x close

เปิดใจ นัท เอื้องเหนือ ชีวิตต้องสู้ของสาวประเภทสอง

นัท เอื้องเหนือ


จากธรรมาสน์ สู่เวทีมิสทิฟฟานี (กรุงเทพธุรกิจ)

          เปิดใจรองมิสทิฟฟานี ชีวิตต้องสู้ของสาวประเภทสอง เผยบวชเรียนเพื่อพิสูจน์ตัว วินัยสงฆ์ฝึกให้แกร่ง ชี้พระตุ๊ดเณรแต๋วเรื่องธรรมดา

          เส้นทางของพวกเธอไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เวทีประกวดจึงหมายความมากกว่าการ "พิสูจน์ความแท้ในความเทียม" เบื้องหลังของแสงไฟเจิดจรัส ยังมีหนึ่งชีวิตของเขาที่เรียกตัวเองว่า "ผู้หญิง" ซ่อนเอาไว้อีกมากมาย

          แสงแฟลชวูบวาบเป็นระยะท่ามกลางเสียงปรบมือให้กับผู้ชนะทั้ง 3 คนที่เด่นตระหง่านอยู่บนเวที ค่ำคืนแห่งเทพนิยายที่อยู่ในใจของใครอีกหลายคน น้ำตาหยดใสคลอรอยยิ้มปลาบปลื้ม ถึงเวทีการประกวดทิฟฟานี่จะถือเป็นสีสันของวงการ และเปิดโอกาสให้ "สาวเทียม" ขึ้นประชันความงามกัน แต่ช่วงวินาทีของการประกาศผล ผู้ชมหลายคนสัมผัสได้ถึง "ความสุขแท้" ที่มีศักดิ์ศรีไม่แพ้เวทีไหนในประเทศไทย 

          ณภัสวรรณ ชลกร หรือ นัท เอื้องเหนือ วัย 21 ปี จากเมืองเชียงใหม่ เป็น 1 ใน 3 คน ที่ได้รับเกียรติในวันนั้น 

          "3 คนนี่ใครเป็นที่หนึ่งก็เหมือนกันค่ะ" เขา... เอ่อ เธอตอบพร้อมรอยยิ้ม

          นอกจากตำแหน่งรองชนะเลิศอันดับ 2 และนางงามผิวสวย (Miss Perfect Complexion) จะเป็นเครื่องการันตีความ "มีดี" ในตัวเธอแล้ว การใช้ชีวิตตั้งแต่เด็กจนคว้ามงกุฏจากเวทีประกวดต่างๆ กว่า 60 เวที ภายในเวลาเพียง 2 ปี ยังกลายเป็นเรื่องที่หลายคนให้ความสนใจ โดยเฉพาะดีกรี นักธรรมเอกเปรียญ 2 ประโยค ภายในเวลา 4 ปีที่อาศัยอยู่ใต้ร่มผ้ากาสาวพักตร์   

          "ไม่ได้ทำตามหน้าที่นะคะ แต่เพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าถึงเราเป็นแบบนี้ก็อยู่ได้" นัทบอกแบบนั้น 

          บุคลิกแรงๆ ตรงๆ บวกกับความมั่นใจในตัวเอง และความต้องการประสบความสำเร็จในชีวิต ถือเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เธอตัดสินใจลงมาใช้ชีวิตในเมืองกรุงตัวคนเดียว 

          ความกดดันในชีวิตต่างๆ ที่ต้องเผชิญมาตั้งแต่เด็ก ทั้งเรื่องที่บ้าน การเรียน สังคมสิ่งแวดล้อมรอบข้าง จนกลายมาเป็นตัวเธอในวันนี้นั้นหากได้รู้ลึกๆ ก็จะเห็นว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องขนาดของหัวใจเพียวๆ อย่างอื่นไม่เกี่ยว...

