x close

สุขภาพดีและมีความสุข แบบสาวสามวัย


แอ๊บสวย

สุขภาพดีและมีความสุขแบบสาวสามวัย (Lisa)

       ผู้หญิงวัย 20+ ยังมีฮอร์โมนเพศเต็มเปี่ยม สุขภาพแข็งแรง ส่วนสาววัย 30+ สุขภาพเริ่มถดถอยเพราะความเครียด และสาววัย 40+ ต้องระวังสุขภาพให้ดี

       ดาราสาว สการ์เล็ตต์ โจแฮนัน ใส่ใจดูแลสุขภาพและเตรียมวางแผนสำหรับอนาคตตัวเองเมื่อมีวัยมากขึ้น เพื่อจะได้มีสุขภาพที่ดี และมีความสุขกับทุกวัยที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี แล้วคุณล่ะคะ เตรียมสุขภาพร่างกายและจิตใจสำหรับอนาคตข้างหน้าหรือยัง ลองหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจกันตั้งแต่วันนี้ เพื่อคุณจะได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุขไปนานๆ Lisa มีแบบทดสอบให้แก่สาววัย 20+ 30+ และ 40+ พร้อมข้อแนะนำในการดูแลสุขภาพ การออกกำลังกาย เพื่อพยุงความแข็งแรง และอ่อนเยาว์ไว้นานๆ

สาววัย 20+

       สาวๆ วัยนี้มีร่างกายกระฉับกระเฉง มีกำลังวังชา และส่วนใหญ่ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับฮอร์โมนเพศ และเป็นวัยที่เริ่มสร้างอนาคตกับการทำงานหรือบางคนก็กำลังศึกษาเล่าเรียน เป็นวัยที่ยังไม่ค่อยมีเรื่องทุกข์กังวล หากต้องการคงความอ่อนเยาว์ไปนานๆ ก็ควรเตรียมตัวตั้งแต่วัยนี้ สิ่งสำคัญคือการสร้างมวลกล้ามเนื้อและมวลกระดูกให้หนาแน่น จึงควรออกกำลังกาย สม่ำเสมอ กีฬาที่เหมาะคือ Cross Training ออกกำลังหลากหลายชนิด เช่น จ็อกกิ้ง ว่ายน้ำ ขี่จักรยาน สเต็ปแอโรบิกในฟิตเนสสตูดิโอ หรือเล่นเทนนิสกับเพื่อนๆ แต่ไม่ควรออกกำลังอย่างหักโหมเพราะจะทำให้เกิดความเครียดมากกว่า หรือฝึกเล่นโยคะเพื่อลดความเครียด

       นอกจากนี้ก็ควรรับประทานผักและผลไม้ให้มากในแต่ละวัน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำวันละ 8-10 แก้ว และทาโลชั่นกันแดดทุกวันก่อนออกจากบ้าน หลีกเลี่ยงแสงแดดแรงๆ (อาจกางร่ม หรือสวมเสื้อแขนยาวเมื่อออกนอกบ้าน) แต่ควรได้รับแสงแดดอ่อนๆ ในตอนเช้าเพื่อเติมวิตามินดีให้ร่างกายแค่นี้คุณก็จะคงความสาวและสุขภาพดีไปนานๆ

สาววัย 30+

       ผู้หญิงวัยนี้บางคนก็มีครอบครัว มีลูก ทำงานหาเลี้ยงชีพ ซึ่งทำให้เครียดอยู่บ่อยๆ แต่ผู้หญิงเป็นเพศ ที่แข็งแกร่ง จึงทำให้พวกเธอทนทานกับความกดดันได้ดีกว่าเพศชาย ไม่ว่าจะเป็นการดูแลลูกๆ การทำงานหาเลี้ยงชีพทั้งวัน ตกเย็นก็ต้องกลับมาดูแลครอบครัว และเมื่อเข้านอนก็ยังรู้สึกกังวลที่ยังจัดการธุระต่างๆ ไม่เสร็จสิ้นอย่างที่ตั้งใจ สิ่งเหล่านี้เป็นแรงกดดันให้ผู้หญิงเกิดความเครียดสะสม โดยผู้หญิงจะทนแรงกดดันได้ดีจนถึงวัย 35 แต่ถ้ายังมีความเครียดเรื้อรังก็จะส่งผลกระทบต่อร่างกายและจิตใจ นั่นคือมีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ดิซอล (ฮอร์โมนแห่งความเครียด) อย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอ และอาจทำให้เป็นโรคซึมเศร้า มีปัญหานอนไม่หลับ ปวดศีรษะ และโรคเกี่ยวกับลำไส้มักเกิดขึ้น ระหว่างอายุ 30-40 ปี

