x close

แฉโจ๋ใช้ไอทีนัดเสพยา-มีเซ็กส์ คนทำเว็บเผยไม่น่าใช่


คนทำเว็บไม่เชื่อ วัยรุ่นใช้เน็ตแหล่งเสพยา  (ไทยรัฐ)

         ขณะที่จิตแพทย์ชี้ภัยร้ายจากการใช้เทคโนโลยี เผยในห้องสนทนา พบข้อความโพสต์ดึงเสพยาโจ่งแจ้ง ชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้งค้านโลกออนไลน์ไม่เกี่ยวยาเสพติด ส่วนนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ยืนยันติดออนเอ็มและแชตมากกว่า...

         อินเทอร์เน็ตถือเป็นดาบสองคม เพราะหากใช้ไปในทางที่ดีจะให้คุณอนันต์ แต่ถ้าใช้ผิดประเภทก็จะให้โทษมหันต์ได้เช่นกัน แต่ยังมีเด็กและเยาวชนอีกจำนวนมากที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์มักตกเป็นเหยื่อของการใช้อินเทอร์เน็ตผิดประเภท จากเกมออนไลน์ ไฮไฟว์ รวมไปถึงโปรแกรมแชตต่างๆ ที่นอกจากจะชักชวนและพูดคุยถึงเรื่องเซ็กส์แล้ว ยังมีเรื่องของยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้อง และดูเหมือนว่ากำลังจะได้รับความนิยมในหมู่วัยรุ่นเป็นอย่างมาก 



         นพ.วศิน บำรุงชีพ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุราและยาเสพติด โรงพยาบาลมนารมย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้ อัตราการใช้อินเทอร์เน็ตของวัยรุ่นเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว พบว่ากว่า 90% วัยรุ่นมีไฮไฟว์ หรืออีเมล์ส่วนตัว จึงไม่แปลกใจที่วัยรุ่นปัจจุบัน จะมีความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านเทคโนโลยี ขณะเดียวกัน กลับน่าเป็นห่วงมากในการใช้อินเทอร์เน็ตเพราะนอกจากสื่อลามกอนาจารแล้ว ยังมีเรื่องของยาเสพติดเข้ามาเกี่ยวข้องอีกด้วย 

         จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุราและยาเสพติด เปิดเผยต่อว่า เมื่อเข้าไปในห้องสนทนาต่างๆ จะพบว่ามีการโพสต์ข้อความชักชวนกันไปเสพยาเสพติดกันอย่างโจ่งแจ้ง เช่น โปรแกรมแคมฟร็อกที่มีวัยรุ่นโพสต์ข้อความที่ว่า “XXX ใคร ไฮ ไฮ  ป๋ม ไฮค้าง ขอพี่ใหญ่7+อายุ30 นะคาฟป๋ม XXX” หรือ “อยากเล่นสเก็ต อยากไฮต์ รามคำแหงคุยกัน” หรือไม่ก็บอกว่า “ใครสนใจอยากทานน้ำแข็งไสคุยกัน”  ที่ปรากฏอยู่ในห้องสนทนาแทบทุกวัน ข้อความที่โพสต์นั้นหมายถึงการชักชวนกันไปเสพยาไอซ์ และมีเซ็กส์ร่วมด้วย 

         นพ.วศิน ระบุว่า วัตถุประสงค์ของคนที่เข้าไปแชตมีอยู่ 3 ข้อหลักๆ คือ 1.เข้าไปเล่นเพื่อต้องการหาเพื่อนคุย เพื่อความสนุกสนานเพียงอย่างเดียว 2.เข้าไปเล่นเพื่อต้องการหาเซ็กส์   และ 3.เข้าไปเล่นเพื่อต้องการหาเพื่อนเสพยาเสพติด แต่สำหรับการใช้อินเทอร์เน็ตของวัยรุ่นส่วนมากจะเน้นหนักไปที่เรื่องการหาคู่หรือหาเซ็กส์ รวมไปถึงยาเสพติดมากกว่า ทั้งนี้ ถือว่าเป็นการใช้ที่ผิดประเภท ผิดวัตถุประสงค์ โดยเฉพาะยาเสพติด ถือว่าพ่อแม่จะต้องตื่นตัวเฝ้าระวังอยู่ตลอดเวลา



         เมื่อมีคนโพสต์ข้อความชักชวนนัดกันไปปาร์ตี้ พ่อแม่จะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าลูกจะออกไปเสพย์ยาไอซ์ เพราะข้อความและศัพท์แต่ละคำที่วัยรุ่นโพสต์นั้นไม่ได้ชี้เฉพาะเจาะจงว่าเป็นยาเสพติด หากพ่อแม่ไม่ได้ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆน้อยๆ เหล่านี้ก็อาจจะทำให้บุตรหลานเข้าไปอยู่ในวงจรอุบาทว์ได้ในที่สุด ผลกระทบที่ตามมานอกจากเสียสุขภาพแล้ว ผลการเรียนหรือการทำงานอาจจะลดลง ยิ่งไปกว่านั้นถ้าหากเด็กเสพย์ยาแล้วมีเรื่องของเพศสัมพันธ์ร่วมด้วยก็อาจเสี่ยงกับโรคติดต่อ หรือไม่ก็อาจจะกลายเป็นเหยื่อของพวกที่ชอบถ่ายคลิปหรือภาพโป๊ แล้วเอามาโพสต์ในอินเทอร์เน็ต สร้างความอับอายและเสื่อมเสียตามมามากมาย” จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุราและยาเสพติด กล่าว