          นับแต่บรรทัดนี้ลงไป จึงเป็นการบอกเล่าอย่างตรงมา - ตรงไป เพื่อสะท้อนความรู้สึกนึกคิดของสาวน้อยตัว (ไม่) เล็ก คนหนึ่งเท่านั้น…

นัท เอื้องเหนือ



วินาทีที่ก้าวลงมาจากเวทีเป็นอย่างไรบ้าง 

          นัท :
นึกถึงแม่ก่อน เพราะรู้เลยว่าแม่ต้องดูอยู่หน้าจอโทรทัศน์ ก็โทรไปบอกแม่ว่าได้แล้วนะ แม่ก็ดีใจตามภาษาแหละค่ะ เพราะปีที่แล้วแม่หน้าแตกมาก โปรโมทเยอะมาก ปีที่แล้ว หวังมาก พูดเสียจนคนทั้งหมู่บ้านรู้กันหมด พอถึงเวลานั่งดูแล้วตกรอบ (ยิ้ม) ปีที่แล้วตกรอบมานี่คือร้องไห้ ยังไม่รู้ตัวว่าวันนั้นไม่สวย ก็เลยร้องไห้ว่าทำไมไม่ได้ แต่ปีนี้มันรู้สึกเบาน่ะ รู้สึกว่า ทำสำเร็จแล้ว เรามายืนอยู่ตรงนี้ได้แล้ว ไม่กดดัน ไม่ตื่นเต้น ไม่หลุด คือมาด้วยความที่ไม่คิดว่าจะได้จริงๆ หลังจากที่เคยเดินสายประกวดมาบ้างแล้ว ก็ประเมินตัวเองออก

          ความหวังนัทอยู่ที่ 10 คนสุดท้าย เพราะ 10 คนสุดท้ายมิสทิฟฟานี่คือเจ๋งที่สุดแล้ว กลับไปไม่อายใครแล้ว ไม่เข้า 3 คนก็ไม่เป็นไร เพราะ 3 คนนี่มันคาดเดาไม่ได้ ไม่มีใครเก่งกว่าใคร มันเกิดขึ้นได้ทุกคน จะหยิบใครขึ้นมาเป็นก็ได้หมด พอวินาทีที่ประกาศ รอบ 10 คนนี่คือ โล่งแล้ว สบาย จะอะไรก็ช่าง คือเข้า 10 คนแล้ว หลังจาก 10 คน ได้รางวัลพิเศษ เป็นนางงามผิวสวย ยิ่งทำให้เราสบายขึ้นไปอีก คือ หลายๆ คนสวยกว่านัทเยอะ แต่ว่าที่เขาไม่ได้เพราะขาดความเป็นตัวเอง หนึ่งอาจจะเป็นเพราะ เป็นตัวเก็ง เขาอาจจะกดดัน จริงจังเกินไป ซึ่งปีนี้เราเลือกลงเอง ทำเองหมด เลยมาแบบสบายๆ ไม่มีอะไรจะเสีย

ไม่มีคนดูแล 

          นัท :
มีพี่เลี้ยงมา แต่ไม่ได้มาควบคุมทุกอย่าง คือเราขอเลือกพี่เลี้ยงที่เราสามารถแชร์กันได้ วันนั้นพยายามทำทุกอย่างให้เป็นตัวเอง เพราะว่าประกวดมาครั้งนี้ครั้งที่ 2 ปีก่อน (พ.ศ.2551) เราก็ลง แต่ลงในลักษณะที่พี่เลี้ยงควบคุมทุกอย่างเหมือนเราเป็นตุ๊กตา เขาก็จับเราแต่งผมแต่งหน้า จับเราใส่ชุดทุกอย่าง แล้วออกมา มันไม่ใช่ตัวเราเลย ก็เข้ารอบ 30 คนแต่ไม่เข้ารอบ 10 คน  ปีนี้ก็เลยได้ไม่ได้ไม่สน คือ ดูทีวีออกมาแล้วสวยก็พอ (ยิ้ม)

