x close

นักวิชาการชี้ คนรอบสุวรรณภูมิ เสี่ยงโรคหัวใจ

สนามบินสุวรรณภูมิ



นักวิชาการชี้ คนรอบสุวรรณภูมิ เสี่ยงโรคหัวใจ (คมชัดลึก)

          นักวิชาการ ทส.เสนอซื้อที่ดินรอบแนวรันเวย์ 3-4 สุวรรณภูมิ ก่อนขยายเสร็จ พร้อมเปลี่ยนผังเป็นสีม่วง เน้นทำระบบโลจิสติกส์ สกัดผลกระทบเสียงและมลพิษ เตรียมเปิดผลศึกษาใหม่ในอีก 5 เดือนยืนยันค่าความถี่ต่ำเสี่ยงต่อโรคหัวใจ

          จากการสัมมนาเรื่อง "เปิดรายงานใหม่ปัญหาเสียงสนามบินสุวรรณภูมิ" จัดโดยชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม นายธนาพันธ์ สุกสอาด ผู้อำนวยการส่วนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านเสียงและความสั่นสะเทือน ศูนย์วิจัยและฝึกอบรมด้านสิ่งแวดล้อม กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวว่า จากการประเมินผลกระทบด้านเสียง และแรงสั่นสะเทือนจากการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ ของการท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) มาแล้ว 3 ปีพบว่า ปัญหามลพิษทางเสียงยังคงเป็นอันดับ 1 และก่อให้เกิดภาวะทางสุขภาพตามมา ทั้งเรื่องของความเครียด โรคภูมิแพ้จากไอของน้ำมันเครื่องบิน โรคหูดับ เป็นต้น 

          เนื่องจากที่ผ่านมาการกำหนดแนวเส้นเสียง (เอ็นอีเอฟ) ในรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่กำหนดไว้ราว 33 ตร.กม.นั้น มีการประเมินเที่ยวบินต่ำกว่าความเป็นจริงโดยกำหนดเพียง 640 เที่ยวบินต่อวันเท่านั้น แต่หลังจากเปิดใช้เพิ่มขึ้นเป็น 730 เที่ยวบินต่อวัน โดยชุมชนที่หลุดจากแนวเส้นเสียงออกไป เช่น หมู่บ้านเคหะนครธน 2 ชุมชนหลังสวน ซึ่งอยู่ในแนวเอ็นอีเอฟ 30 และได้รับผลกระทบทั้งหมู่บ้านมีการตรวจวัดเสียงดังกว่า 80-85 เดซิเบล เอ ส่วนในแนว 40 จะมีความดังตั้งแต่ 95-100 เดซิเบล เอขึ้นไป ทั้งที่ในอีไอเอก็ชัดเจนว่าหากชุมชนไหนได้รับผลกระทบต้องนำเอาชุมชนออกจากพื้นที่ก่อนเปิด 5 เดือน

          นายธนาพันธ์ กล่าวว่า ขณะที่ปัญหาเสียงในช่วงขาขึ้นของเครื่องบินนั้นจะมีมากกว่าเนื่องจากต้องใช้พลังงานทำให้เครื่องบินแผดเสียงดัง ส่วนตอนขาลงพบว่า บางจังหวะจะมีลมหมุนจากเครื่องบิน ที่มีความเร็วประมาณ 100 ไมล์ต่อชั่วโมงมาจากตัวปีกเครื่องบินส่งผลให้หลังคาบ้าน และวัดที่อยู่ในรัศมี 10 กม.จากรันเวย์หลุดร่วงลงมาจำนวนมาก ทั้งนี้โดยโอกาสที่จะเกิดลมหมุนและสร้างความเสียหายกับหลังคามักจะเกิดในช่วงลมสงบนิ่งมากกว่าลมแรง

          นอกจากนี้ล่าสุดศูนย์วิจัยกำลังทำการศึกษาเรื่องของผลกระทบทางเสียงที่มีผลต่อผู้มีความไวต่อการรับเสียงที่มีคลื่นเสียงต่ำกว่า 20-100 เฮิรตซ์ในชุมชนรอบเขตสนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินเชียงใหม่ และชุมชนที่อยู่ริมถนนในเขตกทม. เนื่องจาก ตามปกติหูของคนทั่วไปจะรับความถี่ได้ ตั้งแต่ 1-20, 000 เฮิรตซ์ แต่คนที่ไวต่อการรับความถี่ต่ำมากๆ ได้นั้นจะมีผลต่อจังหวะการเต้นของหัวใจ เหมือนกับรถยนต์ที่ติดตั้งเครื่องเสียงและเปิดดังกระหึ่มอยู่ตลอดเวลา จะส่งผลให้ร่างกายคนที่มีความอ่อนไหวมากๆ ไม่สามารถรับเสียงระดับต่ำได้เลย ทำให้ร่างกายไม่ได้พักผ่อน เกิดภาวะเครียดและเคยมีรายงานของต่างประเทศยืนยันว่าคนที่มีความเสี่ยงดังกล่าวที่อยู่ใกล้สนามบินจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจมากกว่าพื้นที่อื่นๆ และเริ่มพบปัญหานี้ที่สนามบินสุวรรณภูมิอยู่ด้วย ทั้งนี้คาดว่าผลการวิจัยจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือนตุลาคมนี้

