x close

โชเฟอร์แท็กซี่ เหยื่อโจร คนโดยสารด้วย


โชเฟอร์แท็กซี่ เหยื่อโจร คนโดยสารด้วย (ไทยรัฐ)

         ชาวเน็ตโพสต์ข้อความอ้าง ผู้โดยสารถูกโชเฟอร์แท็กซี่รมยา แต่รอดมาได้ ขณะที่ตำรวจเผยยังไม่มีหลักฐานยืนยันแท็กซี่ก่อเหตุ ด้านผู้ดำเนินรายการ สวพ.91 ระบุ 6 เดือน ของปีนี้ ได้รับแจ้งเหตุ แท็กซี่ถูกชิงทรัพย์-ปล้นทรัพย์ มากที่สุด...

         ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนมีมุมมองเกี่ยวกับภัยคุกคามบนรถแท็กซี่ต่างกัน บ้างมองว่า คนขับแท็กซี่มักตกเป็นเหยื่อของผู้โดยสาร ในลักษณะต่างๆ เช่น จี้ ปล้น และจ่ายค่าโดยสารด้วยแบงก์ปลอม ขณะที่มีไม่น้อย คิดว่าผู้โดยสารมักตกเป็นเหยื่อคนขับแท็กซี่ ดังเช่นเมื่อไม่นานมานี้ ทีมข่าวไทยรัฐออนไลน์ ได้รับฟอร์เวิร์ดเมล์ เตือนให้ระวังถูกแท็กซี่รมยา 



         ผู้เสียหายอ้างว่า เรียกใช้บริการแท็กซี่ตามปกติ แต่เมื่อขึ้นไปได้สักพัก คนขับจะเปิดกระจกฝั่งตนเองลงสุดช่วงหนึ่งก่อนปิด จากนั้นจะมีท่าทางลุกลี้ลุกลนเหมือนไม่รู้เส้นทาง และปรับช่องแอร์บริเวณหน้ารถบ่อยครั้ง สลับกับเปิดปิดกระจกฝั่งคนขับ ขณะที่ผู้เสียหาย เริ่มรู้สึกมือสั่น ใจเต้นแรงและรู้สึกหวิวๆ เหมือนจะอ้วก จึงบอกให้คนขับจอดรถและรีบลงจากรถ

         ในฟอร์เวิร์ดเมล์ ยังระบุอีกว่า หลังลงจากแท็กซี่แล้ว ผู้ที่อ้างตัวว่า ถูกแท็กซี่รมยาได้ใช้น้ำล้างหน้า แต่มือก็ยังไม่หายสั่น หัวใจยังเต้นแรง และมีอาการเบลอสลับกับง่วงนอน จึงไปโรงพยาบาลให้แพทย์ตรวจ พบว่า ชีพจรเต้นเร็วผิดปกติ และม่านตาขยาย ซึ่งน่าจะมาจากฤทธิ์ของก๊าซ หรือ ยาสลบ แพทย์จึงให้ออกซิเจน และให้ดื่มน้ำมากๆ อาการจึงดีขึ้น

         พล.ต.ต.สุพร พันธุ์เสือ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ในฐานะโฆษกกองบัญชาการตำรวจนครบาล กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมา ยังไม่มีความชัดเจนเกี่ยวกับคดีลักษณะดังกล่าว ในพื้นที่ความรับผิดชอบของกองบัญชาการตำรวจนครบาล อย่างไรก็ตาม ได้ให้เจ้าหน้าที่รวบรวมคดีเกี่ยวกับแท็กซี่ และแยกพฤติกรรมการก่อเหตุให้ชัดเจน เพื่อป้องกันเหตุต่อไป


         
        ขณะที่นายตำรวจของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ ผู้รับแจ้งเหตุ ผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 191 ในพื้นที่กรุงเทพฯ ให้ข้อมูลว่า ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2552 ถึง 10 มิ.ย. 2552 ไม่มีรับแจ้งเหตุที่เกิดขึ้นกับคนขับแท็กซี่ และผู้โดยสารโดยตรง ส่วนใหญ่พบว่า คนขับแท็กซี่ตกเป็นเหยื่อคนร้ายในคราบผู้โดยสารล่อลวงไป

         นายตำรวจผู้นี้ เผยต่อไปว่า ที่เกิดเหตุจะเป็นพื้นที่รอบนอกของกรุงเทพฯ และเขตติดต่อ ซึ่งเป็นพื้นที่ค่อนข้างเปลี่ยว ในช่วงเวลาระหว่าง 22.00 น.- 05.00 น. แต่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา เริ่มพบว่า คนร้ายก่อเหตุช่วงกลางวัน สำหรับกรณีคนขับแท็กซี่รมยาผู้โดยสารนั้น ได้รับแจ้งบ้าง แต่เมื่อตำรวจเจ้าของท้องที่สอบสวนกลับไม่พบพยานหลักฐาน ซึ่งหากพิสูจน์ได้ว่า เป็นการรมยาเป็นการประทุษร้ายโดยใช้ยาทำให้มึนเมา ซึ่งเป็นเหตุให้อยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถขัดขืนได้ และหากตรวจพบสารพิษในร่างกายของผู้โดยสาร คนร้ายจะมีความผิดตามกฎหมายอาญา มาตรา 296 

