x close

รถไฟตกราง สาเหตุ พนักงานขับรถ หลับใน



รถไฟตกราง


สรุปสาเหตุตกราง พขร.หลับใน เสียหาย129ล้าน (ไทยรัฐ)

         ผู้ว่าการ รฟท.สรุปสาเหตุรถไฟตกรางที่ จ.ประจวบฯ เกิดจาก พนักงานขับรถ หลับใน ขณะที่มูลค่าความเสียหายประมาณ 129 ล้านบาท "โสภณ" คาดโทษผู้ที่เกี่ยวข้อง ยืนยันจะยังไม่มีการปลด "ยุทธนา" ออกจากตำแหน่ง

         ที่การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เวลา 11.30 น. วันที่ 6 ต.ค. นายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) แถลงสถานการณ์ล่าสุด หลังเกิดเหตุรถไฟตกรางบริเวณสถานีเขาเต่า อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ว่า จากเหตุการณ์ดังกล่าว ทาง รฟท. จะต้องทบทวนเรื่องการทำประกันภัยบุคคลที่ 3 เพื่อให้ความคุ้มครองผู้โดยสารที่ใช้บริการรถไฟ โดยจะเก็บค่าบริการเพิ่มจากค่าโดยสาร 1 บาทต่อเที่ยว พร้อมตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจสำรวจเส้นทางรถไฟทั่วประเทศ สถานี ขบวนรถ และหัวรถจักรที่ชำรุดและเสียหาย รวมทั้งปัญหาจุดตัดรถไฟทั่วประเทศ เพื่อประเมินวงเงินในการขอสนับสนุนจากรัฐบาล และเตรียมเสนอขอทบทวนมติ ครม. เพื่อขอบรรรจุพนักงานฝ่ายเดินรถเพิ่มอีก 171 ตำแหน่ง   

         นายยุทธนา ยอมรับว่า ผลจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2541 มีการจำกัดอัตรากำลังพลภาครัฐ ส่งผลให้พนักงานขับรถ และ ฝ่ายช่างกลขณะนี้มีอยู่ประเภทละ 1,000 อัตรา ไม่เพียงพอกับความต้องการจริง ซึ่งจะต้องมีประเภทละ 1,300 อัตรา ทำให้พนักงานที่ปฏิบัติหน้าที่ต้องทำงานล่วงเวลา บางรายต้องทำงานควบกะ ดังนั้น ในระยะเร่งด่วน รฟท. จะกำหนดระเบียบ เพื่อระบุชั่วโมงในการพักผ่อนให้ชัดเจนยิ่งขึ้น   

         สำหรับสาเหตุที่ทำให้รถไฟตกราง เบื้องต้นคาดว่าอาจเกิดจากพนักงานขับรถไฟ (พขร.) หลับใน เพราะมีหลักฐานว่า พนักงานขับรถไฟซึ่งจะต้องแวะจอดเพื่อรอรับเอกสารใบสับหลีกขบวนรถที่บริเวณ สถานีวังก์พง แต่ปรากฎว่าขบวนรถคันดังกล่าวได้ขับขบวนรถฝ่าไฟแดงตรงไปยังสถานีเขาเต่า ซึ่งมีขบวนรถสินค้าขาล่องจอดรอสับหลีก แต่เมื่อได้รับการติดต่อว่าขบวนรถดังกล่าววิ่งฝ่ามาด้วยความเร็วสูงถึง 105 กิโลเมตรต่อชั่วโมง พนักงานที่สถานีเขาเต่าจึงได้สับหลีกรางเพื่อไม่ให้ขบวนรถไปชนกับขบวนรถสินค้าที่จอดอยู่ ในส่วนนี้คงจะต้องลงไปตรวจสอบในรายละเอียดต่างๆ ทั้งหมดอีกครั้ง   

         ส่วนความผิดของพนักงานขับรถนั้น นายยุทธนากล่าวว่า เบื้องต้นจะมีความผิดในข้อหาประมาทเลินเล่อทำให้ผู้อื่นถึงแก่ชีวิต โทษจะต้องไล่ออก และถูกดำเนินคดีอาญา และอาจต้องโทษจำคุก ขณะเดียวกันต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงอีกส่วนหนึ่งที่พนักงานคนนี้ต้องทำงานเกินเวลา เพราะ รฟท. มีปัญหาขาดแคลนพนักงานขับรถด้วย คาดว่าจะสรุปผลได้ภายในไม่เกิน 5 วันจากนี้   

