x close

ประยงค์ เจ้าของรางวัล แมกไซไซ ที่เรียนจบแค่ ป.4






เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก tungsong.com school.obec.go.th และ thaiknowledge.org

         สิ้นเสียงประกาศผลรางวัลแมกไซไซ ของมูลนิธิรามอน แมกไซไซ ประเทศฟิลิปปินส์ ทำเอาคนไทยทั้งประเทศเฮด้วยความดีใจ เมื่อมีปราชญ์ชาวบ้านคนไทย 1 คน ได้รับรางวัลอันทรงเกียรตินี้ด้วย นั่นก็คือ นายประยงค์ รณรงค์ ชาวบ้านจาก ต.ไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช ผู้คว้ารางวัลแมกไซไซ สาขา พัฒนาชุมชน ที่เรียนจบเพียงแค่ชั้น ป.4 เหตุการณ์คนไทยกระหึ่มโลกครั้งนี้ เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม พ.ศ.2547 

         แม้ "ประยงค์ รณรงค์" จะเรียนจบเพียงแค่ชั้น ป.4 แต่เขากลับได้รับการยอมรับจากคนนครศรีธรรมราช และชุมชนทั่วประเทศว่าเป็น "ผู้นำทางปัญญา" ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ชุมชนลุกขึ้นมาเรียนรู้และค้นหาทางออก เพื่อให้พึ่งพาตนเอง ไม่ใช่นั่งรอความช่วยเหลือจากรัฐหรือใคร

         ประยงค์ เป็นชาวบ้านธรรมดาที่ไม่ธรรมดา เพราะเขาเป็น "นักเรียนรู้ ที่เรียนไม่รู้จบ" ค้นหาคำตอบ ค้นหาทางออกของปัญหาต่างๆ โดยไม่รอสูตรสำเร็จหรือคำตอบสำเร็จรูปจากที่ไหน ทั้งยังมีบทบาทชวนผู้นำและชาวบ้านที่ไม้เรียงหาคำตอบพร้อมกัน พร้อมกับค้นคิดหา "นวัตกรรมทางสังคม" ที่เหมาะสมกับชุมชนตลอดมา

         ทั้งนี้ บทบาทของ ประยงค์ จะไม่ใช้เงินหรืออำนาจในการเป็นผู้นำ แต่จะใช้ปัญญาที่เกิดจากการเรียนรู้ การสั่งสมข้อมูล เชื่อมโยงข้อมูลให้เป็นความรู้ เอาความรู้ไปสู่การปฏิบัติจนเห็นผล ทำให้ชีวิตดีขึ้น เขาไม่ใช่ผู้นำประเภทสั่งการหรือเดินนำหน้า แต่เป็นเพื่อนคู่คิด มิตรยามยากที่เดินไปกับชุมชน ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ รวมทั้งเป็นต้นคิดของการพัฒนาแบบบูรณาการ โดยการวางแผนการดำเนินการทุกขั้นตอนจากชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชน 

         สำหรับผลงานของประยงค์ เริ่มต้นจากการทำ "แผนแม่บทยางพาราไทย" กับผู้นำชาวสวนยางนครศรีธรรมราช เมื่อปี พ.ศ. 2539 และทำ "แผนแม่บทชุมชน" ในเวลาต่อมา ซึ่งได้กลายเป็นต้นแบบทางความคิดและแนวทางปฏิบัติให้รัฐบาลหน่วยงานต่างๆ ทั้งราชการและเอกชน ตลอดจนสถาบันการศึกษานำไปใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการต่อสู้เพื่อเอาชนะความยากจน 

         นอกจากนั้นประยงค์ ยังเป็นต้นแบบหนึ่งของวิสาหกิจชุมชน ซึ่งหมายถึงการจัดการ "ทุน" ของชุมชนเพื่อการพึ่งตนเองอย่างยั่งยืน ซึ่งทุนในที่นี้ไม่ได้หมายความถึงเฉพาะเงิน แต่รวมถึงทรัพยากร ผลผลิต ความรู้ภูมิปัญญา และทุนทางสังคมด้วย โดยที่ไม้เรียงนั้นก็มีวิสาหกิจชุมชนอยู่หลายกิจกรรมที่เกี่ยวโยงและเกื้อกูลกัน ทำให้ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ วิสาหกิจชุมชนเป็นผลของการทำข้อมูลและทำแผนแม่บทชุมชน โดยชุมชน และเพื่อชุมชนอย่างแท้จริง 

