x close

นักเรียนแห่ร้อง สกอ. ถูกตัดสิทธิ์ แอดมิชชั่น

แอดมิชชั่น



แห่ร้องเรียน "สกอ."วันแรก100ราย นร.โวยถูกตัดสิทธิ์"แอดมิสชั่นส์" ทั้งที่สละสิทธิ์สอบตรง-โควตาหมดแล้ว (มติชนออนไลน์)

          นักเรียนแห่โทร.หา สกอ. วันแรก 100 ราย  ข้องใจผลแอดมิชชั่น จี้แจงสละสิทธิ์สอบตรง-โควตา แต่ถูกตัดสิทธิ์แอดมิชชั่นกลาง สกอ.อ้างปีนี้ปัญหาน้อยกว่าทุกปี เล็งแก้ปัญหาประสานมหาวิทยาลัยรองรับ

          ตลอดทั้งวันที่ 8 พฤษภาคม ที่สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) มีนักเรียน และผู้ปกครองจำนวนมากทยอยเดินทางมาร้องเรียนที่ สกอ.รวมถึงโทรศัพท์มาร้องเรียนหลายสิบราย เนื่องจากข้องใจว่าเหตุใดบุตรหลานจึงไม่มีชื่อในประกาศผลการคัดเลือกบุคคล เข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษาในระบบกลางการรับนิสิตนักศึกษา หรือ "แอดมิชชั่นกลาง" ประจำปีการศึกษา 2552 ที่ สกอ.ประกาศทางเว็บไซต์ http://www.cuas.or.th/ และเว็บไซต์พันธมิตรตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคมที่ผ่านมา

          นางศศิธร อหิงสโก ผู้อำนวยการกลุ่มรับบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา สกอ.เปิดเผยว่า ปัญหาส่วนใหญ่ยังคงเป็นปัญหาเดิมๆ เหมือนทุกปี จำแนกออกเป็น 5 ประเภท ได้แก่

          1.นักเรียนที่ถูกตัดสิทธิแอดมิชชั่นกลาง เนื่องจากมหาวิทยาลัยส่งรายชื่อผู้ผ่านการคัดเลือกในระบบรับตรงมาให้ สกอ.ตัดสิทธิ เพื่อไม่ให้กันที่นั่งเด็กคนอื่น

          2.นักเรียนคิดคะแนนรวมผิด โดยนำคะแนนทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง หรือเอเน็ต ที่หมดอายุแล้วมาคำนวณ ทำให้ได้คะแนนที่ไม่ถูกต้อง

          3.นักเรียนมีผลการเรียนรายกลุ่มสาระการเรียนรู้ หรือ "จีพีเอ" ไม่ครบทั้ง 8 กลุ่มสาระ

          4.คะแนนเฉลี่ยสะสมตลอดหลักสูตรมัธยมปลาย หรือ "จีพีเอเอ็กซ์" ไม่ตรงกับฐานข้อมูลที่ทางโรงเรียนส่งมาให้

          5.นักเรียนขาดคุณสมบัติในขั้นตอนของการสมัคร โดยจบ ม.6 หลังจากวันรับสมัคร ทำให้หมดสิทธิสมัคร

          นางศศิธรกล่าวถึงกรณีผู้ร้องถูกตัดสิทธิแอดมิชชั่นกลาง ทั้งๆ ที่ยืนยันการสละสิทธิรับตรงกับมหาวิทยาลัยแล้วว่า ผู้ร้องต้องไปติดต่อกับทางมหาวิทยาลัยนั้นๆ ส่วน สกอ.จะช่วยประสาน และตรวจสอบไปยังมหาวิทยาลัยอีกครั้ง หากพบว่าเด็กได้สละสิทธิอย่างถูกต้อง มหาวิทยาลัยจะต้องคืนสิทธิให้กับเด็กทันที เบื้องต้นที่ได้ประสานไปยังมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้ว พบว่าเด็กยืนยันการสละสิทธิชัดเจน และมหาวิทยาลัยได้คืนสิทธิให้แล้ว 3 ราย ส่วนกรณีอื่นๆ นั้น ได้พยายามชี้แจงตามข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่เข้าใจ อย่างไรก็ตาม ในปีนี้ถือว่าเด็กมาร้องเรียนน้อยมากเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านๆ มา เนื่องจากเด็กส่วนใหญ่เชื่อมั่นในการประมวลผลของ สกอ.

