คิดถึง ณ เชียงคาน (กรุงเทพธุรกิจ)
ปายแห่งลุ่มน้ำโขง...คู่แฝดหลวงพระบาง...น้องสาววังเวียง ฯลฯ สารพัดคำเปรียบที่ "คนอื่น" ใช้นิยามถึง "เชียงคาน" ในขณะที่ "เจ้าของบ้าน" พยายามตะโกนร้องบอกกับทุกคนว่า "เชียงคาน" คือ "เชียงคาน" ไม่ได้เป็นอดีต ปัจจุบัน หรืออนาคตของใคร เพราะฉะนั้น กรุณาอย่าคาดหวัง!!
ไม่ปฏิเสธว่าฉันเองก็แอบจินตนาการถึงเมืองเล็กๆ แห่งนี้อยู่เหมือนกัน แต่ "จินตนาการ" ไม่ได้แปลว่า "คาดหวัง" ผลลัพธ์ประเภทที่ว่าเจ็บปวด เสียใจ จึงไม่อาจใช้ได้กับภาพที่วาดไว้ในความคิด แล้วอย่างนี้ความจริงที่เจอจะส่งผลอย่างไรกับภาพในจินตนาการ บอกได้คำเดียวเลยว่า มันช่วย "เติมเต็ม" ให้ภาพนั้นดูสมบูรณ์มากขึ้น
สะบายดี เชียงคาน
ถ้า แคสเปอร์ เดวิด ฟรีดดริก (Caspar David Friedrich) ไม่ด่วนจากโลกนี้ไปก่อน ฉันคงทึกทักเอาว่า ภาพตรงหน้าเป็นผลงานเสมือนจริง ที่หลุดมาจากการตวัดพู่กันของศิลปินชาวเยอรมันยุคโรแมนติกคนนี้แน่ๆ ฟรีดดริก เป็นจิตรกรที่ชอบวาดภาพธรรมชาติ และผลงานที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักดี นั่นก็คือ Wanderer Above the Sea of Fog หรือ นักเดินทางผู้เฝ้ามองทะเลหมอก
ฉันไม่ใช่นักเดินทางในผลงานชิ้นเอก แต่กำลังยืนดูทะเลหมอกจากไอฝนที่กำลังห่มคลุมเส้นเลือดสายใหญ่ที่ใครๆ ต่างเรียกมันว่า แม่น้ำโขง
"เชียงคานสวยทุกฤดู" เสียงของพี่ชายชาวเชียงคาน ทำให้ฉันต้องก้มหัวให้กับคำกล่าวอ้างนั้นจริงๆ เพราะแม้จะต้องเสียเหงื่อไปกับความรุ่มร้อนในตอนบ่าย สายฝนแห่งความฉ่ำเย็นที่เทกระหน่ำลงมาในยามค่ำ กลับทำให้ภาพของเชียงคานเด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ
เชียงคาน เป็นอำเภอเล็กๆ อำเภอหนึ่งของจังหวัดเลย ที่ตั้งอยู่อย่างสงบงามริมแม่น้ำโขง จากประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนานทำให้เข้าใจว่า "ราก" สำคัญต่อการมีอยู่ของชาวเชียงคานอย่างไร ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นบ้านเชียงคาน ภาษาเชียงคาน อาหารเชียงคาน การละเล่นเชียงคาน หรืออะไรก็ตามที่เป็นเชียงคาน สะท้อนให้เห็นถึงความเคารพที่คนไทเชียงคานยุคปัจจุบันพึงมีต่อบรรพบุรุษเชียงคานได้ชัดเจน นั่นจึงไม่ใช่เรื่องแปลก หากชาวเชียงคานบางกลุ่มจะลุกขึ้นมาต่อต้านกระแสธารแห่งการท่องเที่ยวอันไร้ขีดจำกัด ที่ไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็วราวกับน้ำป่าในช่วงปีที่ผ่านมา
"ไม่ได้แปลว่าการท่องเที่ยวไม่ดี คนเฒ่าคนแก่ดีใจที่มีนักท่องเที่ยวเข้ามา แต่ไม่อยากให้มาเปลี่ยนเชียงคาน" ดวง-ธนภูมิ อโศกตระกูล ลูกหลานชาวเชียงคาน บอก