แสดงว่าปีที่แล้วหวังไว้เยอะ

          นัท :
หวังค่ะ พี่เลี้ยงเต็มที่ ชุดนี่เป็นแสนเลย แต่พอมาดูผลงานย้อนหลัง มาดูทีวีอีกครั้ง เออ มันไม่ใช่ตัวเรา เราจะเป็นคนบุคลิกเฉี่ยวๆ ไม่ค่อยเรียบร้อยมากเท่าไหร่ แต่ปีที่แล้วทำผมเป็นตุ๊กตา เป็นชุดสูทบานๆ เจ้าหญิง แต่เดินแบบไม่เจ้าหญิงน่ะ (ยิ้ม) ปีนี้ก็เลยเปลี่ยนไปเยอะ อยากเอาอะไรที่เป็นตัวเอง คือ เราส่องกระจกเห็นเราทุกวันน่ะ เราจะรู้ตัวเราเองว่าสวยหรือไม่สวย คราวนี้ก็เลยเป็นตามที่ต้องการทุกอย่าง ได้ชุดพลิ้วๆ ที่ดูแล้วทันสมัย คล่องแคล่ว ทมัดทะแมง เพราะว่ามันไม่มีอะไรที่จะมาวัดว่าคนนี้สวยเพราะอะไร แค่ว่าเราเป็นคนมีเสน่ห์คั้นออกมาใช้ให้หมด แค่นั้น มันเหมือนแบบ.... มาแก้มือน่ะ (หัวเราะ)

นัท เอื้องเหนือ



ก่อนหน้านี้เดินสายประกวดมากี่เวทีแล้ว 

          นัท : ประมาณ 50 - 60 เวที เริ่มประกวดตั้งแต่ 2 ปีที่แล้ว คือตอนเด็กๆ เราดูประกวดนางงามบ่อย แล้วอีกอย่างมันก็อยู่ในความฝันของเด็กๆ ว่าวันหนึ่งเราต้องมายืนอยู่ตรงนี้บ้าง พอโตมามันยิ่งมีความหวังมีกำลังใจ เป็นเหมือนบันไดก้าวหนึ่งที่จะทำให้ชีวิตเรา เจริญรุ่งเรืองขึ้น (หัวเราะ) คือมายืนอยู่บนเวทีนี้แล้ว จะได้ที่อะไรก็ได้ คิดไว้อย่างเดียวว่า ถ้าคนมันจะเป็นดาว ไม่ต้องสวมมงกุฏก็ได้ ยังไงมันก็เป็นดาว ถ้าจะดังเดี๋ยวก็ดังเอง มันอยู่ที่ตัวเราด้วย เหมือนเป็นโอกาสในชีวิต

เวทีประกวดปัจจุบันนี้มีเยอะ 

          นัท : มีจัดประกวดกันแทบทุกอาทิตย์ล่ะค่ะ ประกวดเยอะกว่าพวกผู้หญิงอีก ตามงานประจำปี งานกาชาดบ้าง งานเทศกาลต่างๆ เพราะประกวดแบบนี้มันมีสีสันกว่า ประกวดผู้หญิงคือผู้หญิงสวย เดิน จบ มันก็ธรรมดา แต่อันนี้มัน ทำไมผู้ชายคนนี้สวยได้ขนาดนี้เนี่ย ก็จะมีสีสันเยอะกว่า การประกวดแบบนี้ก็มีรายละเอียดเยอะกว่า 

