x close

ชี้เงินเดือนน้อย เหตุทำตำรวจ ขาดจรรยาบรรณ


ชี้เงินเดือนน้อยเหตุทำตร.ชั่ว ปปช.สับเละภาพลบ รีดไถ-เป่าคดีมีครบ (เดลินิวส์)

           สับเละพฤติกรรมตำรวจยุค 2009 ป.ป.ช. แฉมีทั้งซ้อมผู้ต้องหา เป่าคดี ตั้งตู้แดงเก็บเงิน ชี้โปลิศจบใหม่มีค่านิยมผิด ๆ ชอบอยากตามก้นนาย เพื่อหวังก้าวหน้าเร็วกว่าคนอื่น ห่วงอนาคตขาดตำรวจมืออาชีพ อีกอย่างคนคิดหนีอาชีพตำรวจ เพราะเงินเดือนน้อย และเบื่อการวิ่งเต้น แนะควรให้มีองค์กรอิสระในการเลือก ผบ.ตร. เพื่อให้แยกออกจากการเมือง ขณะที่ "วันชัย ศรีนวลนัด" เผย การซื้อขายตำแหน่งต้องทำให้สังคมได้รับรู้ข้อเท็จจริง แฉตำรวจชั้นประทวนทุจริตมากว่าชั้นสัญญาบัตร ส่วนอดีตรองอธิบดีกรมตำรวจระบุ ไม่ควรเรียกวัฒนธรรมตำรวจ แต่ควรเรียก "อัปรียธรรม" เคยเอาตำรวจเข้าวัดปฎิบัติธรรม สุดท้ายล้มเหลวเพราะระดับนายพลต่อต้าน

           เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 25 ก.ย. ที่โรงแรมรอยัล ริเวอร์ สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จัดบรรยายและนำเสนอผลการศึกษาเรื่อง "มาตรการป้องกันเพื่อปรับปรุง    กระบวนการใช้อำนาจเกินขอบเขต กรณีเจ้าพนักงานตำรวจใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบ" โดย พ.ต.ท.เกษมศานต์ โชติชาครพันธ์ รักษาการรองคณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กล่าวว่า จากการศึกษาวิจัย พบว่า รูปแบบการประพฤติมิชอบของตำรวจประกอบด้วย 1.การใช้อำนาจหน้าที่เกินขอบเขต เช่น ซ้อม ทรมาน เพื่อให้ผู้ต้องหารับสารภาพ การวิสามัญฆาตกรรมโดยมิชอบ 

           2.การละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ โดยเฉพาะการไม่รับคำร้องทุกข์ หรือเป่าคดีเมื่อมีผู้มาแจ้งความร้องทุกข์ ซึ่งมีสาเหตุ มาจากปริมาณคดีมาก ไม่สมดุลกับพนักงานสอบสวน การกำหนดยอดคดีในแต่ละปี ทำให้มีการกดตัวเลขคดีไม่ให้เกินเป้าหมายที่กำหนด และความยุ่งยากในการทำสำนวนรวมถึงกรณีที่ตำรวจใช้อำนาจหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้บุคคลอื่น เช่น การเรียกรถยกกรณีเกิดอุบัติเหตุเพื่อรับเปอร์เซ็นต์จากบริษัทรถยก ซึ่งจะมีการเรียกเก็บเงินค่ายกรถจากเจ้าของรถในราคาสูง  

           พ.ต.ท.เกษมศานต์ ระบุอีกว่า นอกจากนี้ยังมีพฤติกรรมที่ยังคลุมเครือว่า เป็นการทุจริตหรือไม่ เช่น การรับสินน้ำใจจากร้านค้า การรับเงินจากห้างสรรพสินค้าใหญ่ เพื่ออำนวยความสะดวกด้านการจราจร และการเก็บเงินค่าตู้แดงในจุดเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม บางครั้งมีการไปติดตามบ้านบุคคลต่าง ๆ หรือตามโรงงาน เพื่อให้ตำรวจเรียกเก็บค่าตู้แดงเป็นรายเดือน แต่ตำรวจส่วนใหญ่มองว่าไม่ใช่การทุจริตคอร์รัปชั่น เพราะมีการนำเงินที่ได้ไปใช้ภายในสถานีตำรวจ   

