่ตำรวจดูแล


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รถถัง-หุ้มเกราะ พล่านทั่วกรุง ใช้แผนอาร์มทอง เป็นกองหนุน โพสต์เมื่อ 12 เมษายน 2552 เวลา 22:41:26 8,663 อ่าน
TOP