         สำหรับสาเหตุที่ทำให้เด็กติดยาเสพติดนั้น นพ.วศิน ระบุต่อว่า เกิดจากปัจจัย 2 อย่างคือ ปัจจัยภายใน คือตัวของเด็กเอง โดยอาจจะมีปัญหาด้านครอบครัว ขาดความอบอุ่น พ่อแม่ไม่มีเวลาให้ลูก ทำให้ไม่มีเวลาสอนทักษะในการปฏิเสธการชักชวนไปในทางที่ผิด สอนให้เด็กรู้ภัยอันตรายต่างๆ หรือสอนให้ลูกรู้จักอดทนอดกลั้น ส่วนปัจจัยภายนอก คืออินเทอร์เน็ตที่เข้ามามีผลกระทบทำให้เด็กเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้ 

         จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุราและยาเสพติด ทิ้งท้ายด้วยว่า น่าเสียดายมากที่พ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับเรื่องการใช้อินเทอร์เน็ต ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเรื่องยาเสพติดไปไกลกว่าที่คิดยากที่จะตามทัน หากพ่อแม่ไม่หาเวลาเพื่อหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องของยาเสพติดแล้ว โอกาสที่ลูกจะเข้าไปอยู่ในวงจรดังกล่าวก็มีสูง ถึงวันนั้นแล้วจะรีบมาหาทางแก้ไขก็คงไม่ทัน 

         นางภูมิจิต ศิระวงศ์ประเสริฐ ประธานชมรมผู้ประกอบการธุรกิจโฮสติ้ง แสดงความเห็นว่า จากการคลุกคลีในวงการอินเทอร์เน็ตมากว่า 10 ปี ยังไม่พบรายงานว่า โลกออนไลน์จะเป็นช่องทางให้วัยรุ่นใช้ยาเสพติด เนื่องจาก ผู้ใช้ส่วนใหญ่จะติดต่อ พูดคุยกัน แลกเปลี่ยนความเห็นกันมากกว่า ขณะเดียวกัน ถ้ามีคงไม่เกี่ยวกับข้องกับโลกอินเทอร์เน็ต แต่ใช้ช่องทางอื่นมากกว่า

         พ.ต.อ.ญาณพล ยั่งยืน รักษาการรองเลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ หรือ ป.ป.ท. ในฐานะนายกสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ชี้แจงว่า ภัยยาเสพติดที่แฝงมาเข้ามาในอินเทอร์เน็ตมีน้อย แต่จะมากในลักษณะการแชตคุยกัน ล่อลวง หรือการนัดไปเที่ยว โดยมียาเป็นตัวล่อมากกว่า ทั้งนี้ เรื่องขายยาเสพติดบนเว็บคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากสืบจับกุมได้ง่าย



         "ที่ผ่านมายังไม่มีคดีเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะถ้ามีจะรีบดูแลทันที แต่ที่พบมีแต่ใช้อินเทอร์เน็ตแล้วติดเหมือนยาเสพติด อย่าง เกม แชต ถ้าไม่ได้แชท ไม่ได้ออนเอ็ม จะรู้สึกหงุดหงิด ใช้กันจนติดเป็นนิสัยมากกว่า" นายกสมาคมผู้ดูแลเว็บฯ กล่าว

         พ.ต.อ.ญาณพล ย้ำด้วยว่า ช่องทางจำหน่ายยาเสพติดทางอินเทอร์เน็ตยังไม่เกิดขึ้น แต่เป็นไปได้ว่ามีบ้างเล็กน้อย หรืออาจจะรู้เฉพาะในกลุ่ม ทั้งนี้ คนในกลุ่มไม่จำเป็นต้องออนไลน์ แค่รู้จักและโทรศัพท์ก็รับยาได้ ขณะเดียวกัน อาจเป็นการโอ้อวดสรรพคุณให้เกิดความน่าสนใจอยากซื้อ เนื่องจากบางคนไม่ต้องการเงินจากการแชต แต่ต้องการยา เพราะหายากกว่า อย่างไรก็ตาม พ่อแม่ ผู้ปกครองควรให้ความอบอุ่นกับวัยรุ่น เพราะเหมือนการป้องกันภัยวัยรุ่น

         ไม่ว่าปัญหายาเสพติดจะเกิดขึ้นบนโลกอินเทอร์เน็ตหรือไม่ก็ตาม สิ่งที่ทุกคนตระหนักคือความใส่ใจของทุกฝ่าย โดยเริ่มจากสถาบันครอบครัว สิ่งที่พ่อแม่จะทำได้ดีที่สุดคือ จะต้องตื่นตัวหันมามองปัญหานี่อย่างจริงจัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก็ไม่ควรปล่อยปละละเลย โดยปล่อยให้วัวหายแล้วล้อมคอก เหมือนปัญหาต่างๆ ที่เคยขึ้น เพราะคอกในแง่ของยาเสพติดนั้นกว้างมากเกินกว่าที่จะล้อมไหว...


ศึกษาและเรียนรู้การใช้อินเทอร์เน็ตอย่างถูกวิธีได้ที่




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

โดย : กนกรัตน์ โกวิชัย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
แฉโจ๋ใช้ไอทีนัดเสพยา-มีเซ็กส์ คนทำเว็บเผยไม่น่าใช่ อัปเดตล่าสุด 18 พฤษภาคม 2552 เวลา 11:38:15 22,042 อ่าน
TOP