ดวง เป็นหนึ่งในสมาชิกชาวเชียงคานรุ่นใหม่ที่พยายามผลักดันให้เกิดการตั้ง "กลุ่มคนเชียงคานรักเมือง" ขึ้น เพื่อดูแลรักษาสภาพเมืองเชียงคานให้คงอยู่อย่างเดิมตลอดไป ซึ่งนอกจากจะดูแลแล้วยังเฝ้าระวังไม่ให้ "คนนอก" มาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวเชียงคานที่แท้จริงด้วย
ระหว่างสนทนา ดวง พาฉันเดินสำรวจเมืองเชียงคานไปพร้อมกัน ผังเมืองเชียงคานอาจจะไม่แตกต่างจากเมืองริมน้ำอื่นๆ มากนัก คือมีถนนเส้นเลียบชายโขง ที่ชาวเชียงคานเรียก ว่า ถนนหลุ่ม (ล่าง) เป็นเส้นที่มีเรือนแถวโบราณอยู่มากที่สุด ซึ่งจุดนี้เองที่ดึงดูดผู้คนจากทั่วสารทิศให้แวะเวียนมาเยี่ยมเยือนเชียงคาน ส่วนถนนคมนาคมสายหลัก หรือถนนเทิง (บน) นั้น เป็นชุมชนเมืองที่ความเจริญเข้าถึง บ้านเรือนส่วนใหญ่จึงก่อสร้างด้วยสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ สีสันฉูดฉาด ไม่ต่างกับเมืองอื่นๆ ของไทย
สังเกตว่าบ้านแต่ละหลังค่อนข้างชำรุดทรุดโทรมมาก อาจจะด้วยกาลเวลาที่ผ่านมาเนิ่นนานนั่นเอง เจ้าถิ่นบอกว่าคนเชียงคานค่อนข้างมีฐานะ เพราะฉะนั้นจะไม่ยอมขายบ้านให้กับคนต่างถิ่น อย่างมากคือให้เช่า และเก็บไว้เป็นมรดกตกทอดสู่ลูกหลาน
แม่กุญแจขนาดใหญ่ที่ปิดตายบ้านหลายหลัง ทำให้ดูคล้ายกับไม่มีคนอยู่ แต่จริงๆ แล้วบ้านเก่าทุกหลังมีเจ้าของ ฉันเห็นร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกหลายร้านแทรกตัวอยู่กับบ้านโบราณในย่านนี้ แต่ละร้านตกแต่งให้มีเสน่ห์ต่างกันไป บางร้านคงรูปแบบเดิมไว้อย่างเงียบงาม ในขณะที่บางร้านปรุงโฉมบ้านเก่าจนมองเค้าเดิมแทบไม่ออก ดีหรือไม่ อยู่ที่วิจารณญาณของแต่ละคน สำหรับฉันประมาณนี้กำลังดี
วันวานและพรุ่งนี้
จากเอกสารที่ วัดศรีคุณเมือง ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ของอำเภอเชียงคาน เล่าถึงการสร้างเมืองเชียงคานที่ปรากฎในพงศาวดารล้านช้าง สรุปความได้ว่า "ขุนคาน" เป็นโอรสของ "ขุนครัว" แห่งอาณาจักรล้านช้าง โดยขุนคานเป็นผู้สร้างบ้านแปงเมืองเชียงคานขึ้นมา ในตอนแรกนั้นเมืองเชียงคานตั้ง อยู่ทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง (ฝั่งลาว) ต่อมาปี 2436 (รศ.112) ฝรั่งเศสได้เข้ามาทำสงครามและยึดครองดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงทั้งหมด ตามสนธิสัญญา ชาวเมืองเชียงคานทั้งหมดจึงได้อพยพหนีภัยมาสร้างเมืองเชียงคานใหม่ หรือเมืองปากเหือง ที่บริเวณปากแม่น้ำเหือง จนเมื่อฝรั่งเศสรุกหนัก จากบ้านปากเหือง แขวงไซยะบุรี ชาวบ้านจึงพากันหนีอีกรอบมาตั้งบ้านอยู่ที่บ้านท่านาจันทร์ บริเวณฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองเชียงคานปัจจุบันราว 2 กิโลเมตร
ดูเหมือนว่า ชาวเชียงคานจะมีชีวิตอยู่กับการหนีมาตลอด และทุกครั้งที่หนีมาจากการรุกรานของ "คนอื่น"
