x close

เปิดฉากประชุม สธ.อาเซียน รับมือหวัด 2009

หวัดใหญ่ 2009

H1N1

 


เปิดฉากประชุม สธ.อาเซียน รับมือหวัด 2009 ไร้ม็อบป่วน (มติชนออนไลน์)

          เมื่อเวลา 08.30 น. วันนี้ (7 พฤษภาคม) การประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียน บวก 3 ได้เริ่มขึ้นที่โรงแรมดุสิตธานี ซึ่งการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสวันนี้ จะจัดทำร่างข้อตกลงเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุข 13 ประเทศ ลงนามข้อตกลงร่วมกัน วันพรุ่งนี้ (8 พฤษภาคม)

          ส่วนการรักษาความปลอดภัยระหว่างการประชุม พล.ต.ท.วรพงศ์ ชิวปรีชา ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เปิดเผยถึงมาตรการรักษาความปลอดภัย ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเริ่มการประชุมเป็นวันแรก ว่า ทางตำรวจได้สนธิกำลังกับทางทหาร โดยตำรวจจำนวน 7 กองร้อย และทหาร 18 กองร้อย กระจายกำลังออกเป็น 3 ส่วน ส่วนชั้นในโรงแรม ส่วนชั้นกลาง รอบบริเวณรั้วโรงแรม และส่วนชั้นนอกตามตึกสี่แยก ก่อนจะเข้ามาสู่ตัวโรงแรม เช่น แยกอังรีดูนัง แยกนรารมย์ แยกราชดำริ เพื่อสร้างความมั่นใจกับผู้แทนจากต่างประเทศ ที่ เข้าร่วมประชุมและส่งผลไปถึงความมั่นใจในการประชุมครั้งต่อไปที่ จ.ภูเก็ต 


รายละเอียดการประชุม

          สำหรับการประชุมรัฐมนตรีสาธารณสุขอาเซียนบวก 3 สมัยพิเศษ ว่าด้วยโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช 1 เอ็น 1 : ASEAN + 3 Health Ministers Special Meeting on Influenza A (H1N1) ที่จะมีขึ้นระหว่างวันที่ 7-8 พฤษภาคม ที่โรงแรมดุสิตธานี ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวาระพิเศษเฉพาะกรณีที่มีการระบาดของโรคอุบัติใหม่ ซึ่งที่ผ่านมามีการประชุมลักษณะนี้มาแล้วเพียง 2 ครั้ง คือ การระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือซารส์ และโรคไข้หวัดนก

          สาระสำคัญในการหารือครั้งนี้ นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขระบุวัตถุประสงค์ในการประชุมครั้งนี้เพื่อ 

          1. ทบทวนสถานการณ์การระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ (เอช1เอ็น1) ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมทั้งประเทศอาเซียน+3 

          2. เพื่อปรับมาตรการการป้องกันและควบคุมโรคที่ประเทศต่างๆ ได้ดำเนินการ ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น 

          3. เพื่อแสวงหาวิธีการ มาตรการ และการดำเนินการเพื่อป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค 

          4. เพื่อสร้างพันธสัญญา ของรัฐมนตรีสาธารณสุข+3 ในการป้องกันและควบคุมการระบาดของโรค

          โดยในวันที่ 7 พฤษภาคม จะเป็นการประชุมระดับเจ้าหน้าที่อาวุโสของประเทศสมาชิก เพื่อยกร่างแถลงการณ์ความร่วมมือระดับรัฐมนตรีเรื่องไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ ชนิดเอ เอช1 เอ็น1 หรือ Joint Ministerial Statement on Influenza A (H1 N1) จากนั้นในวันที่ 8 พฤษภาคม จะเป็นการประชุมระดับรัฐมนตรีสาธารณสุข เพื่อตัดสินใจเชิงนโยบาย และลงนามในร่างแถลงการณ์ความร่วมมือระดับอาเซียน ซึ่งถือเป็นพันธสัญญาของอาเซียน+3 ร่วมกัน เพื่อพัฒนาระบบการสกัดกั้นโรคของภูมิภาคมีความแข็งแกร่ง ปกป้องชีวิตของประชากรกว่า 500 ล้านคน ในภูมิภาคนี้ให้ปลอดภัยจากโรคระบาดใหม่

          "ไฮไลต์สำคัญคือ การร่วมรับฟังประสบการณ์ตรงจากประเทศเม็กซิโก สหรัฐอเมริกา ที่พบการระบาดเป็นแห่งแรกในโลกและองค์การอนามัยโลก ที่รายงานสถานการณ์ของโรค รวมถึงรับฟังการเผชิญปัญหาและประสบการณ์แก้ปัญหา ผ่านวิดีโอลิงก์ รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำงานจากประเทศต่างๆ ระดมความคิดและสรุปข้อเสนอ เพื่อให้ได้ข้อตกลงที่จะทำร่วมกัน" นพ.คำนวณกล่าว

