x close

HOME

HOME



โฮม เปิดหน้าต่างโลก (เอ็ม พิคเจอร์ส)

กำหนดฉาย : 4 มิถุนายน 2552 (EXCLUSIVE AT APEX SIAM-SQUARE)
กำกับ : ญานน์ อาร์ทูส์-แบร์ทรองด์

          ตลอด 200,000 ปี บนโลก มนุษยชาติพลิกผันดุลยภาพของดาวดวงนี้
          ซึ่งกว่าจะเข้ารูปเข้ารอยก็ต้องอาศัยวิวัฒนาการเกือบ 4 พันล้านปี
          ทุกวันนี้คือเวลาแห่งการชดใช้อย่างสาสม และสายเกินกว่าจะคร่ำครวญ
          มนุษยชาติเหลือเวลาอีกไม่ถึง 10 ปีเพื่อกลับตัวกลับใจ
          เพื่อตระหนักถึงความอุดมสมบูรณ์ของโลกที่สูญสิ้นไปทุกหย่อมหญ้า
          และเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการผลาญทรัพยากร

          นอกจากจะได้เห็นฟุตเทจแปลกตาซึ่งรวบรวมมาจากเหนือพื้นดินของกว่า 50 ประเทศ รวมถึงได้ร่วมแบ่งปันความพิศวงสงสัยและความกังวลใจ ญานน์ อาร์ทูส์-แบร์ทรองด์ ยังหวังว่าหนังเรื่องนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราร่วมแรงร่วมใจกันฟื้นฟูบ้านหลังใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง


20% ของประชากรโลกถลุงทรัพยากรของดาวดวงนี้ไปถึง 80%
จากรายงานฉบับที่ 4 ของโครงการ GEO ในแผนงานสหประชาชาติเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม (UNEP) ปี 2007

ทั้งโลกใช้จ่ายด้านยุทโธปกรณ์มากกว่านำเงินไปช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนาถึง 12 เท่า
จากหนังสือประจำปี 2008 ของสถาบัน Stolkholm International Peace Research Institute และ องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ปี 2008

5 พันคนต่อวันเสียชีวิตเพราะน้ำดื่มที่ปนเปื้อน และ 1 พันล้านคนไม่มีน้ำสะอาดไว้ดื่ม
จากแผนงานสหประชาชาติเพื่อการพัฒนา (UNDP) ปี 2006

1 พันล้านคนกำลังหิวโหย
จากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ปี 2008

กว่า 50% ของเมล็ดธัญพืชที่ซื้อขายกันทั่วโลก ใช้เป็นอาหารสัตว์ และผลิตเชื้อเพลิงชีวภาพ
จากสถาบัน Worldwatch Institute ปี 2007 และ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ปี 2008

พื้นที่กสิกรรมเสื่อมสภาพไปถึง 40%
จากแผนงานสหประชาชาติเพื่อพัฒนาสิ่งแวดล้อม (UNEP) / หน่วยงาน ISRIC World Soil Information

ทุกๆ ปี พื้นที่ป่าสูญหายไป 13 ล้านเฮกตาร์

จากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ปี 2005

1 ใน 4 ของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม, 1 ใน 8 ของนก และ 1 ใน 3 ของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำใกล้
จะสูญพันธุ์ สัตว์หลายๆ สปีชี่ตายเร็วกว่าอายุขัยตามธรรมชาติถึง 1 พันเท่า

จาก สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติ (IUCN) ปี 2008
และการประชุมพฤกษศาสตร์นานาชาติครั้งที่ 16 ในเซนต์หลุยส์ สหรัฐอเมริกา ปี 1999

ผลิตผลทางการประมงลดน้อยลง สูญสิ้น หรือเสี่ยงต่อการสูญสิ้นถึง 75%
ข้อมูลจากสหประชาชาติ

ตั้งแต่เริ่มบันทึกสถิติ อุณหภูมิเฉลี่ยในช่วง 15 ปีที่ผ่านมานับว่าสูงที่สุด
ข้อมูลจากสถาบัน NASA GISS

แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกบางลงถึง 40% ในระยะเวลา 40 ปี
จากศูนย์ข้อมูลน้ำแข็งและหิมะแห่งชาติ (NSIDC) ปี 2004

