x close

ฮิลลารี เปรียบเทียบ โอบามา - โอบามาร์ค






ฮิลลารี เปรียบเทียบ โอบามา - โอบามาร์ค (คมชัดลึก)

          นางฮิลลารี คลินตัน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ให้สัมภาษณ์พิเศษแก่ สุทธิชัย หยุ่น บรรณาธิการอำนวยการเครือเนชั่น และ วีณารัตน์ เลาหภคกุล ในรายการชีพจรโลก ทางโมเดิร์นไนน์ทีวี ระหว่างเดินทางมาประเทศไทยเพื่อร่วมประชุมในเวทีความมั่นคงของอาเซียน โดยเธอเปรียบเปรยสถานการณ์การเมืองในประเทศไทยว่า การเมืองไทยเผ็ดร้อนเหมือนอาหารไทย

          ในการให้สัมภาษณ์อย่างเป็นกันเอง นางคลินตันยังกล่าวถึง การเมืองไทยที่แบ่งแยกเป็น 2 สี คือแดง - เหลือง ด้วยว่า วันนี้เธอใส่เสื้อสีฟ้าเทอร์ควอยซ์ เพราะมีคนบอกว่า ไม่ควรจะใส่สีบางสีมา อย่างไรก็ตาม นางคลินตันไม่ยอมตอบคำถามเรื่องคุกลับที่มีการเปิดโปงโดยวอชิงตัน โพสต์ว่ามีอยู่ในประเทศไทย กล่าวเพียงว่าการทรมานนักโทษได้ยุติลงแล้ว

          รัฐมนตรีต่างประเทศหญิงของสหรัฐบอกด้วยว่า รัฐบาลของประธานาธิบดีบารัก โอบามา จะเปลี่ยนแปลงนโยบายที่มีต่อชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจะกลับมาให้ความสำคัญแก่ภูมิภาคนี้มากขึ้นกว่าสมัยรัฐบาลของอดีตประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ละเลยผลประโยชน์ของสหรัฐในเอเชีย

          นางคลินตัน ยังกล่าวเปรียบเทียบ "โอบามา" และ "โอบามาร์ค" 2 ผู้นำคนรุ่นใหม่นั้น มีความเหมือนและความต่าง แต่ก็หวังว่า คนรุ่นใหม่จะเรียนรู้ข้อผิดพลาดของคนรุ่นเก่า เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น

คุณพบนายกฯ อภิสิทธิ์ เมื่อวานนี้ สำเนียงแบบอังกฤษของเขาเป็นอย่างไรบ้าง

         ฮิลลารี : การพูดคุยเป็นไปอย่างดีมาก เราพูดคุยกันในหลายๆ เรื่อง ฉันเริ่มจากการขอบคุณประเทศไทยที่เป็นพันธมิตรที่ดีกับเรามายาวนานถึง 176 ปี เรายังพูดถึงสิ่งที่ไทย - อเมริกันทำร่วมกัน การต่อสู้ปัญหาโรคเอดส์ การกระชับความสัมพันธ์ด้านทหาร การแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ ซึ่งเป็นสิ่งที่ฉันให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ และประเด็นด้านภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การประชุมอาเซียนในครั้งนี้

เวลาคุณพูดถึงประเทศไทย ภาพลักษณ์ประเทศไทยปัจจุบันเป็นอย่างไร

         ฮิลลารี : เป็นภาพลักษณ์ที่บวกหรือลบอย่างไร ฉันคิดว่าการที่เราเป็นพันธมิตรและมีความสัมพันธ์ที่ดีมายาวนานทำให้เราเข้า ใจประเทศไทยในเชิงกว้าง ฉันรู้ว่า เมืองไทยเป็นเมืองแห่งรอยยิ้มและเป็นที่ที่ประชาธิปไตยกำลังเติบโต แม้บางครั้งการเมืองไทยเผ็ดร้อนยิ่งกว่าอาหารไทยเสียอีก

เมืองไทยในสายตาคุณเป็นอย่างนี้นี่เอง

         ฮิลลารี : ฉันรู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คนไทยต้องแก้ปัญหาเอง แต่ฉันเชื่อมั่นในประชาธิปไตยที่กำลังเติบโต และความมีเสถียรภาพของไทย

 นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้วันนี้คุณใส่เสื้อสีเขียวหรือเปล่า

         ฮิลลารี : แต่ฉันว่ามันเป็นสีฟ้าเทอร์ควอยซ์มากกว่า ฉันผิดหรือเปล่า ฉันรู้ว่ามีสีบางสีที่ฉันไม่ควรใส่

