x close

การถ่ายภาพสถาปัตยกรรม






การถ่ายภาพสถาปัตยกรรม  ARCHITECTURE (FOTOINFO)

คอลัมน์ INTRO
เรื่อง-ภาพ...จิรชนม์ ฉ่ำแสง

          สถาปัตยกรรม (Architecture) คือสิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยในรูปแบบต่างๆ ซึ่งมีทั้งประโยชน์โดยตรง เช่น การสร้างบ้านเรือนเพื่อการอยู่อาศัย ตึกขนาดใหญ่เพื่อเป็นสำนักงาน โบสถ์วิหารเพื่อทำกิจกรรมทางด้านศาสนา สะพานหรือทางด่วนสำหรับการสัญจรไปมา ฯลฯ และประโยชน์โดยทางอ้อมเช่น การสร้างอนุสาวรีย์เพื่อการระลึกถึงบุคคลหรือเหตุการณ์สำคัญ การสร้างสถูปเจดีย์เพื่อเป็นสัญลักษณ์ทางศาสนา เป็นต้น

          ตัวของสถาปัตยกรรมเองถือเป็นงานศิลปะที่แสดงออกด้วยการก่อสร้าง  ซึ่งยังนับรวมไปถึงการวางผังเมืองหรือแผนผังของบริเวณโดยรอบ การตกแต่งอาคาร การจัดสรรที่ว่างให้เกิดประโยชน์ใช้สอยได้ตามความต้องการ ความงดงามและคุณค่าของสถาปัตยกรรม จึงขึ้นอยู่กับการจัดสรรที่ว่างให้สัมพันธ์กันของส่วนต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก การจัดรูปทรงทางสถาปัตยกรรมให้เหมาะกับประโยชน์ใช้สอยและสิ่งแวดล้อม และการเลือกใช้วัสดุให้เหมาะสมกลมกลืน

          ที่ยกความหมายของสถาปัตยกรรมขึ้นมาก่อนก็เพื่อให้ชัดเจนและเข้าใจตรงกันว่าสิ่งที่เรากำลังจะถ่ายภาพกันอยู่นี้ ขอบเขตมันครอบคลุมถึงตรงไหนซึ่งหากจะว่ากันตามตรงนอกจากการถ่ายภาพสิ่งก่อสร้างนานาประเภทจากภายนอกแล้ว การถ่ายภาพภายในอาคารหรือที่เรานิยมเรียกทับศัพท์ว่า อินทีเรีย (Interior) ก็นับเป็นส่วนหนึ่งของการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมได้เช่นกัน 

          แต่การถ่ายภาพสถาปัตยกรรมที่จะพูด(เขียน)ถึงต่อไปนี้  ผู้เขียนขอแยกการถ่ายภาพประเภทอินทีเรียไว้ต่างหากไม่นำมารวมกัน เนื่องเพราะการถ่ายภาพอินทีเรียเองไม่ใช่เรื่องเล็กๆ และมีเทคนิคปลีกย่อยมากมายอันแตกต่างไปจากการถ่ายภาพอาคารสถานที่จากภายนอก  

          ส่วนการถ่ายภาพแบบตัดส่วนใดส่วนหนึ่ง (ครอป) ในมุมเล็กๆ ของสถาปัตยกรรม ถ้าหากว่าพื้นที่มันไม่เล็กจนเกินไปก็อาจพอกล้อมแกล้มนับรวมเข้าไว้ในภาพถ่ายสถาปัตยกรรมได้เช่นกัน

 แบบไหนคืองานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจ

          งานสถาปัตยกรรมที่น่าสนใจในแง่ของการถ่ายภาพ  อาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับความสวยงามหรือรางวี่รางวัลใดๆ  จากสมาคมสถาปัตฯ ไม่ขึ้นกับความเก่าหรือใหม่ ทั้งยังไม่ขึ้นกับสภาพที่ต้องพร้อมใช้งานหรือเป็นเพียงอาคารรกร้างเสื่อมโทรม แต่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของผู้ถ่ายภาพเองเป็นหลักว่าจะมองเห็นความสวยงามใดๆ ในสิ่งก่อสร้างเหล่านั้นหรือไม่