ก่อนถึงปี 2050 คาดว่าจะมีผู้ลี้ภัยจากสภาพอากาศอันเลวร้าย 200 ล้านคน
จากบทวิเคราะห์ The Stern Review: the Economic of Climate Change
ฉบับที่ 2 บทที่ 3 หน้า 77

217 วันของการถ่ายทำ...และแผนการดำเนินงาน
(เบื้องหลังการถ่ายทำ)


          ญานน์ อาร์ทูส์-แบร์ทรองด์ พร้อมด้วยทีมเบื้องหลังใช้เวลาเกือบ 3 ปีเพื่อสร้างหนังซึ่งเป็นทั้งจุดสูงสุดบนเส้นทางแห่งงานอันหนักหน่วงตลอด 30 ปีที่ผ่านมา รวมถึงเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อโลกโดยรวม

แนวคิดอันยิ่งใหญ่

          ในปี 2006 เมื่อได้แนวคิดสำหรับหนังเรื่องนี้ ญานน์ อาร์ทูส์-แบร์ทรองด์ ก็รีบไปติดต่อพูดคุยกับผู้คุมงานสร้าง เดอนีส์ กาโรต์ (จาก Elzévir Films) ซึ่งเชื่อมั่นศรัทธาในโปรเจกต์นี้ทันที แม้ว่าผู้กำกับจะมีความคิดที่ไม่ค่อยฉลาดนักอย่างเผยแพร่หนังให้ได้ดูกันแบบไม่ต้องเสียสตางค์ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็น การหลุดพ้นออกไปจากวงจรธุรกิจหรือหาผู้สนับสนุนด้านเงินทุน ล้วนแต่สำคัญอย่างยิ่งต่อหนังเรื่องนี้ แต่ที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ หนังต้องการผู้จัดจำหน่ายที่สามารถพามันไปสู่รอบโลกอย่างแท้จริง "ตอนที่คนในแวดวงธุรกิจภาพยนตร์ได้รู้ข่าวเกี่ยวกับโปรเจกต์นี้" เดอนีส์ กาโรต์ ยังจำได้ "ผู้จัดจำหน่ายแทบทุกเจ้าโทรมาคุยกับเรา แม้กระทั่งตัวแทนของกลุ่มผู้จัดจำหน่ายใหญ่ยักษ์ในอเมริกาก็ยังโทรมา ซึ่งไม่บ่อยนักหรอกสำหรับบริษัทสร้างหนังอิสระสักบริษัทหนึ่ง แต่แล้วพวกเขาก็ส่ายหัวกันหมดพอรู้ว่าเราอยากเผยแพร่หนังให้ได้ดูกันแบบฟรีๆ จนแล้วจนรอด ก็มี ลุค เบซซง กับบริษัท EuropaCorp นี่แหละที่เชื่อมั่นศรัทธาในโปรเจกต์นี้ และส่งต่อไปให้กับ PPR ซึ่งมีศักยภาพพอจะหนุนหลังเราได้" หลังจากนั้น ตารางการถ่ายทำก็เสร็จสมบูรณ์ โดยมีรายละเอียดคือถ่ายทำใน 54 ประเทศ ใช้เวลา 217 วัน เพื่อให้ได้ฟุตเทจที่รวมแล้วยาวเหยียด 488 ชั่วโมง! 

          นอกจากจะอาศัยประโยชน์จากที่เคยเดินทางเสาะแสวงหาโลเกชั่นต่างๆ มากมายเพื่อเขียนหนังสือ (โดยเฉพาะอย่างยิ่ง The Earth From The Air หนังสือขายดีทั่วโลกซึ่งพุ่งทะยานไปเฉียด 3 ล้านฉบับ) และถ่ายทำรายการโทรทัศน์ (ชื่อ Seen From The Air) ญานน์ อาร์ทูส์-แบร์ทรองด์ ยังดึงตัวที่ปรึกษาทางด้านเทคนิคและศิลปะมาร่วมงานด้วย เป็นต้นว่า อิซาเบล เดอลันนัว มาช่วยเขียนบทบรรยาย และ โดโรธี มาร์แตง ซึ่งเป็นผู้หาข่าวประจำรายการ Seen From The Air กลายมาเป็นผู้ช่วยผู้กำกับที่ 1 ในโปรเจกต์นี้ ในขณะที่ ผู้จัดการงานสร้าง (ฌอง เดอ เทรโกแมง) และผู้จัดการฝ่ายโลเกชั่น (โคลด กานาเปลอ) ได้รับการว่าจ้างมาเพื่อวางตารางการทำงานอันน่าทึ่ง ซึ่งกำหนดให้ทีมเบื้องหลังแค่สามคนทำงานประสานกันเป็นหนึ่งเดียวตลอด 21 เดือนจนครบถ้วนทั้งสี่มุมโลก

