x close

ขาดแคลน อาจารย์ใหญ่ ญาติแจ้งช้าศพเน่า ไม่ทันสอน



วิกฤตขาดแคลน"อาจารย์ใหญ่" ญาติแจ้งช้า"ศพเน่า"ไม่ทันใช้สอน มอ.สงขลาหวั่นไฟใต้ไม่กล้าไปรับ (มติชนออนไลน์)       

          จุฬาฯ ชี้วิกฤต"อาจารย์ใหญ่" เหตุหนึ่งมาจากญาติแจ้งช้า ทำให้ศพเน่าใช้การไม่ได้ แนะให้ใช้น้ำแข็งวางช่องท้อง "พระมงกุฎ"เฉลี่ยรับปีละ 20 ร่าง ให้นักเรียนศึกษา 6:1 มอ.สงขลาเจอปัญหาความไม่สงบภาคใต้ ไม่กล้าออกไปรับศพบริจาค

         จากกรณีข่าวเกิดวิกฤต "อาจารย์ใหญ่" ขาดแคลน อันเนื่องมาจากตัวเลขการบริจาคร่างไร้วิญญาณที่พร้อมจะให้นิสิต นักศึกษาแพทย์ แพทย์ฝึกหัด รวมทั้งอาจารย์แพทย์ใช้เป็นตำราเรียนเริ่มลดน้อยลงทุกๆ ปี จนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ส่งผลกระทบกับการเรียนการสอนวิชาแพทย์หลายสถาบันนั้น 

         เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม รศ.นพ.ธันวา ตันสถิตย์ หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ ผู้อำนวยการศูนย์การฝึกผ่าตัด คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า อีกปัญหาที่ทำให้ขาดแคลนอาจารย์ใหญ่ เกิดจากเมื่อผู้ที่แสดงความจำนงบริจาคร่างกายเสียชีวิต ญาติติดต่อแจ้งมายังศูนย์บริจาคร่างกายล่าช้า ทำให้ศพเน่าและไม่สามารถนำมาใช้ได้ 

         "ร่างกายของมนุษย์เมื่อเสียชีวิต ส่วนที่เน่าเร็วที่สุดคือ ช่องท้อง หากแจ้งบริจาคร่างกายช้ากว่า 12-18 ชั่วโมง ร่างจะไม่สามารถใช้ได้ ดังนั้น หากมีการเสียชีวิตเกิดขึ้น ญาติควรรีบแจ้งมายังศูนย์ฯ ทันทีภายใน 12-18 ชั่วโมง โดยไม่ต้องรอใบมรณะบัตรจากอำเภอ ขอเพียงใบชันสูตรของตำรวจหรือแพทย์ผู้ตรวจศพก็พอ เพราะหากข้ามวัน ร่างจะเริ่มเน่าทำให้คุณภาพของอาจารย์ใหญ่ไม่ค่อยดี และระหว่างที่รอให้เจ้าหน้าที่ไปรับศพให้นำถุงน้ำแข็งวางบริเวณท้องน้อยของศพ การทำเช่นนี้จะช่วยทำให้ศพเน่าช้าลง" รศ.นพ.ธันวา กล่าว และว่า อาจารย์ใหญ่จะได้รับการแสดงความเคารพจากคณาจารย์และนิสิตแพทย์อย่างสมเกียรติ ที่สำคัญเมื่อเรียนจบ 1 ปี ร่างอาจารย์ใหญ่ยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ในการจัดพิธีพระราชทานเพลิงศพเป็นกรณีพิเศษด้วย โดยญาติไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น 

         ด้าน พ.อ.มานพ ชัยมัติ อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ กองการศึกษา วิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า ตัวเลขการบริจาคร่างอาจารย์ใหญ่ในส่วนของวิทยาลัยแพทย์ศาสตร์พระมงกุฎเกล้า ถือว่าไม่มาก แต่ละปีจะเฉลี่ยอยู่ที่ 20 ร่าง โดยนักศึกษาแพทย์จะใช้เรียนในสัดส่วนนักเรียนแพทย์ 6 คนต่ออาจารย์ใหญ่ 1 ร่าง และจะใช้เรียนตลอดทั้งปี ส่วนแพทย์ฝึกหัดผ่าตัดจะมีร่างอาจารย์ใหญ่เพียง 2 ร่างต่อปี ซึ่งดูจากตัวเลขถือว่าค่อนข้างน้อย 

         "สาเหตุที่คนบริจาคร่างอาจารย์ใหญ่เข้ามาน้อย อาจจะสรุปได้ลำบาก แต่ส่วนหนึ่งคือ วิทยาการทางการแพทย์ก้าวหน้ามากขึ้น ทำให้คนมีอายุยืนยาวขึ้น บางคนแจ้งความจำนงค์บริจาคร่างกายตอนอายุ 40 ปี แต่เสียชีวิตตอนอายุ 80 ปี ทำให้จำนวนอาจารย์ใหญ่ที่จะได้รับมาแต่ละปีจึงมีไม่มาก บางปีหากขาดแคลนอาจารย์ใหญ่จริงๆ คงต้องติดขอไปยังคณะแพทย์ศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เนื่องจากมีร่างอาจารย์ใหญ่ค่อนข้างมาก" พ.อ.มานพ กล่าว 