ยากหรือง่ายกว่าประกวดผู้หญิง

          นัท : ประกวดผู้หญิงเขามีหลายๆ อย่างให้โอกาสมากกว่า แต่มันก็เหมือนผู้หญิงเขาใช้ชีวิตประจำวัน ซึ่งชีวิตเขาก็ง่ายกว่าเราอยู่แล้ว ไปสมัครก็เอาตัวเปล่าๆ ไป แต่สมัครมิสทิฟฟานี่ ค่าใบสมัคร 5,000 บาท ก็ไม่เป็นไร อันนั้นถ้าเข้ารอบ 10 คนไปแล้ว ตกรอบมาก็ได้เงินคนละ 46,000 บาท แต่เราตกรอบปุ๊ปกลับบ้าน ไม่มีอะไร อันนั้นที่ 1 เขา รถแคมรี่ เงินล้านนึง เช็คของขวัญอีกสะบั้นหั่นแหลก อันนี้ที่ 1 เงินแสนนึง รถแจ๊สคันนึง เวลาไปทำอะไรที่ไหนก็ไม่เป็นที่รู้จักพอ มันเหมือนกับการใช้ชีวิตที่ยากกว่า แต่ก็ชินแล้ว เราก็ไม่ได้เอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร แค่ทุกวันนี้เรามีความสุขพอ

เป็นแบบนี้มานานหรือยัง 

          นัท : ตั้งแต่จำความได้เลย คือเรายังไม่เข้าใจว่ากระเทยคืออะไร แล้วสังคมค่อนข้างจะมองว่า มันเป็นเรื่องที่ผิด เราก็ไม่เข้าใจว่าสิ่งที่เราเป็นมันผิดหรืออะไร บางครั้งก็โกหก บางครั้งก็แอ๊บแมน แม่ถามว่าว่าเป็นตุ๊ดเหรอ เราก็... ไม่ได้เป็นครับ (ทำเสียงผู้ชาย) คือเรายังไม่เข้าใจว่าที่เราเป็นมันคืออะไร พ่อแม่แต่ละคนเวลาเห็นลูกเป็นอย่างนี้ก็สอน ต้องแมนนะ มันก็เป็นเรื่องธรรมดาที่ถูกปลูกฝังมาว่า อย่าเป็นตุ๊ดนะมันไม่ดี เราก็เลยหลีกเลี่ยงเพราะกลัวจะเป็นคนไม่ดี แต่ความรู้สึกมันก็เป็นอย่างนี้

          จนโตมาเรารู้แล้วว่าเราเป็นอะไร แล้วเราสามารถดำรงชีวิตยังไง ประกอบกับวัยมันพัฒนาไปเรื่อยๆ สังคมเปิดกว้างขึ้น มันมีหนทางให้เราพิสูจน์ตัวเอง หลายๆ อย่าง ก็เลยสู้มาเรื่อยๆ เพราะเราคิดไว้อย่างหนึ่งว่า เราเป็นแบบนี้ การดำรงชีวิตของเราค่อนข้างที่จะยาก แต่มันเจ๋งนะ ถ้าใครทำอะไรยากๆ แล้วมันสำเร็จ ก็เลยตั้งใจว่าต้องทำให้ได้

อะไรทำให้เรามองอย่างนั้น 

          นัท : ทุกอย่าง แรงกดดัน ประมาณว่า สังคมว่าชั้นใช่ไหม ว่าชั้นไม่เก่งใช่ไหม ถึงเป็นตุ๊ดเป็นโน่นนี่ แต่ก็ตั้งใจเรียน สอบได้ที่ 1 ทุกเทอม แล้วใครจะทำไมล่ะ ก็เลยสู้มาตลอด จนชนะใจแม่แล้ว ก็ช่วงที่บวชนั่นแหละ จะไม่สึกจนกว่าแม่จะยอมรับ บวชเพื่อให้แม่รู้ว่า อยู่ได้นะ เป็นอย่างนี้ก็อยู่ได้ แม้แต่อยู่ในผ้าเหลืองก็อยู่ได้