          โรธี มาร์แตง กล่าว "การบินไปรอบโลกด้วยเฮลิคอปเตอร์อาจจะดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้ว แต่ละงานที่ได้รับมอบหมาย แต่ละฉากที่ถ่ายทำ ล้วนแต่เป็นงานที่หนักหนาสาหัสทั้งนั้น"

ทีมเบื้องหลัง

          จากประสบการณ์การเก็บภาพทางอากาศอันโดดเด่น อย่างที่เห็นกันชัดๆ ใน Winged Migration ฌอง เดอ เทรโกแมง คาดการณ์ถึงงานที่ได้รับมอบหมายว่า "ด้วยความที่เป็นหนังซึ่งดำเนินเรื่องไปด้วยตัวของมันเอง แต่ละภารกิจก็คงไม่ต่างจากการตามล่าหาสมบัติ คือ ต้องเลือกให้ถูกทั้งสถานที่ ทั้งเฮลิคอปเตอร์ ทั้งนักบิน"

          นอกจากการเดินทางเพื่อเสาะหาโลเกชั่นแล้ว องค์กรต่างๆ ในปารีสยังร่วมแรงร่วมใจกันจัดหาลูกมือภาคสนามมาเป็นส่วนหนึ่งในตารางเวลาอันเคร่งครัดและแผนการเดินทาง ทว่าบนเฮลิคอปเตอร์ ทีมงานจะถูกจำกัดให้เหลือเพียงผู้กำกับหรือไม่ก็หนึ่งในผู้ช่วยผู้กำกับ ช่างกล้องจาก Cineflex และผู้คุมงานภาพเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้น การถ่ายทำฟุตเทจทางอากาศยังอยู่ภายใต้เงื่อนไขทางเทคนิคอีกมากมาย เริ่มจากต้องใช้กล้องตามที่กำหนด นั่นคือ Gyro-Stabilized Cineflex HD ซึ่งชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นกล้องที่ให้ภาพราวกับการเคลื่อนไหวของเครนไม่ว่าจะอยู่ในสภาวะสั่นสะเทือนหรือไม่ก็ตาม แรกเริ่มเดิมที กล้องรุ่นนี้พัฒนาขึ้นมาโดยวัตถุประสงค์ทางการทหาร กล่าวคือ เพื่อช่วยในการค้นหาเป้าหมาย มันจึงซูมได้ในระยะไกลมาก และยังเปลี่ยนเทปบันทึกภาพได้ทันทีบนเฮลิคอปเตอร์ อย่างไรก็ตาม อุปกรณ์ทั้งหมดก็หนักร่วมๆ 120 กิโลกรัม มิหนำซ้ำยังต้องติดตั้งในพื้นที่อันจำกัด 

          หนึ่งในช่างกล้องที่เข้ามาร่วมงานกับ Home คือ ทังกี จูด์ ซึ่งอัดแน่นไปด้วยประสบการณ์การถ่ายทำทางอากาศ 12 ปี และเคยขึ้นบินกับ ญานน์ อาร์ทูส์-แบร์ทรองด์ สมัยถ่ายทำรายการ Seen From The Air มาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน เขาเน้นย้ำว่าระหว่างที่ถ่ายทำก็จำเป็นต้องรู้จักยืดหยุ่นผ่อนปรนกันบ้าง "ก็ในเมื่อเลือกใช้เฮลิคอปเตอร์หรือนักบินของเราเองไม่ได้ทุกครั้ง หากแต่การถ่ายทำทางอากาศนั้น 60% ของผลงานขึ้นอยู่กับกำลังของเฮลิคอปเตอร์และความสามารถในการควบคุมเครื่องของนักบิน" โดยที่ยังไม่พูดถึงปัญหาเกี่ยวกับอุปกรณ์ สภาพอากาศ และการสื่อสาร "ในภารกิจแรก ญานน์เองก็ต้องถ่ายภาพนิ่งไปด้วยระหว่างที่ผมถ่ายภาพเคลื่อนไหว เพราะบางครั้งเขาต้องแสดงภาพตัวอย่างจากที่เขาถ่ายให้ผมดูด้วย ผมจะได้รู้ว่าเขาอยากได้ภาพแบบไหน"

