x close

ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา หนึ่งในผู้ถูกพาดพิงจาก ทักษิณ

ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา



ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา หนึ่งในผู้ถูกพาดพิงจาก ทักษิณ 

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์, politicalbase.in.th

          หลังจาก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เดินเกมบุกอย่างต่อเนื่องด้วยการส่งสัญญาณวีดีโอลิงค์ปราศรัยกล่าวถึงบุคคลต่างๆ นั่นก็ทำให้ชื่อของ "ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา" กลายเป็นอีกบุคคลหนึ่งที่ถูกกล่าวพาดพิงว่า ให้ใช้บ้านพักเป็นสถานที่ประชุมในการวางแผนปฏิวัติรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ วันนี้กระปุกจะพาไปรู้จัก "ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา" กันค่ะ

          ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา เป็นบุตรชายคนรอง ของหม่อมหลวงปีกทิพย์ มาลากุล กับนางชนัฏ มาลากุล ณ อยุธยา บุตรีของพระยาประกิตกลสาร ซึ่งมักมีคนเข้าใจผิดว่า นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา เป็นคนเดียวกับ หม่อมหลวงปีย์ มาลากุล (ทายาทของ ม.ร.ว.โป้ย มาลากุล) ซึ่งความจริงแล้วเป็นคนละคนกัน แต่ทั้งคู่เป็นคนสายราชสกุล "มาลากุล" ซึ่งมีสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ามหามาลา กรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระราชโอรสพระองค์กลางในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เป็นต้นราชสกุลเหมือนกัน

          นายปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ.2480 ปัจจุบันอายุ 71 ปี สมรสกับท่านผู้หญิงอารียา มาลากุล ณ อยุธยา มีบุตรชาย 1 คน คือ ธรรมา มาลากุล ณ อยุธยา ส่วนตัวของนายปีย์นั้น มีพี่น้องทั้งหมด 4 คน ได้แก่พี่สาวคือ ปนัดดา มาลากุล ณ อยุธยา, น้องชายคือ พลเอกแป้ง มาลากุล ณ อยุธยา, น้องสาวอีก 2 คน คือ คุณหญิงทิพยวดี ปราโมช ณ อยุธยา และทับทิม มาลากุล ณ อยุธยา ซึ่งสมรสกับ นายอลาสแตร์ เลน ชาวอังกฤษ มีบุตรสาวหนึ่งคนคือ "ซาร่า มาลากุล เลน" นักแสดงสาวชื่อดังนั่นเอง

          นายปีย์เรียนจบระดับชั้นมัธยมศึกษาจากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน และจบปริญญาตรีด้านการเงินการธนาคารจากประเทศอังกฤษ ก่อนเข้าทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ ในเมืองลอนดอน จากนั้นจึงกลับมาทำงานที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ ที่ประเทศไทย และเริ่มหันไปสนใจทำธุรกิจสิ่งพิมพ์ จนได้เป็นบรรณาธิการบริหารหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ต่อจากนายสนธิ ลิ้มทองกุล และเข้าซื้อกิจการนิตยสารดิฉันจากนายสนธิในที่สุด

          ต่อมานายปีย์ได้ร่วมก่อตั้ง บริษัท แปซิฟิค อินเตอร์คอมมูนิเคชั่น จำกัด กับ ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล เพื่อเข้าไปปรับปรุงการนำเสนอข่าวช่อง 9 อ.ส.ม.ท. ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ในยุคนั้น และเรียกได้ว่านายปีย์เป็นผู้ปฏิวัติวงการข่าวโทรทัศน์คนหนึ่งเลยทีเดียว

          จากนั้นในปีพ.ศ.2534 นายปีย์ได้รับสัมปทานจากกรมทหารสื่อสาร จึงได้ก่อตั้งสถานีวิทยุข่าวสาร และการจราจร ที่เรารู้จักกันดีในชื่อ "จ.ส.100" พร้อมๆ กับก่อตั้ง "ศูนย์ข่าวแปซิฟิก" เพื่อผลิตรายการข่าวในสถานีวิทยุกระจายเสียงในเครืองกองทัพบก รวมทั้งยังได้ผลิตรายการ "บ้านเลขที่ 5" อีกด้วย แต่ปัจจุบันได้ยุติการออกอากาศไปแล้ว นอกจากนี้นายปีย์ยังเคยดำรงตำแหน่งผู้บริหารของสถานีโทรทัศน์ไอทีวี  จึงนับได้ว่า นายปีย์เป็นบุคคลหนึ่งที่อยู่ในแวดวงการสื่อสารมวลชนมาอย่างต่อเนื่อง

          ขณะที่บทบาททางการเมืองของนายปีย์นั้น นายปีย์จัดเป็นนักคิดคนหนึ่ง และครั้งหนึ่งเคยเป็นที่สนใจ เมื่อมีชื่อของ "นายปีย์" ปรากฎในหนังสือเรื่อง "พระราชอำนาจ" ที่นายประมวล รุจนเสรี เป็นคนเขียน โดยนายปีย์นั้นเป็นคนอัญเชิญกระแสพระราชดำรัสเกี่ยวกับหนังสือดังกล่าวว่า "เราอ่านแล้ว เราชอบมาก เขียนได้ดี เขียนได้ถูกต้อง ให้ไปบอกเขาว่า เราชอบมาก" ไปบอกนายประมวล