นัท เอื้องเหนือ



ใช้การบวชเป็นเครื่องพิสูจน์

          นัท : ไม่ใช่ค่ะ มันเหมือนสถานที่ฝึกตัวเราให้แกร่งขึ้น ต้องพูดถึงสังคมนี้ก่อน มันไม่ใช่จบแค่คำว่าบวช โกนหัว นุ่งผ้าเหลือง มันคือ... ต้องคิดถึงสังคมคนในนี้ คือ คนที่มาบวช โดยส่วนใหญ่ถ้าพูดตรงๆ คือเป็นคนที่มีฐานะยากจน เลยต้องมาอาศัยผ้าเหลืองเพื่อบวชเรียน จบมาแล้วค่อยสึกหางานทำ แต่เรามาจากครอบครัวที่พอมีพอกิน มาเจอคนเขาขาดแคลน จะปากกัดตีนถีบ แล้วเขาก็ทำได้จริงๆ ดังนั้นเราก็ต้องทำให้ได้ ก็คนเหมือนกัน เช่น ถ้าคุณไม่ไปบิณฑบาต คุณก็จะไม่มีกิน คุณจะใส่ผ้าสกปรกนะถ้าคุณไม่ซักเอง จะไม่มีอะไรใส่ข้าวนะถ้าไม่ล้างจาน เป็นการบังคับตัวเอง มันไม่สะดวกสบายเหมือนอยู่ที่บ้าน ทำให้เราแกร่งขึ้นน่ะ ยิ่งโดนสถานการณ์บีบบังคับ ให้เราต้องทำ มันก็ต้องทำ เพราะเราเป็นคนขี้เกียจ แต่พอมาบวช ต้องท่องสวด ต้องเรียน เจ้าอาวาสจะมาตรวจทุกวัน

          ก่อนบวชนี่เรียนอ่อนนะ นี่ก็เป็นเหตุผลที่ทำให้บวชด้วย เพราะพ่อแม่ส่งให้เรียนโรงเรียนที่แพงที่สุด ทุกอย่างดีสุดๆ แต่เราเรียนไม่ได้สักที เราก็เลยสงสาร อุตส่าห์หาเงินมา เราก็เรียนแทบจะไม่ได้อะไรเลย วันๆ ก็คบเพื่อนไปเที่ยวกัน นั่น โน่น นี่ คือมันคิดหนทางอะไรไม่ออกแล้ว เคยหนีออกจากบ้าน ออกไป 2 ชั่วโมง หิวข้าว ก็ต้องกลับมาหาแม่ มันก็ไม่ได้ ต้องไปบวช บวชนั่นแหละดีที่สุด จบ ม.ต้น บวชเลย

เรียนถึงนักธรรมเอกด้วย 

          นัท : ก็เรียนมาเรื่อยๆ ปีแรกสอบได้นักธรรมตรี ปีที่สอง ก็ได้โท แล้วก็เอก ตามลำดับ แล้วพอได้นักธรรมเอกแล้ว ค่อยมาสอบเปรียญ 1-2 ก็ต้องทำให้ได้ เพราะเขาก็ทำได้กันหมด ทุกๆ ปีที่สอบ นักธรรมบาลีได้ แม่ก็ปลื้ม มันก็เลยสั่งสมมาเรื่อยๆ จนตอนนี้แม่มั่นใจแล้ว ปล่อยให้มาอยู่กรุงเทพฯ คนเดียวแม่ก็ไม่ว่า

ไปอยู่วัดก็แล้ว สอบได้นักธรรม ได้ทั้งบาลี แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดของเราไปได้เลย 

          นัท : ค่ะ (ตอบทันที) มันใช้เวลา 4 ปี ในการเปลี่ยนแปลงตัวเองให้แกร่งขึ้นเท่านั้น พระที่เป็นแบบนี้ก็มีเยอะนะ คือ ตุ้งติ้งก็จะตุ้งติ้งไปเลย แต่ไม่ได้โอเวอร์ไง ส่วนพวกที่โอเวอร์ก็โดนข่าวออกไปแล้ว มีเยอะค่ะ โดยเฉพาะทางเหนือ เป็นอะไรที่... เขาเลี้ยงลูกแบบประคบประหงม ทะนุถนอม แต่พระแบบนี้จะเป็นที่รักของบรรดาญาติโยม คือ ทางเหนือเขาจะไม่ค่อยอะไรกับเรื่องนี้เลย พอเห็นเณรเป็นตุ๊ดคือ... ไม่ใช่ชื่นชมเพราะเขากระดี๊กระด๊าหรืออะไร แต่ชื่นชมคนที่เขาปฏิบัติตัวดี

