x close

มาร์ค ปัดซื้อเวลา แก้รัฐธรรมนูญ นานถึง 9 เดือน



มาร์คปัดซื้อเวลา แก้รธน. นานถึง 9 เดือน (ไทยรัฐ)

          วันนี้ (4 ตุลาคม) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "เชื่อมั่นประเทศไทยกับนายกฯอภิสิทธิ์" ถึงความคืบหน้าการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ได้เสนอแนวคิดว่า ความสมานฉันท์จะเกิดขึ้นได้จริง จะต้องมีความสมานฉันท์ในหมู่นักการเมืองก่อน คือ ต้องมาร่วมกันแก้ไขและต้องมั่นใจว่าประชาชนจะเอาด้วย ซึ่งจากการที่ได้หารือร่วมกับวิป 3 ฝ่าย คือ รัฐบาล ฝ่ายค้าน และวุฒิสภา เห็นพ้องต้องกันที่มอบหมายให้ฝ่ายเทคนิคของรัฐสภาไปยกร่างฯ และทำประชามติ ส่วนจะทำประชามติในไหนนั้นอยู่ระหว่างดูทางเลือกต่าง ๆ อยู่ แต่ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ทุกฝ่ายยอมรับให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วยการทำประชามติ

          นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวเพิ่มเติมในช่วงที่ นายสรยุทธ สุทัศนะจินดา เป็นพิธีกร ว่า การทำให้เกิดความสมานฉันท์ ไม่ใช่มีเฉพาะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพียงเรื่องเดียว แต่จะมีเรื่องของความเป็นธรรมในคดีความ หรือ การบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดความมั่นใจ อย่างไรก็ตาม คงปฏิเสธไม่ได้ว่ารัฐธรรมนูญเป็นจุดขัดแย้งใน 2 ลักษณะ คือ 1.มีบทบัญญัติบางมาตราที่ทำให้คนรู้สึกว่าไม่เป็นธรรม 2.มีสัญลักษณ์ของการรัฐประหารอยู่ แต่เมื่อมีบางฝ่ายยังคัดค้านการแก้ไข ตนจึงเสนอให้ประชาชนเป็นผู้ตัดสินด้วยการทำประชามติ

          "จะต้องมีกระบวนการเป็นที่ยอมรับ เพราะในสาระ ยังไงก็เห็นไม่ตรงกัน อย่าง 6 ประเด็น ผมก็ไม่เห็นด้วยหลายประเด็น" นายกรัฐมนตรี กล่าว

          เมื่อถามว่า จะไม่กลายเป็นเงื่อนไขให้เกิดการเผชิญหน้าหรือ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่ควรเป็นเช่นนั้น เพราะแต่ละฝ่ายสามารถนำเสนอข้อมูลของตนเอง เพื่อให้ประชาชนตัดสินใจได้อย่างเต็มที่ เช่น ใครเห็นด้วยหรือใครไม่เห็นด้วยกับมาตราไหน ก็สามารถไปนำเสนอความเห็นต่อประชาชนได้ เมื่อประชาชนลงคะแนนมาอย่างไร ส่วนตัวเชื่อว่าผู้แทนปวงชนชาวไทย คงจะเคารพการตัดสินใจของประชาชน ทั้งนี้ ในการทำประชามติสอบถามประชาชน ควรถามแยกเป็น 6 ประเด็น และควรให้ประชาชนเห็นร่างก่องลงประชามติ

          เมื่อถามว่า ข้อเสนอแก้ไข 6 ประเด็น นายกรัฐมนตรีไม่ได้เห็นด้วยทั้งหมด นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ใช่ เช่น เขตเลือกตั้ง ส่วนตัวไม่อยากให้เปลี่ยนเป็นเขตเดียวเบอร์เดียว เพราะไม่เข้ากับวัฒนธรรม หรือ บริบทของสังคมไทย เนื่องจากทำให้เกิดความแตกแยกในพื้นที่ค่อนข้างมาก นอกจากนี้  ยังทำให้ ส.ส. ไปให้ความสำคัญกับงานของท้องถิ่นมากกว่างานระดับชาติ เป็นต้น

