x close

รับมือ สุขภาพเท้า จากหน้าร้อนสู่หน้าฝน

เท้า

รับมือ สุขภาพเท้า จากหน้าร้อนสู่หน้าฝน (ชีวจิต)

         นายแพทย์สุมนัส บุณยะรัตเวช ภาควิชาตจวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล อธิบายความสัมพันธ์ของโรคเท้ากับฤดูกาลว่า "สำหรับเมืองไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ทำให้สภาพผิวหนังของคนไทยมีโอกาสสัมผัสกับเชื้อโรคต่างๆ ได้มาก โดยเฉพาะฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนอบอ้าวเช่นนี้ ทำให้มีเหงื่อออกเยอะ ซึ่งคนไข้ส่วนหนึ่งจะมาพบหมอด้วยโรคเหงื่อออกมากอย่างผิดปกติ หรือภาษาแพทย์เรียกว่า Hyperhidrosis ซึ่งมักเกิดขึ้นตามฝ่ามือและฝ่าเท้า"

         "นอกจากน่ารำคาญใจแล้ว เหงื่อที่ออกมากๆ ในฤดูร้อน ยังตามมาด้วยความชื้นในฤดูฝน ซึ่งความชื้นที่พูดถึงนี้เป็นปัจจัยสนับสนุนอย่างดีเยี่ยมในการเติบโตของพวกเชื้อโรค และเป็นสาเหตุของการติดเชื้อโรคที่ผิวหนังนั่นเอง"

โรคเท้าเหม็น (Pitted Karatolysis)

         เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียประจำถิ่น อาการสำคัญของโรคนี้ที่พบบ่อยสุดถึงร้อยละ 90 คือ เท้ามีกลิ่นเหม็น ส่วนอาการรองลงมาที่พบร้อยละ 70 คือ เวลาถอดถุงเท้าจะรู้สึกว่าถุงเท้าติดกับฝ่าเท้า ส่วนอาการคันนั้นพบได้น้อยคือ ร้อยละ 8

         นอกจากการมีเหงื่อออกเท้ามากจนเกิดความอับชื้นในหน้าร้อนแล้ว สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการติดเชื้อแบคทีเรีย ยังเกิดจากการใส่ถุงเท้าและรองเท้าอบอยู่ทั้งวัน รวมถึงการไม่หมั่นทำความสะอาดเท้าและรองเท้าอย่างสม่ำเสมอ เมื่อต้องลุยน้ำท่วมขังในหน้าฝน จึงส่งผลให้เกิดกลิ่นขึ้นได้เช่นกัน

         ลักษณะอาการของโรคเท้าเหม็นคือมีหลุมเปื่อยเล็กๆ ที่ฝ่าเท้า บางครั้งหลุมอาจรวมตัวกันเป็นแอ่งเว้าตื้นๆ ดูคล้ายแผนที่ มักพบหลุมเหล่านี้บริเวณที่ต้องรับน้ำหนักและง่ามนิ้วเท้า ถ้าขูดผิวหนังที่มีอาการและนำไปย้อมเชื้อจะพบเชื้อแบคทีเรียเป็นสีน้ำเงิน แต่โดยทั่วไปโรคนี้ดูจากลักษณะภายนอกก็บอกได้

โรคเชื้อราที่เท้า (Tinea Pedis)

         คำว่า Tinea Pedis หรือชาวบ้านรู้จักกันดีในชื่อ โรคน้ำกัดเท้าหรือฮ่องกงฟุต เกิดจากเชื้อราชนิดหนึ่ง ซึ่งสามารถก่อโรคที่ผิวหนังได้ โดยเฉพาะที่เท้า ซอกนิ้วเท้า และเล็บเท้า แม้บางครั้งโรคผิวหนังที่ว่าอาจไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเชื้อราอย่างเดียว แต่เพราะมีเชื้อแบคทีเรียมาร่วมด้วย

         ปัจจัยส่งเสริมให้เกิดการติดเชื้อราที่เท้าคือความชื้นและความเปียก ซึ่งเกิดขึ้นได้ทั้งในฤดูร้อนที่มีอากาศร้อนอบอ้าว และฤดูฝนที่มีฝนตกน้ำท่วมขัง คนที่ต้องลุยน้ำท่วมหรือเดินเท้าเปล่าตามพื้นดินแฉะๆ จะได้รับเชื้อโดยตรง อย่างอาชีพเกษตรกร