          ทุกๆ ภารกิจ ช่างกล้องจะต้องทำงานควบคู่ไปกับผู้คุมงานภาพเสมอ สเตฟาน อซูเซอ หนึ่งในผู้คุมงานภาพ ชื่นชอบผลงานอันแสนวิเศษที่ได้จากกล้อง Cineflex ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของเขา ทั้งเรื่องการขนย้าย ตรวจเช็ค และติดตั้งในเฮลิคอปเตอร์ก่อนจะต้องไปช่วยช่างกล้องอีกแรง ฟุตเทจในม้วนเทปจะต้องดิบๆ หยาบๆ เพื่อจะได้เพิ่มคุณภาพแสงในระดับแม็กซิมัมได้ในช่วงปรับแต่งสี สเตฟาน อซูเซอ อธิบาย "หมายความว่าภาพที่ได้มาจะสีหม่นๆ แบนๆ และไม่น่ามองเลยแม้แต่น้อย ซึ่งน่าหงุดหงิดทีเดียว แต่ไม่นานก็ฝึกปรับเปลี่ยนสายตาให้เข้ากับสภาวะนั้นได้"

          ปัญหาใหญ่ที่สุดในการถ่ายทำบนเฮลิคอปเตอร์คือเวลาบินอันจำกัด โดโรธี มาร์แตง อธิบาย "เรามีเชื้อเพลิงให้เครื่องยนต์เผาผลาญอย่างจำกัด ทุกๆ นาทีมีค่ามาก และจะต้องขจัดโอกาสที่จะเกิดเหตุไม่คาดฝันให้เหลือน้อยที่สุด โดยประมาณแล้ว เฮลิคอปเตอร์จะอยู่บนท้องฟ้าได้ราวๆ 2 ถึง 2 ชั่วโมงครึ่งเป็นอย่างมาก ในขณะที่เราก็มักจะถ่ายทำกันไกลออกไปจากที่เติมน้ำมัน เพราะฉะนั้น จะมีเวลาให้ถ่ายช็อตที่ต้องการแค่ 30 นาทีเท่านั้นแหละ เราถึงต้องมุ่งมั่นตั้งใจและใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุดเท่าที่จะทำได้"

ระบบระเบียบ!

          อาจกล่าวได้ว่าข้อขัดข้องทางเทคนิคไม่หนักหนาเลย เมื่อเทียบกับปัญหาจากระบบบริหารจัดการของแต่ละประเทศซึ่งทีมงานต้องเผชิญ ฌอง เดอ เทรโกแมง ให้ความกระจ่างว่าในแต่ละประเทศ "เราต้องเข้าใจวัฒนธรรมท้องถิ่นอย่างถ่องแท้ ต้องเข้าใจวิธีการทำงานของพวกเขา และปรับตัวเข้ากับมันให้ได้" กล่าวคือ ระดับการอนุญาตจะมากน้อยแตกต่างกันไปตามแต่ "มาตรการด้านความปลอดภัย ในแต่ละประเทศ โดยที่ทีมงานยกตำแหน่งเจ้าแห่งความเรื่องมากให้อินเดียไปครอง" เริ่มแรก เราต้องยื่นคำขอไปที่กระทรวงกลาโหม, กระทรวงต่างประเทศ, สถานทูต, กองทัพบก แล้วก็กองทัพอากาศพร้อมๆ กัน" โดโรธี มาร์แตง เล่า "ก่อนนั้น เราทำความเข้าใจทุกอย่างแจ่มแจ้งแล้วตั้งแต่ที่ปารีส ต่อมาก็เที่ยวเสาะหาโลเกชั่นและหาตำแหน่งจีพีเอสของพื้นที่ที่จะเข้าไปถ่ายทำ หลังจากนั้นก็รอคำตอบรับ" รออยู่หนึ่งปีเพื่อ 2 นาทีครึ่งในหนัง และเพื่อพบกับมาตรการคุมเข้ม “พอถึงวันถ่ายทำ เจ้าหน้าด้านความปลอดภัยท่านหนึ่งขึ้นเครื่องไปกับเราด้วยเพื่อตรวจตราแผนการบิน ตรวจตำแหน่งอ้างอิงจีพีเอส และตรวจว่าเราเก็บภาพอะไรไปบ้าง เย็นนั้น เขานั่งดูฟุตเทจอยู่กับเรา และในที่สุดก็ไม่อนุญาตให้นำเทปออกนอกประเทศ ฉันต้องปล่อยม้วนเทปทั้งหมดไว้กับกองเซ็นเซอร์ รวมๆ แล้วก็ 15 ม้วน แต่พอได้คืนมา 2 ม้วนครึ่งถูกลบเกลี้ยงไม่มีเหลือ" เหตุที่ต้องระแวดระวังรัดกุมก็เพราะประสิทธิภาพการซูมของกล้อง Cineflex นั้นทำให้มันไม่ต่างจากกล้องสอดแนมชั้นเลิศเลยทีเดียว บางประเทศ อย่างเช่น ซีเรีย ถึงกับสั่งห้ามไม่ให้ใช้กล้องรุ่นนี้เด็ดขาด

