x close

ครบรอบ 3 ปี รัฐประหาร ปี 49


รัฐประหารไม่รู้จบ! ? (ไทยรัฐ)

         ครบรอบ 3 ปีรัฐประหาร ปี 49 บทเรียนทางการเมืองที่เกิดอีกครั้ง ในสังคมไทย ซึ่งต้องจารึกและนำมาศึกษาไม่รู้จบ ตัวละคร เรื่องราว ของหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยหนนี้ ยังคงน่าสนใจ แม้ผ่านมาแล้ว 3 ปี ... 

         3 ปี รัฐประหาร นับจากปี 2549 มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ดูเหมือนจะยังไม่จบ เพราะยังมีการต่อสู้ ดิ้นรน ของกลุ่มผู้เสียอำนาจอย่างต่อเนื่อง ทั้งตัวอดีตนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และ กลุ่มผู้สนับสนุนคนเสื้อแดง จนกระทั่งมาถึง 19 กันยายน  2552 ที่มีการจัดชุมนุมของคนเสื้อแดง เพื่อรำลึกถึง 3 ปีรัฐประหาร ทำให้เกิดคำถามว่า เมื่อไหร่ ความวุ่นวายหลังรัฐประหารจะจบ ส่วนผู้เกี่ยวข้องกับการรัฐประหาร ได้มองย้อนหลังไป 3 ปี อย่างไร เป็นเรื่องที่ต้องศึกษาไม่รู้จบเช่นกัน ... 



        พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน อดีตประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช. ) กล่าวย้อนรอยเหตุรัฐประหารให้ฟัง ในรายการเอเอสทีวี เกี่ยวกับการรัฐประหาร 19 ก.ย. ไว้อย่างน่าสนใจ ว่า สาเหตุแห่งการทำรัฐประหาร ไม่ใช่เพราะกลัวถูกย้าย ส่วนเหตุผล 4 ข้อ ที่มีการวิจารณ์ว่า คิดขึ้นภายหลังนั้น จริง ๆ แล้ว  เป็นข้อเท็จจริง แต่ยังไม่ได้จัดระเบียบออกมา เพื่อชี้แจงสังคมเท่านั้น  รวมทั้งเรื่องที่จะเกิดปัญหาในวันที่ 20 ก.ย. 2549 ด้วย พอถึงเวลาชี้แจง จึงชี้แจงให้สังคมเข้าใจง่ายทั้ง 4 ข้อ คือ มาเรียบเรียงทีหลัง ไม่ใช่การมาประดิษฐ์เหตุผลกันทีหลัง 

         พล.อ.สนธิ กล่าวถึง  3 ปีรัฐประหารที่ดูเหมือนไม่จบ ว่า ต้องยอมรับว่า ผู้ใหญ่ที่เป็นผู้นำกังวลอะไรซักอย่าง ความกล้าหายไปมาก ทำให้ทุกคนถอยห่างจากปัญหาที่เป็นข้อเท็จจริงไป สรุปว่าความกล้าหาญน้อยลง ทำให้สิ่งที่จะต้องทำ แล้วไม่ได้ทำ จึงเกิดปัญหาทิ้งคาไว้ กลายเป็นเชื้อไฟมาตลอด ตนว่าเป็นประเด็นเดียวที่สำคัญที่สุด   ความไม่กล้าเผชิญปัญหาที่ต้องแก้ จึงไม่ได้แก้  

         พล.อ.สนธิ กล่าวถึงโอกาสเกิดรัฐประหารอีกครั้ง ว่า หากผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) คนปัจจุบันไม่คิดทำ ก็ไม่มีทางที่ใครจะปฏิวัติได้ และคนอื่นไม่สามารถทำได้แน่นอน เพราะกำลังอยู่ที่กองทัพภาคที่ 1 นอกจากนี้ ผลของทำรัฐประหาร ไม่ได้อยู่ที่การทำเสร็จหรือไม่สำเร็จ แต่อยู่ที่ประชาชนจะเอาด้วยหรือไม่ และภาคประชาชนจะเห็นด้วยหรือไม่ ถ้าประชาชนมีส่วนร่วมก็จบ 





พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน



         อดีตประธาน คมช. ยังแสดงความเห็นอีกว่า  ในสถานการณ์ปัจจุบันไม่สอดคล้องเหมือนคราวที่แล้ว ดังนั้น ปัจจัยที่จะนำไปสู่การปฏิวัติอาจจะไม่เท่ากัน  เพราะช่วงรัฐประหารปี 49 มีฝ่ายเดียว คือ ประชาชน  แต่เวลานี้ประชาชนมีหลายฝ่าย และแต่ละฝ่ายไม่เห็นด้วย ดังนั้น ถ้าทำตอนนี้มีปัญหา ผบ.ทบ.ตัดสินใจถูกต้อง เพราะหากทำกองทัพจะเสียหาย ในช่วงเวลานี้ นายกรัฐมนตรี ไม่ใช่ปัญหา พื้นฐานต่างกันสิ้นเชิง 

