x close

เงินเฟ้อ พ.ค. ติดลบ 3.3% ต่ำสุดรอบ 10 ปี


สรุปประเด็นข่าวโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบทางอินเทอร์เน็ต

           เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน ที่กระทรวงพาณิชย์ นางพิมพาพรรณ ชาญศิลป์ รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ แถลงถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนพฤษภาคม 2552 ว่า เท่ากับ 104.3 ติดลบ 0.3% จากเดือนเมษายน 2551 เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือนที่การเปลี่ยนแปลงติดลบ และเมื่อเทียบเดือนพฤษภาคม 2551 ติดลบ 3.3% เป็นอัตราที่ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 และเป็นสถิติเงินเฟ้อต่ำสุดในรอบ 10 ปี ทำให้เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปีลดลง 1.1% ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (หักสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงาน) เท่ากับ 102.3 ติดลบ 0.6% จากเดือนเมษายน 2551 และติดลบ 0.3% เทียบเดือนพฤษภาคม 2552 แต่เฉลี่ย 5 เดือนแรกของปี สูงขึ้น 1.1%   

           "เงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม ที่ลดลงจากเดือนเมษายน 0.3% สาเหตุเพราะราคาสินค้าผัก ผลไม้ ข้าวสารเจ้าลดลง รวมถึงค่าเล่าเรียน ค่าธรรมเนียมหนังสือ เครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ก็ลดลง เป็นผลจากนโยบายรัฐบาลเรียนฟรี 15 ปี แม้ 5 เดือนแรกเงินเฟ้อติดลบต่อเนื่อง แต่ยังไม่ถือว่าเงินฝืด เพราะเป็นผลจากมาตรการช่วยเหลือลดค่าครองชีพประชาชนต่างๆ ของรัฐบาล โดยเฉพาะมาตรการช่วยเหลือ 6 มาตรการ 6 เดือน (ช่วยรับภาระค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าขนส่งมวลชน) เชื่อว่าหากมาตรการดังกล่าวสิ้นสุดลง ราคาน้ำมันขยับขึ้น และการเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมันและสุรา จะกระทบต่อราคาสินค้าและค่าครองชีพสูงขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งเดือนสิงหาคมเงินเฟ้อจะกลับมาเป็นบวก และต่อเนื่องถึงสิ้นปี กระทรวงพาณิชย์จึงไม่เปลี่ยนแปลงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2552 ไว้ที่ 0.5%” นางพิมพาพรรณ ระบุ  

           ส่วนที่เงินเฟ้อพฤษภาคมปีนี้ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนค่อนข้างสูงเป็นประวัติการณ์และติดลบต่อเนื่อง 5 เดือนมาตั้งแต่เดือนมกราคม ได้แก่ -0.4 -0.1 -0.2 -0.9 และ -3.3 ตามลำดับ สาเหตุสำคัญจากการลดลงของค่าพาหนะ ค่าขนส่ง เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ราคาน้ำมันโลกสูงมากเกิน 100 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล และการสื่อสาร 15.2% การอ่าน 10% เคหสถาน 4.9% เครื่องแบบนักเรียน 3.4% แต่หมวดอุปโภคยังมีราคาสูงขึ้น โดยเฉพาะเครื่องปรุงอาหาร ค่าน้ำประปา เป็นต้น 

           รองปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวอีกว่า สำหรับดัชนีราคาวัสดุก่อสร้างเดือนพฤษภาคม ลดลงจากเมษายน 0.1% และลดลง 21.1% เทียบพฤษภาคม 2551 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอัตราติดลบมากสุด เฉลี่ย 5 เดือนลดลง 13% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกซบเซา ความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้การลงทุนอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัวอย่างมาก กระทบต่อยอดขายเหล็ก ปูนซีเมนต์ และคอนกรีต เช่นเดียวกับราคาผู้ผลิตก็ลดลง 7.2% ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 และอัตราติดลบต่ำสุด ส่วนผลผลิตเกษตรกรรมลดลง 5.8% แต่ผลผลิตเหมืองและภาคอุตสาหกรรมสูงขึ้น 2.7% และ 1.6% ตามลำดับ 

           ขณะที่นางอัจนา ไวความดี รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ที่กระทรวงพาณิชย์ระบุเงินเฟ้อในเดือนพฤษภาคม ลดลง 3.3% นั้น ยังไม่ขอให้ความเห็น แต่การที่เงินเฟ้อลดลงก็ไม่ได้หมายความว่าราคาสินค้าจะลดต่ำลงเสมอไป ส่วนราคาน้ำมันที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จะไม่ก่อให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อรอบใหม่ เนื่องจากทุกประเทศเร่งดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่ผ่อนคลายลงมาก จึงมีการหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ป้องกันความเสี่ยงจากเงินเฟ้อ โดยเฉพาะในหมวดน้ำมัน ทองคำ และอาหาร แม้ว่าน้ำมันที่พุ่งสูงขึ้นจะฉุดเศรษฐกิจ ซึ่งมีผลในแง่นโยบาย จำเป็นต้องชั่งน้ำหนักผลกระทบทั้งด้านบวกและลบ 

           นางอัจนา กล่าวว่า เศรษฐกิจช่วงนี้ที่ยังหดตัว แม้ราคาน้ำมันจะเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าจะไม่กดดันให้เกิดผลกระทบด้านต้นทุนการผลิตให้สูงขึ้นจนทำให้เกิดปัญหาเงินเฟ้อรอบ 2 จึงไม่จำเป็นต้องออกนโยบายการเงินสนับสนุนช่วยเหลือเป็นกรณีพิเศษ เพราะนโยบายการเงินผ่อนคลายมากอยู่แล้ว และต้องติดตามด้วยว่า กระทรวงพาณิชย์อาจต้องปรับประมาณการเงินเฟ้อใหม่ โดยจะต้องพิจารณาราคาน้ำมันเฉลี่ยทั้งปี ไม่เฉพาะช่วงใดช่วงหนึ่ง จากที่ ธปท.คาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปไว้ที่ 1.0-3.0% แต่ไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นเท่าใด




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เงินเฟ้อ พ.ค. ติดลบ 3.3% ต่ำสุดรอบ 10 ปี อัปเดตล่าสุด 2 มิถุนายน 2552 เวลา 14:20:28 6,171 อ่าน
TOP