 มีคนบอกคุณใช่หรือไม่

         ฮิลลารี : มีคนบอกฉันมา แต่ไม่เป็นไร เพราะฉันอาจจะใส่สีบางสีไม่ค่อยขึ้นอยู่แล้ว

การมาเยือนเอเชียและอาเซียนครั้งนี้คุณต้องการจะบอกอะไรกับอาเซียน

         ฮิลลารี : สิ่งที่อยากจะบอก ก็คือ ประธานาธิบดีบารัก โอบามา และฉันเองให้ความสำคัญแก่ภูมิภาคนี้อย่างมาก เราไม่ได้มีพันธมิตรอันยาวนานอย่างประเทศไทยเท่านั้น แต่เราเชื่อว่า ทั้งภูมิภาคมีพันธสัญญาคล้ายๆ กัน และนี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ฉันเลือกเดินทางมาเอเชียหลังเข้ารับตำแหน่ง และฉันก็เดินทางกลับมาอีกครั้งภายใน 6 เดือน และก็มาประชุมอาเซียนที่ภูเก็ต เพราะเราอยากให้ความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากยิ่งขึ้น ไม่ใช่แค่ระดับประเทศกับประเทศ แต่ทั้งภูมิภาค มีหลายประเด็นที่ไทยกับสหรัฐไม่สามารถที่จะแก้ปัญหาโดยลำพังได้ เราต้องแก้ปัญหาตั้งแต่โรคติดต่อจนถึงปัญหาการละเมิดลิขสิทธิ์ ฉันเชื่อมั่นว่า สหรัฐจำเป็นที่จะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในภูมิภาคนี้

อะไรคือสิ่งที่แตกต่างระหว่างนโยบายต่างประเทศของรัฐบาลบุช และรัฐบาลโอบามา โดยเฉพาะนโยบายต่อเอเชีย

         ฮิลลารี : ฉันหวังเป็นอย่างยิ่งว่า รัฐบาลโอบามาจะแสดงให้เห็นว่า สหรัฐกลับมาสู่เอเชียแล้ว (America back in Asia) เราเห็นความคืบหน้าในหลายๆ ด้านในเอเชีย และเราคิดว่ายังมีงานอีกเยอะที่ต้องทำ เราต้องการให้คนเอเชีย ไม่ใช่แค่รัฐบาล รู้ว่าสหรัฐจะผูกพันกับเอเชียในระยะยาว (longhaul

 อะไรคือภัยที่ร้ายแรงที่สุดต่อสันติภาพในภูมิภาคนี้

         ฮิลลารี : ภัยที่ฉันคิดว่าร้ายแรงอันดับแรกๆ เลยก็คือ การสะสมอาวุธนิวเคลียร์และอาวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง แน่นอนว่า เรากังวลกับปัญหานิวเคลียร์ในเกาหลีเหนือ และรายงานล่าสุดที่ระบุว่า เกาหลีเหนืออาจจะใกล้ชิดกับพม่ามากขึ้น เรากังวลเกี่ยวกับการโอนถ่ายเทคโนโลยีนิวเคลียร์จากเกาหลีเหนือไปยังพม่า ซึ่งเราจะพูดคุยเรื่องนี้กับรัฐมนตรีต่างประเทศทุกท่านที่ภูเก็ตแน่นอน 

ใครทำให้คุณปวดหัวมากกว่ากัน คิม จอง อิล - มาห์มูด อาห์มาดิเนจาด - นายพลตัน ฉ่วย - โอซามา บิน ลาเดน และฮูโก ชาเวซ

         ฮิลลารี : พวกเขาทำให้ฉันปวดหัวตลอดเวลาเลย ก็คุณพูดถึงคนที่สหรัฐมองว่ามีบทบาทในทางที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่ ซึ่งฉันก็ต้องปวดหัวกับทุกๆ คนเลย

แล้วพม่าละ ถ้านางออง ซาน ซูจี ไม่ได้รับการปล่อยตัว คุณจะเห็นด้วยหรือไม่

         ฮิลลารี : ถ้าอาเซียนจะไล่พม่าออกจากกลุ่ม นั่นขึ้นอยู่กับอาเซียน

คุณจะกระตุ้นให้อาเซียนทำอย่างนั้นกับพม่าหรือไม่

         ฮิลลารี : ฉันคิดว่า นั่นก็เป็นนโยบายที่ควรจะต้องพิจารณา เพราะประเทศอื่นๆ ในอาเซียนก็มีปัญหาการเมืองเหมือนกัน แต่เราก็ยังเห็นการเติบโตอย่างมั่นคงของประชาธิปไตยจากประเทศเหล่านั้น รวมถึงด้านสิทธิมนุษยชน และการพัฒนาเศรษฐกิจ แต่สิ่งเหล่านี้ยังไม่เกิดขึ้นในพม่า

คุณจะหยุดวิธีการของซีไอเอในการมีคุกลับ เหมือนที่มีในเมืองไทยที่ใช้วิธีทรมานผู้ต้องหาหรือเปล่า