"ตอนนี้เริ่มมีนายทุนเข้ามาติดต่อ แต่ชาวบ้านยังรวมพลังที่จะไม่ขาย" ดวง บอกเสียงเรียบ
"ยายไม่ขายหรอก คนเชียงคานเขาก็ไม่มีใครขาย" ยายเสงี่ยม ตอบคำถามคนต่างถิ่นอย่างฉัน แล้วพอถามว่า ทำไม ยายบอกว่า "ไม่ได้เดือดร้อน ถ้าขายแล้วจะไปอยู่ไหน" ฉันสะอึกกับคำตอบ ภาพชาวเชียงคานที่เคยวิ่งหนีฝรั่งบ้าอำนาจวนกลับเข้ามาในความคิด ถ้าวันนี้คนเชียงคานตัดสินใจขายบ้าน ชะตากรรมก็คงไม่ต่างจากบรรพบุรุษที่เร่ร่อนหาที่อยู่เพียงเพื่อให้พ้นเงื้อมมือของต่างชาติ
อาหารมือเช้าครบรสไปด้วยสาระและความบันเทิง มันไม่ได้หรูหราเหมือนนั่งกินอยู่ในภัตตาคาร หรือล้อมวงคุยกันในบ้านหลังใหญ่ แต่มื้อเช้าแสนพิเศษของฉันอยู่บนศาลากลางวัดศรีคุณเมือง ใช่แล้ว...ฉันกำลังกินข้าวก้นบาตรพระ
"กินข้าวในวัดนี่แหละดี มีอาหารพื้นบ้านให้กินเยอะแยะ มาเชียงคานแล้วต้องกินอาหารเชียงคานนะ" บุรุษหนุ่มสายเลือดเชียงคาน บอก
จะปฏิเสธก็กลัวเสียน้ำใจ มื้อนั้นฉันจึงได้นั่งอร่อยไปกับเมนูอาหารเฉพาะถิ่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น หยู่ปลาทู (น้ำพริกปลาทูแบบแห้ง), เอาะหลาม หรือซั้ว หรือต้มซั้ว (คล้ายๆ แกงเลียง แต่ไม่ใส่พริกไทย), บ่นปลา(คล้ายๆ แจ่วปลา), หมกปลา, อั่วะเนื้อ, แจ่วหมากเผ็ดใหญ่ (แจ่วพริกเม็ดใหญ่) ฯลฯ ทั้งหมดกินกับข้าวเหนียว และอาหารมื้อนั้นก็ไขข้อสงสัยของฉันที่มีมาตั้งแต่เช้าว่า ทำไมคนที่นี่จึงใส่บาตรเฉพาะข้าวเหนียว ดูแล้วไม่ต่างจากใส่บาตรที่หลวงพระบางเลย
"คนเชียงคานจะใส่ข้าวเหนียวอย่างเดียว กับข้าวกับขนมหวานเอามาถวายที่วัด ถวายเสร็จบางวันก็ฟังเทศน์ฟังธรรมต่อไปเลย" คุณยายท่านหนึ่ง บอก
หลังอิ่มเอมกับอาหารมื้อพิเศษ ฉันจึงมีโอกาสได้ชมวัดเก่าแก่แห่งนี้แบบเต็มตา...
วัดศรีคุณเมือง อยู่บริเวณถนนศรีเชียงคาน ซอย 7 สร้างมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2485 วัดนี้เป็นแหล่งรวมงานศิลปะทั้งแบบล้านนาและล้านช้างไว้มากมาย ที่น่าสนใจคือ พระพุทธรูปไม้จำหลักลงรักปิดทอง ปางประทานอภัยแบบล้านช้าง ฉันมองขึ้นไปที่ผนังด้านหน้าอุโบสถ เห็นภาพจิตรกรรมฝาผนังปรากฎอยู่เต็มหน้าบัน ภาพทั้งหมดเป็นภาพนิทานชาดก ชุดพระเจ้าสิบชาติ แต่ที่น่าสนใจคือ สังเกตว่ามีรูปรถตุ๊กตุ๊กอยู่ที่ด้านล่างของภาพด้วย แสดงว่าภาพเหล่านี้เป็นภาพวาดสมัยใหม่ หรือไม่ก็อาจจะมีการแต่งเติมลงไป
จากซอยเย็น ดวง พาเราย้อนกลับไปที่ ซอย 0 แปลกแต่จริงที่เชียงคานมีซอย 0 ด้วย เจ้าถิ่นเองก็ไม่ทราบที่มา แต่เห็นว่าแปลก จึงพามาชม ใกล้ๆ ซอย 0 เป็นร้านขายข้าวหลามยาว อีกหนึ่งเอกลักษณ์ของเชียงคาน ดวง บอกว่าในอดีตเมื่อชาวเชียงคานจะไปเยี่ยมญาติต่างถิ่น ของฝากที่ติดไม้ติดมือไปนั่นคือ ข้าวหลามยาว และโดนัททำมือ