          อย่างเวลาวัดมีงาน เวลาจัดดอกไม้ใครจะจัดล่ะ มัดผ้า ตกแต่งสถานที่ งานฝีมือต่างๆ เพราะถ้าจ้างคนนอกมาทำมันก็จะมีค่าใช้จ่ายต่างๆ อีก อันนี้เราก็ทำเองได้ แล้ววัดไหนที่มีพวกเราก็คือ จะสวยงามจริงๆ สะอาด มันไม่ใช่จะมีแต่ด้านลบไง มันก็มีด้านดีๆ แต่ว่า ถ้าพูดด้านดีๆ ออกไปใครจะฟัง ข่าวบางครั้งขายด้านลบ เณรตุ๊ด เณรแต๋ว นุ่งโอบิอย่างโน้นอย่างนี้ มันขายได้ใช่ไหม 

แล้วถ้าจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ล่ะต้องทำยังไง

          นัท : แก้ปัญหาก็คือ ไม่ต้องแก้ค่ะ แต่ที่มันมีปัญหากันอยู่ตรงที่การพฤติตัวไม่เหมาะสม เพราะไม่ใช่ว่า พระเณรที่มีกิริยาตุ้งติ้งจะทำกันทุกคน แต่ก็ประโคมข่าวกันเสียจนเหมือนกับว่าพระทั้งหมดเป็นแบบนั้น พระเณรที่เป็นแบบนี้ สมมติมี 100 คน แต่มี 2-3 คนที่ทำ ก็ลงโทษ 2-3 คนนั้นไป แต่อย่าลงโทษ อีก 98 คนที่เขาเป็นแล้วไม่ได้ทำ เขาไม่ได้ผิดที่เป็นแบบนี้นะ แต่มันผิดตรงการกระทำของเขามากกว่า

อะไรทำให้เราต้องขวนขวายถึงขนาดนี้ 

          นัท : คือ... เหมือนเรามองไปข้างบนน่ะ วันหนึ่งจะต้องเป็นนี่ๆๆๆ แล้วถ้าเรานั่งมองอยู่เฉยๆ เราก็จะนั่งมองมันอยู่อย่างนี้ เมื่อย ก็ทำยังไงก็ได้ให้เราขึ้นไปยืน ยืนให้เท่ากับสิ่งที่เรากำลังมองมันตรงๆ จะได้ไม่ต้องเหนื่อย เราเชื่อว่าพระเจ้านะ เขาจะให้ทุกสิ่งทุกอย่างกับคนที่สมควรได้ ถ้าเราอยู่เฉยๆ เราจะไม่เป็นผู้ที่สมควรได้หรอก เราต้องขวนขวายให้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เราสมควรได้ ไม่ว่าจะเป็นชื่อเสียง เกียรติยศ ทุกๆ อย่าง ให้เราเป็นผู้เหมาะสมกับสิ่งๆ นั้น คือ มองไปข้างบนแล้วต้องไปให้ถึงน่ะ ถ้าเราทำมันต้องถึง

หมายถึงต้องประสบความสำเร็จด้วย

          นัท : ต้องประสบความสำเร็จค่ะ (ยิ้ม)



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เปิดใจ นัท เอื้องเหนือ ชีวิตต้องสู้ของสาวประเภทสอง อัปเดตล่าสุด 10 มิถุนายน 2552 เวลา 14:39:57 25,559 อ่าน
TOP