         ส่วนฝ่ายประชาสัมพันธ์ศูนย์ข้อมูลข่าวสารราชการ กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม ให้ข้อมูลว่า สิ้นสุดเดือน มี.ค. 2552 มีรถแท็กซี่จดทะเบียนกับกรมการขนส่งทางบก ทั้งสิ้น 87,034 คัน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล มีทั้งแท็กซี่ส่วนบุคคลเขียวเหลืองและสีต่างๆ 

         ด้าน น.ส.ไจตนย์ ศรีวังพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท วิไลเซ็นเตอร์ แอนด์ซันส์ จำกัด ผู้ดำเนินงานรายการข่าวจราจร สวพ.เอฟเอ็ม 91 คลื่นเพื่อข่าวสารความปลอดภัยและจราจร กองตำรวจสื่อสาร สำนักงานตำรวจแห่ง ชาติ เผยว่า ในแต่ละวัน สวพ. 91 ได้รับรายงานและรับแจ้งเหตุผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1644 และหมายเลขโทรศัพท์ โทรฟรี 0-2562-0033-4, 0-2941-0847-50 เกี่ยวกับภัยแท็กซี่ตลอดเวลา ตั้งแต่ต้นปีจนถึงสิ้นเดือน พ.ค. สถิติการรับแจ้งภัยเกี่ยวกับแท็กซี่ 5 อันดับแรก มีดังนี้

1. ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์

2. หลอกลวงเอาทรัพย์สินของผู้ขับขี่

3. คนร้ายใช้แท็กซี่เป็นพาหนะในการหลบหนี เช่น วิ่งราว 

4. คนขับขี่ลงมือก่อเหตุ

5. คนขับรถขับรถออกไปพร้อมสัมภาระของผู้โดยสาร 

         ผู้ดำเนินงานรายการข่าวจราจร สวพ.เอฟเอ็ม 91 กล่าวต่อว่า คนขับแท็กซี่จะเป็นผู้ถูกกระทำมากกว่าเป็นผู้ลงมือก่อเหตุ สวพ.91 เพิ่งจัดอบรมแท็กซี่อาสาแจ้งข่าวรุ่นแรก มีผู้เข้าร่วมกว่า 1,200 คน และจะมีอีกหลายรุ่นตามมา เป็นความร่วมมือกับกองบัญชาการตำรวจนครบาล เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันตัว และช่วยแจ้งข่าว หรือ แจ้งเหตุแก่ สวพ.91 และผู้ฟัง



         สำหรับกรณีคนขับแท็กซี่รมยาผู้โดยสารนั้น น.ส.ไจตนย์ กล่าวว่า มีการรับแจ้งเหตุบ่อยครั้ง แต่เมื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วไม่ปรากฏความชัดเจน โดยเฉพาะกรณี ถ้าคนขับรมยาผู้โดยสารผ่านช่องแอร์ ซึ่งเป็นไปได้ยาก เพราะความเป็นจริงถ้ามีการรมยาจากช่องแอร์คนขับต้องได้รับยาดังกล่าวด้วย อย่างไรก็ตาม เมื่อ สวพ. 91 รับแจ้งเหตุแล้วได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงจากผู้เกี่ยวข้องทุกครั้ง ซึ่งที่ผ่านมา ยังไม่มีหลักฐานชัดเจน

         น.ส.ไจตนย์ กล่าวอีกว่า เพื่อความไม่ประมาทและเป็นการป้องกันตัว ขอแนะนำให้ผู้โดยสารแท็กซี่ปฏิบัติ ดังนี้ ทุกครั้งที่โดยสารแท็กซี่ควรโทรศัพท์ หรือ เอสเอ็มเอสทะเบียนรถและข้อมูลของแท็กซี่ บอกที่บ้าน หรือ คนรู้จัก นอกจากนั้น สวพ. 91 ยังเปิดรับแจ้งเหตุผ่านหมายเลขโทรศัพท์ 1644 หรือ อีกช่องทางหนึ่งคือ โทรศัพท์ *1644 ซึ่งเป็นระบบตอบรับอัตโนมัติฟรี เพื่อฝากข้อมูลและข้อความ เมื่อต้องโดยสารแท็กซี่ โดยได้รับการสนับสนุนระบบจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส



การแจ้งข้อมูลการโดยสารแท็กซี่กับ สวพ. 91 จะมีประโยชน์ 2 อย่าง คือ

1. ถ้าลืมสิ่งของสามารถตรวจสอบได้

2. คนขับแท็กซี่เองก็พอใจ เพราะเมื่อถ้ามีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้น สามารถตรวจสอบได้

        ตำรวจให้ข้อเตือนใจผู้โดยสารแท็กซี่ 2 ข้อ ว่า อย่างทำตัวให้ดึงดูดอาชญากรรม เช่น ใส่เครื่องประดับมีค่า และแต่งตัวล่อแหลม และ 2. อย่างนิ่งดูดาย เมื่อเห็นเหตุร้ายให้แจ้งตำรวจ หรือ สวพ. 91. ทันที




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
โชเฟอร์แท็กซี่ เหยื่อโจร คนโดยสารด้วย อัปเดตล่าสุด 27 มิถุนายน 2552 เวลา 19:32:15 10,988 อ่าน
TOP