         รวมถึงในกลุ่มอาชีพที่ต้องสวมรองเท้าทำงานทั้งวัน เพราะรองเท้าทำให้เกิดความอับชื้น และกลายเป็นบ่อเกิดของเชื้อรา ซึ่งจะเจริญเติบโตได้ดี นอกจากนี้ยังพบได้บ่อยในผู้ใหญ่ โดยเฉพาะคนสูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น คนไข้โรคเบาหวาน โรคหลอดเลือดตีบ ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง มีความผิดปกติของเส้นเลือดที่เท้า รวมถึงผู้มีปัญหากระดูกเท้าผิดรูป เป็นต้น

         คุณหมอสุมนัสอธิบายลักษณะอาการและความเข้าใจผิดของโรคเชื้อราที่เท้าให้ฟังว่า "ลักษณะผื่นที่เกิดขึ้นมีได้หลายแบบ ได้แก่ ผื่นขาวยุ่ยที่ง่ามเท้า ตุ่มน้ำพองที่ฝ่าเท้า หรือฝ่าเท้าแดงมากจนเป็นขุย อาจมีโรคเชื้อราที่เล็บเท้าร่วมด้วย ซึ่งมีอาการที่สังเกตเห็นได้ เช่น ใต้เล็บมีลักษณะหนา มีการหลุดร่อนระหว่างเล็บกับฐานเล็บ เล็บอาจมีการผุกร่อน หรือเปลี่ยนสีเช่นเป็นสีขุ่นขาวได้"

         คุณหมอยังย้ำว่า “โรคเชื้อราที่เท้าเกิดจากเชื้อราได้หลายชนิด แต่ที่พบบ่อยๆ คือ เชื้อยีสต์แคนดิดา เชื้อกลาก และเชื้อกลากเทียม การสังเกตอาการของโรคดังกล่าวจึงทำได้ค่อนข้างยาก แม้กระทั่งหมอผิวหนังที่ชำนาญยังอาจดูผิดพลาดได้ ทางที่ดีจึงควรได้รับการตรวจยืนยันจากห้องปฏิบัติการหรือแล็บ โดยการขูดหรือการเพาะเชื้อจากผู้เชี่ยวชาญ จากประสบการณ์ของผมพบว่า คนส่วนใหญ่เมื่อมีอาการผิดปกติที่เท้ามักคิดว่าเป็นโรคเชื้อราที่เท้าไว้ก่อน โดยที่ความจริงโรคที่เป็นอาจไม่ได้เกิดจากเชื้อรา และหลายคนมักซื้อยามาใช้เองแบบผิดๆ ถูกๆ นอกจากโรคไม่หายแล้ว ยังบดบังรอยโรคเดิม เมื่อมาหาหมอก็ทำให้การวินิจฉัยโรคได้ยากขึ้น”

         อย่างไรก็ตาม ทางที่ดีคงต้องส่งขูดตรวจผิวหนังและเพาะเชื้อดู เพราะเมื่อติดเชื้อราแล้วมีโอกาสเกิดโรคซ้ำๆ ซึ่งคุณหมอย้ำว่า "ถึงแม้จะใช้ยาทาจนดูเหมือนหายดี แต่มักจะมีเชื้อหลงเหลืออยู่ เมื่อเท้าอับชื้นขึ้นเมื่อใด เชื้อราก็จะลุกลามขึ้นมาใหม่ ทำให้เกิดอาการเป็นๆ หายๆ อยู่เป็นประจำ การดูแลป้องกันโรคเชื้อราที่เท้าไม่ให้กลับเป็นซ้ำอีกจึงมีความสำคัญ หากมีอาการรุนแรงและเรื้อรัง ควรปรึกษาแพทย์ ไม่ควรซื้อยารับประทานเอง เพราะอาจจะมีผลข้างเคียงต่อตับไต และควรรักษาอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรหยุดใช้ยาเอง แม้ว่าจะดีขึ้น การหยุดยาเร็วเกินไปขณะที่เชื้อยังไม่หมด มีโอกาสกลับเป็นซ้ำอีกได้ง่าย"

โรคจากอุบัติเหตุและภยันตรายที่เกิดกับเท้า

         ไม่ว่าจะเป็นการถูกแมลงสัตว์กัดต่อย เช่น งู แมงป่อง ตะขาบ หรือสัตว์มีพิษชนิดต่างๆ ที่มักหนีน้ำมาอาศัยอยู่ตามบ้านเรือน ตลอดจนอุบัติเหตุที่คาดไม่ถึง เช่น เตะเสี้ยนไม้ เหยียบตะปู หรือเหยียบเศษแก้วจนได้รับบาดเจ็บ นอกจากจะเกิดบาดแผลขึ้นที่เท้าแล้ว อาจเกิดการติดเชื้อบาดทะยัก และมีการติดเชื้อซ้ำซ้อนได้อีก ทางที่ดีจึงควรหลีกเลี่ยงและระมัดระวังเป็นพิเศษหากต้องลุยน้ำท่วมขังในหน้าฝนค่ะ