          ดังนั้น แม้จะเป็นเพียงตึกเก่าโทรมที่ถูกทุบบางส่วนทิ้งไปบ้าง  บ้านเรือนอันผุกร่อนตามกาลเวลาที่ผิวสีแตกลายงาหรือขึ้นตะไคร่จนเขียวครึ้ม หากมองเห็นว่าสิ่งเหล่านั้นมันมีความงดงามซ่อนอยู่ ก็ย่อมมีความน่าสนใจสำหรับการถ่ายภาพ ทั้งยังสามารถถ่ายทอดเป็นภาพที่สวยงามได้แน่

 หาข้อมูลล้วงให้ลึกถึงรายละเอียด

          งานสถาปัตยกรรมเด่นๆ ส่วนใหญ่มักจะมีเอกลักษณ์พิเศษเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร เป็นต้นว่ารูปโดมของหลังคา การถ่ายเทน้ำหนักด้วยผนังโค้งแบบอาร์ช (Arch) การใช้คันทวยรับน้ำหนักหลังคา การก่อผนังแบบหนาโดยไม่ใช้เสา การใช้สลิงขนาดใหญ่เป็นตัวรับน้ำหนักแทนเสาและคาน การออกแบบให้มีรูปทรงแบบสมมาตร ฯลฯ ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้าหากไม่ศึกษาหาข้อมูลมาก่อน เราจะไม่มีทางรู้ได้เลยว่าจุดไหนส่วนใดที่ควรเน้นเป็นพิเศษ 

          หรือถ้าหากเป็นสิ่งก่อสร้างจำพวกวัดหรือโบราณสถาน ก็มักจะมีสิ่งสำคัญซุกซ่อนอยู่ในบางส่วนของอาคารนั้นๆ  อย่างเช่นภาพสลักนูนต่ำรอบระเบียงคตของมหาปราสาทนครวัด และปราสาทบายน ลายต้นทองอันวิจิตรงดงามด้านหลังสิมของวัดเชียงทอง คีย์สโตนซึ่งแกะสลักเป็นรูปหัวเมดูซ่าในอาคารหลังหนึ่งของอิฟิซุส เป็นต้น



          สิ่งเหล่านี้คือส่วนประกอบอันสำคัญยิ่งที่ทำให้สถาปัตยกรรมมีความงามเปี่ยมคุณค่า หากเราสามารถถ่ายภาพให้แสดงจุดเด่นของสถาปัตยกรรมแห่งนั้นๆ ได้ชัดเจน ก็ย่อมจะทำให้ภาพของเรามีคุณค่ามากยิ่งขึ้นไปด้วย

          ข้อมูลสำคัญอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้ามก็คือ ผังของอาคารและแผนผังโดยรวมของสถานที่  ข้อมูลในส่วนนี้จะทำให้เราทราบว่า จุดสำคัญต่างๆ ที่ค้นได้นั้นมันอยู่ตรงบริเวณไหนส่วนไหน  ประกอบไปกับว่ามันอยู่ในทิศทางใด  อันจะทำให้เราวางแผนกะเกณฑ์เวลาที่เหมาะสมสำหรับการถ่ายภาพอย่างคร่าวๆ ได้

 ทิศทางแสง สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรม 

          จะว่าไปแล้วทิศทางแสงถือเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการถ่ายภาพแทบจะทุกประเภทก็ว่าได้  แต่กับงานถ่ายภาพสถาปัตยกรรมถือว่ามีความสำคัญมาก  เพราะเราไม่สามารถเคลื่อนย้ายสิ่งก่อสร้างใดๆ ให้อยู่ในจุดที่ต้องการได้ นักถ่ายภาพสามารถทำได้เพียงค้นหามุมที่ต้องการจะถ่ายภาพและรอถ่ายภาพนั้นในช่วงเวลาซึ่งมีทิศทางแสงที่เหมาะสม ซึ่งก็คือแสงเฉียงเข้าจากทางด้านหน้าของจุดที่จะถ่ายภาพ 

          คุณสมบัติที่สำคัญของแสงเฉียงเข้าจากทางด้านหน้าวัตถุก็คือ มันเป็นแสงที่ให้มิติและรูปทรงของวัตถุได้ดีมาก สามารถกลบจุดอ่อนของภาพถ่ายซึ่งเป็นสื่อสองมิติที่มีเพียงด้านกว้างและด้านยาว ให้มองเห็นถึงมิติที่สามคือความลึกได้ชัดเจนกว่าทิศทางแสงอื่นๆ แม้จะต้องแลกด้วยรายละเอียดในส่วนที่เป็นเงามืดไปบ้างแต่ต้องถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่า 