          ทั้งนี้ในสมัยที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี นายสมัครได้พูดถึง "ไอ้หัวเถิก" ผ่านรายการ "สนทนาประสาสมัคร" ว่า เป็นคนที่ปล่อยข่าวปลุกปั่นให้บ้านเมืองวุ่นวาย ซึ่งทำให้ "นายคำนูณ สิทธิสมาน" สมาชิกวุฒิสภา และผู้ใกล้ชิดนายสนธิ ลิ้มทองกุล ออกมาระบุว่า คนที่นายสมัครกล่าวถึงคือ "นายปีย์" นั่นเอง 

          จากนั้นในเดือนมีนาคม พ.ศ.2552 ชื่อของนายปีย์เป็นประเด็นขึ้นมาอีกครั้ง เมื่อถูกอดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณวีดีโอลิงก์กล่าวถึงว่า พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์, นายชาญชัย ลิขิตจิตถะ,นายอักขราทร จุฬารัตน,นายจรัญ ภักดีธนากุล,นายปราโมทย์ นาครทรรพ และนายปีย์ ได้ร่วมปรึกษาหารือกันที่บ้านพักของนายปีย์ ย่านสุขุมวิท ถึงเรื่องการโค่นล้ม พ.ต.ท.ทักษิณ และนำไปสู่การปฏิวัติ เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ซึ่งนายปีย์ยอมรับว่าได้มีการพบปะกัน แต่เป็นการเชื้อเชิญมารับประทานอาหารในฐานะเพื่อน และคนที่สนิทสนมกันเท่านั้น ไม่ได้เป็นการวางแผนปฏิวัติหรือลอบสังหารอย่างที่อดีตนายกรัฐมนตรีทักษิณกล่าวอ้างว่า ได้ยินมาจาก พล.อ.พัลลภ ปิ่นมณี แต่อย่างใด

          "ยืนยันว่า ไม่มีการพูดเรื่องปฏิวัติ หรือพูดเรื่องตำแหน่ง ไม่มีทหารอยู่สักคนจะพูดเรื่องปฏิวัติได้อย่างไร" นายปีย์ กล่าวยืนยัน

ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา



  ประวัติ


ชื่อจริง : ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา
วัน/เดือน/ปี เกิด : 10 กันยายน พ.ศ.2480
ครอบครัว : สมรสกับท่านผู้หญิงอารียา มาลากุล ณ อยุธยา มีบุตรชาย 1 คน คือ ธรรมา มาลากุล ณ อยุธยา


  การศึกษา

          - จบชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน
          - จบปริญญาตรี ด้านการเงินการธนาคาร จากมหาวิทยาลัยในประเทศอังกฤษ 
          - ได้รับพระราชทานปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาสื่อมวลชนจากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2537


  ประวัติการทำงาน (บางส่วน)

          - ธนาคารกรุงเทพ สาขาลอนดอน ประเทศอังกฤษ และธนาคารกรุงเทพ สำนักงาน ประเทศไทย
          - ผู้จัดการบริษัทซิมโก้ คอร์ปอเรชั่น จำกัด
          - บรรณาธิการบริหาร หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย (พ.ศ.2518-2519)
          - เป็นที่ปรึกษา บริษัท การบินไทย
          - เป็นกรรมการบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ กรุงเทพ ธนาธร จำกัด พ.ศ. 2534
          - เป็นคณะทำงานโครงการเผยแพร่ และจัดจำหน่ายหนังสือพระราชนิพนธ์ "พระมหาชนก" ฉบับการ์ตูน ซึ่งพิมพ์เผยแพร่ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2542
          - เป็นคณะกรรมการบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) พ.ศ. 2542 และเป็นประธานอำนวยการฝ่ายข่าว บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) ตั้งแต่ 1 ต.ค. 2543 - 2 ก.พ. 2544
          - เป็นคณะกรรมการฝ่ายประชาสัมพันธ์ งานวันเฉลิมฉลองครบรอบ 100 ปี วันคล้ายวันพระราชสมภพ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนี พ.ศ. 2543


  ตำแหน่งการงานในปัจจุบัน (บางส่วน)

          - ประธานกรรมการ บริษัท แอ็ดวานซพับลิชชิ่ง จำกัด ดำเนินกิจการผลิตนิตยสาร "ดิฉัน"
          - ประธานกรรมการ บริษัท แปซิฟิค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินกิจการผลิตรายการข่าวสารด้านการจราจรทางสถานีวิทยุ จส.100
          - ประธานกรรมการ บริษัท แปซิฟิค อินเตอร์คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ดำเนินกิจการผลิตสารคดีพิเศษเฉลิมพระเกียรติในราชวงศ์ และผลิตสารคดี ต่างๆ ทาง สถานีโทรทัศน์ช่องต่าง ๆ
          - ประธานบริษัท เกรนโดเวอร์ (ประเทศไทย) จำกัด
          - ประธานกรรมการร่วม บริษัท แปซิฟิคเฮิร์ท จำกัด ผู้ผลิตนิตยสาร "คอสโมโพลิแทน" ฉบับภาษาไทย
          - เป็นที่ปรึกษา กรมตำรวจ ตั้งแต่ พ.ศ.2541
          - เป็นที่ปรึกษาพิเศษปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติ ของคณะกรรมการปฏิบัติการจิตวิทยาแห่งชาติสภาความมั่นคงแห่งชาติ กองบัญชาทหารสูงสุด ตั้งแต่ พ.ศ. 2548


  เกียรติยศ

          - ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ทุติยจุลจอมเกล้า เมื่อปี พ.ศ.2540


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 
- politicalbase.in.th
- th.wikipedia.org

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา หนึ่งในผู้ถูกพาดพิงจาก ทักษิณ อัปเดตล่าสุด 21 เมษายน 2552 เวลา 14:38:01 41,999 อ่าน
TOP