         ประยงค์ ถือเป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการพัฒนาต้นแบบโรงงานแปรรูปยางของชุมชนตำบลไม้เรียง ซึ่งเป็นชุมชนแรกในประเทศไทยที่สร้างโรงงานแปรรูปยางด้วยทุนของตนเอง เมื่อประมาณ 20 ปีมาแล้ว และส่งขายต่างประเทศเป็นรายแรกของ จ.นครศรีธรรมราช ด้วย ทั้งนี้ เขายังเป็นตัวอย่างหนึ่งของการจัดระบบเศรษฐกิจท้องถิ่นตนเอง ทำให้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเกิดขึ้นจริง มีรูปธรรมที่จับต้องได้ มีพื้นฐานมั่นคงและพัฒนาทั้ง 3 ระดับ คือ พึ่งตนเองระดับครอบครัว พึ่งพาอาศัยกันระดับชุมชน และเครือข่าย และนำผลผลิตบางตัวออกไปสู่ตลาดภายนอกเมื่อเห็นว่าสามารถแข่งขันได้ 

         อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากรางวัลแมกไซไซแล้ว ประยงค์ยังได้รับรางวัลและการยกย่องประกาศเกียรติคุณอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น ประกาศเกียรติคุณผู้นำอาชีพก้าวหน้าโดยคณะกรรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ปี 2537 ประกาศเกียรติคุณคนดีศรีสังคม โดยคณะกรรมการคัดเลือกคนดี ปี 2540 ประกาศเกียรติคุณผู้มีผลงานดีเด่นทางด้านวัฒนธรรม โดยสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ ปี 2544 ประกาศเกียรติคุณครูภูมิปัญญาไทย รุ่นที่ 1 โดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ และปี 2546 ได้รับปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิตกิตติมศักดิ์ (รัฐศาสตร์) มหาวิทยาลัยรามคำแหง 

         ขณะที่บทบาทและหน้าที่ของเขาในปัจจุบัน คือ เป็นคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อสังคม (SIF) ธนาคารออมสิน เป็นคณะกรรมการบริหารโครงการเกษตรกรรมยั่งยืน เป็นคณะกรรมการพัฒนาผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ อนุกรรมการประสานงานสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ประธานคณะกรรมการบริษัทเครือข่ายผลิตภัณฑ์อาหารจำกัด (ธุรกิจชุมชน) ประธานศูนย์ศึกษาและพัฒนาชุมชนไม้เรียง วิทยากรกลางด้านการพัฒนาชุมชน แผนแม่บทชุมชน ธุรกิจอุตสาหกรรมชุมชนวิสาหกิจ กรรมการบริหารสถาบันส่งเสริมวิสาหกิจชุมชน กรรมการวิทยาลัยการจัดการทางสังคม ฯลฯ 

         สำหรับ ประยงค์ รณรงค์ เกิดเมื่อ พ.ศ.2480 ปัจจุบันอายุ 72 ปี อยู่บ้านเลขที่ 51 หมู่ที่ 9 ต.ไม้เรียง อ.ฉวาง จ.นครศรีธรรมราช เป็นบุตรของนายห้วง – นางแจ้ง รณรงค์ อาชีพทำสวน ภรรยาชื่อ นางแบบ รณรงค์ มีบุตรธิดา จำนวน 5 คน คือ นายเนาวรัตน์ รณรงค์ อาชีพรับราชการ นายนรินทร์ รณรงค์ อาชีพธุรกิจส่วนตัว นางจริยา โชคประสิทธิ์ อาชีพธุรกิจส่วนตัว นายสาธิต รณรงค์ อาชีพธุรกิจส่วนตัว และนางสาวสุนิสา รณรงค์ อาชีพรับราชการ เขาจบการศึกษาชั้น ป. 4 จากโรงเรียนบ้านนาเส ม.5 ต.นากะชะ อ.ฉวาง 




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- kc.hri.tu.ac.th
- gotoknow.org
- tungsong.com
- nidambe11.net

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 



 

 

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ประยงค์ เจ้าของรางวัล แมกไซไซ ที่เรียนจบแค่ ป.4 อัปเดตล่าสุด 30 เมษายน 2552 เวลา 12:24:06 23,450 อ่าน
TOP