แต่ในบรรดาของกินที่ได้ลองลิ้มชิมรส ฉันค่อนข้างชอบ "ข้าวปุ้นฮ้อน" ที่สุด เพราะแปลกและอร่อย สามารถเลือกเส้นได้ตามใจชอบ ไม่ว่าจะเป็น แมงด๊องแด๊ง (เส้นเหมือนเกี้ยมอี๋), หัวไก่โอก (เส้นใหญ่ปั้นกลมเหมือนลูกชิ้น) หรือเส้นธรรมดา (คล้านซ่าหริ่ม) กินกับน้ำจิ้มคลุกพริกสด มะนาว น้ำปลา น้ำตาล แค่นี้ก็แซบได้ถึงใจ
"ถ้ามาเชียงคานแล้วไม่ได้กินข้าวปุ้นน้ำแจ่ว ถือว่ามาไม่ถึงเชียงคาน" บางคนเคยโฆษณาไว้อย่างนั้น แต่ในฐานะนักเดินทางผู้นิยมมังสวิรัติ (มังเขี่ย-เขี่ยหมู เขี่ยไก่) ขอปรับเนื้อหานิดหน่อยว่า "มาเชียงคานแล้วไม่ได้กินข้าวปุ้นฮ้อน ถือว่ามาไม่ถึงเชียงคาน" แค่นี้ก็ทำให้ฉันมาถึงเชียงคานได้อย่างสมบูรณ์(ว่าไปนั่น)
รักเชียงคานต้องขี่ (จักรยาน)
ของฝากเชียงคานนอกจากอาหารแล้วยังมีผ้าห่มนวม ผ้าห่มที่ชาวบ้านยืนยันนักหนาว่า อุ่น นุ่ม กว่าที่ไหนๆ
"เมื่อก่อนเชียงคานค้าขายฝ้าย ปลูกฝ้ายขาย แต่พอมีนายทุนมาซื้อที่ดินชายโขงที่เคยเป็นไร่ฝ้าย ตอนหลังเราจึงต้องซื้อฝ้ายจากที่อื่น" ชาวเชียงคาน สะท้อน
แม้วัตถุดิบจะต้องนำเข้า แต่ฝีมือแรงงานยังเป็นของชาวเชียงคานล้วนๆ อย่างที่ร้านนิยมไทย ก็เป็นหนึ่งในร้านจำหน่ายผ้าห่มนวมคลาสสิคที่สามารถเข้าไปชมกรรมวิธีการทำ ได้ และเมื่อฉันลองเข้าไปนั่งดูใกล้ๆ ก็พบว่า การถักทอผ้านวมแต่ละผืน ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
"อยากเห็นโรงหนังเก่ามั้ย" พี่ชายคนเดิมชวน ไม่ลังเลเราหันหัวรถถีบไปยังจุดหมายปลายทางใหม่ทันที
สุวรรณรามา เป็นโรงหนัง 1 ใน 2 แห่งที่มีในเชียงคาน ดวงบอกว่า สมัยนั้นเชียงคานยัง ไม่มีแหล่งบันเทิง โทรทัศน์ก็มีน้อย ผู้คนจึงนิยมซื้อตั๋วเข้ามาดูหนัง บางเรื่อง 3 บาท บางเรื่อง 4 บาท ซึ่งบางเรื่องก็ได้รับความนิยมมากขนาดฉายแบบรอบชนรอบเลยทีเดียว
"ตอนนี้เป็นร้านกาแฟโบราณ แต่ก็เอาข้าวของเครื่องใช้สมัยเป็นโรงหนังมาจัดแสดง มีตั๋วเก่าด้วย มีเครื่องฉาย ตอนนี้โรงหนังปิดไปแล้ว เปลี่ยนมาเป็นสนามแบดมินตัน เพราะความบันเทิงต่างๆ เข้ามา"
ฉันเดินชมอดีตของสุวรรณรามาอย่างเพลิดเพลิน จนลืมเวลาว่าจะต้องขี่จักรยานปีนเขาขึ้นไปนมัสการพระที่ "วัดท่าแขก" ซึ่งวัดท่าแขกเป็นวัดเก่าแก่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ห่างจากตัวเมืองเชียงคานไป ประมาณ 2 กิโลเมตร สังเกตง่ายๆ คืออยู่ก่อนถึงหมู่บ้านน้อยและแก่งคุดคู้ วัดนี้เป็นวัดธรรมยุติ ภายในโบสถ์มีพระพุทธรูป 3 องค์ ที่สกัดจากหินทรายทั้งก้อน เป็นพระพุทธรูปเก่าแก่และศักดิ์สิทธิ์ มีอายุประมาณ 300 กว่าปี เห็นแล้วอดทึ่งในฝีมือของช่างโบราณไม่ได้
