x close

เส้นทางชีวิตและการต่อสู้ ของ อองซานซูจี



อองซานซูจี



เส้นทางชีวิตและการต่อสู้ที่เต็มไปด้วยขวากหนามของหญิงเหล็กนาม อองซานซูจี (มติชนออนไลน์)

          วันที่ 19 มิถุนายน พ.ศ.2488 ทารกหญิงนาม  อองซานซูจี ลืมตาขึ้นดูโลกเป็นครั้งแรก เธอคือบุตรสาวคนสุดท้องของนายพลอู ออง ซาน "วีรบุรุษอิสรภาพของประเทศพม่า" ผู้นำการต่อสู้กับญี่ปุ่นและสหราชอาณาจักร จนนำไปสู่การได้รับอิสรภาพเป็นรัฐเอกราชของสหภาพพม่าเมื่อวันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2491 และนางดอว์ขิ่นจี

          วันที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2490 นายพลอู ออง ซาน ถูกลอบสังหาร ก่อนที่พม่าจะได้รับเอกราช ขณะที่ออง ซาน ซูจี มีอายุเพียง 2 ขวบ





นายพลอู ออง ซาน และนางดอว์ขิ่นจี บิดาและมารดาของ อองซานซูจี



          พ.ศ. 2503 ดอว์ขิ่นจี มารดาของ ออองซานซูจี ได้รับการแต่งตั้งให้ไปดำรงตำแหน่งทูตพม่าประจำประเทศอินเดีย ซูจี จึงถูกส่งเข้าศึกษาต่อในระดับมัธยมศึกษาที่ประเทศดังกล่าว

          พ.ศ. 2507 - 2510 อองซานซูจี เดินทางไปศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีสาขาปรัชญา การเมือง และเศรษฐศาสตร์ ที่เซนต์ฮิวจส์คอลเลจ มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ในช่วงเวลานั้น เธอได้พบรักกับ "ไมเคิล อริส" นักศึกษาสาขาวิชาอารยธรรมทิเบต ภายหลังจบการศึกษา เธอเดินทางไปมหานครนิวยอร์ก เพื่อเข้าทำงานเป็นผู้ช่วยเลขานุการประจำคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านการตั้งคำถามเกี่ยวกับงบประมาณและการจัดการ ของสำนักงานเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ เป็นเวลา 3 ปี โดยในช่วงเวลาดังกล่าว องค์การสหประชาชาติมีเลขาธิการเป็นชาวพม่าชื่อนายอูถั่น

          พ.ศ. 2515 อองซานซูจี แต่งงานกับ ไมเคิล อริส และย้ายไปอยู่กับสามีที่ราชอาณาจักรภูฏาน ซูจี ได้งานเป็นนักวิจัยในกระทรวงต่างประเทศของรัฐบาลภูฏาน ขณะที่ไมเคิลมีตำแหน่งเป็นหัวหน้ากรมการแปล รวมทั้งทำหน้าที่ถวายการสอนแก่สมาชิกของราชวงศ์ภูฏาน



ไมเคิล อริส และ อองซานซูจี



          พ.ศ.  2516 - 2520 อองซานซูจี และสามีย้ายกลับมาพำนักที่กรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ อริสได้งานสอนวิชาหิมาลัยและทิเบตศึกษา ที่มหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ด ส่วน ซูจี ให้กำเนิดบุตรชายคนแรก "อเล็กซานเดอร์" ในปี พ.ศ. 2516 และบุตรชายคนเล็ก "คิม" ในปี พ.ศ. 2520 ในช่วงเวลานี้ ซูจี เริ่มทำงานเขียนและงานวิจัยเกี่ยวกับชีวประวัติของบิดาและยังช่วยงานวิจัยด้านหิมาลัยศึกษาของสามีด้วย

          พ.ศ. 2528 - 2529 อองซานซูจี ได้รับทุนวิจัยจากศูนย์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเกียวโต ให้ไปทำวิจัยเกี่ยวกับบทบาทของนายพลอู ออง ซาน ที่ประเทศญี่ปุ่น ขณะที่ไมเคิล อริสได้รับทุนให้ไปทำวิจัยที่ Indian Institute of Advanced Studies ที่เมืองซิมลา ทางภาคตะวันออกของอินเดีย ต่อมา ซูจี ได้รับทุนให้ไปทำวิจัยที่ Indian Institute of Advanced Studies เช่นกัน

          พ.ศ. 2530 อองซานซูจี และสามีพาครอบครัวย้ายกลับมาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ เธอเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกที่ London School of Oriental and African Studies ณ กรุงลอนดอน โดยทำวิทยานิพนธ์เกี่ยวกับวรรณคดีพม่า