8 วิธีง่ายๆ ดูแลสุขภาพเท้าด้วยตัวเอง

         คุณหมอสุมนัสให้คำแนะนำง่ายๆ ในการดูแลสุขภาพเท้าด้วยตัวเอง และย้ำว่าควรเริ่มปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอตั้งแต่วันนี้ ดังนี้

          1. ล้างเท้าให้สะอาดด้วยน้ำสบู่อ่อนๆ ประมาณ 10 นาที เวลาอาบน้ำ ทุกๆ วัน ซึ่งจะทำให้ผิวหนังนุ่ม แต่อย่าขัดหรือถู หรือแช่น้ำเป็นเวลานาน เพราะจะทำให้ผิวหนังแห้ง

          2. เช็ดเท้าให้แห้งสนิททุกครั้ง โดยเฉพาะบริเวณซอกนิ้วเท้าต้องให้แห้งจริงๆ

          3. สำหรับผู้มีกลิ่นเท้า หลังจากล้างเท้าสะอาดและเช็ดให้แห้งแล้ว ควรจะโรยแป้งทาตัวให้ทั่วเท้าและซอกเท้า รวมถึงอย่าใส่รองเท้าคับเกินไป ควรเลือกรองเท้าที่ใส่สบายและระบายอากาศได้ ถุงเท้าควรเป็นถุงเท้าผ้าฝ้ายจะดีกว่าถุงเท้าไนลอน

          4. ถ้าผิวแห้ง ทาครีมที่ไม่มีน้ำหอมฉุน เพื่อให้ความชุ่มชื้น โดยทาบางๆ ให้ทั่วทั้งหลังเท้าและฝ่าเท้า ห้ามทาครีมบริเวณซอกนิ้วเท้า เพราะอาจเกิดการหมักหมมของเชื้อราได้

          5.ถ้าเล็บยาวต้องตัดเล็บเท้าอย่างถูกวิธี โดยตัดตรงตามแนวขอบเล็บเท่านั้น ไม่ตัดเล็บเซาะเข้าไปด้านข้างหรือจมูกเล็บ และไม่ควรตัดเล็บให้สั้นเกินไป

          6. ใส่รองเท้าให้เหมาะกับโรค ควรใส่รองเท้าที่เหมาะสมและถูกสุขลักษณะ เช่น ผู้ป่วยเบาหวานควรใส่รองเท้าที่ทำจากวัสดุที่มีลักษณะนิ่มและมีแผ่นรองรับแรงกระแทกที่ฝ่าเท้า ไม่ควรใส่รองเท้าแตะชนิดที่มีสายรัดง่ามนิ้วเท้า

          7. หมั่นตรวจเท้าด้วยตนเองเป็นประจำ สังเกตสีผิว กลิ่นเท้า อุณหภูมิของเท้า และอาการผิดปกติอื่นๆ เช่น ปวดเท้า มีอาการชา บวม มีเม็ดพอง หรือคัน เป็นต้น โดยตรวจให้ทั่วทั้งฝ่าเท้า ส้นเท้า ซอกนิ้วเท้า และบริเวณเล็บเท้า หากพบความผิดปกติ ควรปรึกษาแพทย์

          8. ออกกำลังกายเท้า เพื่อบริหารข้อเท้าและกล้ามเนื้อเท้าอย่างสม่ำเสมอทุกวัน เพื่อคงความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและ

กระตุ้นการไหลเวียนเลือดมาสู่ปลายเท้า ท่าบริหารทำได้โดย

          กระดกข้อเท้าขึ้นและลงสลับกันช้าๆ ทำ 5-10 ครั้ง แล้วจึงสลับข้าง

          หมุนข้อเท้า โดยหมุนเข้า และหมุนออกช้าๆ ทำอย่างละ 5-10 ครั้ง แล้วจึงสลับข้าง

          ใช้นิ้วเท้าจิกผ้าที่วางอยู่บนพื้นสลับกับปล่อย เพื่อบริหารกล้ามเนื้อเล็กๆ ในเท้า

          นั่ง ยกขาขึ้นพาดโต๊ะ เหยียดเข่าตึง แล้วกระดกข้อเท้าขึ้น ใช้มือจับปลายเท้าค้างไว้นับ 1-6 ในใจ ถือเป็น 1 ครั้ง ทำจนครบ 2 ข้าง

คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รับมือ สุขภาพเท้า จากหน้าร้อนสู่หน้าฝน อัปเดตล่าสุด 26 พฤษภาคม 2552 เวลา 14:04:03 8,228 อ่าน
TOP