           รักษาการรองคณบดีฯกล่าวต่อว่า ส่วนปัจจัยที่เอื้อให้เกิดพฤติกรรมการใช้อำนาจหน้าที่โดยมิชอบของตำรวจนั้น มีทั้งการที่ตำรวจได้รับเงินเดือนน้อย หากเทียบกับหน่วยงานด้านกระบวนยุติธรรม ในระดับเดียวกัน การสมยอมระหว่างตำรวจกับผู้กระทำผิด ในลักษณะที่เรียกว่า "เมื่อมีการเสนอ จึงมีการสนอง" รวมถึงกรณีนโยบายทางการเมือง มีส่วนเอื้อให้ตำรวจปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เช่น การประกาศสงครามยาเสพติด นอกจากนี้ยังพบว่า บุคคลที่มีอิทธิพลต่อการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจมี 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มพ่อค้าที่มีความสนิทกับตำรวจ ระดับสูง 2.นักการเมือง 3.เจ้านายหรือผู้บังคับบัญชาเก่า

           พ.ต.ท.เกษมศานต์เปิดเผยอีกว่า ขณะที่ค่านิยมของตำรวจจบใหม่ ทั้งจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจและมหาวิทยาลัยมี 3 อย่างคือ

           1.ขอไปอยู่ตำแหน่งที่สามารถหาผลประโยชน์ได้มาก
 
           2.ขอไปติดตามนายเพราะก้าวหน้าเร็วกว่าคนอื่น

           3.ประกอบอาชีพอื่น ควบคู่ไปกับอาชีพตำรวจ

          ถือเป็นค่านิยมที่น่าตกใจมาก ทำให้น่ากังวลว่า สตช.จะขาดตำรวจมืออาชีพในอนาคต สิ่งที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ เรื่องวัฒนธรรมของตำรวจ จากการทำวิจัยสอบถามความเห็นของตำรวจพบว่า ผู้บังคับบัญชาที่ดีในสายตาตำรวจไม่ใช่ คนที่ทำงานตรงไปตรงมาหรือซื่อสัตย์ แต่ต้องเป็นคนที่ใจถึง พึ่งได้ นับเป็นเรื่องน่ากังวลใจมากของ สตช. 
    
           นอกจากนี้ยังพบว่า ปัจจุบันตำรวจหนีออกจากอาชีพนี้ไปประกอบอาชีพอื่น จำนวนมาก เพราะอาชีพอื่นเติบโตได้เร็วกว่า ไม่ต้องวิ่งเต้น และยังมีเงินเดือนและฐานะทางสังคมดีกว่า นอกจากนั้น ยังมีค่านิยมในเรื่องความฟุ้งเฟ้อ หรือการมีเมียน้อยหลายคน ซึ่งเป็นทัศนคติที่น่าเป็นห่วง สำหรับข้อเสนอนั้นต้องปรับทัศนคติของสังคมควบคู่กันไป วัฒนธรรมคอร์รัปชั่นโทษตำรวจฝ่ายเดียวไม่ได้ เรื่องนี้ถือเป็นวัฒนธรรมของสังคมไทยหรือไม่ ทั้งนี้ต้องสร้างวัฒนธรรมที่ดีให้ตำรวจโดยทั้งภาคสังคม สื่อสารมวลชนต้องมีส่วนร่วม มีการปรับนโยบายของรัฐไม่กดดันตำรวจในเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ 

           พ.ต.ท.เกษมศานต์ กล่าวต่อว่า ด้านโครงสร้างควรมีการปรับปรุงโครงสร้าง ตัดงานไม่เกี่ยวข้องกับตำรวจออกไป กระจายอำนาจออกสู่หน่วยปฏิบัติ มีการนำไอทีมาใช้ในการบริหารงานทั่วไป มีการจ่ายเงินตรงไปยังผู้จับกุมโดยตรงไม่ผ่านใคร และส่งเสริมความพอเพียง ด้านการบริหารงานบุคคลต้องปรับปรุงที่โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ควรมีนักวิชาการ และคนที่เป็นอาจารย์จริง มีการมุ่งอบรมเน้นฝึกอบรมหลังการเป็นตำรวจแล้วอย่างต่อเนื่อง มีการสร้างหลักสูตรฝึกอบรม ไม่ใช่เรียนเพื่อให้ครบหลักเกณฑ์เลื่อนตำรวจ ทั้งนี้ด้านการแต่งตั้งโยกย้าย ผบ.ตร. ต้องแยกออกจากการเมืองอย่างชัดเจน เราควรมีองค์กรอิสระ ศาลฎีกา หรือ ป.ป.ช. เข้าไปทำเรื่องแต่งตั้งโยกย้าย จะได้เกิดความอิสระอย่างแท้จริง ที่สำคัญต้องมีหลักเกณฑ์ใช้การสรรหาแทนการแต่งตั้ง มีการปรับปรุงกฎหมาย ปรับปรุงเงินเดือน ค่าเสี่ยงภัยให้ทัดเทียมหน่วยงานอื่นในกระบวนการยุติธรรม มีการสับเปลี่ยนกำลังเพื่อลดอิทธิพลหรือช่องว่างในการทำงานในพื้นที่ 

