x close

อภิสิทธิ์ ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลวันนี้

พ.ร.ก.ฉุกเฉิน


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์ และไทยรัฐ

          เมื่อเวลา 12.00 น. วันที่ 24 เมษายน สำนักนายกรัฐมนตรี แถลงการยกเลิกพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินทางสถานนีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย 

          ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในเขตท้องที่กรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี อำเภอเมืองสมุทรปราการ อำเภอบางพลี อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ อำเภอธัญบุรี อำเภอลาดหลุมแก้ว อำเภอสามโคก อำเภอลำลูกกา อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี อำเภอพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม และอำเภอวังน้อย อำเภอบางปะอิน อำเภอบางไทร อำเภอลาดบัวหลวง จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2552 ให้เป็นพื้นที่ควบคุมตามพระราชกำหนดบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ให้ถือเป็นที่สิ้นสุดตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป 




          โดยก่อนหน้านี้ เมื่อเวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี ได้แถลงว่า เมื่อคืนนี้ (23 เมษายน) ในการสรุปและการอภิปรายทั่วไปโดยไม่ลงมติ เรื่องสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมือง ตนได้ยืนยันต่อที่ประชุมสภาฯ ว่า จะดำเนินการยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล ซึ่งประกาศมาตั้งแต่วันที่ 12 เมษายน 2552 โดยจะให้มีผลภายในวันนี้ ฉะนั้นเช้านี้ก็จะได้ลงนามในประกาศเพื่อให้มีผลในการยกเลิกประกาศภาวะฉุกเฉินร้ายแรง 12.00 น. เป็นต้นไป

          "หลังจากที่ได้เคยเรียนมาโดยตลอดว่า เราจะมีการสอบถามหน่วยงานฝ่ายความมั่น ถึงความเป็นไปได้ในการที่จะยกเลิกภาวะฉุกเฉินโดยเร็วที่สุด โดยให้ฝ่ายความมั่นคงสามารถที่ใช้มาตรการต่างๆ เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าสภาพของการรักษากฎหมายและความสงบเรียบร้อย จะสามารถดำรงอยู่ได้เมื่อมีการยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ทั้งนี้ เมื่อวานก็ได้มีการสอบถามกันตลอดเวลา ซึ่งหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงก็ยืนยันว่าน่าจะดำเนินการได้ตั้งแต่เวลา 12.00 น. เพราะฉะนั้นก็ได้มีการตัดสินใจ และลงนามประกาศ เพื่อให้สภาวะฉุกเฉินร้ายแรงยกเลิกไปตั้งแต่เที่ยงของวันนี้ และเมื่อยกเลิกแล้วก็หมายความว่าอำนาจต่างๆ ที่ใช้ตาม พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็สิ้นสุดลงไปด้วย" นายกรัฐมนตรี กล่าว 

          นายอภิสิทธิ์ กล่าวอีกว่า แต่คงไม่ได้หมายความว่าการดูรักษาความสงบเรียบร้อย โดยเฉพาะจุดที่อาจจะยังมีความหวั่นวิตกของประชาชนนั้น รัฐบาลไม่ทำอะไร เพราะก็จะมีการประสานงานกันระหว่างหน่วยงานฝ่ายความมั่นคงว่าจะมีจุดไหนอย่างไร ที่จะสามารถดำเนินการได้ โดยอาศัยกฎหมายตามปกติ เพราะฉะนั้น ขอให้ความมั่นใจว่าตรงนี้ก็จะเป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่จะต้องดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยต่อไป เพียงแต่ว่าจะไม่มีในเรื่องของอำนาจพิเศษ และการยกเลิก พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉินในครั้งนี้ ก็จะเป็นการส่งสัญญาณไปยังทั่วโลกว่าเราได้นำบ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติ 

          พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงการดำเนินการต่อไปว่า ขณะนี้ประธานรัฐสภาและประธานวุฒิสภา ในฐานะรองประธานจะร่วมกับวิป 3 ฝ่าย ในการที่จะเดินหน้าโดยประการแรก คือ ประมวลเหตุการณ์เพื่อตรวจสอบในกรณีที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับเหตุการณ์ ในเรื่องของการใช้เจ้าหน้าที่ของรัฐ ในช่วงที่มีการประกาศ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนที่ 2 คือการนำประเด็นปัญหาที่ถือเป็นการปมของความขัดแย้งต่างๆ ทางการเมือง เพื่อวางแนวทางในการที่คลี่คลายปมปัญหาเหล่านั้นต่อไป ซึ่งส่วนนี้เป็นเรื่องที่ตนก็จะรอฟังความคืบหน้าของทางฝ่ายนิติบัญญัติ และยืนยันว่ารัฐบาลในฝ่ายบริหาร จะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

          "เมื่อเช้าที่ผ่านมาได้มีโอกาศพบกับผู้แทนต่างประเทศ 2 ราย คือ ศาสตราจารย์โทมัส ไมเออร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านรัฐศาสตร์ จากสหพันธ์สาธารรัฐเยอรมันนี และสาธุคุณ Jesse Jackson นักเรียกร้องสิทธิมนุษยชนชาวอเมริกัน ซึ่งให้ความสนใจกับเรื่องของกระบวนการการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ โดยเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ท่านเหล่านี้ ได้ยืนยันว่าหากมีอะไรในเชิงความรู้ประสบการณ์ที่จะช่วยให้เราทำงานนี้สำเร็จ บุคคลดังกล่าวก็พร้อม ซึ่งตนก็ได้เรียนไปว่าถ้าสามารถประสานกับฝ่ายนิติบัญญัติได้ ตรงนี้จะเป็นหัวใจของการดำเนินการ ทั้งนี้ สิ่งที่สำคัญที่บุคคลทั้ง 2 ได้กล่าวประการแรกคือ ในประสบการณ์ของหลายๆ ประเทศ การจะสร้างกระบวนการนี้ให้สำเร็จ จะต้องสามารถดึงการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในสังคมได้อย่างแท้จริง และรวมถึงบทบาทของสื่อมวลโดยเฉพาะด้วย เพราะฉะนั้นคิดว่าในส่วนของฝ่ายนิติบัญญัติ ถ้ารับข้อสังเกตนี้ไปก็จะเป็นประโยชน์" นายกรัฐมนตรี กล่าว



ขอขอบคุณข้อมูลจาก
 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
อภิสิทธิ์ ประกาศยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีผลวันนี้ อัปเดตล่าสุด 24 เมษายน 2552 เวลา 14:36:20 20,991 อ่าน
TOP