          นายวรพงค์ สุทธิศักดิ์ศรี นักเรียน ม.6 โรงเรียนศรัทธาสมุทร จังหวัดสมุทรสงคราม หนึ่งในผู้มาร้องเรียน กล่าวว่า มั่นใจว่าต้องแอดมิชชั่นกลางติดในคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาวิชาวิศวกรรม แมคคาทรอนิกส์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ซึ่งเลือกเป็นอันดับ 1 เพราะมีคะแนนรวมสูงกว่าคนสุดท้ายที่ติดในคณะนี้ แต่เมื่อสอบถามมายัง สกอ.พบว่าถูกตัดสิทธิแอดมิชชั่นกลาง เนื่องจากติดในระบบรับตรงของคณะวิทยาศาสตร์ประยุกต์ สาขาวิชาฟิสิกส์อุตสาหกรรมและอุปกรณ์การแพทย์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) แล้ว ทั้งที่ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่มหาวิทยาลัยแจ้งว่า หากไม่มารายงานตัว และชำระค่าเล่าเรียน จะถือว่าสละสิทธิจากรับตรงทันที จากนี้คงต้องไปติดต่อกับ มจพ.เพื่อขอให้คืนสิทธิในระบบรับตรง

          นางสาวบุษรินทร์ พลพันธ์ นักเรียน ม.6 โรงเรียนภูเก็ตไทยหัว (ประศาสน์วิทยา) เดินทางจาก จังหวัดภูเก็ต มาร้องเรียนว่า ได้คิดคำนวณคะแนนของตัวเองซึ่งได้ 5,700 คะแนน สามารถติดคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเลือกเป็นอันดับ 1 ได้ แต่จากการประกาศผลแอดมิชชั่นส์กลาง ปรากฏว่าสอบติดอันดับ 4 ในคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อสอบถามมายัง สกอ.พบว่าคะแนนจีพีเอเอ็กซ์ที่ได้รับมาจากโรงเรียนกับฐานข้อมูลคะแนนจีพีเอเอ็กซ์ที่ สกอ.มีอยู่นั้นไม่ตรงกัน ซึ่งถ้าคะแนนจีพีเอเอ็กซ์ที่โรงเรียนส่งมาผิดพลาด จะทำให้คะแนนหายกว่า 500 คะแนน และพลาดคณะหรือมหาวิทยาลัยที่อยากเรียน อีกทั้งโรงเรียนภูเก็ตไทยหัวเพิ่งมีนักเรียนจบ ม.6 เป็นปีแรก จึงอาจเกิดความผิดพลาดในการส่งคะแนนได้ ดังนั้นอยากให้ สกอ.และหน่วยงานที่รับผิดชอบ เร่งตรวจสอบคะแนนด้วย

          นางศศิธรให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมอีกครั้งว่า ตลอดทั้งวันมีผู้ร้องเรียนประมาณ 100 ราย ส่วนใหญ่เป็นปัญหาอมตะ คือสละสิทธิโควต้าหรือรับตรงแล้ว แต่กลับถูกตัดสิทธิแอดมิชชั่นกลาง คาดว่าเกิดจากเด็กกลุ่มนี้ไปสอบสัมภาษณ์ แต่ขอสละสิทธิในภายหลัง ทำให้มหาวิทยาลัยต้องแยกส่งชื่อผู้สละสิทธิโควต้า หรือรับตรง มาให้ สกอ.เพิ่มเติมภายหลัง อย่างไรก็ตาม หากคะแนนของเด็กกลุ่มนี้ติดในมหาวิทยาลัยใด สกอ.จะประสานไปยังมหาวิทยาลัยนั้นๆ เพื่อสอบถามว่าจะรับหรือไม่ ซึ่งที่ผ่านมามหาวิทยาลัยจะรับเข้าเรียน แต่ละปีจะมีกรณีนี้หลายสิบคน

          ด้านนายสุริยา เสถียรกิจอำไพ ผู้อำนวยการศูนย์ให้คำปรึกษาและช่วยเหลือนักศึกษาใหม่ที่ยากจน ปีการศึกษา 2552 กล่าวว่า มีผู้โทรศัพท์เข้ามาขอคำปรึกษา 30 กว่าราย แบ่งเป็น 2 กรณี คือ 1.สอบถามเกี่ยวกับการกู้ยืมเงินกองทุนให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เด็กกลุ่มนี้มีคุณสมบัติกู้กองทุน แต่ยังไม่ทราบรายละเอียด 2.กลุ่มที่พลาดหวังจากแอดมิชชั่น สอบถามว่าจะทำอย่างไร และเรียนที่ไหนดี จึงแนะนำว่ามหาวิทยาลัยรับได้ 1.2 แสนที่นั่ง ที่ผ่านการคัดเลือกในระบบแอดมิชชั่นมีเพียง 8 หมื่นคน ฉะนั้น ยังเหลืออีกประมาณ 5 หมื่นที่นั่ง หากไม่เลือกเรียนเฉพาะในมหาวิทยาลัยชื่อดัง ก็มีที่เรียนแน่นอน นอกจากนี้ มีอยู่ 1 รายโทร.เข้ามาแจ้งความประสงค์จะอุปการะ และให้ทุนการศึกษาแก่ผู้ยากจนจริงๆ หากนักศึกษาประสงค์จะขอรับทุน ก็จะให้ติดต่อพูดคุยกันโดยตรง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก


ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักเรียนแห่ร้อง สกอ. ถูกตัดสิทธิ์ แอดมิชชั่น อัปเดตล่าสุด 9 พฤษภาคม 2552 เวลา 14:28:07 6,898 อ่าน
TOP