          เดือนมีนาคม พ.ศ. 2531 อองซานซูจี ในวัย 43 ปี เดินทางกลับบ้านเกิดที่กรุงย่างกุ้ง เพื่อมาพยาบาล ดอว์ขิ่นจี มารดาที่กำลังป่วยหนัก ในขณะนั้นเป็นช่วงที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำและมีความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศพม่า ประชาชนจำนวนมากโดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาชุมนุมเคลื่อนไหวกดดันให้นายพลเนวินที่ยึดอำนาจการปกครองมายาวนานถึง 26 ปี ต้องลาออกจากตำแหน่งประธานพรรคโครงการสังคมนิยมพม่า (The Burma Socialist Programme Party-BSPP)

          วันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2531 นายพลเนวินลาออกจากตำแหน่ง จนตามมาด้วยการชุมนุมเรียกร้องประชาธิปไตยของนักศึกษาและประชาชนหลายแสนคนในกรุงย่างกุ้ง เมืองหลวงของพม่า ก่อนที่การชุมนุมจะแพร่ลามไปทั่วประเทศ

          วันที่ 8 สิงหาคม พ.ศ. 2531 ผู้นำทหารได้สั่งการให้ใช้กำลังอาวุธสลายการชุมนุมของประชาชนนับล้านคนที่รวมตัวกันเรียกร้องประชาธิปไตยในกรุงย่างกุ้งและเมืองต่างๆ ทั่วประเทศพม่า ทำให้ผู้ร่วมชุมนุมหลายพันคนเสียชีวิต ทั่วโลกรู้จักเหตุการณ์ดังกล่าวในนาม "เหตุการณ์วันที่ 8 เดือน 8 ปี 88 (ค.ศ. 1988)"

          วันที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2531 อองซานซูจี เข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองเป็นครั้งแรก โดยส่งจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐบาลเรียกร้องให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อเตรียมการเลือกตั้งทั่วไป

          วันที่ 26 สิงหาคม พ.ศ.2531 อองซานซูจี ขึ้นกล่าวปราศรัยเป็นครั้งแรกต่อหน้าฝูงชนประมาณ 500,000 คนที่มาชุมนุมกัน ณ มหาเจดีย์ชเวดากอง เธอเรียกร้องให้มีรัฐบาลประชาธิปไตย แต่ผู้นำทหารกลับจัดตั้ง "สภาฟื้นฟูกฎระเบียบแห่งรัฐ" หรือ สลอร์ค (The State Law and Order Restoration Council : SLORC) ขึ้นแทน รวมทั้งได้ทำการปราบปรามสังหารและจับกุมผู้ต่อต้านอีกหลายร้อยคน

          วันที่ 24 กันยายน พ.ศ. 2531 อองซานซูจี ได้ร่วมจัดตั้ง "พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย" หรือเอ็นแอลดี (National League for Democracy: NLD) ขึ้นมา และได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการพรรค

          วันที่ 27 ธันวาคม พ.ศ. 2531 มารดาของ อองซานซูจี คือ ดอว์ขิ่นจี เสียชีวิต

          วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2532 รัฐบาลทหารพม่าใช้อำนาจตามกฎอัยการศึกสั่งกักบริเวณ ออง ซาน ซูจี ให้อยู่แต่ในบ้านพักเป็นครั้งแรก เป็นเวลา 3 ปี โดยไม่มีข้อหา และได้จับกุมสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีจำนวนมากไปคุมขังไว้ที่เรือนจำอินเส่ง ซูจี อดอาหารเพื่อประท้วงและเรียกร้องให้นำเธอไปขังรวมกับสมาชิกพรรคคนอื่นๆ ต่อมาเธอยุติการอดอาหารประท้วงเมื่อรัฐบาลเผด็จการทหารให้สัญญาว่าจะปฏิบัติต่อสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีซึ่งถูกคุมขังไว้ในเรือนจำเป็นอย่างดี

          วันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2533 แม้ว่า อองซานซูจี ยังคงถูกกักบริเวณอยู่ แต่พรรคเอ็นแอลดีของเธอกลับได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้นในการเลือกตั้งทั่วไป รัฐบาลเผด็จการทหารพม่าในนามของสลอร์คปฏิเสธที่จะถ่ายโอนอำนาจให้แก่ผู้ชนะการเลือกตั้ง ทว่าได้ยื่นข้อเสนอให้ ซูจี ยุติบทบาททางการเมืองด้วยการเดินทางออกนอกประเทศเพื่อไปใช้ชีวิตกับครอบครัวที่ประเทศอังกฤษ เธอปฏิเสธข้อเสนอดังกล่าว รัฐบาลทหารจึงมีคำสั่งยืดเวลาการกักบริเวณ อองซานซูจี จาก 3 ปี เป็น 5 ปี และเพิ่มเป็น 6 ปีในเวลาต่อมา