ลงจากเขาเรามุ่งหน้าฝ่าลมแรงไปที่ "แก่งคุดคู้" ซึ่งเป็นแก่งหินขนาดใหญ่กลางลำน้ำโขง มองไปเห็นภูเขาสูงใหญ่วางทับซ้อนกันดูสวยงาม มีสายหมอกลอยระเรี่ยอยู่ลิบๆ ฉันมองลงไปที่แก่งคุดคู้ กระแสน้ำบริเวณนั้นค่อนข้างเชี่ยว กอปรกับฝนที่เริ่มลงเม็ด ทำให้เรามีเวลาเก็บความรู้สึกอยู่ได้ไม่นาน แต่ก็พอทันได้สังเกตว่า มีรถยนต์หลายคันจอดอยู่กลางหาดริมโขง ซึ่งไม่น่าจะเป็นภาพที่ชวนพิสมัย เพราะทำให้ทัศนียภาพสูญเสียความงามไปอย่างสิ้นเชิง
ฝนซาฟ้าสว่างเราปั่นจักรยานกลับมาที่ถนนเชียงคานล่างอีกครั้ง ความเมื่อยล้าทำให้ต้องหาที่บีบนวดกันเล็กน้อย ไม่ผิดหวัง "คิดถึง ณ เชียงคาน" เป็นสวรรค์ที่ฉันค้นพบ นอกจากจะเป็นร้านจำหน่ายสินค้าที่ระลึกสไตล์คนเมืองเชียงคานแล้ว ด้านในยังมีบริการนวดแบบที่เรียกว่า "ยองเส้นให้แหลว" อีกด้วย
"ก็เหมือนนวดเส้นให้เหลว คลายกล้ามเนื้อ ป้าเน้นนวดเท้า เพราะเท้าคือศูนย์รวมของประสาททุกส่วน ป้านวดที่นี่แล้วก็มีสอนด้วย ในเชียงคานถามได้เลยป้าก้อยมือหนึ่งเรื่องนวดอยู่แล้ว" ป้าก้อย - อุไรรัตน์ มั่งมีศรี หมอนวดมือทอง ว่าอย่างนั้น ไม่พูดพร่ำป้าก้อยลงมือนวดอย่างขันแข็ง
จริงๆ เชียงคานยังมีเรื่องราวให้พูดได้ไม่รู้จบ เวลาเพียงแค่ 2-3 วัน คงไม่สามารถเข้าถึงคำว่า "เสน่ห์" ของเชียงคานได้ อาจต้องใช้เวลาเป็นเดือน เป็นปี หรือเป็นสิบปี กว่าจะถ่องแท้กับความรู้สึกนี้ เหมือนกับที่ชาวเชียงคานสะท้อนไว้
"รักเชียงคานจริง ต้องเฝ้าทะนุถนอม ดูการเติบโตอย่างช้าๆ ค่อยๆ เป็น ค่อยๆ ไป เติบโตอย่างแข็งแรง มีคุณภาพ รู้ทิศทาง ควบคุมตัวเองได้ ให้เชียงคานเป็นเชียงคาน อย่าไปเสริมเติมแต่งจริตให้มากเกิน มิฉะนั้น เสน่ห์เชียงคานจะจางหาย"
การเดินทาง
เชียงคานเป็น เมืองชายโขงที่กำลังได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวมาก สามารถเดินทางไปได้ทั้งทางรถยนต์และรถประจำทาง รถยนต์แนะนำให้ใช้ทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนมิตรภาพ) ผ่านสระบุรี อ.ปากช่อง แล้วแยกซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 201 ที่อำเภอสีคิ้ว ขับตรงไปผ่านอำเภอด่านขุนทด อำเภอเมือง จังหวัดชัยภูมิ ใช้เส้นทางเดิมผ่านอำเภอภูเขียว จากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข 12 ผ่านอำเภอชุมแพ ก่อนจะเปลี่ยนเข้าสู่ทางหลวงหมายเลข 201 ผ่านอำเภอภูกระดึง อำเภอวังสะพุง ผ่านตัวเมืองจังหวัดเลย แล้วขับตรงต่อไปเส้นเดิมราว 47 กิโลเมตร ก็จะถึงเชียงคาน
หากไปรถประจำทาง มีรถปรับอากาศให้บริการมากมาย รถ บขส. 999 โทร. 0-2936-2841-8, 0-2936-0657 ต่อ 605 รถทัวร์แอร์เมืองเลย โทร. 0-2936-0142 หรือสอบถามที่ ททท. สำนักงานเลย (เลย-หนองบัวลำภู) โทร. 0-4281-2812, 0-4281-1405
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
โดย : นิภาพร ทับหุ่น