         ฮิลลารี : ฉันจะไม่พูดถึงเรื่องในอดีต เราข้ามผ่านตรงนั้นมาแล้ว รัฐบาลของเราจะทำอะไรก็แล้วแต่ที่เปิดเผยและเป็นที่ยอมรับในมาตรฐานสากล

คุณทราบหรือเปล่า หรือคุณพูดไม่ได้

         ฮิลลารี : ที่ฉันไม่พูดเป็นเพราะฉันทำตาม คำแนะนำที่ว่าไม่ควรพูดเกี่ยวกับข้อมูลข่าวกรอง การที่ฉันไม่พูดไม่ได้แปลว่าใช่หรือไม่ใช่ มันแปลว่าเราไม่พูดเกี่ยวกับมัน เรามีความสัมพันธ์ที่ดีกับประเทศไทย

รู้สึกอย่างไรที่ต้องทำงานให้อดีตคู่แข่งที่ขับเคี่ยวกันในการหาเสียง ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นประธานาธิบดี

         ฮิลลารี : เป็นหนึ่งในคำถามที่คนถามกันมาก ลองคิดดูสิเราขับเคี่ยวกันอย่างหนัก แถมยังพูดสิ่งที่อาจไม่ค่อยดีถึงกัน แต่ในประเทศของเรา เมื่อการเลือกตั้งสิ้นสุดลง เราพยายามทำงานร่วมกันเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติ และในระบบของเรา เมื่อประธานาธิบดีขอให้คุณเข้ามาทำหน้าที่ คุณรู้สึกคุณควรทำเช่นนั้นเพื่อให้ประธานาธิบดีประสบความสำเร็จ และประธานาธิบดีก็ขอให้คนจากพรรครีพับลิกันมาทำงานให้ด้วย ไม่เฉพาะจากพรรคเดโมแครต รองประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็เคยขับเคี่ยวกับประธานาธิบดีโอบามาช่วงหนึ่ง

          ตอนฉันอยู่ในอินโดนีเซีย ถูกถามคำถามนี้มาก ฉันจึงตอบไปว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่อเมริกาเรียนรู้ตลอดหลายปีแห่งการปกครอง ระบอบประชาธิปไตย นั่นคือประเทศชาติต้องมาก่อน การเมืองมาแล้วก็ไป คนแพ้และชนะการเลือกตั้ง ทันทีที่การเลือกตั้งจบลง คุณอาจยังมีความเห็นด้านนโยบายไม่ตรงกัน แต่เราควรพยายามเดินหน้าไปด้วยกันเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ

คุณรู้ไหมว่า นายกฯ ของไทย ถูกเรียกว่าโอบามาร์ค เพราะมีความคล้ายคลึงกับโอบามา ในแง่การเป็นคนหนุ่ม การขึ้นสู่จุดสูงสุดอย่างรวดเร็ว

         ฮิลลารี : ทั้งสองคนเป็นเดโมแครตทั้งคู่

คุณเห็นด้วยไหมกับการเรียกเขาว่า โอบามาร์ค

         ฮิลลารี : ฉันคิดว่ามันไม่ยุติธรรมที่จะเปรียบเทียบผู้นำคนหนึ่งกับอีกคนหนึ่ง ต่างคนต่างไม่เหมือนกัน แต่สำหรับคุณสมบัติที่คุณพูดถึง มันเป็นยุคของผู้นำที่เป็นคนหนุ่มสาวอายุน้อยกว่าเรา พวกเขาเต็มไปด้วยพลัง ความใส่ใจ และทำงานหนัก เห็นได้ชัดว่า สถานการณ์การเมืองแต่ละประเทศแตกต่างกันไป ฉันรู้สึกประทับใจกับจำนวนของผู้นำซึ่งเป็นคนรุ่นใหม่ที่เพิ่มมากขึ้น ฉันหวังว่าคนรุ่นใหม่จะเรียนรู้ข้อผิดพลาดของคนรุ่นเก่า พวกเขาต้องเข้าใจว่า รัฐบาลต้องทำเพื่อประชาชน โดยเฉพาะในระบอบประชาธิปไตย คุณต้องแสดงให้เห็นว่ามีความหวังในการเปลี่ยนแปลงที่จะช่วยเหลือผู้คน ให้มีทรัพย์สิน สร้างแรงบันดาลใจให้แก่ลูกหลานของตน หากผู้นำมีความมุ่งมั่นอย่างนั้น  ก็จะมีผู้นำหลายคนที่เป็นเหมือนประธานาธิบดีโอบามา ที่เข้าสู่วงการเมืองด้วยการต่อสู้และทำงานหนัก นั่นคือสิ่งที่เราอยากจะเห็น




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ฮิลลารี เปรียบเทียบ โอบามา - โอบามาร์ค อัปเดตล่าสุด 23 กรกฎาคม 2552 เวลา 11:20:11 15,750 อ่าน
TOP