เขียนบทเมื่อ...ถ่ายทำไปครึ่งเรื่อง

          ความแปลกใหม่ของหนังเรื่องนี้อีกอย่างหนึ่ง ซึ่งถือเป็นหลักในการถ่ายทำก็ว่าได้ นั่นคือ เริ่มถ่ายทำโดยไม่มีบท กระทั่งถ่ายทำไปแล้วหนึ่งปี ญานน์ อาร์ทูส์-แบร์ทรองด์ ก็ขอให้ อิซาเบล เดอลันนัว ซึ่งเป็นทั้งนักข่าวและเพื่อนร่วมงานผู้ซื่อสัตย์ มาช่วยเขียนบท "ฉันคิดว่านี่เป็นหนังดีเรื่องหนึ่งเลยทีเดียว ทุกๆ ภาพที่เห็นบอกเล่าเรื่องราวด้วยลีลาท่าทางเฉพาะของตัวมันเอง" เธอบอก โดยในระหว่างที่นั่งดูฟุตเทจ ถ้อยคำบรรยายก็ผุดออกมาเรื่อยๆ นอกจากนี้ อิซาเบล เดอลันนัว ยังแสดงความความเห็น "ฉันนึกถึงความรู้สึกอึ้งไปชั่วขณะตอนที่เห็นช็อตซึ่งจับภาพสัมพันธไมตรีระหว่างผืนน้ำ แผ่นฟ้า และโลก หลังจากนั้น ญานน์กับฉันก็ได้ตระหนักถึงพันธะที่ไม่มีวันแยกขาดจากกันระหว่างธาตุต่างๆ มนุษย์ และโลก ซึ่งตรึงตาตรึงใจเรามากๆ มันนำเรากลับไปสู่ยุคแรกเริ่มของโลก และบอกว่าธาตุเหล็กในตัวเราน่ะได้มาจากการระเบิดของดวงดาวเมื่อหลายๆ พันล้านปีก่อนโน้นไง!"

          เหนือสิ่งอื่นใดคือ "อย่าตกลงไปในกับดักแห่งความสิ้นหวัง ซึ่งจะยิ่งทำให้หดหู่ สารที่หนังต้องการสื่อนั้นสรุปออกมาได้เป็นข้อความที่ขัดแย้งกันอยู่ในที คือเราไม่เคยเอาชีวิตไปผูกติดกับทรัพยากรธรรมชาติ แต่กระนั้นก็ไม่เคยตัดขาดจากธรรมชาติเช่นกัน เราใช้ชีวิตแบบออกนอกลู่นอกทางกันมามากเกินไปแล้ว ตอนนี้ถึงเวลาต้องเปลี่ยนสักที เราเปลี่ยนได้แน่ถ้าตระหนักและเข้าใจว่านั่นสำคัญต่อชีวิตของเรามาก ฟุตเทจทางอากาศนี่แหละจะแสดงให้เห็นความจริงข้อนั้น พร้อมๆ กับนำเสนอทัศนคติที่จำเป็นต่อการขบคิดถึงปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นด้วย"

          นอกจากนี้ อิซาเบล เดอลันนัว ยังใส่ข้อมูลที่ให้ความรู้ โดยความร่วมมือของ ทิวฟิก แฟร์ ไว้ในบทบรรยาย ก่อนจะส่งท้าย "เราเท่านั้นที่จะดำเนินเรื่องราวของเราต่อไป...ด้วยกัน" 

HOME

HOME

HOME

HOME

HOME




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก 

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
HOME อัปเดตล่าสุด 8 มิถุนายน 2552 เวลา 15:08:03 25,898 อ่าน
TOP