       นอกจากนี้ ความเครียดเรื้อรังก็เป็นตัวการเร่งกระบวนการความชราให้เร็วขึ้น โดยวัดได้จากส่วนปลายของโครโมโซม ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับนาฬิกาของเซลล์ร่างกาย และหากมีความเครียดเพิ่มมากขึ้นก็จะทำให้กล้ามเนื้อตึงเครียดและทำให้ปวดหลัง คือ อย่างน้อยที่สุดหนึ่งในสามของคนไข้ที่ปวดหลัง ก็เนื่องมาจากจิตใจที่ส่งผลกระทบไปยังกระดูกสันหลัง โดยจะเห็นได้ชัดในผู้หญิงที่ขาดการดูแลและจัดการกับความเครียด รวมทั้งผู้ที่เป็นนักเพอร์เฟ็กชั่นนิสต์ หรือคนที่ทะเยอทะยานกับสิ่งที่ทำให้เป็นจริงได้ยาก ก็อาจทำให้เป็น Burnout Syndrome หรือป่วยเป็นโรคทางจิตเวชได้

ผู้หญิงวัย 40+

       นาฬิกาชีวิตของสาววัย 40+ เริ่มเปลี่ยนไป เริ่มมีปัญหาข้อต่อ และการเผาผลาญพลังงานช้าลง หากรู้วิธีดูแลตัวเองก็จะช่วยยืดความชราออกไปได้ ผู้หญิงวัย 40 ในปัจจุบันที่ดูแลตัวเองดีก็จะมีความอ่อนเยาว์และกระฉับกระเฉงกว่าผู้หญิงวัย 40 ในสมัยก่อน ทั้งนี้ การเผาผลาญพลังงานของผู้หญิงในวัย 40+ เริ่มลดลงไปตามวัยที่มากขึ้น สาววัยนี้จึงยากที่จะรักษารูปร่างให้สะโอดสะองเหมือนเดิมได้

       นอกจากนี้ก็เริ่มมีปัญหาข้อต่อและกระดูกสันหลัง และจะยิ่งมีอาการมากขึ้นเมื่อมีน้ำหนักที่เพิ่มมากขึ้นตามวัย หรือมีอาการบาดเจ็บของกระดูกอ่อน คือ ผู้หญิงส่วนใหญ่เมื่อเข้าสู่วัย 35 ร่างกายก็จะผลิตฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนน้อยลง และต่อมาฮอร์โมนเอสโตรเจนก็ลดลงตามมา กระบวนการเหล่านี้มีผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายเมื่อเข้าสู่วัย 40+ คือ นอนไม่หลับ ร้อนวูบวาบ นี่เป็นอาการของวัยทอง ซึ่งผู้หญิงบางคนอาจไม่มีอาการก็ได้ เมื่อร่างกายเปลี่ยนแปลงไปก็จะส่งผลให้ผู้หญิงรู้สึกกลัวการสูญเสียความเป็นผู้หญิง สิ่งที่เห็นได้ชัดก็คือผิวมีริ้วรอยย่นนั่นเอง

Tips

         กระเทียมและหัวหอมใหญ่ป้องกันมะเร็งรังไข่ จากการศึกษาของ European Prospective Investigation into Cancer and Nutrition ได้ทำการศึกษาวิจัยอาหารการกินของผู้หญิงจำนวน 325,640 คน จาก 10 ประเทศในยุโรป พบว่าผู้หญิงที่กินกระเทียมและหัวหอมใหญ่เป็นประจำ จะสามารถป้องกันโรคมะเร็งรังไข่ได้ดีกว่า ผู้หญิงที่ไม่กินกระเทียมและหัวหอมใหญ่

         ผู้หญิงที่ออกกำลังกายจะช่วยป้องกันโรคหัวใจ เนื่องจากผู้หญิงมีฮอร์โมนเพศเอสโตรเจน ซึ่งช่วยป้องกันโรคหัวใจ แต่เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยทองและฮอร์โมนลดลง ก็จะทำให้การป้องกันโรคหัวใจจากธรรมชาติขาดหายไป ดังนั้น ผู้หญิงจึงควรหาเกราะป้องกันโรคหัวใจด้วยการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะจากการศึกษาของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ที่ได้ทำการศึกษาวิจัยกับผู้หญิง 90,000 คน พบว่า ผู้หญิงที่มีน้ำหนักตัวปกติ ออกกำลังกายมากกว่า 3.5 ชม. ต่อสัปดาห์ มีความเสี่ยงน้อยกับการเกิดโรคหัวใจ

         ความอุ้ยอ้ายเป็นผลร้ายต่อสุขภาพของคนเป็นมะเร็งเต้านม ทั้งนี้ จากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติแคนาดา พบว่า คนที่เป็นมะเร็ง โดยเฉพาะมะเร็งเต้นนม มักจะมีภาวะอ้วน และมีกิจกรรมน้อย (ใช้พลังงานน้อย) ทำให้เสียสุขภาพ และนำมาซึ่งการเป็นมะเร็งซ้ำ และคุณภาพชีวิตที่ต่ำ ฉะนั้น คุณจึงควรขยับร่างกายก่อนจะไม่มีร่างกายให้ขยับ


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ประจำวันพุธที่ 25 เดือนมีนาคม 2552
ภาพประกอบจาก glitter.kapook.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
สุขภาพดีและมีความสุข แบบสาวสามวัย อัปเดตล่าสุด 15 พฤษภาคม 2552 เวลา 17:45:02 10,418 อ่าน
TOP