x close

มมร.ร้องดีเอสไอ หนังไตรปิฏก อ้างชื่อเรี่ยไรเงิน


มมร.ร้องดีเอสไอ หนังไตรปิฏก อ้างชื่อเรี่ยไรเงิน (ไทยรัฐ)

         วานนี้ (4 ส.ค.) ที่หอประชุมมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร.) นายสงกรานต์ อัจฉริยะทรัพย์ ที่ปรึกษากฎหมายอธิการบดี มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย เปิดเผยว่า ตามที่ได้รับมอบจากพระเทพปริยัติวิมล อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหามกุฏฯ ให้ดำเนินการตรวจสอบ กรณีการจัดสร้างพระไตรปิฎก ฉบับภาพยนตร์ ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ที่มีการนำชื่อของมหาวิทยาลัยมหามกุฏฯ ไปแอบอ้าง และ ขอรับเงินบริจาค จากหน่วยงานต่างๆ ทั้งที่ทางมหาวิทยาลัย เป็นแค่เพียงที่ปรึกษา และไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ในการรับบริจาคแต่อย่างใด ขณะเดียวกันยังมีผู้ร้องเรียนมายังมหาวิทยาลัยมหามกุฏฯ ด้วยว่า ได้บริจาคเงินให้กับโครงการดังกล่าวแล้ว แต่กลับยังไม่ได้รับแผ่นซีดีของภาพยนตร์เรื่องนี้ ตามที่โฆษณาไว้ด้วย  

         นายสงกรานต์ กล่าวต่อว่า เบื้องต้น ได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แล้ว เมื่อวันที่ 3 ก.ค.ที่ผ่านมา จากการตรวจสอบ พบว่า ในช่วงที่ผ่านมา บริษัทดังกล่าว มีการทำเรื่องเสนอของบประมาณไปยังกระทรวงต่างๆ โดยนำชื่อของมหาวิทยาลัยมหามกุฏฯ ไปอ้าง ซึ่งมีบางกระทรวงได้หลงเชื่อ เช่น กระทรวงศึกษาธิการ ในช่วงที่นายศรีเมือง เจริญศิริ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ได้ทำเรื่องของบฯ กลางประจำปีงบฯ พ.ศ. 2552 จำนวน 99 ล้านบาท ไปยังนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ในขณะนั้นแล้ว แต่งบฯ ดังกล่าว ยังไม่ได้รับอนุมัติ โดยพบว่า มีบุคลากรระดับสูง ในมหาวิทยาลัย อ้างว่า ปฏิบัติหน้าที่แทนอธิการบดีเป็นผู้ลงนามไปของบฯ ดังกล่าวด้วย  

         ที่ปรึกษากฎหมายอธิการบดีมมร. กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกันเมื่อตรวจสอบไปยังที่ตั้งบริษัทดังกล่าว พบว่าเป็นบ้านร้าง ในส่วนของโปสเตอร์ในการโฆษณา ขอรับบริจาคเงิน ก็มีการนำพระบรมฉายาลักษณ์พระ บาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และตราสัญลักษณ์พระราชพิธีฉลองสิริราชสมบัติครบ 60 ปี ไปใช้โดยไม่ได้ขออนุญาตจากสำนักราชเลขาธิการด้วย ส่วนสัญญาว่าจ้างดาราในการมาถ่ายทำก็เป็นสัญญาหลอก โดยนำชื่อของมหาวิทยาลัยมหามกุฏฯไปอ้าง  

         ทั้งนี้ นายสงกรานต์ ระบุว่า บุคคลที่อยู่เบื้องหลังมีทั้งข้าราชการการเมือง ข้าราชการประจำ ดารา และบุคลากรในมหาวิทยาลัย เพราะน่าสังเกตว่าทำไมบางกระทรวงถึงยอมทำเรื่องขออนุมัติงบฯ ทั้งที่ไม่ได้มีการตรวจสอบว่าภาพยนตร์ดังกล่าวมีการดำเนินการจริงหรือไม่ เพราะตามเอกสารที่ทางบริษัทเอกชนแห่งนี้ทำไปของบฯ จะอ้างว่าถ่ายทำไปแล้ว 30 ตอน แต่กลับไม่มีการตรวจสอบ เพราะความจริงแล้วมีเพียงการถ่ายทำหนังตัวอย่างเท่านั้น แต่ยังกลับทำเรื่องขออนุมัติงบฯ ให้ทันที และยังมีการวิ่งเต้นไม่ให้ทางมหาวิทยาลัยดำเนินคดีด้วย 

         นายสงกรานต์ กล่าวต่อว่า ส่วนการรับบริจาค ทางมหาวิทยาลัยไม่รู้เรื่อง และไม่ได้รับ ปัญหานี้เรื้อรังมาตั้งแต่ปี 2548 จึงควรที่จะถึงเวลาสังคายนา ขณะนี้ดีเอสไอกำลังตรวจสอบเส้นทางการเงินของโครงการนี้ ว่าเงินที่มาจากการบริจาคมีใครมีส่วนเกี่ยวข้องบ้าง ผู้ที่ลงนามในเอกสารจะมีโทษแน่นอน เร็วๆนี้ คาดว่าจะได้ข่าวดี ส่วนผู้ที่ได้รับความเสียหายจากกรณีนี้ให้ไปให้ข้อมูลกับทางดีเอสไอ ที่สำนักคดีอาญาพิเศษ ชั้น4 ดีเดสไอ เพื่อที่พนักงานสอบสวนจะได้จัดทำบัญชีทรัพย์ที่ถูกประทุษร้าย หรือที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดในครั้งนี้ เพราะหากมีการตรวจยึดทรัพย์สินก็จะสามารถติดต่อรับคืนไปได้  

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการจัดสร้างพระไตรปิฎก ฉบับภาพยนตร์ ผู้สร้างระบุว่าจะมีการใช้งบฯ ทั้งสิ้นประมาณ 1,570 ล้านบาท จากรัฐบาล และยังระบุว่า ผ่านความเห็นชอบจากมหาเถรสมาคม (มส.) แล้ว มีมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยเป็นที่ปรึกษา เริ่มดำเนินการตั้งแต่ในช่วงปลายปี 2550 เคยเป็นข่าวฮือฮามาหลายครั้ง โดยครั้งแรกถูกกระแสต่อต้านในการที่จะนำนายสงกรานต์ ทัพมณี นายแบบหนุ่มที่เคยถ่ายแบบแนววาบหวิว มารับบทพระพุทธเจ้า ต่อมาถูกกลุ่มนักแสดงที่เข้าแจ้งความต่อกองปราบปรามเพราะถูกเบี้ยวค่าจ้าง




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มมร.ร้องดีเอสไอ หนังไตรปิฏก อ้างชื่อเรี่ยไรเงิน อัปเดตล่าสุด 5 สิงหาคม 2552 เวลา 13:58:17 10,944 อ่าน
TOP