          วันที่ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2534 คณะกรรมการรางวัลโนเบลแห่งประเทศนอร์เวย์ประกาศให้ อองซานซูจี เป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ แต่เธอไม่มีโอกาสเดินทางไปรับรางวัลด้วยตัวเอง ในเดือนธันวาคมปีเดียวกัน อเล็กซานเดอร์และคิมเดินทางไปรับรางวัลแทนมารดาที่กรุงออสโล อเล็กซานเดอร์กล่าวกับคณะกรรมการและผู้มาร่วมเป็นเกียรติในพิธีว่า "ผมรู้ว่าถ้าแม่มีอิสรภาพและอยู่ที่นี่ในวันนี้ แม่จะขอบคุณพวกคุณพร้อมกับขอร้องให้พวกคุณร่วมกันสวดมนต์ให้ทั้งผู้กดขี่และผู้ถูกกดขี่โยนอาวุธทิ้ง และหันมาร่วมกันสร้างชาติด้วยความเมตตากรุณาและจิตวิญญาณแห่งสันติ"

          วันที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2538 อองซานซูจี ได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณครั้งแรก แต่เธอไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้อย่างอิสระ เพราะถูกห้ามไม่ให้ปราศรัยต่อหน้าฝูงชน และเมื่อเธอพยายามเดินทางออกจากบ้านพักเพื่อไปพบปะฝูงชน เจ้าหน้าที่รัฐจะติดตามไปทุกแห่งหนพร้อมกับจัดตั้งฝูงชนอีกกลุ่มหนึ่งมาพยายามทำร้ายเธอและเพื่อนร่วมคณะ ซูจี จึงดำเนินการต่อสู้ด้วยแนวทางสันติวิธี ผ่านการใช้วิธีเขียนจดหมาย เขียนหนังสือ บันทึกวิดีโอเทป เพื่อส่งผ่านข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลทหารพม่าของเธอออกมาสู่ประชาคมโลกอย่างต่อเนื่อง

          เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2541 อองซานซูจี นั่งประท้วงอยู่ในรถยนต์ของเธอเป็นเวลาห้าวัน หลังจากถูกตำรวจสกัดขัดขวางไม่ให้รถยนต์คันดังกล่าวเดินทางออกจากกรุงย่างกุ้งเพื่อไปพบปะกับบรรดาสมาชิกพรรคเอ็นแอลดี

          เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2541 อองซานซูจี ถูกสกัดกั้นไม่ให้เดินทางไปพบปะกับบรรดาสมาชิกพรรคของเธออีกครั้งหนึ่ง เธอใช้ความสงบเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นเวลาหกวัน กระทั่งเสบียงอาหารที่เตรียมไปหมด จากนั้น ซูจี ถูกบังคับให้กลับไปยังบ้านพักในย่างกุ้ง



"The Raven Crown: The Origins of Buddhist Monarchy in Bhutan" ผลงานวิชาการชิ้นสำคัญของไมเคิล อริส เขาเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้นเมื่อปีพ.ศ.2537 ขณะอาศัยอยู่กับออง ซาน ซูจี ภายในบ้านพักที่ถูกกักบริเวณ ณ กรุงย่างกุ้ง



          วันที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2542 ไมเคิล อริส เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งที่ประเทศอังกฤษ โดยก่อนหน้านั้นอริสพยายามขอวีซ่าเข้าประเทศพม่าเพื่อพบกับ อองซานซูจี เป็นครั้งสุดท้าย ในช่วงที่เขากำลังป่วยหนัก แต่รัฐบาลทหารไม่อนุมัติวีซ่าให้โดยอ้างว่าในประเทศพม่าไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ป่วยอย่างเขา ขณะเดียวกันรัฐบาลเผด็จการกลับพยายามผลักดัน อองซานซูจี ให้เดินทางออกนอกประเทศไปเยี่ยมเยียนผู้เป็นสามี แต่ ซูจี ซึ่งขณะนั้นกำลังพ้นโทษจากการถูกกักบริเวณ ไม่มีความประสงค์ที่จะเดินทางออกนอกประเทศ เพราะวิตกว่าเธอจะไม่ได้รับการอนุญาตให้เดินทางกลับมายังพม่าอีก