         จากผู้นำการรัฐประหาร ก็มาถึงผู้จะต้องทำให้การรัฐประหารมีความสมบูรณ์ขึ้น คือ คณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) กับหน้าที่ผู้ทำสำนวน กล่าวหาอดีตนายกรัฐมนตรี ในคดีต่างๆ ถึง 13 เรื่อง ที่ใช้เวลาในการทำงาน 1 ปี 9 เดือน 

        
นายสัก กอแสงเรือง อดีต คตส. กล่าวกับ 'ไทยรัฐออนไลน์' ว่า  ใน 3 ปีที่ผ่านมาจะต้องไปเทียบ ก่อนรัฐประหารว่าเหตุการณ์ขณะนั้นเป็นอย่างไร โดยก่อนมีรัฐประหาร ผู้ใช้อำนาจรัฐ พยายามทุกทางที่จะไม่ให้มีการตรวจสอบ จึงเป็นที่มาของการรัฐประหาร ซึ่งหลังการรัฐประหารได้มีการแก้ไขปัญหาเหล่านี้หรือไม่อย่างไร จะเห็นได้ว่าผู้เข้ามายึดอำนาจ พยายามให้ตรวจสอบ โดยเฉพาะการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ จึงให้มี คตส. ขึ้นมาทำหน้าที่ ซึ่งคตส.ยึดกฎหมายเดิมที่มีอยู่ทั้งหมด ไม่ว่ากฎหมาย ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ( ป.ป.ช.) กฎหมายของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) กฎหมายสรรพากร กฎหมายแพ่งและอาญา โดยสิ่งที่ตรวจสอบมีทั้งสิ้น 13 เรื่อง 20 กว่าคดี ทำให้รัฐเสียหาย เกือบ 2  แสนล้านบาท ดังนั้น สิ่งที่เกิดขึ้น คือทำให้เกิดความเป็นธรรม ไม่ถูกเลือกปฏิบัติ หรือ การหลีกเลี่ยงโดยหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่โดยตรง และทำให้การบังคับใช้กฎหมาย หรือปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญที่มีอยู่เดิมเกิดผลสัมฤทธิ์มากขึ้น โดยเฉพาะองค์กรอิสระ   

         นายสัก กล่าวอีกว่า อย่างน้อยการเปลี่ยนแปลง หลังยึดอำนาจ มีส่วนทำให้รัฐธรรมนูญ มีความศักดิ์สิทธิ์ขึ้น กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันปราบปรามทุจริต สามารถนำมาบังคับใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรม ทำให้กระบวนการยุติธรรม ในคดีอาญานักการเมือง ได้มีการพิสูจน์ เปิดโอกาสให้สู้คดีอย่างเต็มที่ และสามารถเข้าสู่การพิจารณาพิพากษาได้ ทำให้เกิดบรรทัดฐาน ประชาชนที่เป็นเจ้าของประเทศหันมาให้ความสำคัญในการรักษา หวงแหน ดูแลทรัพย์สินของแผ่นดินมากขึ้น ตนคิดว่าถ้ามองในแง่นี้น่าจะเป็นผลดี ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง ตนยังนึกภาพไม่ออกว่าจะเกิดอะไรขึ้น ส่วนความขัดแย้งทางสังคมที่ยังคงมีอยู่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง เพราะคนที่ถูกตรวจสอบมีอำนาจบารมีมาก จึงมีเครือข่ายวิธีการ ทำให้ความขัดแย้งไม่จบลงง่ายๆ   

         นายสัก กล่าวทิ้งท้ายว่า 1 ปี 9 เดือนของ คตส. ถือว่าทำสำนวนเสร็จเร็ว แต่ช้าตรงมีปัญหาความเห็นไม่ตรงกับอัยการสูงสุด จนต้องฟ้องคดีเอง แต่ถ้าเทียบกับคดีอื่น คตส. ทำได้เร็วมาก ซึ่งหากศาลตัดสินแบบใดก็ตาม ความขัดแย้งน่าจะจบลงเร็ว  

         น่าสนใจว่า หากคดีความจบแล้ว ความขัดแย้งจะจบได้จริงหรือ เพราะความแตกแยกครั้งนี้ คงกินลึกอยู่ในสังคมไทยไปอีกนาน และมองยากว่าจะจบลงอย่างไร และแน่หรือไม่ ที่จะไม่เกิดรัฐประหารอีกครั้ง ...




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ครบรอบ 3 ปี รัฐประหาร ปี 49 อัปเดตล่าสุด 19 กันยายน 2552 เวลา 17:13:34 7,833 อ่าน
TOP