          "แนวโน้มผู้ได้รับผลกระทบจะเพิ่มมากขึ้น เพราะการขยายตัวของชุมชนใหม่ที่เข้าไปสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวเชื่อมระหว่างแนวเส้นเสียงที่เป็นอันตรายกับพื้นที่ปกติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ทำธุรกิจบ้านจัดสรร ที่พากันไปกว้านซื้อที่ดินในบริเวณนี้ โดยไม่ทราบว่าในอนาคตหาก ทอท. มีการขยายรันเวย์ที่ 3 และ 4 เพิ่มเติม ซึ่งปัจจุบันอีไอเอของรันเวย์ยังอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ สผ. และแนวเส้นเสียงที่เป็นอันตรายก็จะต้องเพิ่มขึ้นอีกจนถึงถนนกิ่งแก้ว ดังนั้น อยากเสนอให้รัฐตีกรอบแนวเส้นเสียงครอบคลุมเต็มพื้นที่ของรันเวย์ 3 และ 4 เอาไว้เลย ห้ามปลูกสร้างที่อยู่อาศัย แต่เปลี่ยนพื้นที่อุตสาหกรรมสีม่วง เน้นระบบโลจิสติกส์ โกดังสินค้า กระจายสินค้าฝั่งตะวันออก เพื่อบล็อกปัญหาที่จะเกิดในอนาคต ทั้งนี้เคยเสนอไปที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม แต่ขาดหน่วยงานที่มีอำนาจตัดสินใจ" นายธนาพันธ์ ระบุ

          ด้านนายธนทศ ปรีเปรม ตัวแทนชาวบ้านชุมชนเคหะนคร 2 และชุมชนหลังสวน กล่าวว่า ตลอดเวลาตั้งแต่สนามบินสุวรรณภูมิเปิดใช้ ชาวบ้านต้องประสบกับปัญหาหลายอย่างไม่ว่าจะเป็นปัญหาด้านสุขภาพ และหรือสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นปัญหาเดิมๆ ที่พูดไปหลายครั้งแล้ว แต่ก็ไม่เคยได้รับการแก้ไข จนขณะนี้ชาวบ้านหลายคนเริ่มถอดใจ เพราะคิดว่าเรียกร้องต่อสู้ไปก็ไม่ได้ประโยชน์ บางรายยอมที่จะรับเงินจาก ทอท.มาถึงแม้จะรู้ว่าไม่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาเรื่องเสียงที่ต้องทนอยู่ทุกวันได้ ซึ่งตนก็เชื่อว่า เงินจำนวนนั้นคงไม่สามารถเยียวยาเรื่องสุขภาพที่ต้องสูญเสียไปของชาวบ้านได้ เพราะขณะนี้หลายคนต้องเป็นโรคร้ายแรง ไม่ว่าจะเป็น มะเร็ง หัวใจ ภูมิแพ้ หรือ แม้กระทั่งพิการ เสียชีวิตไปก็มี

          "นอกจากนี้สิ่งที่ชาวบ้านกลัวมากในขณะนี้ก็คือการขยายตัวของ ปั๊มแก๊ส เอ็นจีวี ซึ่งขณะนี้พบว่าเกิดขึ้นบนถนนเส้นทางรอบๆ สนามบินหลายแห่ง โดยเฉพาะมีอยู่แห่งหนึ่งที่อยู่บนแนวขึ้นลงของเครื่องบิน เรียกได้ว่ามีเครื่องบินๆ อยู่เหนือปั๊มแก๊สเลยทีเดียว พวกเรากลัวหากมีเหตุไม่คาดฝัน หรือมีชิ้นส่วน หรืออุบัติเหตุอะไรเกิดขึ้น ปั๊มแก๊สเหล่านี้อาจจะระเบิดทำความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินของชาวบ้านขึ้นได้ ตอนนี้ชาวบ้านกลัว และไม่รู้ว่าทำไมถึงได้มีปั๊มแก๊สอยู่ใกล้กับเส้นทางขึ้นลงของเครื่องบินได้ด้วยหรือ" นายธนทศกล่าว


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
นักวิชาการชี้ คนรอบสุวรรณภูมิ เสี่ยงโรคหัวใจ อัปเดตล่าสุด 19 พฤษภาคม 2552 เวลา 13:43:38 9,210 อ่าน
TOP