         นอกจากนี้ ผู้ว่าการ รฟท.ยังกล่าวถึงความเสียหายเบื้องต้นว่า ประมาณ 129 ล้าน จากขบวนรถไฟตู้โดยสารทั้งหมด 14 ตู้ ได้รับความเสียหาย 9 ตู้ และความเสียหายของราง คิดเป็นมูลค่าประมาณ 120 ล้านบาท และความเสียหายจากการ สั่งระงับการให้บริการรถไฟในเส้นทางสายใต้ 28 เที่ยว และขบวนรถสินค้า 5 เที่ยว เป็นเงิน 9 ล้านบาท  

         ส่วนประเด็นที่มี กระแสข่าวว่า จะมีการปลดออกจากตำแหน่งผู้ว่าการ รฟท.นั้น นายยุทธนา กล่าวว่า จะทำงานเพื่อแก้ปัญหาของ รฟท. อย่างเต็มที่ ส่วนการปรับเปลี่ยนหน้าที่ ขึ้นกับฝ่ายนโยบายจะตัดสินใจ  

         ด้านนางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) กล่าวถึงกรณีรถไฟตกรางที่สถานีเขาเต่า จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ว่า ทาง คปภ.ตรวจสอบไปยังการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ปรากฏว่ารถไฟขบวนดังกล่าว รฟท. ไม่ได้ทำประกันภัยกับบริษัทใด ๆ ทั้งสิ้น แม้ว่าก่อนหน้านี้ บริษัท วิริยะประกันภัย ได้เสนอรายละเอียดเกี่ยวกับประกันอุบัติเหตุต่าง ๆ แต่ทาง รฟท. เห็นว่าการเดินทางด้วยรถไฟมีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำ  

         เลขาธิการ คปภ. กล่าวต่อว่า แม้ทางรฟท.ไม่ได้ทำประกัน แต่คปภ.อยู่ระหว่างตรวจข้อมูลจากฐานระบบไปยังผู้ที่เสียชีวิตทั้ง 7 ราย และผู้ประสบอุบัติเหตุได้รับบาดเจ็บว่ามีการทำประกันชีวิต ประกันอุบัติเหตุ หรือประกันการเดินทาง กับบริษัทประกันใดบ้าง เพื่อจะได้ประสานไปยังบริษัทประกันภัย เรียกค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บ ทั้งนี้ หากผู้ได้รับบาดเจ็บ และญาติผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้ มีข้อมูลสามารถติดต่อสายด่วนประกันภัย 1186 เพื่อ คปภ. จะได้เร่งรัดดำเนินการต่อไป  

         ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ต่อมาเวลา 14.00 น.  นายโสภณ ซารัมย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เรียกนายยุทธนา ทัพเจริญ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เข้าพบ เพื่อกำชับและให้นโยบาย รฟท. ให้เร่งรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับความบกพร่อง ทั้งในส่วนของระบบ ว่ามีส่วนใดบ้างที่ต้องการการแก้ไขปรับปรุง และบุคลากร ที่ต้องกลับไปรวบรวมข้อมูลชั่วโมงการทำงานของพนักงานว่าเกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดหรือไม่ แล้วให้ส่งข้อมูลเสนอมายังกระทรวงเพื่อพิจารณา ภายในวันที่ 7 ต.ค. ก่อนที่จะเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. เพื่อพิจารณาแก้ไขปัญหาร่วมกันอีกครั้ง  

         นายโสภณ กล่าวว่า จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น จะต้องมีการสอบหาคนมารับผิดชอบ โดยได้มีการคาดโทษผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกระดับตั้งแต่รัฐบาล ไปจนถึงเจ้าหน้าที่ระดับปฏิบัติการ ว่าหากมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้จะต้องรับผิดชอบ รวมถึงต้องทบทวนมติ ครม. เมื่อปี 2541 ที่มีการระบุว่า ให้ รฟท. สามารถบรรจุพนักงานเข้าแทนที่พนักงานที่ลาออก หรือเกษียณอายุการทำงาน ได้เพียง 5 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งจากมติดังกล่าว ได้ส่งผลให้ รฟท. ประสบปัญหาการขาดแคลนพนักงาน ทั้งในส่วนของพนักงานขับรถ และพนักงานฝ่ายช่าง ที่ขณะนี้มีความต้องการพนักงานทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายละ 1,300 คน แต่ปัจจุบัน รฟท. มีพนักงานฝ่ายละ 1,000 คน เท่านั้น 

         ขณะเดียวกัน นายโสภณ ยังปฏิเสธข่าวที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการปลดผู้ว่าการ รฟท. ออกจากตำแหน่งจากกรณีอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีสิ่งใดชี้ชัดว่าเป็นความผิดของ ผู้ว่าการ รฟท. จึงยังไม่มีความจำเป็นต้องปลดออกจากตำแหน่ง




ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
รถไฟตกราง สาเหตุ พนักงานขับรถ หลับใน อัปเดตล่าสุด 7 ตุลาคม 2552 เวลา 14:30:08 32,885 อ่าน
TOP