วิธีดูสุริยุปราคา อย่างถูกต้องและปลอดภัย

สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส



เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก วิกิพีเดีย และ thaiastro.nectec.or.th 


          เช้าวันพุธที่ 22 กรกฎาคม 2552 จะเกิดปรากฏการณ์สุริยุปราคาเต็มดวง หรือ สุริยคราส ยาวนานที่สุดในศตวรรษที่ 21 โดยปรากฏการณ์นี้จะเห็นหลายประเทศในเอเชีย รวมทั้งประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ สุริยุปราคาเต็มดวงครั้งนี้ เกิดขึ้นหลังจากดวงจันทร์เข้าใกล้โลกมากที่สุดในรอบปี ในเวลาประมาณตี 3 ของวันเดียวกัน และเกิดหลังจากที่ดวงอาทิตย์อยู่ไกลจากโลกมากที่สุด 2 - 3 สัปดาห์ ทำให้ดวงจันทร์มีขนาดปรากฏใหญ่กว่าดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นสาเหตุให้สุริยุปราคาครั้งนี้มีระยะเวลามืดเต็มดวงยาวนานมาก 

          ทั้งนี้ ในเวลา 6:58 น. ตามเวลาประเทศไทย จะเริ่มเกิดสุริยุปราคา โดยจะเห็นเงามัวของดวงจันทร์เริ่มแตะผิวโลกตรงบริเวณชายฝั่งด้านตะวันออกของอินเดีย และศูนย์กลางเงามืดเริ่มแตะผิวโลก ในเวลาประมาณ 7:53 น. ซึ่งจุดที่เห็นสุริยุปราคาเต็มดวงนานที่สุดอยู่ในมหาสมุทร ระยะเวลานาน 6 นาที 39 วินาที โดยเกิดขึ้นในเวลา 9:29 น. ใกล้หมู่เกาะโบนิน นับว่ายาวนานที่สุดในคริสต์ศตวรรษที่ 21 และช่วงท้ายของปรากฏการณ์ เงามืดผ่านเกาะเล็กๆ ในหมู่เกาะมาร์แชล ก่อนจะสิ้นสุดในมหาสมุทรแปซิฟิก ในเวลา 11:18 น. และสุริยุปราคาจะสิ้นสุดเมื่อเงามัวของดวงจันทร์หลุดออกจากผิวโลกในเวลา 12:12 น. ใกล้เกาะวอลลิสและฟูตูนา ซึ่งเป็นเกาะเล็กๆ แห่งหนึ่งของฝรั่งเศส ในมหาสมุทรแปซิฟิก

          สำหรับประเทศไทยเราจะเห็นสุริยุปราคาบางส่วน ในช่วงเวลาประมาณ 07.00 น. – 09.00 น. โดยภาคเหนือและภาคอีสานตอนบน มีโอกาสเห็นดวงอาทิตย์แหว่งมากกว่าภาคอื่นๆ โดยดวงอาทิตย์จะเริ่มแหว่งทางซ้ายมือด้านบนและไปสิ้นสุดทางซ้ายมือด้านล่าง

สุริยุปราคา หรือ สุริยคราส


หมายเหตุ

          1. มุมเงย : มุมที่วัดจากขอบฟ้า ขึ้นไปหาตำแหน่งดวงอาทิตย์บนท้องฟ้า 

          2. ขนาด : สัดส่วนที่ดวงจันทร์บังดวงอาทิตย์ วัดตามแนวเส้นผ่านศูนย์กลางของดวงอาทิตย์ ยิ่งมีค่ามากแสดงว่าดวงอาทิตย์ยิ่งแหว่งเว้ามาก (0.5 หมายถึงดวงอาทิตย์ถูกบังครึ่งดวง เป็นต้น) 

          3. อำเภอเมืองของจังหวัดอื่นๆ และรายละเอียดเพิ่มเติม ดูได้จากตารางเวลาสำหรับทุกจังหวัดทั่วประเทศ

          อย่างไรก็ตาม นายบุญรักษา สุนทรธรรม ผอ.สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงวิธีชมสุริยุปราคาที่ถูกต้องและปลอดภัย ว่า ควรใช้แว่นตาดูดวงอาทิตย์ที่ผลิตจากแผ่นกรองแสงชนิดพิเศษที่ป้องกันรังสีอินฟราเรดได้ เช่นเดียวกับแว่นตาดูดวงอาทิตย์ที่สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ผลิตออกมาแจกจ่าย หรืออาจใช้แผ่นซีดีหรือดีวีดีก็ได้ แต่ต้องแน่ใจว่าสารเคลือบไม่หลุดลอก และแต่ละครั้งไม่ควรส่องดูนานเกิน 5 วินาที นอกจากนี้ ก็สามารถใช้กระจกช่างเชื่อมเบอร์ 14 หรือถ้าจะใช้ฟิล์มเอ็กซเรย์หรือฟิล์มขาวดำ ก็ต้องแน่ใจว่าส่วนที่นำมาใช้นั้นมืดสนิท และควรใช้ซ้อนเป็น 2 ชั้น 

          "อาจใช้กระดาษเจาะรูเล็กๆ เป็นกล้องรูเข็ม และสังเกตปรากฏการณ์จากฉากรับสีขาว ซึ่งไม่ต้องส่องดูดวงอาทิตย์โดยตรงและปลอดภัยแน่นอน แต่ไม่แนะนำให้ใช้กระจกรมควัน และที่สำคัญต้องไม่ดูด้วยตาเปล่าเด็ดขาด" นายบุญรักษา กล่าว

          ทั้งนี้ ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์ได้เตรียมตั้งกล้องไว้บริการสำหรับผู้ที่สนใจชมปรากฏการณ์ครั้งนี้ในทุกๆ พื้นที่ ตั้งแต่เวลาประมาณ 07.00 - 09.19 น. ทั้งส่วนกลางและภูมิภาคไปพร้อมๆ กัน ได้แก่...

          ภาคกลาง - จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 
          ภาคเหนือ - มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มหาวิทยาลัยนเรศวร 
          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ - มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี 
          ภาคใต้ - มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยราชภัฏภูเก็ต

          สำหรับปรากฏการณ์สุริยุปราคาครั้งต่อไปจะมีวันที่ 15 มกราคม 2553 ซึ่งจะเป็นการเกิดสุริยุปราคาแบบวงแหวน ประเทศไทยมองเห็นได้เป็นบางส่วนเช่นเดิม และที่สำคัญการเกิดสุริยุปราคาในวันที่ 15 มกราคมปีหน้านี้ นับได้ว่าเป็นครั้งสุดท้ายของรอบปีที่จะสามารถมองเห็นได้ในประเทศไทย เพราะหลังจากนี้คงต้องรออีกหลายปีกว่าจะเกิดปรากฎการณ์สุริยุปราคาที่มองเห็นได้ในประเทศไทยให้ชมอีกครั้งหนึ่ง


ขอขอบคุณข้อมูลจาก
และ สมาคมดาราศาสตร์ไทย

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วิธีดูสุริยุปราคา อย่างถูกต้องและปลอดภัย อัปเดตล่าสุด 16 กรกฎาคม 2552 เวลา 15:05:13 22,226 อ่าน
TOP
x close