          และเราสามารถลดความแตกต่างของแสงลงเพื่อให้เห็นรายละเอียดในส่วนที่อยู่ในเงามืดได้บ้าง ด้วยการเลือกถ่ายภาพในช่วงเวลาที่แสงมีความเข้มน้อย  ก็คือโมงยามที่พระอาทิตย์เพิ่งจะพ้นขอบฟ้า หรือก่อนจะลาลับไป รวมไปถึงเวลาที่มีเมฆบางๆ มาบดบังดวงอาทิตย์ไว้ และถ้าหากเป็นการถ่ายแบบตัดส่วนในมุมเล็กๆ ก็อาจใช้แสงจากแฟลช จากแผ่นรีเฟล็กซ์ หรือจากหลอดไฟประเภทต่างๆ เปิดรายละเอียดให้เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน 

          ดังนั้น ช่วงเวลาดีที่สุดสำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมจึงเริ่มตั้งแต่พระอาทิตย์ขึ้นจนถึงเก้าโมงเช้า และหลังบ่ายสามจนถึงพระอาทิตย์ตก โดยเฉพาะงานสถาปัตยกรรมประเภทวัด เจดีย์ และโบราณสถานต่างๆ ถ้าได้แสงสีทองๆ ของช่วงเช้าหรือเย็นมาอาบไล้บนพื้นผิว ก็จะยิ่งช่วยทำให้สถาปัตยกรรมนั้นดูโดดเด่นมลังเมลืองมากยิ่งขึ้น 

          กับโบราณสถานบางแห่งหรือตึกบางหลังที่มีการยิงแสงสปอตไลท์เสริมส่องในยามค่ำคืน นั่นถือเป็นโบนัสพิเศษของนักถ่ายภาพ ด้วยการใช้ช่วงเวลาก่อนฟ้าจะมืดสนิทเล็กน้อยถ่ายภาพเก็บไว้ แม้ว่าวันนั้นอาจจะเป็นวันที่มืดครึ้มฟ้าขาวซีดตลอดทั้งวัน แต่มันจะมีช่วงเวลาสั้นๆ ราวสิบนาทีหลังพระอาทิตย์ตก ที่ฟ้าจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำเงินเข้มก่อนจะกลายเป็นสีดำสนิทของยามรัตติกาล แม้มันเป็นคู่สีตรงกันข้ามแต่ก็เข้ากันได้ไปกันดีกับสีเหลืองจากไฟสปอตไลท์



 เรื่องของเลนส์ 

          หากมองในแง่เทคนิคของการถ่ายภาพแล้ว  เลนส์ที่เหมาะสำหรับการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมควรจะเป็นเลนส์นอร์มอลหรือเลนส์ 50 มม. นั่นเอง เพราะเป็นทางยาวโฟกัสที่ให้สัดส่วนและระยะของภาพถูกต้องสมจริง ไม่มีความบิดเบือนของภาพเกิดขึ้นจนทำให้สถาปัตยกรรมนั้นๆ ดูบิดเบี้ยวผิดรูปทรงที่แท้จริงไป 

          แต่หากมองในแง่ของความงดงามทางศิลป์  การที่สัดส่วนผิดเพี้ยนไปอาจไม่ใช่เรื่องสำคัญหรืออาจมองเป็นเรื่องดีได้ด้วยซ้ำ ในข้อที่ทำให้ได้ภาพดูแปลกตาออกไป ซึ่งเป็นผลอันเกิดจากการใช้เลนส์มุมกว้าง ปัญหานี้จะเกิดขึ้นและเห็นผลได้ชัดกับเลนส์มุมกว้างมากๆ ตั้งแต่ทางยาวโฟกัส 24 มม. ลงไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากถ่ายภาพในระยะใกล้และถ่ายภาพในมุมแหงน ก็จะทำให้ส่วนยอดของสถาปัตยกรรมนั้นๆ เอียงลู่เข้าสู่บริเวณกลางภาพโดยชัดเจน ซึ่งสามารถแก้ไขได้ง่ายๆ ด้วยการวางกล้องให้ได้ระนาบและวางกล้องไว้ในระดับกลางๆ ของความสูงของสถาปัตยกรรมนั้นๆ 

          และสำหรับเลนส์เทเลโฟโต้แม้ว่าจะไม่ทำให้สัดส่วนของภาพบิดเพี้ยนไป แต่ปัญหาก็คือมักจะไม่มีที่ทางให้ช่างภาพได้ถอยไปไกลๆ เพื่อเก็บตัวสถาปัตยกรรมนั้นๆ ได้หมดเต็มเฟรม 