         ผศ.พรพิมล คีรีรัตน์ หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์(มอ.) เปิดเผยว่า มอ.สงขลา ประสบปัญหาอาจารย์ใหญ่ไม่พอเช่นกัน แต่ละปีจะมีอาจารย์ใหญ่ 40-50 ร่างในการเรียนการสอน ซึ่งถือว่าไม่เพียงพอ แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพการเรียนการสอน เพียงทำให้นักศึกษาได้เรียนรู้จริงไม่ทั่วถึง ซึ่งได้แก้ปัญหาโดยให้นักศึกษาจัดกลุ่มให้เยอะขึ้นตามจำนวนอาจารย์ใหญ่ที่มี หากเป็นไปได้ น่าจะมีอาจารย์เพิ่มอีกปีละ 10 ร่าง จะทำให้การเรียนการสอนของนักศึกษาทั่วถึงมากขึ้น  แต่ปีใดที่มีร่างอาจารย์ใหญ่น้อยกว่านี้ ก็จะขอความอนุเคราะห์ไปยังโรงพยาบาลศิริราช ขอร่างอาจารย์ใหญ่มาเสริม ทั้งนี้ช่วงหลายปีที่ผ่านมามีประชาชนจาก 14 จังหวัดภาคใต้แสดงความจำนงค์บริจาคร่างเป็นอาจารย์ใหญ่เพิ่มมากขึ้น โดยขณะนี้มีกว่า 6,000 ราย 

         "ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทำให้เรามีอาจารย์ใหญ่น้อย เนื่องจากสถานการณ์ไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้เราไม่กล้าจัดส่งเจ้าหน้าที่ไปรับร่างของอาจารย์" ผศ.พรพิมล กล่าว 

         พญ.ผาสุก มหรรฆานุเคราะห์ หัวหน้าภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.) กล่าวว่า แต่ละปีการศึกษา คณะแพทยศาสตร์ มช.ต้องใช้อาจารย์ใหญ่ประมาณ 300 ร่าง แต่ไม่ประสบปัญหาไม่เพียงพอ โดยหลังจากโรงพยาบาลได้รับศพของผู้อุทิศร่างกายก็จะนำมาฉีดน้ำยารักษาศพ และนำศพลงแช่ในน้ำยาอีกครั้ง ใช้เวลา 2 ปี จึงจะนำขึ้นมาเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้ หรือเพื่อทำโครงกระดูกไว้ศึกษา

         พญ.ผาสุก กล่าวว่า ที่ผ่านมาได้รับการอนุเคราะห์จากผู้มีกุศลจิตบริจาคร่างกายอย่างต่อเนื่อง ทำให้รถยนต์ที่ใช้ในการเดินทางไปรับร่างอาจารย์ใหญ่มีสภาพทรุดโทรม จึงตั้งกองทุนเพื่อจัดซื้อรถยนต์รับร่างอาจารย์ใหญ่ ผู้มีจิตศรัทธาสามารถติดต่อสมทบทุนได้ที่ภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มช.โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ เช่นเดียวกับการติดต่อขออุทิศร่างกาย หรือติดต่อได้ที่โทร. 0-5394-5312  หรือโอนเงินผ่านบัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ สาขาคณะแทยศาสตร์ มช.เลขที่บัญชี 566-477327-3 ชื่อบัญชีรถรับร่างอาจารย์ใหญ่ 

         รศ.พรทิพย์ บุญเรืองศรี อาจารย์ประจำภาควิชากายวิภาคศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น(มข.) กล่าวว่า  ตั้งแต่ปี 2516 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ศรัทธาลงทะเบียนบริจาคร่างกาย ปีละประมาณ 1,000 - 2,000 ราย ขณะนี้มีรายชื่อผู้บริจาคอยู่เกือบ 40,000 ราย แต่ไม่ได้หมายความว่า มีอาจารย์ใหญ่เข้ามาให้นักศึกษาได้เรียนรู้ทั้งหมด เนื่องจากผู้บริจาคยังไม่เสียชีวิต และบางรายที่เสียชีวิตก็มีข้อจำกัดไม่สามารถนำร่างมาใช้ประกอบการเรียนการสอนได้ เช่น เสียชีวิตจากโรคติดต่อร้ายแรง เสียชีวิตจากอุบัติเหตุและอวัยวะส่วนใหญ่ได้รับความเสียหาย  

         "มีสถาบันการศึกษาหลายแห่งติดต่อขอให้ภาควิชาฯ ส่งร่างของอาจารย์ใหญ่ เพื่อใช้ประกอบการเรียนการสอน เช่น  มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  มหาวิทยาลัยนเรศวร จ.พิษณุโลก มหาวิทยาลัยนเรศวร วิทยาเขตลำปาง  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี จ.นครราชสีมา มหาวิทยาลัยมหิดล รวมทั้งการนำอาจารย์ใหญ่มาใช้ในงานวิจัยทางวิชาการ เนื่องจากทางภาควิชาฯ มีความพร้อมและมีการจัดการที่ดี" รศ.พรทิพย์ กล่าว 



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ขาดแคลน อาจารย์ใหญ่ ญาติแจ้งช้าศพเน่า ไม่ทันสอน อัปเดตล่าสุด 23 พฤษภาคม 2552 เวลา 15:50:20 20,688 อ่าน
TOP