           ด้าน พล.ต.อ.วันชัย ศรีนวลนัด กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า กลไกที่มีมาตรการบังคับในเรื่องการใช้อำนาจเรามีกฎหมายอยู่แล้วกฎหมายอาญามาตรา 157 ใช้บังคับมาตั้งแต่ พ.ศ. 2500 แต่ในช่วง 50 ปีเศษที่ผ่านมา ความผิดประเภทนี้ยังคงมีให้เห็นตลอดมา และมีทิศทาง  เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ตนทำงานรับผิดชอบในส่วนกระบวนการยุติธรรมทางอาญา สถิติในช่วง 7 ปีที่ผ่านมามี 700 กว่าคดีและทิศทางสูงขึ้น ตำรวจถูกร้องเรียนว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนสูง อาจเพราะงานตำรวจต้องเกี่ยวพันกับประชาชนโดยตรง ถ้าดูสถิติภาพรวมตำรวจ 2 แสนกว่าคน พบว่าชั้นประทวนมีการทุจริตสูงกว่าชั้นสัญญาบัตร แม้จะเป็นตัวเลขแค่ 1% ซึ่งดูไม่มาก แต่ตนคิดว่ามีตัวเลขมืดซ่อนอยู่อีกจำนวนมากกว่านี้แน่นอน

           พล.ต.อ.วันชัย กล่าวต่อว่า ทั้งนี้การใช้อำนาจเกินขอบเขตของตำรวจ มี 2 ประเภทคือ การทำเกินขอบเขตโดยมิเกี่ยวข้องกับเป้าหมายเงินหรือทรัพย์สิน เช่น การเข้าจับโดยมิชอบ มีเป้าหมายในการทำงานให้บรรลุผล ลักษณะอย่างนี้การแก้ไขตนว่าไม่เหลือวิสัยที่สตช.จะแก้ไขได้ แต่อีกประเภทคือมีผลประโยชน์ในทางที่เป็นตัวเงินหรือทรัพย์สิน เป็นสิ่งอันตรายแก้ยากมาก ผู้ใหญ่ต้องไม่ทำให้เห็น ถ้าทำแล้วไม่มีสิทธิว่าผู้น้อยเลย นอกจากนั้นการป้องกันปราบปราม ต้องทำต่อเนื่องทั่วถึง ต้องมีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ในเรื่องการซื้อขายตำแหน่ง ต้องมีการขยายผลให้เกิดข้อเท็จจริงในสังคม การเข้าสู่ตำแหน่งในระดับต่าง ๆ ต้องเป็นโดยการแสดงความรู้ความสามารถ ทุกอย่างจะไปได้ดีถ้าทุกอย่างทำอย่างมีธรรมาภิบาลโปร่งใส

           ขณะที่ พล.ต.อ.วสิษฐ เดชกุญชร อดีตรองอธิบดีกรมตำรวจระบุว่า ตนคิดว่าการใช้อำนาจโดยเกินขอบเขตของตำรวจ มีที่มาคือวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งตนไม่ชอบคำนี้ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ใช่วัฒนธรรม ซึ่งวัฒนธรรมหมายถึงสิ่งที่ดีงาม สิ่งที่เจริญงอกงาม แต่ควรใช้คำว่า อัปรียธรรม มากกว่า เพราะหมายถึงสิ่งน่าเกลียดหรือสิ่งไม่ดี เพราะเป็นพฤติกรรมที่เกิด และยอมรับและถือเป็นสิ่งที่ปฏิบัติในองค์กร อัปรียธรรมอาจหมายถึงสิ่งที่ผู้บังคับบัญชาทำกับผู้ใต้บังคับบัญชา เพราะถนัดแต่บัญชา จึงไม่มีการปรับปรุงพื้นฟู หรือดูแลตำรวจชั้นผู้น้อย ทั้งนี้ใน สตช. เคยเอาตำรวจเข้าวัดปฏิบัติธรรม ปรากฏว่า กลุ่มที่ต่อต้านโครงการนี้มากที่สุดคือผู้ใหญ่ ระดับนายพล โครงการเลยล้มเหลว





ขอขอบคุณข้อมูลจาก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก มติชนออนไลน์
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
ชี้เงินเดือนน้อย เหตุทำตำรวจ ขาดจรรยาบรรณ อัปเดตล่าสุด 26 กันยายน 2552 เวลา 15:28:32 25,647 อ่าน
TOP