          ส่วนกล้องระดับ DSLR 35 มม. จะมีเลนส์มุมกว้างพิเศษบางตัวที่สามารถแก้ความบิดเพี้ยนบริเวณขอบภาพได้  ด้วยการขยับชุดเลนส์ในแบบที่เรียกว่า "ทิลท์และชิฟท์" (Tilt&Shift) เพื่อให้ชุดเลนส์ได้ระนาบกับสิ่งที่จะถ่ายแม้ว่าจะตั้งกล้องเป็นมุมแหงนก็ตาม ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับการใช้กล้องขนาดใหญ่หรือกล้องลาร์จฟอร์แมต (Large Format) ซึ่งมีเบลโลว (Bellow) ในตัว ตัวอย่างเช่นเลนส์ TS-E 24 mm. f/3.5L ของ Canon หรือเลนส์ PC-E NIKKOR 24 mm. f/3.5 D ED ของ Nikon 

          แต่เลนส์พิเศษประเภทนี้เป็นเลนส์ที่มีราคาสูงกว่าเลนส์ทางยาวโฟกัสเดียวกันค่อนข้างมาก  และด้วยการออกแบบที่ต้องเผื่อพื้นที่ภายในเลนส์ให้ขยับได้  จึงไม่สามารถออกแบบให้มีช่องรับแสงกว้างมากได้ อีกทั้งยังไม่สามารถใช้ระบบโฟกัสอัตโนมัติได้อีกด้วย ผู้ใช้ต้องโฟกัสภาพด้วยมือเองทุกครั้ง มันจึงจัดอยู่ในเลนส์เฉพาะกิจที่ไม่ค่อยจะคุ้มค่าการลงทุนสำหรับนักถ่ายภาพโดยทั่วไป ที่ไม่ได้รับงานถ่ายทางด้านนี้โดยตรง 

          และในความเป็นจริงช่างภาพมืออาชีพหลายคนที่เลือกใช้เลนส์ตัวนี้  ไม่ได้ใช้มันเพื่อแก้ความบิดเพี้ยนให้ตรงแต่อย่างใด ส่วนใหญ่จะใช้เพื่อบิดระนาบโฟกัสให้เบี่ยงเบนไปจากความเป็นจริง เพื่อให้ได้ภาพที่ดูแปลกตาออกไป ประกอบกับในยุคปัจจุบันที่ซอฟท์แวร์ทางการตกแต่งภาพหลายตัวสามารถดัดแก้ความบิดเพี้ยนของภาพได้ในระดับหนึ่งอยู่แล้ว 

          ในความเห็นของผู้เขียนเองจึงไม่แนะนำให้ซื้อหามาใช้ถ้าไม่ได้มีเงินถุงเงินถัง หรือเน้นหนักไปทางการถ่ายภาพในด้านนี้โดยตรง การใช้เลนส์มุมกว้างไม่ว่าจะทางยาวโฟกัสเดี่ยวหรือซูม ก็เพียงพอต่อการถ่ายภาพสถาปัตยกรรมแล้ว  

          หากไม่ต้องการให้ภาพมีความบิดเบือนมากเกินไป  ก็เพียงแค่หาที่ถอยให้ไกลที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ หลีกเลี่ยงการใช้เลนส์ในช่วงทางยาวโฟกัสกว้างสุด ไม่แหงนกล้องมากเกินไป พยายามหาจุดถ่ายภาพที่สูงขึ้นกว่าพื้นสักเล็กน้อย ก็สามารถแก้ไขหรือลดปัญหาดังกล่าวได้ 

          พึงระลึกเสมอว่าภาพที่สวยงาม ย่อมเกิดจากแนวความคิดและวิธีการถ่ายภาพของผู้ถ่ายภาพเองเป็นสำคัญ มิได้ขึ้นอยู่กับอุปกรณ์สักเท่าใด เรียนรู้การใช้อุปกรณ์ของตัวเองที่มีอยู่ให้เต็มประสิทธิภาพ เราเชื่อว่าภาพสวยๆ อยู่ไม่ไกลเกินไปจากมือของคุณแน่ๆ ครับ


  คลิกอ่านความคิดเห็นของเพื่อนๆ ได้ที่นี่ค่ะ



ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
การถ่ายภาพสถาปัตยกรรม อัปเดตล่าสุด 21 สิงหาคม 2552 เวลา 14:02:57 25,219 อ่าน
TOP