          ส่วนมาตรา 237 ที่เกี่ยวกับการยุบพรรค นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนตัวไม่เห็นด้วยมาตั้งแต่ต้น เพราะพรรคไม่ใช่ของคณะกรรมการบริหารพรรค แต่เป็นของสมาชิก หากหัวหน้าพรรคหรือกรรมการบริหารพรรค ไปทำอะไรผิดก็ควรลงโทษให้แรง แต่สมาชิกพรรคอีกเป็นล้านคน ก็ควรมีสถาบันหรือพรรคของเขาอยู่ อย่างไรก็ตาม หากพิสูจน์ได้ว่า การกระทำผิดของบุคคลใด แท้ที่จริงเป็นการกระทำของพรรค ส่วนตัวก็เห็นว่า กรรมการบริหารพรรคควรถูกลงโทษทั้งหมด แต่ไม่ใช่การยุบพรรค

          เมื่อถามว่า ทำไมต้องใช้เวลาในการแก้ไข 9 เดือน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เป็นการคำนวณกันเองตามเงื่อนไขของกฎหมาย ขอยืนยันว่ารัฐบาลไม่ได้ซื้อเวลา เพราะหากทำเร็ว แต่มีความขัดแย้งเกิดขึ้น ก็ไม่เป็นประโยชน์กับใคร

          ต่อข้อถามว่า เมื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแล้วถึงตอนนั้นจะมีความชัดเจนเรื่องการยุบสภาหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับการแก้รัฐธรรมนูญ และความเหมาะสมของสถานการณ์บ้านเมือง ตนเคยพูดไว้ว่าการคืนอำนาจให้ประชาชนเป็นเรื่องที่ดี ถ้ามีความเหมาะสม โดยมี 3 เงื่อนไข คือ 1.เศรษฐกิจมีความมั่นคงพอสมควร 2.กติกาการเลือกตั้งต้องเป็นที่ยอมรับ และ 3.บรรยากาศทางการเมืองต้องอยู่ในความสงบ ถ้ามีความรุนแรงในการเลือกตั้ง ไม่เป็นผลดีต่อประชาธิปไตย โดยคาดว่าปีหน้า เศรษฐกิจน่าจะมีความแข็งแกร่ง ซึ่งเป็นเวลาที่เหมาะสม

          นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงการนัดหารือ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล ในช่วงเย็นวันนี้ (4 ตุลาคม) ที่บ้านพิษณุโลกว่า เป็นเพียงการอธิบายแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าเป็นอย่างไร ซึ่งการดำเนินการต่างๆ ขณะนี้ก็เป็นเรื่องของวิป 3 ฝ่าย และรัฐสภาที่จะไปดำเนินการ คาดว่าคงไม่ล่าช้า

          นายกรัฐมนตรีพร้อมเจรจาพูดคุยกับ "พล.อ.ชวลิต" แต่ย้ำจะยึดกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน ปฏิเสธข้อเสนอให้ออกกฎหมายนิรโทษกรรม ระบุไม่อยากให้หมกมุ่นกับเรื่องเดิม ชี้ประเทศควรเดินหน้า

          นายอภิสิทธิ์ ถึงกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคเพื่อไทย และมีการคาดการณ์จะมาเจรจากับรัฐบาลว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบเรื่องการเจรจา แต่เห็นว่า  พล.อ.ชวลิต เป็นถึงอดีตนายกรัฐมนตรี และมีบุคคลิกที่ประนีประนอม ดังนั้น หากพูดคุยกันก็เป็นเรื่องที่ดี เพราะการพุดคุยกันระหว่างฝ่ายค้านกับรัฐบาล ถือเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว

          เมื่อถามว่า คงจะมีการเกี่ยวโยงถึง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ส่วนตัวยังไม่ทราบเรื่องการเจรจา แต่จุดยืนของตนจะยึดกฎหมายในการบริหารราชการแผ่นดิน และหลักการบริหารจัดการที่ดี ดังนั้น หากเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับตนก็พูดคุยเจรจากันได้ แต่หากเป็นเรื่องของบ้านเมือง ตนจะเอาอะไรไปแลกก็ไม่ได้ และขอชี้แจงว่า พ.ต.ท.ทักษิณ หลบหนีออกนอกประเทศไปเอง หากจะกลับเข้ามาก็ต้องทำตามกระบวนการกฎหมาย หรือปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาล ส่วนจะมีการขอพระราชทานอภัยโทษหรือไม่ ก็ต้องทำตามหลักเกณฑ์กฎหมาย

          เมื่อถามว่า หากมีการเจรจาให้ออกกฎหมายนิโทษกรรมจะทำอย่างไร นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คงต้องดูว่าจะมีการเขียนกฎหมายแบบไหน นิรโทษกรรมให้ใคร หรือเรื่องอะไร เพราะกรณีของ พ.ต.ท.ทักษิณ มีหลายคดี

          เมื่อถามว่า ดูเหมือนฝ่าย พ.ต.ท.ทักษิณ ต้องการให้ยกเลิกความผิดทั้งหมดนับตั้งแต่เกิดการรัฐประหาร เมื่อเดือนกันยายน 2549  นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า อยากให้เดินตามกระบวนการที่เป็นอยู่ในขณะนี้ก่อน ไม่อยากให้สังคมหมกหมุ่นอยู่กับตรงนี้ เพราะตนพยายามเดินหน้าในการแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ประชาชน หากมีการเขย่าเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งกันอีก ต้องถามว่าทำไปเพื่ออะไร

          เมื่อถามอีกว่า กลุ่มคนเสื้อแดงกำลังจะมีการชุมนุมใหญ่อีก นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในข้อเรียกร้องเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญแล้ว แต่หากยังมีประเด็นที่ต้องการเรียกร้องอีก ก็สามารถทำได้ แต่ขอให้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวแล้ว ส่วนปัญหาทางการเมืองตนก็พยายามหาคำตอบ สำหรับคดีความต่าง ๆ ตนสั่งการทุกครั้งว่าให้ดูตามข้อเท็จจริง ตามความเป็นธรรม อย่างเคร่งครัด ไม่ให้มีการเลือกปฏิบัติ

          เมื่อถามย้ำว่า อยากพูดคุยกับ พล.อ.ชวลิต หรือ พ.ต.ท.ทักษิณ เพื่อให้บ้านเมืองเกิดความสงบหรือไม่  นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า หาก พล.อ.ชวลิต อยากพูดคุยกับตนก็ยินดี ไม่มีปัญหา

          เมื่อถามว่า ทำไมถึงบอกว่าพรรคเพื่อไทยกับพรรคประชาธิปัตย์ไม่มีวันที่จะจับมือกันได้ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เราต้องเคารพกระบวนการประชาธิปไตย จะให้เป็นรัฐบาลกันทุกพรรค โดยไม่มีฝ่ายค้านไม่ได้  ใครจะตรวจสอบปัญหาการทุจริต ความไม่โปร่งใส ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในการบริหารราชการแผ่นดิน  ที่สำคัญ ประชาชนจะมองว่าเป็นเรื่องฮั้วกันของนักการเมือง แต่วันข้างหน้าการแข่งขันระหว่างพรรคการเมืองจะเป็นอย่างไร เป็นเรื่องของอนาคต

          นอกจากนี้ในช่วงท้ายรายการ นายอภิสิทธิ์ ได้พูดคุยกับยายไฮ ขันจันทา ผ่านทางวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ จาก จ.อุบลราชธานี โดยยืนยันว่าจะไปพบกับยายไฮ ในวันเสาร์ที่ 10 ตุลาคม ขณะที่ยายไฮ กล่าวว่า จะทำพิธีบายศรีสู่ขวัญให้


ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก


เรื่องที่คุณอาจสนใจ
มาร์ค ปัดซื้อเวลา แก้รัฐธรรมนูญ นานถึง 9 เดือน อัปเดตล่าสุด 4 ตุลาคม 2552 เวลา 17:24:20 3,071 อ่าน
TOP