          วันที่ 24 สิงหาคม พ.ศ. 2543 อองซานซูจี และสมาชิกพรรคเอ็นแอลดีจะเดินทางไปดำเนินกิจกรรมทางการเมือง แต่ถูกตำรวจสกัดกั้นไม่ให้เดินทางออกพ้นชานกรุงย่างกุ้ง ซูจี ยืนยันที่จะดำเนินการตามเจตนารมณ์ของตนเอง โดยใช้วิธีเผชิญหน้ากับตำรวจอย่างสงบอยู่ ณ จุดที่ถูกสกัดเป็นเวลานานเก้าวัน จนถึงวันที่ 2 กันยายน ตำรวจปราบจลาจลร่วม 200 นายพร้อมอาวุธครบมือจึงได้บังคับนำเธอกลับเข้าเมือง สองสัปดาห์ต่อมา ซูจี พร้อมคณะผู้นำพรรคฝ่ายค้านเดินทางไปที่สถานีรถไฟเพื่อซื้อตั๋วโดยสารออกจากเมืองย่างกุ้ง แต่รัฐบาลทหารได้ส่งหน่วยรักษาความปลอดภัยพิเศษไปควบคุมตัวเธอกลับบ้านพัก พร้อมทั้งวางกำลังเจ้าหน้าที่ควบคุมจุดต่างๆ บนถนนหน้าบ้านพักของ ซูจี และไม่ยอมให้ผู้ใดเข้าพบปะเยี่ยมเยียนเธอ

          วันที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2543 อองซานซูจี ถูกกักบริเวณโดยปราศจากข้อกล่าวหาและความผิดอีกเป็นครั้งที่สอง เป็นเวลานาน 18 เดือน

          เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2545 อองซานซูจี ได้รับอิสรภาพจากการถูกกักบริเวณครั้งที่สอง

          วันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ.2546 เกิดเหตุปะทะกันระหว่างมวลชนจัดตั้งของรัฐบาลกับกลุ่มผู้สนับสนุน อองซานซูจี ระหว่างที่เธอเดินทางไปพบปะกับประชาชนในเมืองเดพายิน ทางตอนเหนือของพม่า ทำให้ ซูจี ถูกสั่งกักบริเวณให้ใช้ชีวิตอยู่แต่ในบ้านพักอีกเป็นครั้งที่สาม ตั้งแต่เดือนมิถุนายนปีเดียวกัน

อองซาน ซูจี

อองซานซูจี



          วันที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2550 คณะสงฆ์และประชาชนที่รวมตัวกันประท้วงรัฐบาลทหารพม่าเดินทางไปยังบ้านพักของ อองซานซูจี เธอได้ออกมาปรากฏตัวหน้าบ้านพักเป็นเวลา 15 นาที พร้อมกับพนมมือไหว้พระสงฆ์ที่กำลังให้พร การปรากฏตัวครั้งนี้นับเป็นการปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชนครั้งแรกในรอบ 4 ปีของ ซูจี

          วันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 นายจอห์น ยิตทอว์ ชาวอเมริกัน ได้ว่ายน้ำข้ามทะเลสาบไปยังบ้านพักที่ อองซานซูจี ถูกกักบริเวณอยู่ เขาอาศัยอยู่กับ ซูจี เป็นเวลาสองคืน ก่อนจะว่ายน้ำกลับมายังอีกฝั่งและถูกทหารพม่าจับกุมตัวในที่สุด

          วันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2552 อองซานซูจี ถูกจับกุมตัวและนำไปคุมขังในเรือนจำอินเส่ง ในข้อหาละเมิดคำสั่งกักบริเวณของรัฐบาลทหารพม่า

          วันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ. 2552 ศาลพม่าอ่านคำพิพากษาว่า อองซานซูจี มีความผิดข้อหาละเมิดกฎหมายความมั่นคงภายในประเทศมีโทษจำคุก 3 ปี แต่รัฐบาลทหารพม่าให้ลดโทษลงครึ่งหนึ่งเหลือเพียง 18 เดือน และไม่ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำอินเส่ง แต่ให้กลับไปถูกควบคุมตัวในบ้านพักเช่นเดิม จากโทษครั้งนี้ทำให้ ซูจี อาจไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งทั่วไปของพม่าที่คาดว่าจะมีขึ้นในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2553 ด้านนายจอห์น ยิตทอว์ ถูกศาลสั่งจำคุกและใช้แรงงานเป็นเวลา 7 ปี ตามความผิด 3 ข้อหา ซึ่งประกอบด้วยความผิดข้อหาละเมิดความมั่นคง 3 ปี เข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย 3 ปี และว่ายน้ำอย่างผิดกฎหมายในที่ห้ามว่ายเป็นเวลา 1 ปี


ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์, ไทยรัฐ

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
เส้นทางชีวิตและการต่อสู้ ของ อองซานซูจี อัปเดตล่าสุด 13 สิงหาคม 2552 เวลา 17:32:21 125,380 อ่าน
TOP