          สำหรับกรอบการหารือร่วมกันในเบื้องต้น ประกอบด้วย

          1. ความพร้อมในการซ้อมรับมือการระบาดใหญ่ในอาเซียน

          2. ผลกระทบความเสียหายหลังการระบาดของโรค ทั้งโดยตรง คือการเจ็บป่วย และทางอ้อมคือ ความเสียหายทางด้านเศรษฐกิจ สังคม

          3. การสำรองยาต้านไวรัสโอเซลทามีเวียร์ของแต่ละประเทศ และคลังยาอาเซียนที่สิงคโปร์ เพียงพอหรือไม่ และจะดำเนินการอย่างไรให้ได้ปริมาณที่เพียงพอ เมื่อใดที่จะนำยาออกจากคลังที่ประเทศสิงคโปร์

          4. มาตรการสกัดโรคหากเกิดการระบาดในพื้นที่ โดยเฉพาะตามรอยต่อของประเทศต่างๆ หรือบริเวณที่มีพรมแดนติดกัน จะให้ความช่วยเหลืออย่างไร เมื่อได้รับการร้องขอ จะให้ความช่วยเหลือเรื่องใดบ้าง

          5. ความร่วมมือในการพัฒนาเทคโนโลยี ความช่วยเหลือและการแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี โดยเฉพาะการผลิตวัคซีน และยาต้านไวรัส ซึ่งประเทศในภูมิภาคอาเซียนมีศักยภาพในด้านนี้เต็มที่

          6. การซ้อมแผนระดับภูมิภาค ความช่วยเหลือที่ต้องการจาก WHO เช่น การสร้างระบบฮอตไลน์ การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ปฏิบัติงาน และเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งต้องอาศัยความร่วมมือของทุกประเทศ

          นพ.คำนวณ กล่าวว่า มาตรการทั้งหมด รัฐมนตรีสาธารณสุขของทั้ง 13 ประเทศ จะหารือตกลงผลึกทางความคิดว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะมาตรการสกัดกั้นโรค และการเฝ้าระวังโลก ต้องเป็นมาตรการที่เหมาะสม มีความสมดุลไม่เป็นอุปสรรคต่อการเดินทาง และไม่ทำลายระบบเศรษฐกิจ เช่น การไม่เหมารวมประเทศที่ระบาด จำเป็นต้องแบ่งเป็นพื้นที่เฉพาะ เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นกลัว เพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อภาพรวม

          "โดยเฉพาะในกรณีพบการระบาดในพื้นที่ใดที่หนึ่ง จะจำเป็นหรือไม่ที่จะใช้มาตรการคัดกรองผู้โดยสารขาออกประเทศ โดยเฉพาะประเทศหรือเมืองที่เกิดการระบาดของโรค เพื่อไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยเคลื่อนย้ายไปในพื้นที่อื่น ซึ่งจะได้ประโยชนช์มากกว่าการคัดกรองการเข้าประเทศ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีประเทศใดในโลกดำเนินการวิธีนี้ แต่ไทยจะเสนอมาตรการดังกล่าวเข้าที่ประชุมอาเซียน ส่วนที่ประชุมจะเห็นด้วยหรือไม่นั้น จะต้องพิจารณารอบคอบอีกครั้ง แต่จากการพิจารณาสถานการณ์ของโรคขณะนี้ อาจจะยังไม่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการนี้ แต่เป็นการเตรียมการไว้รองรับหากองค์การอนามัยโลก ประกาศยกระดับความรุนแรงของโรค เป็นระดับที่ 6" นพ.คำนวณระบุ

          สำหรับการประชุมในครั้งนี้ ประเทศสมาชิกอาเซียนให้ความสำคัญเป็นอย่างมากกับการเตรียมความพร้อมรับมือกับการระบาดอย่างเต็มที่ โดยรัฐมนตรีสาธารณสุข และเจ้าหน้าที่อาวุโสจากประเทศสมาชิกอาเซียน +3 ประกอบด้วย บรูไนดารุสซาลาม กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม จีน สาธารณรัฐเกาหลี และญี่ปุ่น รวมทั้งผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศ ได้แก่ องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก องค์การภายใต้องค์การสหประชาชาติ ได้แก่ UNSIC ,FAO,UNDP และศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐอเมริกา (CDC) เดินทางมาร่วมประชุมด้วยตนเอง ยกเว้น พม่า ที่ยังไม่มีความชัดเจน เบื้องต้นได้แจ้งว่ามอบหมายให้เอกอัครราชทูตพม่าประจำประเทศไทยมาร่วมประชุมแทน


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
  
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก
- หนังสือพิมพ์มติชน
- หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดฉากประชุม สธ.อาเซียน รับมือหวัด 2009 อัปเดตล่าสุด 7 พฤษภาคม 2552 เวลา 14:27:31 3,924 อ่าน
TOP